ถอดสูตรผู้ประกอบการเมืองภูเก็ต พลิกขายบะหมี่ออร์แกนิก-ทำ Smart Farm สร้างธุรกิจใหม่โต 200 เปอร์เซ็นต์ในโควิด

TEXT : กองบรรณาธิการ 
PHOTO :  JINHU NOODLE





         ช่วงเวลาของการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำตลาดนักท่องเที่ยวซึ่งเคยหอมหวานให้หดหาย กระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักในเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างภูเก็ตหนักหน่วง หนึ่งในนั้นคือโฮสเทลย่านเมืองเก่าที่ชื่อ “Beehive Phuket Old Town Hostel” (บีไฮฟ์ ภูเก็ต โอลด์ทาวน์ โฮสเทล) วิกฤตระลอกแรกพวกเขาต้องปิดให้บริการไป 3 เดือน พอสถานการณ์คลี่คลายก็พลิกกลยุทธ์มารับนักท่องเที่ยวคนไทยมากขึ้น แต่ก็เรียกรายได้กลับมาเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หลังจากนั้นก็ปรับปรุงโรงแรมเพื่อหวังรับนักท่องเที่ยวปลายปี ทว่ายังไม่ทันที่ทุกอย่างจะพื้นคืนกลับก็ต้องมาเจอกับโควิดระลอก 2


       ก่อนจะเจอคลื่นไวรัสระลอกใหม่ พวกเขาปรับกลยุทธ์ธุรกิจ โดยใช้เวลาแค่ 2 เดือน คิดสูตรบะหมี่ออร์แกนิก สร้างแบรนด์ เปิดร้าน จนได้ไลน์ธุรกิจใหม่ สร้างโรงเรือน Smart Farm เสร็จภายในเวลา 12 วัน เมื่อต้องมาเจอกับโควิดระลอกที่ 3 ธุรกิจของพวกเขาเติบโตได้ถึง 200 เปอร์เซ็นต์ เบื้องหลังความไม่ธรรมดานี้คือชายที่ชื่อ “มโนสิทธิ์ แจ้งจบ” เจ้าของ บีไฮฟ์ ภูเก็ต โอลด์ทาวน์ โฮสเทล ที่กลายเป็นเจ้าของ “บะหมี่จินหู่” (JINHU NOODLE)  หรือบะหมี่เสือทอง ในวันนี้



   
           
สลัดภาพเจ้าของโรงแรมมาเป็นเชฟทำบะหมี่กู้วิกฤต
           

         มโนสิทธิ์ เป็นหนุ่มวิศวะเครื่องกล ที่คุ้นเคยกับการทำหุ่นยนต์ประกวดมาตั้งแต่สมัยเรียน ทว่าอีกความชอบส่วนตัวที่น้อยคนนักจะรู้ คือเขารักการทำอาหาร และเติบโตมาในครอบครัวคนจีนที่ทำอาหารส่งงานเลี้ยง  ในวันที่ธุรกิจโรงแรมเจอกับวิกฤตโควิด เขาคิดหาทางออก เลยมามองความชอบส่วนตัวคือการทำอาหาร และรักการทานเมนูเส้น ที่มาของการทำแบรนด์บะหมี่ที่คิดสูตรเอง ลงมือทำเอง และใช้วัตถุดิบที่มาจากการปลูกเอง ตั้งแต่ต้นจนกลายเป็นเส้น
           

          “
ในตอนที่เจอโควิดรอบ 2 เราก็เริ่มคุยกับทีมงานว่า คงต้องมีการปรับธุรกิจ เพราะถ้ายังทำแบบเดิมต่อไปเดี๋ยวก็ต้องมีรอบ 3 รอบ 4 ตามมา ถึงตอนนั้นเราจะลำบาก เลยดึงเอาสิ่งที่เป็นพื้นฐานอย่าง อาหาร ที่ขายในราคา 40-50-60 บาท เป็นอาหารที่คนสามารถซื้อได้ง่ายๆ เพราะเห็นแล้วว่าตลาดกลางกับบนเริ่มหายไป เพราะคนไม่ค่อยมีเงิน ผมเลยคิดทำบะหมี่ โดยหวังว่าเราจะทดแทนอาหาร 1 มื้อได้ ให้เขาสลับไปกินเจ้าโน้นเจ้านี้และกินของเราสักมื้อ แต่บะหมี่ของเรามีคอนเซ็ปต์คือ เป็นบะหมี่เส้นสดที่ไม่ใส่สารกันบูด ใช้สูตรโบราณที่คนภูเก็ตกินมาเป็นร้อยปี เป็นบะหมี่ 5 สี ที่ทำมาจากผักออร์แกนิก เช่น บะหมี่หยกที่ให้สีเขียวจากผักคะน้า บะหมี่ทับทิม ที่ใช้บีทรูทให้สีแดง บะหมี่ไพลิน ทำมาจากกะหล่ำม่วงกับอัญชัน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะให้สีที่สวยงามแล้ว ยังได้คุณประโยชน์จากผักแต่ละชนิดด้วย ที่สำคัญกินแล้วเฮงๆ รวยๆ”
               

          เขาใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการคิดสูตรและพัฒนาบะหมี่จนสำเร็จ และให้พนักงานซึ่งเคยทำอาหารเช้าบริการที่โรงแรมอยู่แล้ว มาฝึกการทำบะหมี่ แบ่งใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงแรมมาทำเป็นร้านบะหมี่เล็กๆ  เริ่มต้นธุรกิจใหม่ โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “จินหู่” (JINHU NOODLE) มาจากภาษาจีนกลางแปลว่า “เสือทอง” ซึ่งตรงกับชื่อคุณพ่อของเขา “กิมโฮ่” ที่แปลว่าเสือทองในภาษาจีนฮกเกี้ยนนั่นเอง        



 
               
จากธุรกิจรอลูกค้า สู่สินค้าที่ส่งขายได้ทั่วประเทศ
               

         ในตอนที่ทำโรงแรมที่พัก พวกเขาต้องรอนักท่องเที่ยวเข้ามาหาธุรกิจถึงจะเดินหน้าต่อไปได้ แต่การพลิกมาขายบะหมี่สร้างโอกาสได้มากกว่านั้น โดยนอกจากรายได้จากการขายบะหมี่หน้าร้านเสิร์ฟลูกค้าในพื้นที่แล้ว เขายังพัฒนาสูตรที่ส่งขายได้ทั่วประเทศอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือ หมูกรอบในซองสุญญากาศ พร้อมน้ำจิ้มสูตรเด็ดซึ่งทำจากซีอิ๊วดำเจ้าดังของภูเก็ต สามารถเก็บในช่องแช่แข็งได้ประมาณ 3 เดือน ทำให้แม้กักตัวอยู่บ้านก็สามารถเก็บไว้ทานได้ กระจายโอกาสธุรกิจจากเมืองภูเก็ต ให้ทำตลาดได้ทั่วประเทศ


          “การทำโปรดักต์แบบนี้ออกมาทำให้เราออกจากข้อจำกัดที่เคยขายอยู่ในภูเก็ต ก็สามารถส่งขายในจังหวัดต่างๆได้ด้วย ซึ่งตอนนี้ผมอยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถอยู่ในอุณหภูมิปกติได้ โดยไม่ต้องใช้ห้องเย็น เพราะการค่าขนส่งโดยรถห้องเย็นนั้นต้นทุนค่อนข้างสูง เพื่อให้ราคาประหยัดที่สุด ซึ่งนอกจากหมูกรอบ และบะหมี่ เรายังมีหมูแดง ไก่แดงอบ ที่เราพัฒนาสูตรเอง รวมถึงผักที่เราปลูกซึ่งอนาคตก็อาจแตกไลน์มาทำเป็นพวกน้ำสุขภาพ เพื่อจำหน่ายในร้าน และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งขายได้ทั่วประเทศอีกด้วย” เขาบอก




 

ทำโรงเรือนอัจฉริยะในเวลา 12 วัน ปูทางสู่เมนูซูเปอร์ฟู้ด


         ถ้าถามมโนสิทธิ์ว่า อะไรพอจะเป็นข้อดีของโควิด เขาบอกว่าทำให้ผู้ประกอบการมีเวลามากขึ้น ซึ่งเวลานั้นนอกจากจะเอาไปพัฒนาบะหมี่ เขายังงัดทักษะวิศวกรรม มาทำโรงเรือน Smart Farm เพื่อเป็นพื้นที่ปลูกผักออร์แกนิก วัตถุดิบสำคัญของการทำบะหมี่หลากสีของพวกเขา มโนสิทธิ์ใช้เวลาเพียง 12 วัน ในการลงมือทำโรงเรือนด้วยสองมือ ตั้งแต่ตัดเหล็ก ทำโครงสร้าง ติดตั้งอุปกรณ์ จากโรงเรือนที่ถ้าต้องไปจ้างทำใช้เงินอยู่ประมาณ 40,000 บาท แต่โรงเรือนจากสองมือนอกจากจะทำเสร็จได้ในเวลาไม่นานแล้ว ยังใช้เงินแค่ 13,000 บาท เท่านั้น


         นอกจากจะปลูกผักหลักๆ ที่ใช้ทำบะหมี่ 5 สี โรงเรือนแห่งนี้ยังทดลองปลูกเคล (Kale) ราชินีผักใบเขียวที่ถูกยกให้เป็นซูเปอร์ฟู้ด เพื่อปูทางสู่การทำบะหมี่ซูเปอร์ฟู้ดในอนาคตอีกด้วย


          “ตอนนี้เราเริ่มปลูกผักเคล มองว่าตัวนี้จะเป็นบะหมี่เกรดพรีเมียมที่สุดของเรา โดยเราจะใส่เคลลงไปในเส้นบะหมี่ เป็นบะหมี่เส้นเคลซึ่งมีโปรตีนสูง มีแคลเซียมเท่ากับนม 3 แก้ว และสารอาหารต่างๆ โดยผลผลิตเคลจากฟาร์มของเราน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ตัวบะหมี่เส้นเคลก็จะทำออกมาได้ และอนาคตเราจะนำเคลมาทำพวกน้ำปั่นเพื่อสุขภาพ มีทั้งเคลสดและเคลผง เพื่อส่งขายทั่วประเทศอีกด้วย” เขาบอกแผนที่วางไว้


          มโนสิทธิ์ เชื่อว่าหลังโควิดคนจะใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น และสินค้าสุขภาพก็จะเติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นคือโอกาสของพวกเขา โดยการปรับเข็มทิศธุรกิจไปสู่ Food and Travel ในเชิงสุขภาพ ในอนาคตด้วย


         “ผมมองธุรกิจเชิงสุขภาพ คิดว่าโรงแรมหรือห้องพักเองแม้เราทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่เชื่อว่าคนจะเริ่มค้นหาข้อมูลว่าโรงแรมไหนที่มีการให้บริการด้านสุขภาพมากขึ้น เราจึงจะทำท่องเที่ยวแนวสุขภาพมากขึ้น ตั้งแต่เขาเข้ามาพักที่โรงแรมของเราก็จะได้บริการที่ดี ทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีน้ำที่กินแล้วดีต่อสุขภาพ รวมถึงจัดทริปเพื่อสุขภาพ อย่าง เดินป่าในภูเก็ต ดูธรรมชาติที่ดี เป็นเหมือนโรงแรมที่สามารถส่งเสริมสุขภาพของผู้ที่มาเข้าพักไปด้วยในตัว ผมคิดว่ามันจะกลายเป็นอัตลักษณ์ของโรงแรมและเพิ่มมูลค่าให้กับโรงแรมเราได้มากขึ้น” เขาบอกเป้าหมาย จากกลยุทธ์ที่ปูทางอย่างแข็งแกร่งในวันนี้ ขณะที่ตัวบะหมี่เองก็วางแผนที่จะขายเป็นแฟรนไชส์ในอนาคตอีกด้วย





 

รับมือวิกฤต SME ต้องพึ่งตัวเอง


         จากการปรับตัวอย่างรวดเร็วทำให้ธุรกิจเล็กๆ ในเมืองภูเก็ตยังเติบโตได้ถึง 200 เปอร์เซ็นต์ และยังเห็นโอกาสที่จะไปต่อได้ในอนาคต เขาบอกแนวคิดในการตั้งหลักและรับมือกับวิกฤตว่า ธุรกิจต้องพึ่งตนเองและอยู่รอดได้ด้วยการปรับตัว


          “ผมมองว่าเวลานี้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าเรารอโอกาสแล้วสมหวังมันก็คงดี แต่ถ้าผิดหวังจะกลายเป็นว่าหลายคนหมดกำลังใจ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าตั้งต้นด้วยการที่เรามีทักษะอะไร ชอบอะไร บางอย่างเราอาจไม่ได้มีทักษะเพียงแต่เราชอบ ก็ให้ทำสิ่งนั้นแล้วลองศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมดู ผมเองก็ใช้หลักอย่างนี้ คือ 1.หาสิ่งที่ชอบแล้วก็อยากทำ 2.ใช้ทักษะในการหาข้อมูลหาความรู้เพิ่มเติม และ 3.ลงมือทำ เพราะถ้าไม่ลงมือทำมันก็ไม่สำเร็จ ตอนนี้ผมอาจไม่สามารถบอกได้ว่าเราสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยเราตั้งธุรกิจได้ และเรามีกินแน่ๆ เรามีผักกิน มีบะหมี่กิน มีหมูกรอบหมูแดงกิน ซึ่งอันนี้ลดค่าใช้จ่ายของเรากับลูกน้องลงได้แน่นอน และถ้าขายได้เราก็มีรายได้เข้ามาอีก อย่างตอนนี้รายได้เราโตประมาณ 200 เปอร์เซ็นต์และโตขึ้นเรื่อยๆ


         ผมอยากให้คนที่รู้สึกท้อหันกลับมาตั้งหลักว่า ตัวเองชอบอะไรแล้วก็ทำในสิ่งที่ชอบ หรือสิ่งที่เรามีดีมีพื้นฐานอยู่โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะทำไม่ได้ จริงๆ ต้องบอกว่า สิ่งที่เราคิดมันคงไม่ใช่คิดเป็นคนแรก เดี๋ยวนี้เปิดไปในอินเตอร์เน็ตมีข้อมูลให้เราเรียนรู้เยอะแยะไปหมด ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไร ฉะนั้นอยากให้แต่ละท่านลองตั้งเป้าหมายดูว่า เราอยากทำอะไรแล้วก็ค้นคว้าหาข้อมูล และสุดท้ายลงมือทำ ก็เชื่อว่าทุกคนจะไปต่อได้ในวิกฤตนี้” เขาบอกในตอนท้าย


           และนี่คือเรื่องราวของธุรกิจเล็กๆ ที่เลือกปรับตัวด้วยการพึ่งพาตนเอง และใช้สองมือพลิกวิกฤต จนกลายเป็น “ผู้รอด” ในสถานการณ์สุดสาหัสในวันนี้ได้
 
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย