เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังวิกฤตโควิดระลอก 3 ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น และเริ่มทยอยล้มหายตายจากไปไม่น้อย แต่รู้หรือไม่ว่าท่ามกลางความเหนื่อยยากนั้น มีประเภทธุรกิจที่ใกล้เคียงกันอย่าง “ธุรกิจกาแฟ” กลับยังอยู่รอดต่อไปได้ เพราะการปรับตัวที่ยืดหยุ่นกว่า ข้อมูลจาก “สุภาภรณ์ อังศรีสุรพร” แห่ง อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ สะท้อนความน่าสนใจในเรื่องนี้
ร้านอาหารกำลังแย่ ต้องปรับตัวมาทำ Delivery & Go
หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่กระหน่ำซ้ำเติมจนทำให้ธุรกิจร้านอาหารต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักเพื่อเอาตัวรอด จากการที่ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมร้านอาหาร ทั้งพื้นที่และเวลาเปิด-ปิด ผู้ประกอบต้องแบกรับปัญหาสภาพคล่องและความเสี่ยงที่โถมใส่ ขณะที่ยังคาดเดาพฤติกรรมการใช้เงินของลูกค้าได้ยากลำบากอีกด้วย
แม้แต่ทางออกอย่างการทำ “เดลิเวอรี” ก็ยังได้รับผลกระทบหนัก เมื่อบริการเดลิเวอรีเริ่มไม่ตอบโจทย์การอยู่รอดของร้านอาหาร เพราะต้องแบกรับกับค่า GP (Gross Profit) จากแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีขั้นต่ำถึงราว 30-35 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการแข่งขันด้านเดลิเวอรีที่พุ่งสูงขึ้น และผู้ตัวบริโภคเองก็หวั่นใจเงินในกระเป๋าของตัวเอง จนไม่สามารถใช้จ่ายกับค่าอาหารได้ถี่ๆ เหมือนที่ผ่านมาอีกด้วย นั่นทำให้ที่ผ่านมาร้านอาหารหลายรายเริ่มปรับตัวมาทำ Delivery & Go หรือการขายผ่านช่องทางของร้านเอง โดยรับออเดอร์ผ่านทางออนไลน์ของตัวเอง แล้วจัดส่ง เพื่อไม่ต้องแบกรับค่า GP โดยอาศัยการส่งสินค้าพื้นที่ใกล้เคียงกันในครั้งเดียว เพียงแต่วิธีนี้อาจไม่สามารถจัดส่งได้ในทันที หรือต้องใช้วิธีพรีออเดอร์ล่วงหน้า ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการสินค้าในทันทีได้
“เราจะเห็นว่าเชนร้านอาหารขนาดใหญ่หลายรายเริ่มมีแพลตฟอร์มเดลิเวอรีเป็นของตัวเอง เพื่อลดต้นทุนต่างๆ ที่ไปผูกกับแพลตฟอร์มรายอื่น ขณะที่กลยุทธ์ Delivery & Go หรือการขายของผ่านช่องทางของร้านเอง ยังถือเป็นเทคนิคที่มีความคล้ายคลึงกันและเหมาะกับผู้ประกอบการขนาดเล็กถึงกลางมากกว่า อีกทั้งวิธีนี้ยังมีข้อดีในด้านการสต็อกวัตถุดิบ ให้สดใหม่-ไม่คงค้าง ได้สินค้ามีคุณภาพดีก่อนถึงมือลูกค้า ช่วยคุมต้นทุนและลดความเสี่ยงได้ไปในตัว และยังทำให้เกิดความประทับใจในแบรนด์ มีโอกาสนำไปสู่การซื้อซ้ำ หรือร้านอาจใช้เพิ่มความน่าดึงดูด โดยการสอดแทรกโปรโมชั่นและการตลาดเพิ่มเข้าไปในแพลตฟอร์ม Delivery & Go ของตัวเอง ก็เป็นหัวข้อที่น่าสนใจเช่นกัน” สุภาภรณ์ บอก
ธุรกิจกาแฟยังมีโอกาสในวิกฤต
แม้ธุรกิจร้านอาหาร จะถูกผลกระทบในการระบาดระลอก 3 อย่างหนักหน่วง แต่ทว่า “ธุรกิจกาแฟ” กลับไม่เป็นเช่นนั้น แต่ยังมีโอกาสในวิกฤต
ทำไมธุรกิจกาแฟถึงต่างจากร้านอาหาร ผู้บริหารอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ บอกเราว่า เพราะธุรกิจกาแฟเป็นตลาดที่มีความได้เปรียบจากการมีเซ็กเมนต์ที่หลากหลาย โดยแม้ร้านกาแฟจะถูกผลกระทบไม่ต่างจากร้านอาหาร แต่ด้วยการปรับตัวที่ยืดหยุ่นกว่า ทำให้ไม่จำเป็นต้องยึดกับการชงสดเพียงอย่างเดียว ซึ่งเมื่อรวมกับทางเลือกอย่างแพลตฟอร์มเดลิเวอรี จึงทำให้ผู้ประกอบการร้านกาแฟลอยตัวสวนกระแส และมีโอกาสมีตลาดให้เลือกเล่นได้มากกว่าร้านอาหารอย่างเห็นได้ชัดนั่นเอง
“แน่นอนว่าธุรกิจกาแฟเองก็ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกนี้ไปไม่น้อย แต่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้กลับมาตั้งลำได้เร็วกว่าธุรกิจร้านอาหาร คือเซ็กเมนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนดื่มกาแฟ ที่มองกาแฟเป็นมากกว่าเครื่องบริโภค แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่เขาต้องทำอยู่ทุกวัน อีกทั้งเซ็กเมนต์เหล่านี้ ยังมีความหลากหลายกว่า จึงเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการสามารถนำมาใช้ดำเนินธุรกิจ ตามแนวทางที่ตัวเองถนัดได้ง่ายกว่าด้วย เช่น กาแฟพร้อมดื่มที่โดดเด่นไม่แพ้กาแฟสด หรือจะเป็น กาแฟชนิดพิเศษและอุปกรณ์ชงกาแฟ ที่เข้ามาเสริมให้กาแฟสดมีความโดดเด่นน่าซื้อยิ่งขึ้น” เธอกล่าว
กาแฟพร้อมดื่มยังเป็นขาขึ้น
ในส่วนของ “กาแฟพร้อมดื่ม” (Ready-to-Drink Coffee) คือธุรกิจกาแฟที่กำลังอยู่ในขาขึ้นของตลาดประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ อย่างกาแฟสกัดเย็น หรือ Cold Brew หรือวิธีการชงด้วยน้ำเย็น ที่ให้รสสัมผัสที่ละมุน ตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบกาแฟดำ และสำหรับธุรกิจกาแฟสด ยังได้มีการตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วย กาแฟชนิดพิเศษ (Specialty Coffee) ที่มีเอกลักษณ์ทั้งกลิ่น รส หรือสตอรี่ต่างๆ ที่ดึงเอาสนใจจากผู้บริโภคได้ดี รวมไปถึงการใช้ อุปกรณ์ชงกาแฟแก้วเดียว (Single-Cup Coffee) อย่าง อุปกรณ์กาแฟดริป, หม้อต้ม Moka Pot มาเป็นจุดขายเรื่องกรรมวิธีชง หรือแม้แต่ทำเป็นธุรกิจขายอุปกรณ์โดยตรง ต่างก็มีแนวโน้มเติบโตดีเช่นกัน
จากสัญญานเหล่านี้จึงทำให้ธุรกิจกาแฟยังเป็นโอกาสในวิกฤต ที่ผู้ประกอบการซึ่งปรับตัวไวยังคงฉกฉวยได้ท่ามกลางสถานการณ์วิฤตที่ร้านอาหารกำลังแย่ และ SME ยังต้องดิ้นรนต่อสู้อีกหลายยก
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี