คุยเบื้องหลัง Origi Rice คนทำสินค้าเกษตรนวัตกรรม กับการต่อสู้ระหว่างทางที่มีแต่ช้ำกับช้ำ

TEXT : กองบรรณาธิการ 
PHOTO :  Origi Rice
         

      

       เขาคือนักธุรกิจเกษตร ที่ยอมทิ้งเงินเดือน 6 หมื่น กับตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ไปเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด จ.ชัยนาท ทำข้าวเกษตรอินทรีย์ ขายข้าวแบบอินดี้ที่ต้องสั่งจองล่วงหน้า เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ลุกมาทำสินค้านวัตกรรมจนได้ข้าวกล้องงอกอัดเม็ดที่มีรางวัลระดับประเทศการันตีความสำเร็จมาแล้ว เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่หลายคนอยากกลับไปเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด และอยากลุกมาทำสินค้าเกษตรนวัตกรรม  
               

       แต่วันนี้สิ่งที่เขาจะคุยกับเรา ไม่ใช่ภาพของความสำเร็จ ทว่าเป็นอีกด้านของความจริงที่ใครหลายคนมักไม่อยากเล่า และเขาเองก็ไม่เคยเปิดเผยที่ไหน นี่คือ “ปรีดาธพันธุ์ จันทร์เรือง” นักธุรกิจเกษตร เจ้าของ บริษัท ออริจิไร้ซ์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวอินทรีย์ แบรนด์ “Origi Rice” และข้าวกล้องงอกอัดเม็ด แบรนด์ “Bright” มาฟังเรื่องราวความชอกช้ำของคนทำนวัตกรรมอย่างเขาไปพร้อมกัน



 

Q : วันนี้มีผู้ประกอบการหลายคนอยากลุกมาทำสินค้านวัตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับไปทำธุรกิจเกษตรที่บ้านเกิด สนามนี้หอมหวานจริงหรือไม่


      A : หลายๆ คนจะมองแต่ภาพบวก แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าจะเจอภาพบวกนั้นภาพลบมันก็มี เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเท่านั้น ซึ่งด้านที่ไม่สวยงามของการทำสินค้าเกษตรให้เป็นนวัตกรรม หนึ่งเลยคือเราต้องมีความรู้เรื่องนวัตกรรมที่แท้จริง แต่เกษตรกรไทยที่เข้าไปอบรมนวัตกรรมกับหน่วยงานต่างๆ จะมีความรู้ด้านนวัตกรรมแค่ผิวเผิน แต่ไม่ได้รู้จักคำว่า นวัตกรรมที่แท้จริง เกษตรกรส่วนใหญ่โดนหน่วยงานภาครัฐอุ้มชูให้เป็นนวัตกรรม งบประมาณก็จะลงมาที่นวัตกรรม แต่แก่นของนวัตกรรมไม่มี มีแต่อบรมให้ความรู้ สุดท้ายเลยเป็นเหมือนการเอาสินค้า OTOP มาแปลงโฉม มาเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง แล้วก็บอกว่า เป็นนวัตกรรม ในขณะที่ความรู้สึกของผู้บริโภคเขามีคำถามทันทีว่า มันนวัตกรรมตรงไหน เลยทำให้สินค้ามักไปต่อไม่ได้


     สำหรับผมคำว่า นวัตกรรมที่แท้จริง คือการทำสินค้าใหม่ที่ยังไม่มีใครทำ แล้วตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าคือไปแก้ปัญหาให้เขาได้ แต่ถ้าเราทำสินค้านวัตกรรมใหม่แต่ไม่สามารถไปตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาอะไรได้ มันก็ไม่ใช่นวัตกรรม แต่เป็นแค่การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรืองานวิจัยมาตัวหนึ่งเท่านั้น อย่างสินค้าของผมเองก็ไม่ได้เป็นนวัตกรรมที่ชัดนัก เพียงแต่เป็นการพึ่งพาเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเรื่องของการแปรรูปเข้ามาใช้เท่านั้นเอง
 

Q : ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานพยายามชี้ให้ SME เห็นความสำคัญของ นวัตกรรม เพราะเชื่อว่าจะเป็นแต้มต่อในการแข่งขันที่จะสามารถไปต่อกรกับบริษัทใหญ่ได้ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ ก็น่าจะง่ายกว่าสินค้าทั่วไปด้วย ความเข้าใจนี้ถูกต้องหรือไม่


      A : ด้วยความที่พื้นฐานเราเป็นเกษตรกรไม่ใช่ผู้ประกอบการ  ฉะนั้นสายป่านจะไม่ได้เหมือนกับบริษัทใหญ่ๆ การที่เราจะเข้าไปต่อสู้ไปแข่งขันกับเขาย่อมทำได้ยากอยู่แล้ว ครั้นพอใช้ความสามารถส่วนตัวในการเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐ เขาก็ช่วยเราได้ไม่สุด สุดท้ายก็ได้แค่ผลงาน ได้แค่ตัวต้นแบบ พอจะขยับไปต่อหรือทำในเชิงพาณิชย์มันก็จะมีเรื่องของเงินทุน เรื่องของการทำตลาด การจัดการองค์กร และอะไรอีกมากที่เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างผมเองทำนวัตกรรมข้าวกล้องงอกอัดเม็ด ซึ่งมันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์คนไทยแต่ไปตอบโจทย์ต่างประเทศ แต่เราก็ไปไม่ถึงอีก เพราะว่าความสามารถในการทำตลาดต่างประเทศเราไม่มี ไม่ได้เชี่ยวชาญขนาดนั้น


       พอมาดูเรื่องเงินทุน เราเป็นสินค้านวัตกรรม ก็ต้องวิ่งหาแหล่งเงินทุน ประเด็นเลยคือพอไปขอสินเชื่อก็ต้องไปฟาดฟันกับธนาคารอีก เพราะเราเป็นสินค้านวัตกรรม เป็นของใหม่ แต่เขาบอกว่าคุณต้องมีลูกค้ามาก่อนแล้วสินค้านวัตกรรมจะเอาลูกค้ามาจากไหน กว่าผมจะขอสินเชื่อก้อนแรกได้ ก็ต้องไปเอาลูกค้าฐานเดิมของเราที่ซื้อข้าวซึ่งไม่ได้เป็นนวัตกรรม แต่เราต้องขอสินเชื่อมาเพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรให้เป็นนวัตกรรม บอกตรงๆ ว่า เหนื่อย เกษตรกรคนไหนที่อยากมาทำนวัตกรรมผมมองว่าจะเหนื่อยมาก สู้เรารวมกลุ่มเป็นแม่บ้าน OTOP เหมือนเดิมดีกว่า


      สินค้านวัตกรรมมันมีโอกาสแต่เหนื่อย เหนื่อยอีกหลายด่าน ถ้าเกษตรกรทั่วไปอยากทำแล้วภาครัฐมาส่งเสริมแค่ผิวเผินอย่าไปทำเลย ให้เขาอยู่ในวิถีของเขาโอเคแล้ว  ไม่ว่าจะทำเป็นสินค้า OTOP ขายในประเทศ แปรรูปเป็นสินค้าอะไรไป แต่อย่าไปทำนวัตกรรมเลย



 

Q : วันนี้มองเห็นถึงความยากลำบาก อยากทราบว่าในวันเริ่มต้นทำไมถึงคิดทำสินค้านวัตกรรม ถ้าย้อนเวลากลับไปจะยังทำแบบเดิมหรือไม่


      A : เมื่อก่อนผมก็เป็นตัวตั้งตัวตีคนหนึ่งที่อยากส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่ทำนวัตกรรม แต่พอมาเจอกับตัวเองพบว่ามันเหนื่อยนะ ในวันนั้นผมมองว่านวัตกรรมเป็นอนาคต ซึ่งถ้าไม่เจอโควิตเราอาจโตแบบก้าวกระโดดเลยก็ได้ แต่พอเจอโควิดซ้ำเติมเข้าไปอีก ผมต้องปรับสภาพให้เป็นแค่งานอดิเรก แล้วทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรพอเพียงตามพื้นฐานที่เราทำมาก่อนหน้านี้ไป  ทุกวันนี้ที่ผมยังอยู่ได้ไม่ใช่สินค้านวัตกรรม แต่มันเป็นการขายข้าวปกติ คือเรายังทำข้าวเพื่อสุขภาพซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าฐานเดิมของเรา แต่นวัตกรรมเป็นเหมือนงานอดิเรก


      ถามว่าทำไมโควิดทุกอย่างแย่ลงไปอีก ด้วยความที่สินค้าเราเป็นนวัตกรรม เป็นของใหม่ ฉะนั้นเราต้องทำการตลาดต้องทำอะไรซึ่งใช้เงิน มันเป็นสเต็ปที่ต้องใช้เงินแล้ว แต่พอมาเจอโควิดเราเปิดตัวไม่ได้ สินค้าสั่งมาค้างสต็อก ซึ่งสินค้ามันมีวันหมดอายุ มันไม่เหมือนข้าวทั่วไปก็กลายเป็นต้นทุนอีก และต่อให้เป็นสินค้านวัตกรรม แต่เราก็มีสินค้าทดแทนตัวอื่น เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสินค้าเกษตรเพียบ สามารถทดแทนเราได้ ไม่เหมือนการที่เราทำสินค้านวัตกรรมแล้วไปขายต่างประเทศ เพราะเกษตรแปรรูปจะเหมาะกับประเทศที่ไม่ได้ทำการเกษตร แต่บ้านเราเป็นเมืองเกษตร คนก็จะคิดว่าทำไมต้องเอานวัตกรรมมาบริโภคด้วย ทีนี้พอจะไปเปิดตลาดต่างประเทศ การส่งออกเราก็ไม่ได้เชี่ยวชาญพออีก และเรายังไม่มีทุนไม่มีอะไรเยอะขนาดนั้น ก็กลายเป็นอุปสรรคซ้ำเติมเข้าไปอีก
 

      แต่ถามว่าถ้าย้อนกลับไปผมจะยังทำนวัตกรรมไหม ทำแน่นอนเพราะผมเรียนมาทางด้านนี้ นี่คือจิตวิญญาณของผม ผมเรียนด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม เพียงแต่ผมเอามาประยุกต์ใช้กับการเกษตรเท่านั้นเอง แต่ก็คงต้องคิดอะไรมากขึ้น



 
 
Q :  เมื่อยังยืนยันว่าจะทำสินค้านวัตกรรม และวันนี้ออริจิไร้ซ์ ก็มีสินค้าของตัวเองออกมาแล้ว แล้วคุณจะปลดล็อกปัญหาต่างๆ ที่มีอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจได้ไปต่อ


       A : ผมคงต้องทำอีกหลายอย่าง เริ่มจากต้องมาวิเคราะห์ตัวเอง เช่น ถ้าเราจะไปต่างประเทศแล้วเราไม่เก่ง ต่อให้ไปกู้เงินจากธนาคารมาได้ ก็เอามาทำตลาดต่อไม่ได้อยู่ดี การไปขอทุน ขอสินเชื่อว่ายากแล้ว เรายังต้องมาทำตลาดที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก และมันก็ไม่ใช่ตัวเรา สู้เราไปหาพันธมิตรมาร่วมทุนเลยดีกว่า  เขาได้ทั้งภาษา มีช่องทางการตลาด มีลูกค้า และยังมีคอนเนกชันของเขาอยู่ เราก็เอามาเป็นผู้ร่วมทุนในบริษัท ถ้าเขาทำได้ เราอาจได้กำไรน้อยลงก็จริง แต่สินค้าสามารถส่งออกต่างประเทศได้ ผมว่าก็โอเคนะ ปัญหาจบ


        ส่วนพาร์ตเนอร์ ผมอยากได้บริษัทคนไทยที่ทำตลาดต่างประเทศ และมีความเข้าใจในสินค้านวัตกรรมพอสมควร ว่าต้องมีช่วงที่คุณจะต้องขาดทุนก่อน ไม่ใช่แปรรูปแล้วคุณจะประสบความสำเร็จเลยทันที พาร์ตเนอร์เองก็ควรมีความรู้เรื่องนวัตกรรม ไม่ใช่นักธุรกิจจ๋า และเป็นคนที่มีมุมมองการแปรรูปสินค้านวัตกรรม ไม่ใช่แปรรูปสินค้าเกษตร ที่สำคัญเขาต้องมีจิตอาสากลายๆ คือทำเพื่อสังคม ถามว่าทำไมเราถึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเขาจะไม่มาตามเรื่องผลประกอบการหรือกำไรอะไรมากมากมาย แต่เขาจะภูมิใจในสิ่งที่เขามาลงมือทำและตอบโจทย์กับสังคม อย่างที่รู้ว่าการทำเรื่องนวัตกรรมมันมีภาวะกดดัน จะเจ๊งหรือจะไม่เจ๊ง ถ้าถูกกดดันจากผู้ลงทุนอีกเราก็คงเครียด ซึ่งทุกวันนี้เรามีคุยกับพาร์ตเนอร์อยู่แล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องสถานการณ์โควิดทำให้ยังเดินทางมาหากันไม่ได้ เลยเหมือนเจรจาทิพย์  ยังไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น แต่เชื่อว่าถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเราก็จะสามารถปลดล็อกตรงนี้ได้



 

Q : แล้วเป้าหมายที่คุณอยากเห็นจริงๆ ในอนาคตเป็นอย่างไร อยากให้ออริจิไร้ซ์เติบโตไปถึงระดับไหน


      A : ผมตั้งเป้าว่า ต้องการเป็น 1 ใน 5 ของบริษัทที่มีชื่อเสียงเรื่องนวัตกรรมเกษตรในเอเชีย ตอนแรกตั้งเป้าไว้ในประเทศแต่พอดูแล้วมันไม่ค่อยมีใครทำ เราเป็นหนึ่งในนั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเลยมองเอเชียดีกว่า ถึงตอนนั้นรายได้ของเราก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามมา แล้วเราก็จะเกิดการพัฒนามากขึ้นไปอีก ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ก็ต้องมีพาร์ตเนอร์ที่จะพาเราไป โดยเขาต้องมีตลาดต่างประเทศ ต้องรู้มุมมองผู้บริโภค รู้ปัญหาของลูกค้าในต่างประเทศ แล้วเราก็มาพัฒนาสินค้าของเราไปตอบสนอง ซึ่งผมมองว่าประเทศไทยต้นทุนเรื่องของสินค้าเกษตรมันถูก เรามีความได้เปรียบ และสภาพแวดล้อมเราเอื้อด้วย ตอนนี้ตัวข้าวกล้องอัดเม็ดเราร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เตรียมสร้างโรงงาน มีข้าวอัดเม็ดรสโกโก้ที่เราได้ทุนมา เราก็ต่อยอดมาเป็นรสทุเรียน แล้วก็รสสตรอว์เบอรี ซึ่งสูตรต่างๆ เราทำเสร็จหมดแล้วรอแค่ผลิตอย่างเดียว ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็จะส่งออกต่างประเทศได้ โดยส่งไปที่สิงคโปร์ แล้วกระจายไปยังประเทศต่างๆ ต่อไป ทั้งในเอเชียและยุโรป


       พอเราทำข้าวอัดเม็ดก็มาเจอปัญหาว่า มันจะตอบโจทย์ผู้บริโภคแค่บางกลุ่มเท่านั้น คือวัยทำงานกับเด็ก แต่กลุ่มที่มีกำลังซื้อ จะเป็นกลุ่มที่อายุ 40 ปีขึ้นไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ ก็เลยพัฒนามาทำเป็นผงชงดื่ม เป็นผงสกัดข้าวกล้องงอก เพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น แล้วก็เปลี่ยนมาใช้แบรนด์ Origi Rice เหมือนกันในทุกผลิตภัณฑ์



 

Q : วันนี้มีเด็กรุ่นใหม่หลายคนที่อยากกลับมาพัฒนาสินค้าเกษตรที่บ้านเกิด ในฐานะรุ่นพี่ที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน จะมีข้อแนะนำให้กับน้องๆ อย่างไรบ้าง


      A : สิ่งแรกเลยที่คุยจะต้องเจอคือความกดดันจากครอบครัว อย่างผมเองครอบครัวพื้นฐานเขาทำเกษตร ไม่ได้มีความรู้เรื่องธุรกิจ พอผมมาทำให้เป็นธุรกิจการที่เราไม่มีสายป่านเรื่องการเงิน และยังมีภาระหนี้สินอะไรอย่างนี้ครอบครัวก็จะไม่เข้าใจ เขาเครียด เราก็ต้องแบกรับความเครียดนั้นไปด้วย ต่อมาคือสังคมเกษตรจะแตกต่างจากสังคมเมืองที่เราเคยอยู่ ผมเองไม่ค่อยสนใจโลก แต่สังคมชนบทเราต้องแคร์ เพราะอาจทำให้เราเกิดความเครียดได้ โดยเขาอาจจะไปบีบครอบครัวเรา เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเล่าให้ญาติพี่น้องเราฟัง จนอาจเกิดเป็นความไม่เข้าใจกัน และกลายเป็นความกดดันที่จะมาถึงเราทางอ้อมได้ หรืออย่างการที่เขาไม่เข้าใจเราและไม่ทำเหมือนเรา เราทำอินทรีย์เขาทำเคมี เราก็ต้องฝ่าฟันท่ามกลางแปลงรอบข้างที่ใช้เคมี ซึ่งปัญหามันเยอะนะ ไม่ใช่โลกสวยเลย ถามว่าจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ก็ต้องประนีประนอม ค่อยๆ ทำความเข้าใจกันไป และพิสูจน์ตัวเอง และไม่ต้องสนใจโลกมาก เพราะยิ่งสนเราก็ยิ่งเครียด


     สำหรับน้องๆ ที่อยากกลับมาทำแบบนี้ ถ้าให้ผมแนะนำผมอยากให้ลองไปอยู่ในองค์กรหลายๆ องค์กรดูก่อน มันจะทำให้เราเห็นมุมมองการทำงานที่เป็นขั้นตอน เข้าใจในแต่ละแผนก แล้วก็จะเกิดเป็นจิ๊กซอว์ให้เอามาต่อเองได้ คือถ้าเขาจบใหม่มาเลย โอเคเขาอาจไฟแรงก็จริง แต่เขาไม่เคยเจอจิ๊กซอว์ในการทำงานที่ต่อเนื่องกันแบบนั้น เขาก็จะทำเองลำบาก เพราะว่าการเป็นผู้ประกอบการต้องทำทุกอย่าง และการมีประสบการณ์มาก่อนจะทำให้เวลามาทำของเราเอง เจอปัญหา เราก็จะไม่ท้อและไปต่อได้


       ถามว่าทำไมผมถึงกล้าเล่าเรื่องพวกนี้ เพราะมันคือความจริงที่เขาต้องเจอ ไม่ได้พูดแต่ภาพสวยงามแล้วเหมือนหลอกให้เขาแห่กันเข้ามาทำ เขายังต้องเจอกับอะไรอีกเยอะ และผ่านอะไรอีกมาก มันไม่ได้โลกสวยขนาดนั้น
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย