PHOTO : Organics Buddy
ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตไวรัส ธุรกิจไหนที่ยังคงเติบโตได้และไปต่อ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่ดีต่อทั้งสุขภาพของผู้คน โลก และสิ่งแวดล้อม
หนึ่งผู้เล่นในตลาดนี้ คือ “Organics Buddy” (ออร์แกนิคส์ บัดดี้) เจ้าของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณและเส้นผม แบรนด์ “Common Ground” (คอมมอน กราวด์) และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน แบรนด์ “Soganics” (โซแกนิคส์) ที่หลายคนคุ้นเคยดี ในปีที่ผ่านมาท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจของพวกเขายังโตได้ถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ แต่การเติบโตนี้ไม่ได้มาจากความบังเอิญ พวกเขาทำสินค้าออร์แกนิกแบบไหนให้ตอบโจทย์ทั้งธุรกิจ ผู้บริโภค และโลก “ธนทัต สุกาญจนพงษ์” Co-founder และกรรมการผู้จัดการ ออร์แกนิคส์ บัดดี้ มีคำตอบ
ทำสินค้าออร์แกนิกที่ทุกคนเข้าถึงได้
Organics Buddy ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน โดยธนทัต ที่จบ MBA มาจากประเทศออสเตรเลีย และเพื่อนสนิทสมัยมัธยมที่เรียนมาทางด้านสถาปัตย์ คู่หูบัดดี้ที่มีความมุ่งมั่นอยากทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติให้ผู้คนเข้าถึงได้ ในราคาที่เอื้อมถึง โดยมีความเชื่อมั่นว่าออร์แกนิกไลฟ์สไตล์ที่สมดุลจะมาคู่กับคุณภาพและความสมเหตุสมผล จึงมุ่งพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ อ่อนโยน เข้าถึงได้ง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “ดีต่อธรรมชาติ ดีต่อเรา และทุกๆ คน” เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน
“ที่ผ่านมาคนไทยเริ่มคอนเซิร์นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและโลกเยอะขึ้นก็จริง แต่ด้วยราคาที่มันแพงขึ้น คนกลับไม่ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มเท่าไร ยกตัวอย่าง ขวดของเราทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้นทุนจะสูงกว่าการใช้ขวดที่มาจากเม็ดพลาสติกทั่วไปอยู่แล้ว ที่นี้ถ้าเราไปบอกผู้บริโภคว่า เราทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลนะ แล้วเอาตรงนี้ไปชาร์จลูกค้าให้แพงขึ้น ก็จะมีเพียงแค่คนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่เห็นความสำคัญและยินดีที่จะจ่ายเพิ่ม แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเราเลยต้องแบกรับตรงนี้ไว้เอง เราอยากเป็นคนเริ่มเพราะถ้าเราไม่เริ่มก็จะไม่มีใครเริ่ม เราจึงเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกที่นำนวัตกรรมตัวนี้เข้ามาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เกิดความรู้สึกว่าเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการรักษ์โลกได้ โดยเริ่มจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากขวดรีไซเคิล เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” เขาบอก
เมื่อไปบังคับให้ผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้นไม่ได้ ก็มาบริหารจัดการในส่วนของตัวเอง เขาบอกหนึ่งในวิธีที่ใช้ คือนำเรื่องของการดีไซน์เข้ามาช่วย เช่น การออกแบบขวดผลิตภัณฑ์ โดยการจัดกลุ่มสินค้าที่ใช้ขวดแบบเดียวกันเพื่อดีไซน์ขวดครั้งเดียว ไม่ต้องทำออกมาหลายสีหลายแบบ แต่สามารถใช้ได้ในผลิตภัณฑ์หลายๆ ตัว เช่น น้ำยาอเนกประสงค์ ที่เป็นขวดสเปรย์อยู่แล้ว ก็สามารถใช้กับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่เป็นสเปรย์ด้วยกันได้ เวลาสั่งผลิตขวดก็สามารถสั่งในปริมาณที่มากได้ เพื่อกระจายไปใช้ในแต่ละผลิตภัณฑ์ ช่วยให้ง่ายต่อการจัดการ และได้ต้นทุนที่ถูกลงจากการผลิตในปริมาณมากด้วย
รักษ์โลกแต่ต้องตอบโจทย์การใช้งาน คุณภาพต้องมาก่อน
หนึ่งในความยากของการทำตลาดออร์แกนิกในประเทศไทย คือ การรับรู้ของคนไทยที่มีต่อสินค้าจากธรรมชาติ เช่น ถ้าเป็นพวกน้ำยาทำความสะอาดคนก็อาจจะรู้สึกว่ามีประสิทธิภาพสู้ของที่ทำมาจากเคมีไม่ได้ ฉะนั้นถ้าต้องจ่ายแพงขึ้น แล้วยังมาเจอกับประสิทธิภาพที่ไม่ดีเท่าเดิม คนก็ไม่รู้จะจ่ายแพงไปทำไม โจทย์ของพวกเขาจึงต้องพัฒนาสูตรที่ทำให้ประสิทธิภาพของสินค้าใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นเคมีให้มากที่สุด ในขณะที่จุดยืนรักษ์โลกต้องไม่ลดลงตามไปด้วย
“อย่างผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ถ้าบ้านๆ หน่อยคนก็จะนึกถึงพวกน้ำหมักอะไรอย่างนี้ ซึ่งคงพอนึกออกว่ากลิ่นมันจะแรงมาก เรียกว่าความง่ายในการใช้งานมันอาจจะไม่ได้ยืดหยุ่นเท่าไร เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปหาวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด มันสําปะหลัง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ฯลฯ มาช่วยในการพัฒนาสูตรแล้วก็ทำให้เรื่องของการใช้งานเหมือนกับวิธีการใช้งานของผลิตภัณฑ์ทั่วไป และประสิทธิภาพต้องไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อย่าง เราจะมีผลิตภัณฑ์ตัวชูโรง คือ น้ำยาทำความสะอาดเอนกประสงค์ ที่คนรุ่นใหม่ซึ่งอาจใช้ชีวิตอยู่ในคอนโดแล้วไม่ได้มีพื้นที่ในการเก็บเยอะมาก ไม่จำเป็นต้องมีน้ำยาหลายขวด เราก็ทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้ที่สามารถใช้ได้กับทุกพื้นผิว ไม่ต้องไปลำบากในเรื่องของการผสมน้ำหรืออะไร แต่สามารถใช้ได้ทันที ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานของคนได้มากขึ้น”
ขณะที่พอบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกหรือของที่ทำมาจากธรรมชาติ ก็มักจะไม่แต่งสีเติมกลิ่น แต่ในความเป็นจริงในบางสินค้าถ้าไม่มีกลิ่นคนก็ไม่อยากซื้อ ฉะนั้นการพยายามหาจุดที่สมดุลระหว่าง ธุรกิจ ผู้บริโภค และโลกจึงเป็นพันธกิจสำคัญของพวกเขา
“เราพยายามหาจุดพอดี จุดสมดุลที่ทุกคนสามารถอยู่ด้วยกันได้ อย่างเช่น ถ้าเราไปทางออร์แกนิกจ๋ามากๆ ก็อาจจะไม่ใส่กลิ่นหรือไม่ใส่น้ำหอมเลย ซึ่งพูดตรงๆ คนไทยไม่ชอบ ลองนึกภาพว่าเราใช้แชมพูแต่ผมไม่หอมเลย คนก็คงไม่อยากใช้ ฉะนั้นเราเลยต้องหาจุดพอดีว่าทำยังไงให้สินค้าของเรายังอ่อนโยนอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีกลิ่นหอมเพื่อให้ผู้บริโภคใช้แล้วรู้สึกติดใจและอยากกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งก็ต้องอาศัยการประนีประนอม โดยเราใส่น้ำหอมนะแต่จะใส่น้ำหอมเกรดไหน หรือใส่น้ำหอมยังไงให้คนที่แพ้ง่ายเขาไม่แพ้ หรืออย่างการพัฒนาสูตร เรารู้ว่าคนไทยเวลาสระผมชอบให้มีฟอง ก็ต้องปรับสูตรให้มีฟองถึงแม้สูตรของเราจะพัฒนาอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ว่าเราต้องคำนึงถึงสภาพน้ำของบ้านเราด้วย เพราะน้ำก็มีผลต่อการทำฟองเช่นกัน เรื่องพวกนี้เราต้องคิดให้ครบตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์” เขาบอก
ไม่ใช่แค่สินค้าแต่ต้องเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้านได้
ในอดีตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือของใช้ในบ้าน เป็นสิ่งที่ต้องหลบต้องซ่อน วางให้ลึกที่สุดเพื่อไม่ให้แขกมองเห็นรบกวนสายตา แต่วันนี้ภาพจำเหล่านั้นได้หายไปแล้ว เพราะสำหรับ Organics Buddy พวกเขาเลือกออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถวางเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในบ้านได้
“สมมุติเราทำความสะอาดบ้านอยู่ แล้วบังเอิญมีแขกมา น้ำยาทำความสะอาดคงเป็นอะไรที่เราคงไม่อยากจะโชว์เท่าไร ต้องรีบเอาไปแอบไปซ่อน แต่ถ้าโปรดักต์เราดูดี เป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งได้ ถึงแม้ไม่มีที่เก็บเวลาไปวางไว้ตรงไหนก็ไม่ดูระเกะระกะ แต่ดูเป็นส่วนหนึ่งของบ้านไปเลย นี่คือแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของเรา เพราะมองว่า อย่างพวกน้ำยาเอนกประสงค์เป็นของที่เราต้องใช้เรื่อยๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นเราย่อมต้องการหยิบใช้ง่าย โดยที่สามารถวางไว้ตรงไหนของบ้านก็ได้” เขาบอกวิธีคิด
และนั่นคือที่มาของผลิตภัณฑ์ที่ทั้งใช้ดีและวางโชว์ได้ อย่างผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณและเส้นผมแบรนด์ Common Ground และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือนแบรนด์ Soganics ที่มาพร้อมจุดยืน ไม่ทดลองกับสัตว์ เป็นผลิตภัณฑ์วีแกน ใช้ส่วนผสมที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ปราศจากสารพิษ ปลอดภัยต่อระบบน้ำหมุนเวียน และระบบบำบัดน้ำเสีย ผ่านการรับรองจาก RSPO และขวดก็ยังทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย โดยยังคงมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาสูตรจากธรรมชาติ คัดสรรวัตถุดิบ ไปจนถึงการเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อโลกในระยะยาว
“จุดมุ่งหมายของเราคือต้องการสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ของการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ฉะนั้นมันอาจมีบางจุดที่เราจำเป็นต้องทำ ยังไงก็ต้องมี แต่ก็มีบางจุดที่ระหว่างทางเราก็ใช้วิธีประนีประนอม เพื่อให้เกิดความสมดุล เช่น ฝาแบบนี้ไม่มีก็ไปหาแบบอื่นมาใช้แทนได้ไหม ที่ฟังก์ชั่นเหมือนกันแต่ต้นทุนถูกกว่า แต่สุดท้ายการออกแบบยังไงก็ยังต้องดูดีอยู่”
โอกาสธุรกิจเติบโตสวนกระแสวิกฤต
ในโควิดระลอกแรก Organics Buddy ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดส่งออกซึ่งมีอยู่ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ต้องสะดุดไป ขณะที่พวกเขาก็อยู่ระหว่างการนำสินค้าเข้าไปวางในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ แต่เพราะการเข้าตลาดช้าเลยทำให้เสียโอกาส
“ตอนนั้นเรากำลังเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางออฟไลน์ โดยยังมีตลาดที่ยังไม่ได้เข้าไป เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ๆ จะเห็นว่า อย่างรอบแรกต่อให้มีการล็อกดาวน์แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตก็ยังคงเปิดอยู่ ฉะนั้นการที่เราเข้าไปไม่ทัน โอกาสตรงนั้นก็เลยหายไป เพราะตัวสินค้าเองเป็นที่ต้องการเยอะมาก พอรอบนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป อย่างรอบแรกคนจะกักตุนสินค้าค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นความต้องการของช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะพวกน้ำยาทำความสะอาด และเจลล้างมือ แต่พอรอบที่ 2 คนไม่ได้กักตุนสินค้าเรียกว่ากลับมาเป็นวงจรปกติ ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตก็ไม่ได้มีผลกระทบมาก แต่ร้านค้าที่ขายของเราอยู่ในห้างฯ ที่ถึงแม้จะปิดหรือไม่ปิดแต่คนก็เริ่มไม่ค่อยเดินห้างฯ กันแล้ว ทำให้ยอดตกลง แต่ขณะเดียวกันด้วยความที่เราเองโตมาจากออนไลน์ เราก็มาโฟกัสออนไลน์มากขึ้น นอกจากช่องทางของเราเองก็ยังขายผ่าน KTC U SHOP สำหรับลูกค้าที่ถือบัตรเครดิต KTC ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย เพื่อให้ลูกค้ารู้จักสินค้าเรามากขึ้น ธุรกิจเลยยังคงเติบโตมาได้ โดยปีที่ผ่านมาโตอยู่ที่ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์” เขาบอก
นอกจากผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณและเส้นผม และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน Organics Buddy ยังเตรียมส่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางออกสู่ตลาด โดยยังเชื่อว่าหลังโควิดผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติและออร์แกนิกยังมีโอกาสและจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่แน่นอนว่าการเป็นธุรกิจที่น่าสนใจคนก็จะแห่เข้ามาทำเยอะเช่นกัน ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งการจะอยู่ได้ก็ต้องมีจุดยืนของตัวเอง มีภาพลักษณ์แบรนด์ที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่การทำตามกระแส แต่คือการทำธุรกิจในระยะยาว ยั่งยืนและไม่ฉาบฉวย ซึ่งนั่นคือจุดยืนของพวกเขา
“สำหรับใครที่อยากเข้ามาทำธุรกิจนี้ จะต้องเข้าใจเรื่องของจุดยืน การประนีประนอม และความสมดุลในธุรกิจ อย่างบางครั้งเราอาจอยากทำเป็นออร์แกนิกจ๋า แต่ผู้บริโภคไม่ยอมรับ หรือไม่มีเงินที่จะซื้อ ต่อให้ออกผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดมา โอกาสที่จะขายได้มันก็น้อย จึงมองว่ามันเป็นเรื่องของการบาลานซ์ โดยคุณไม่จำเป็นต้องไปทำตามเทรนด์เสียทุกอย่าง เพราะการไปตามเทรนด์ยังไงเราก็เป็นผู้ตามอยู่ดี การจะทำให้มันยั่งยืนมันก็ยาก เพราะแค่เริ่มเราก็ไปทำตามเขาแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องมีจุดยืนของเราเอง”
ถามถึงเป้าหมายในอนาคต คนทำผลิตภัณฑ์รักษ์โลกบอกเราว่า อยากให้ Organics Buddy เป็นชื่อบริษัทที่สามารถการันตีได้ว่าผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ออกมาจะมีความรักษ์โลก เป็นโปรดักต์ที่คุณภาพดีและประสิทธิภาพดี ให้ชื่อเป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีได้ ในส่วนของสินค้าก็อยากให้มีสินค้าสักตัวหนึ่งที่เป็นโปรดักต์ฮีโร่ กลายเป็นชื่อที่คนเรียกแทนผลิตภัณฑ์นั้นๆ เหมือนที่คนเรียกน้ำยาล้างจานว่าซันไลต์ หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่ามาม่า ซึ่งถ้าทำได้เขาบอกว่า คงภูมิใจและชื่นใจที่สุดแล้ว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี