PHOTO : Ginger Farm
ใครจะคิดว่ากิจกรรมลูกทุ่งๆ ของเด็กน้อยบ้านนาอย่าง ดำนา ขี่ควาย เล่นสไลเดอร์โคลนจนตัวเลอะมอม จะกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดและโดนใจเหล่าเด็กเมืองไปได้ จนทำให้ชื่อของ “จินเจอร์ ฟาร์ม” (Ginger Farm) ฟาร์มท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ใน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กลายเป็นที่รู้จักในเวลาไม่นานและยังถูกพูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียล
ทว่าทันทีที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจแห่งความสุขต้องได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ แผนที่เคยวางไว้ต้องหยุดชะงัก ถึงเวลาที่ “ธงชัย ปริเตนัง” ผู้ก่อตั้ง จินเจอร์ ฟาร์ม ต้องปรับตัวรับมือ เพื่อให้เป้าหมายที่เขาเคยตั้งใจไว้ อย่างการทำพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาแล้ว “มีความสุข” เปิดประสบการณ์ใหม่ให้เด็กๆ ได้สนุกกับธรรมชาติและวิถีชีวิตลูกทุ่งขนานแท้ ไม่เลือนหายไปเพราะวิกฤตไวรัส
ฟาร์มเกษตรที่เกิดจากสื่อโซเชียล
“ที่จินเจอร์ฟาร์ม มีนาข้าวกว้างๆ มีแปลงผักพื้นบ้าน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และอาหารอร่อยๆ” คือคำโปรยที่อยู่ในเพจเฟซบุ๊ก Ginger Farm Chiangmai ฟาร์มเล็กๆ ในชานเมืองเชียงใหม่ เชื้อเชิญให้ผู้คนต่างถิ่นอยากแวะไปเยือนหาพวกเขา
จุดเริ่มต้นของสถานที่แห่งความสุขมาจาก ธงชัย และภรรยา (ศิริลักษณ์ ปริเตนัง) ผู้ทำสินค้าหัตถกรรมและของตกแต่งบ้านส่งออกไปต่างประเทศ และธุรกิจร้านอาหาร Ginger Farm Kitchen ในตัวเมืองเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ด้วยความชื่นชอบการทำเกษตร และอยากจะใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ จึงได้นำที่ดินที่ซื้อไว้ใน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ มาปลูกบ้านพักส่วนตัวพร้อมลงมือทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจรด้วยตัวเอง ทั้งทำนา ปลูกข้าว และฟาร์มเลี้ยงสัตว์
จากตอบความสุขของตัวเอง เริ่มแบ่งปันสู่ลูกๆ หลานๆ ที่ชอบมาเที่ยวเล่นมาทำกิจกรรมอยู่ที่ฟาร์มของพวกเขา ได้ลุยโคลน ดำนา ขี่ควาย แล้วถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียล กลายเป็นว่าจากเรื่องสนุกในครอบครัวกลับได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก ที่อยากมาท่องเที่ยวสนุกไปกับพวกเขาบ้าง
จากจุดนั้นเองที่จุดประกายให้ทั้งสองคนตัดสินใจทำ “จินเจอร์ฟาร์ม” ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ บนพื้นที่ประมาณ 22 ไร่ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา โดยที่ “จินเจอร์” (Ginger) มาจากคำว่า “ขิง” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยที่มีรสชาติเผ็ดร้อนมีเอกลักษณ์ สื่อถึงความเป็นไทยแท้ และความสนุกสนานหัวหกก้นขวิดอย่างมีสีสันเหมือนกับจินเจอร์ฟาร์มนั่นเอง
เปลี่ยนเรื่องลูกทุ่งให้เป็นเสน่ห์ที่เด็กเมืองหลงใหล
ทำไมเด็กหลายคนถึงอยากมาที่จินเจอร์ฟาร์ม ทั้งที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำหรับเด็กมากมายในแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย นั่นเพราะการมาที่นี่ทุกคนจะได้สัมผัสกับวิถีธรรมชาติในแบบลูกทุ่งๆ ขนานแท้ ได้เล่นกิจกรรมสุดสนุกกลิ่นอายชนบท แบบไม่ประดิดประดอยและไม่ปรุงแต่ง เช่น เล่นสไลเดอร์โคลนจนตัวมอม ดำนาปลูกข้าว เลี้ยงควาย เก็บไข่ไก่ เรียนศิลปะ ปั้นตุ๊กตาดินเผา ปลูกผักอินทรีย์ ทำปุ๋ยหมัก หรือจะทำน้ำสมุนไพร ฯลฯ ที่เด็กในเมืองและเด็กยุคนี้ยากนักที่จะได้มาสัมผัสวิถีชีวิตแบบนี้
ภายในจินเจอร์ฟาร์มถูกแบ่งพื้นที่เป็นส่วนกิจกรรมเรียนรู้การทำเกษตรต่างๆ มีสะพานไม้ไผ่ให้เดินชมบรรยากาศทุ่งนา มีร้านอาหาร และตลาดขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากการดีไซน์ของธงชัยทั้งสิ้น
เมื่อภาพของความเป็นธรรมชาติถูกสื่อออกไปในวงกว้างบนโลกโซเชียล ฟาร์มเล็กๆ ของพวกเขาก็ได้รับความสนใจมากขึ้น และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ทั้งครอบครัวที่พาลูกหลานมาเที่ยว คณะทัวร์จากต่างประเทศ และโรงเรียนที่นำนักเรียนมาทัศนศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแปลงพื้นที่ให้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานลอยกระทง งานเลี้ยง งานวันเกิด ฯลฯ อีกด้วย
วิกฤตมาแต่ธุรกิจต้องเดินหน้าต่อ
ในวันที่สถานการณ์โควิด-19 มาเยือน จินเจอร์ฟาร์ม ก็เหมือนกับหลายๆ ธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลังธุรกิจดำเนินมาด้วยดี และกำลังมีแผนจะขยายธุรกิจอื่นๆ ด้วยซ้ำ ทว่าเมื่อการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาได้ นักท่องเที่ยวในไทยก็ลดการท่องเที่ยวเดินทางเพราะสถานการณ์ ฉุดให้รายได้ของพวกเขาลดลงอย่างมาก
จินเจอร์ฟาร์ม เลยเริ่มจากขอพักชำระหนี้กับธนาคาร เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ผ่านปีที่ยากลำบากไปได้ จากนั้นก็หากลยุทธ์มาพลิกวิกฤต
เดิมในส่วนของร้านอาหาร พวกเขาสร้างจุดขายอย่างการนำวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ภายในฟาร์ม มาประกอบเป็นเมนูว้าวๆ สร้างเสน่ห์โดยการผสมผสานระหว่างอาหารไทยย้อนยุคมาเสิร์ฟในสไตล์โมเดิร์น ปรุงรสด้วยเชฟระดับมิชลิน เช่น ข้าวผัดน้ำพริกปลาทู คั่วเห็ดถอบยอดใบมะขามอ่อน ตำขนุนหมูกรอบตะไคร้ เป็นต้น
เมื่อโควิดมาเยือน พวกเขาจึงเริ่มให้บริการเดลิเวอรีเสิร์ฟความอร่อยถึงบ้าน คิดกลยุทธ์ผูกปิ่นโตกับจินเจอร์ฟาร์ม กินอาหารรสเด็ดจากฝีมือเชฟโดยที่ไม่ต้องคิดเองให้เสียเวลาว่า “มื้อนี้กินอะไรดี?” จัดโปรโมชั่นซื้อกลับบ้านในราคาเบาๆ จัดเซ็ตผลิตภัณฑ์สำหรับซื้อไปกินซื้อไปฝาก ในเพจของ Ginger Farm Chiangmai ยังสื่อสารกับผู้คนอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ไม่เลือนหาย บางครั้งมีการ Live สอนวิธีทำน้ำสมุนไพร แนะนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฟาร์มของพวกเขาไปในตัว ให้ความรู้กับผู้คนในเรื่องต่างๆ
เพื่อที่เมื่อทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ธุรกิจเล็กๆ ของพวกเขาจะได้เดินหน้าต่อ ทำฟาร์มแห่งความสุขที่เติบโตคู่ชุมชน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เป็นความสุขของเด็กๆ และผู้คน ทั้งยังอยู่อย่างยั่งยืนเคียงคู่โลกใบนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี