เปลี่ยนธุรกิจยังไงไม่ให้เสียลูกค้า รู้จักผู้ประกอบการต่างถิ่นเมืองเชียงคาน 11 ปี ทำมา 4 กิจการ แต่ธุรกิจยังไปต่อได้ฉลุย

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
PHOTO : สองภาค





       เพราะที่ดินบางแห่งก็มีค่าเหมือนดั่งทอง โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวอย่างถนนคนเดินเชียงคานที่ไม่ว่าจะไปอยู่ในซอกมุมใดก็สามารถทำเงินได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คนมากมายต่างแข่งขันเพื่อจะได้เข้ามาทำธุรกิจ ทำให้หลายพื้นที่หลายธุรกิจอาจต้องมีการเปลี่ยนมือไปบ้าง ซึ่งอาจสร้างความกังวลให้กับเจ้าของธุรกิจหลายคน ที่ไม่รู้จะจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามายังไง
               

      วันนี้เราจึงอยากแนะนำให้รู้จักกับ “ธงธเนส ศิริไชยชาญ” ชายหนุ่มจากเมืองกรุงผู้หลงใหลในเสน่ห์เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงแห่งนี้ เขาคือหนึ่งในผู้ที่เคยได้รับทั้งโอกาสและต้องเสียโอกาสจากการย้ายที่ทางในการทำธุรกิจ ซึ่งหากจะว่าไปแล้วเขาอาจเป็นบุคคลที่ย้ายกิจการบ่อยที่สุดในเชียงคานก็ว่าได้ ลองมาย้อนดูสิว่าเขาจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังไง



 

ทำไมต้องย้ายกันบ่อยๆ
 

       ธงธเนสเล่าว่าเขาเริ่มต้นทำธุรกิจครั้งแรกที่เชียงคานเมื่อ 11 ปีก่อน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เขาทำกิจการมาแล้วถึง 4 ที่ด้วยกัน  ได้แก่ 1. โรงแรมพูลสวัสดิ์ ปี 2553, 2.ร้าน Bullock ปี 2554, 3.The Mask # 1 ปี 2558 และล่าสุด คือ 4. The Mask # 2 เพิ่งสร้างใหม่ขึ้นมาเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเหตุผลของการปรับเปลี่ยนธุรกิจแต่ละครั้ง ก็แตกต่างกันออกไป เช่น ย้ายเพื่อต่อยอด ย้ายเพราะหมดสัญญา แต่ทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามสิ่งที่เขามักจะทำเหมือนกันเสมอ ก็คือ การก้าวไปข้างหน้าเพื่อเริ่มต้นกับสิ่งใหม่
                

      “เราเริ่มต้นจากทำธุรกิจแรก คือ โรงแรม “พูลสวัสดิ์” ซึ่งเดิมเป็นโรงแรมเก่าแก่ของที่นี่ โดยนำมาบูรณะปรับปรุงใหม่ ซึ่งในระหว่างนั้นเราก็เปิดร้านอาหารเล็กๆ ข้างโรงแรมไปด้วย ชื่อว่า “Bullock” โดยความตั้งใจตอนแรก คือ เพื่อทำเป็นห้องอาหารเช้าให้กับแขกที่มาพัก โดยทำเป็นสไตล์อาหารยุโรปอเมริกัน ต่อมาเมื่อเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เริ่มมีคนนอกสนใจเข้ามาใช้บริการด้วย เราจึงเปิดเป็นร้านอาหารแบบจริงจังขึ้นมา ต่อมาจึงได้ขายกิจการโรงแรมไป เนื่องจากเราทำกันเองดูแลไม่ไหว และมองว่าธุรกิจอาหารน่าจะสามารถต่อยอดออกไปได้อีก


      “แต่ระหว่างที่ทำธุรกิจตัวที่ 2 อยู่นั้น เนื่องจากเราเน้นลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ในช่วงโลว์ซีซั่น (มี.ค. – ก.ย) ไม่ค่อยมีลูกค้า ประจวบกับเมืองและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วยไม่สงบเหมือนเดิม จึงเป็นช่วงรอยต่อให้เราคิดทบทวนว่าจะทำต่อไปหรือขยับขยายย้ายไปที่อื่นดี ประจวบเหมาะกับมีที่ว่างให้เช่าซึ่งเป็นที่จอดรถเดิมที่เราเคยใช่เมื่อตอนทำโรงแรม แต่ไม่ได้อยู่ติดถนนซอยเหมือนเดิมต้องเดินผ่านตรอกเล็กๆ เข้าไป หลายคนอาจมองว่าเป็นจุดด้อย แต่เรากลับมองว่าเป็นทำเลที่ดี มีความเป็นส่วนตัว พื้นที่ด้านในกว้างโล่ง เงียบสงบ สามารถทำเป็นร้านกึ่ง Out Door จึงตัดสินใจทำร้านใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และปล่อยเซ้งร้านเดิมไป


      “ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราได้หันกลับมามองคนในพื้นที่มากขึ้น เพราะทำรายได้ได้ตลอดทั้งปี และด้วยสไตล์อาหารที่ทำอยู่ ยังไม่มีใครทำเหมือนกับเรา เราจึงเปลี่ยนตัวเองให้เป็นร้านรับแขกสำหรับคนท้องถิ่น จากที่เน้นขายสเต็ก ขายอาหารยุโรปเพียงอย่างเดียว เราก็ปรับให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น มีปลาดิบ มีอาหารประเภทยำเพิ่มเข้ามา นำอาหารจากเมืองเข้ามาสู่ท้องถิ่นให้เป็นทางเลือกมากขึ้น และตั้งชื่อว่า “The Mask” เพราะที่นี่มีประเพณีโดดเด่น คือ ผีขนน้ำ หน้าตาจะคล้ายๆ กับผีตาโขนและมีจุดเด่นที่หน้ากากเหมือนกัน นั่นคือ จุดเริ่มต้นของกิจการที่ 3 ของเรา ส่วนตัวที่ 4 นั้น เนื่องจากหมดสัญญาเช่า เราจึงต้องย้ายร้านใหม่อีกครั้ง แต่ยังคงใช้ชื่อเดิม เพราะเป็นรูปแบบโมเดลที่ถือว่าลงตัวที่สุดแล้ว” ธงธเนสเล่าที่มาให้ฟัง



 

เริ่มใหม่ยังไงไม่ให้เฟล และไปต่อได้
 
               
      จากประสบการณ์ทำธุรกิจที่ต้องเริ่มต้นใหม่นับครั้งไม่ถ้วนนี้ ธงธเนสได้ฝากแง่คิดดีๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็น How to รับมือความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา เพื่อให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ดังนี้
 
 
มีจุดยืนของตัวเอง
               

      การเปลี่ยนแปลงอาจเป็นสิ่งน่ากลัว สำหรับหลายๆ คนที่ต้องเริ่มต้นใหม่ แต่จริงๆ แล้วหากเรามีจุดยืนหรือมีแนวทางเป็นของตัวเองที่ชัดเจนก็ทำให้สามารถไปต่อได้ไม่ ซึ่งหากไม่นับตัวโรงแรม ร้านที่ 2 – 4 ของเรา ก็คือ ทำอาหารมาโดยตลอด ซึ่งเรามีจุดยืนของตัวเองตั้งแต่เริ่มแรกว่าเราอยากทำร้านขายสเต็กขายอาหารสไตล์ยุโรป เพื่อให้เป็นทางเลือกกับผู้คนในเมืองนี้ไม่ว่านักท่องเที่ยวหรือคนในพื้นที่ ทำให้ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปที่ไหน เราก็ยังคงคอนเซปต์นี้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยน แม้ในช่วงแรกเราอาจเน้นที่นักท่องเที่ยวเป็นหลัก ต่อมาถึงจะเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในพื้นที่มากขึ้น แต่เราก็ยังคงเดินตามเส้นทางแนวเดิม เพียงแต่ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของคนพื้นที่มากขึ้นเท่านั้น



 
 
พัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม
               

      นอกจากจุดยืนที่ต้องมีแล้ว อีกสิ่งสำคัญของการเริ่มต้นใหม่ ก็คือ เราต้องพัฒนาตัวเองให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ถือเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้กับลูกค้าไปในตัว และนอกจากจะได้กลุ่มลูกค้าเดิมที่ประทับใจกลับมาแล้ว เราอาจได้ลูกค้าใหม่เพิ่มเข้ามาด้วย อย่างเราเองในส่วนของร้านอาหารที่ต้องย้ายมา 3 ครั้ง ทุกครั้งเราก็จะมีเมนูใหม่เพิ่มขึ้นมาเป็นทางเลือกให้ลูกค้าเสมอ อย่างตอนเป็น Bullock เราอาจเน้นที่อาหารยุโรป เน้นสเต็ก พอมาเปิด The Mask 1 เราก็ปรับให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น มีปลาดิบ มีอาหารประเภทยำเพิ่มเข้ามา พอมา The Mask 2 ที่เป็นร้านปัจจุบันนี้ เราก็ทำให้ว้าว! ยิ่งขึ้นไปอีก เอาล็อปสเตอร์มาเล่นบ้าง มีไก่บอนชอน ทำให้ทุกวันนี้ไม่เฉพาะแค่คนในเชียงคานเท่านั้นที่มา คนจากในตัวจังหวัดเลยเองก็เริ่มขับรถเพื่อจะมากินอาหารที่ร้านเรามากขึ้นด้วย กลายเป็นร้านรับรองของจังหวัดอีกหนึ่งร้านก็ว่าได้




 
เลือกทำสิ่งที่สำคัญก่อน
               

       แน่นอนว่าการต้องย้ายร้าน หรือไปเริ่มต้นในสถานที่ใหม่เราอาจต้องใช้เงินทุกมากขึ้น ต้องใช้เวลา สิ่งที่จะทำให้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้รวดเร็ว คือ ให้เลือกทำในสิ่งที่สำคัญก่อน ดูทุนที่มี ดูปัจจัยความจำเป็นที่ต้องทำ เราอาจไม่ต้องลงทุนทำทุกอย่างให้เสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยตั้งแต่แรกก็ได้ เพราะอย่างจริงๆ ลูกค้าที่มาหาเรา คือ เพราะเขาชื่นชอบในรสชาติและอาหารของเรา ดังนั้นเราเลยให้ความสำคัญกับตัวอาหารเป็นหลักก่อน ทำยังไงให้เขาเกิดความประทับใจได้มากขึ้น ในส่วนของตัวร้านแค่มีพื้นที่ให้นั่งสบายๆ มีอาหารอร่อยๆ กินก่อน เรามองว่าก็น่าจะเพียงพอสำหรับในช่วงเริ่มต้นโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์จากโรคระบาดเช่นนี้ ต่อไปถ้ามีเงินทุนมากขึ้น เราสามารถเพิ่มเติมใหม่ได้  

 
สนุก และมองไปข้างหน้า
               

       ข้อนี้เป็นอีกสิ่งที่ถือว่าสำคัญมากเช่นกัน หลายคนอาจกลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวการเริ่มต้นใหม่ กลัวว่าจะไม่มีลูกค้าเหมือนเก่า อยากให้คิดว่าถ้าเรามั่นใจในจุดเด่นที่เรามีอยู่ตัวเอง ไม่ต้องกลัว ถ้าเราทำได้ดียังไงวันหนึ่งลูกค้าก็ต้องกลับมาหาเราอยู่ดี อยากให้มองเป็นเรื่องสนุกเป็นสิ่งใหม่ที่ท้าทายเข้ามา เพราะไม่อย่างนั้นแล้วเราจะไม่มีความสุข และไม่สามารถพัฒนาต่อยอดอะไรได้เลย  แล้วจริงๆ เราไม่ได้กำลังเริ่มต้นใหม่ เราแค่เปลี่ยนสถานที่ใหม่เท่านั้น ลูกค้าเดิมเราก็ยังมีอยู่ในมือ ถ้าเรายังมีจุดเด่นของตัวเอง มีสิ่งที่เขาต้องการอยู่ ยังไงธุรกิจก็ไปต่อได้



 
 
ทำความเข้าใจกับสิ่งใหม่ วิเคราะห์จุดด้อยที่ผ่านมา
               

       การเริ่มต้นในสถานที่ใหม่หรือแม้แต่การทำธุรกิจใหม่ก็ตาม ก็เหมือนการทำงานศิลปะชิ้นใหม่ ซึ่งชิ้นเดิมเราอาจทำไว้ได้ดีแล้ว ซึ่งมันก็เสร็จสมบูรณ์และจบลงไปแล้ว ดังนั้นจึงอยากให้โฟกัสกับสิ่งใหม่ที่อยู่ตรงหน้ามองให้ออกว่ามีจุดเด่นอะไรที่เราจะนำมาเล่นได้บ้าง ไม่จำเป็นว่าต้องทำรูปแบบเดิมเพื่อให้คนชอบ เพราะแต่ละพื้นที่แต่ละธุรกิจก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป อีกสิ่งที่สำคัญ คือ ประสบการณ์ เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าที่ผ่านมานั้นเรามีจุดด้อยอะไรบ้าง ก็ให้ตัดทิ้งไป การเริ่มต้นใหม่จะทำให้เรามีความรอบคอบและระมัดระวังมากขึ้น และทำให้เราพลาดน้อยลงกว่าเดิม
 



www.smethailandlcub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย