“Maligood” แฟชั่นผ้าไหมสุดลักชัวรี่ ไอเดียทายาทวันเพ็ญไหมไทย สร้างแบรนด์-วิจัยโปรตีนไหม ไปบุกตลาดโลก

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : Maligood





     ถ้าผลิตภัณฑ์ OTOP ถูกต่อยอดโดยคนรุ่นใหม่ จากสินค้าชุมชนก็พร้อมอัพเกรดสู่ลักชัวรี่แบรนด์จนเป็นที่หมายปองของลูกค้าทั่วโลกได้


     เช่นเดียวกับ “Maligood” (มะลิกู๊ด) ผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากผ้าไหมไทยที่ขายกันในราคาหลักหมื่น ส่งออกไปทั้งสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลียและอเมริกา ผลงานของ "ศักดา แสงกันหา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มะลิกู๊ด จำกัด ทายาทวัย 30 ปี ของ "วันเพ็ญ แสงกันหา" ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน จ.นครราชสีมา ที่คนรักผ้าไหมรู้จักกันดีในชื่อ “วันเพ็ญไหมไทย” ซึ่งอยู่ในตลาดมากว่า 2 ทศวรรษ (ก่อตั้งปี 2542)


      เมื่อไม่กี่ปีก่อนลูกชายที่เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว เขาต่อยอดภูมิปัญญาการทำผ้าไหมของชาวคึมมะอุ อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา สู่แบรนด์ผ้าไหมสุดพรีเมียมที่ดีไซน์ทันสมัย เรียบหรูและดูแพง และยังมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งตลาดไทยและต่างประเทศ สร้างรายได้สู่ชุมชน เติบโตยั่งยืนทั้งห่วงโซ่



 

เมื่อหนุ่มวิศวะจะกลับมาสานต่อธุรกิจผ้าไหม
               

     แม้จะเริ่มทำแบรนด์จริงจังหลังเรียนจบ แต่สำหรับศักดาแล้ว เขาคลุกคลีกับอาชีพการทำผ้าไหมของครอบครัวมาตั้งแต่ยังเล็ก เขาเล่าว่า แม่เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน มีอาชีพทำผ้าไหม เขาจึงเห็นและซึมซับกระบวนการทำผ้าไหม ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า เรียกว่าทำเป็นทุกขั้นตอน เคยติดสอยห้อยตามผู้เป็นแม่ไปขายผ้าไหมตามที่ต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก จนผูกพันและคุ้นเคยกับธุรกิจนี้ แม้แต่ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย ก็ยังไปช่วยแม่ขายของเวลามาออกงานแสดงสินค้าที่กรุงเทพ ไปลงเรียนหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการที่หน่วยงานภาครัฐจัดในวันที่แม่ติดภารกิจ เคยขนสินค้าของแม่ไปออกงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศ ทั้ง สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ด้วยซ้ำ
               

      เมื่อเห็นยอดรายได้จากการขาย และการตอบรับของไหมไทยในตลาดโลก จึงก่อเกิดความสนใจและคิดอยากต่อยอดธุรกิจครอบครัว แม้จะยอมรับว่าเขาเป็นเด็กวิศวะที่ชอบคิดในเชิงตรรกะ และไม่มีหัวศิลปะเลยสักนิด แยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอะไรคือความสวยหรือไม่สวย แต่ทุกอย่างเกิดจากการเรียนรู้ โดยเขาตัดสินใจดรอปเรียนไปถึง 3 ปี เพื่อกลับมาต่อยอดกิจการของที่บ้าน ด้วยไฟที่มุ่งมั่น และพลังในตัวเต็มเปี่ยม ทว่าสุดท้ายกลับ “เจ๊ง” ไม่เป็นท่า


      “ตอนนั้นผมเหมือนเด็กน้อยที่ร้อนวิชา กลับมาก็มองว่าต้องทำเป็นระบบ ต้องผลิตแบบนั้นแบบนี้ ทฤษฎีนี่เป๊ะมาเลย ปรากฏว่า เจ๊ง ทำไม่ได้ พอกลับไปทบทวนดูก็พบว่าในตอนนั้นเรายังไม่ได้เข้าใจบริบทของสังคมที่เราอยู่เลย ไม่เข้าใจว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านเขาเป็นแบบไหน บางอย่างเขาทำไม่ได้ เราก็ควรเอาสิ่งที่ชุมชนมีหรือทำได้ไปต่อรองกับลูกค้า เพื่อทำให้สิ่งที่เรามีอยู่เกิดมูลค่ามากขึ้น ตอนนั้นผมกลับมาทำอยู่ประมาณ 2-3 ปี เรียกว่าไม่ถึงกับล้มเหลวแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แม้ส่งงานลูกค้าได้ แต่กำไรส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น” เขาเล่าบทเรียนช้ำๆ



 

เริ่มใหม่ด้วยความเข้าใจ ยกระดับผ้าไหม OTOP สู่แบรนด์แฟชั่นลักชัวรี่


      แม้การมาสานต่อธุรกิจในครั้งแรกจะเผชิญกับความยากลำบาก แต่การเรียนรู้จากลูกค้าทำให้เขาสามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมๆ ไปสู่โอกาสใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น เช่น การเปลี่ยนสีย้อมให้มีสารก่อมะเร็งลดลง เพื่อตอบสนองลูกค้าญี่ปุ่น เปิดทางสู่ตลาดส่งออกได้มากขึ้น พัฒนาสีและดีไซน์ให้เป็นที่ต้องการของลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น เมื่อเริ่มมีรายได้กลับมา ทั้งเขาและแม่ที่เคยมีปัญหากันในการทำงานช่วงแรกๆ ก็เริ่มเรียนรู้ ยอมรับและเข้าใจกันมากขึ้น ด้วยการยอมถอยกันคนละก้าว


      จากนั้นศักดาก็ตัดสินใจกลับมาเรียนต่อ แต่การเรียนครั้งนี้เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะเขาไม่ได้เรียนเพื่อเอาเกรดแต่เรียนเพื่อเอาความรู้ไปใช้ในธุรกิจ ระหว่างนั้นก็เปิดบริษัทออร์แกไนซ์ของตัวเอง รับจัดงานอีเว้นท์ ประชุม สัมมนา ไปด้วย เวลาเดียวกันก็ไปเรียนรู้เรื่องแฟชั่น การสร้างแบรนด์ จากหน่วยงานภาครัฐ จนสุดท้ายสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ของตัวเองได้สำเร็จในชื่อ “Maligood” ที่มาจากคำว่า “มะลิ” อันสื่อถึงดอกไม้ในวันแม่ และ “กู๊ด” ที่แปลว่าดี สะท้อนถึงธุรกิจที่ทำต่อจากแม่ แม่เลือกสิ่งที่ดีๆ ให้กับลูกเช่นไร Maligood ก็จะคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าเช่นนั้น


       “อย่างที่บอกไปว่าผมไม่มีทักษะเกี่ยวกับความสวยความงามเลย ไม่มีโนว์ฮาวเรื่องแฟชั่นใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นเวลามีโครงการอะไรเปิดอบรมผมก็เข้าหมด จนเข้าใจเรื่องการสร้างแบรนด์ การทำคอนเล็กชัน มากขึ้น พอไปเรียนอาจารย์ที่ปรึกษาถามว่าผมมีอะไรอยู่บ้าง ผมบอกมีผ้าที่เหลือจากออเดอร์ลูกค้า คือเวลาลูกค้าญี่ปุ่นสั่งผ้ามา ผมจะต้องสั่งทอเกินสต็อกอยู่แล้ว เพื่อเอาส่วนที่ดีไปให้ลูกค้า แล้วส่วนที่เหลือเราก็เก็บไว้ ทำให้ผมมีผ้าเหลืออยู่ประมาณเดือนละเกือบ 100 หลา มีอยู่ 7 สี ที่ปรึกษาเลยแนะนำว่า ผมควรทำแบรนด์ของตัวเอง และให้ไปหาแรงบันดาลใจ ศึกษาเรื่องเทรนด์ สรีระ และการสร้างแบรนด์ ซึ่งผมวางให้แบรนด์เราเป็นลักชัวรี่ คอลเล็กชันแรกทำออกมา 15 แบบ ปรากฎขายได้จริงแค่ 3 แบบ ตอนนั้นเราทำทุกอย่างเลย แต่พอทำออกมาจริง บางอย่างก็ใส่จริงไม่ได้ สินค้าบางตัวก็ทำซ้ำได้ยาก ไม่สามารถผลิตได้เยอะ ต้องรอนานซึ่งมันไม่สอดคล้องกับการขาย” เขาบอก





       บทเรียนจากคอลเล็กชันแรก นำมาสู่คอลเล็กชันที่ 2  ที่ใส่ความเป็นตัวเองลงไปเยอะขึ้น


       “ผมกลับมาที่บ้านแล้วเห็นว่าเราทำผ้ามัดหมี่และมีความพิถีพิถันมาก ซึ่งผ้ามัดหมี่แพงอยู่แล้ว ผมเลยเอาส่วนหนึ่งของมัดหมี่ไปผสมกับผ้าผืน กลายมาเป็นคอนเล็กชันที่ 2 เป็นเสื้อคลุมยาว ตอนนั้นทำมา 7-8 แบบ ขายได้ 4-5 แบบ เพราะเราเกิดการเรียนรู้และเข้าใจลูกค้ามากขึ้น มีการเจอลูกค้าเยอะขึ้น  ซึ่งการนำผ้ามัดหมี่มาประยุกต์ใช้ ปกติมัดหมี่ขายกันผืนละ 4-5 พันบาท พอเราเอามาทำเป็นเสื้อคลุม ขายอยู่ที่ 20,000- 29,000 บาท” เขาบอกมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมาหลายเท่า


      ตามมาด้วยคอนเล็กชันที่ 3 ที่มีทั้งแฟชั่นผู้หญิงและผู้ชาย มีแจ็กเก็ตผ้าไหม เสื้อเชิ้ตแต่งคอแต่งขอบด้วยผ้าไหมเสื้อคลุม กระเป๋า ฯลฯ สร้างความชัดเจนและโดดเด่นให้กับแบรนด์ Maligood ในวันนี้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขายังเคยคว้ารางวัล Best Design Awards มาแล้วด้วย



 

วิจัยโปรตีนไหม ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและความงาม


     ระหว่างที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ Maligood ศักดาเริ่มทำวิจัยโปรตีนไหม หลังได้รับรับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.


       “ผมเลือกวิจัยโปรตีนไหมมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เซรั่ม คุณสมบัติคล้ายบัวหิมะ ลดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก เป็นการใช้โปรตีนไหมไปผสมกับคอลลาเจนของแมงกะพรุน  โดยทำร่วมกับเพื่อนที่สิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตและนำออกมาจำหน่ายได้ในปีหน้า ซึ่งหลังจากเริ่มอ่านงานวิจัยมากขึ้น ผมก็เลยเข้าใจว่าการเลี้ยงไหมยังมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งกว่าที่ผมเข้าใจเยอะมาก เลยเริ่มกลับมาศึกษาเรื่องสายพันธุ์ของไหม แล้วก็พยายามพัฒนาสายพันธุ์ของเราขึ้นมาเอง เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีขึ้น เพื่อให้ผลิตเส้นไหมที่เยอะขึ้น รวมถึงสำหรับรองรับการทำคอสเมติกส์ในอนาคตด้วย”


      เมื่อถามถึงสิ่งที่ยังอยากเห็นในอนาคต เขาบอกว่า อยากเป็นแบรนด์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาแบบพรีเมียม สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพที่สามารถซื้อใช้ ซื้อเป็นของฝาก หรือบางคอลเล็กชันที่สามารถซื้อเก็บ มีมูลค่าเป็นเหมือนงานศิลปะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางและความงามจากโปรตีนไหม เพื่อสร้างรายได้ใหม่ในอนาคต


     เมื่อถามถึงความตั้งใจลึกๆ ของเขา เขาบอกว่า อยากทำให้ อ.บัวลาย มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสูงที่สุดในประเทศ โดยปัจจุบันพื้นที่คึมมะอุและหมู่บ้านใกล้เคียง ที่มีการปลูกหม่อนในผืนเดียวกันรวมประมาณ 500 ไร่ และที่ชาวบ้านปลูกกันเองอีกประมาณ 200-300 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกหม่อนที่เยอะที่สุดในจ.นครราชสีมาในปัจจุบัน


     “ผมอยากทำให้ที่นี่เป็นแลนด์มาร์ค เป็นชุมชนเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การเกษตรแบบผสมผสาน ผมอยากจะทำให้วิถีชีวิตของชุมชนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เขาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้ากันอยู่แล้ว ก็ทำเหมือนเดิม เพียงแต่ผมจะทำเส้นทางการท่องเที่ยวแล้วดึงให้คนเข้ามาเที่ยว โดยสร้างชื่อเสียงจากการทำผ้าไหมและการเกษตร ช่วยสร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน”



 

บทเรียนจากคนรุ่นก่อน สอนวิชาธุรกิจในวันนี้


     แรงบันดาลใจหลายอย่างของศักดา เกิดจากคนเป็นแม่ ถึงขนาดที่เขาบอกว่า ถ้าไม่มีแม่ก็คงไม่มีแบรนด์ Maligood ในวันนี้


      “ผมอยู่กับคุณแม่มาตั้งแต่เด็ก เวลาไปออกงานที่ไหนผมก็ไปด้วยตลอด วันนี้ผมมาทำเรื่องผ้าได้เพราะมีคุณแม่สร้างรากฐานมาให้ขนาดนี้ การที่ผมเองจู่ๆ จะเดินเข้าไปสั่งงานชาวบ้านก็คงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นคุณแม่ก็เปรียบเสมือนเป็นใบเบิกทาง เป็นแรงบันดาลใจให้ผม จนผมเข้าใจอะไรๆ มากขึ้น เวลาผมไปรับผ้า แล้วเอาเงินไปจ่ายชาวบ้าน สิ่งที่ผมเห็นเลยคือ คุณยายแก่ๆ ที่เอาเงินให้หลาน หรือลูกหลานกลับมาช่วงเทศกาลไม่มีเงินคุณยายก็ให้เงินกลับ ซึ่งเขารู้สึกตัวเองมีคุณค่า สิ่งนี้เป็นบริบทที่ถ้าผมไม่มีคุณแม่หรือถ้าไม่เติบโตมาแบบนี้ผมก็คงไม่เห็น และนี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงไม่เลือกสร้างแบรนด์ในกรุงเทพฯ แต่กลับมาอยู่ที่บ้าน มาส่งเสริมชาวบ้าน ช่วยสนับสนุนเขา เพราะที่นี่คือบ้านของผม”


      วันนี้ทายาทหลายคนอยากกลับไปสานต่อธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด ที่คนส่วนหนึ่งคิดกลับบ้าน และอยากกลับไปทำอะไรที่บ้านเกิด ศักดา บอกเราว่า อยากให้คนรุ่นใหม่นำองค์ความรู้ในเรื่องใหม่ๆ ที่ร่ำเรียนมารวมถึงประสบการณ์ในการทำงาน ไปประยุกต์ใช้กับกิจการของครอบครัว ซึ่งหากตรงจุดไหนที่ทำไม่ได้ ก็อยากให้ใช้การพูดคุยกัน ไม่ต้องยึดทฤษฎีหรือว่าหลักการมาก แต่ให้ดูว่าบริบทที่ทำอยู่ ขณะที่ความเป็นคนรุ่นใหม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ จึงอยากให้นำเอาสิ่งที่เรามีไปช่วยพัฒนาสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำ หรืออัพเกรดให้ดีขึ้น สามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้น มีมาตรฐานขึ้น และอยากให้ทำงานร่วมกันด้วยความประนีประนอม


     นอกจากการทำผลิตภัณฑ์ วันนี้ศักดายังสนใจเรื่องการทำเกษตร ไม่ใช่แค่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม แต่เขายังทำเกษตรแบบผสมผสาน มีทั้งเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาดุก ปลาหมอ ปลานิล เริ่มเพาะพันธุ์ปลาแจกจ่ายคนที่สนใจ เขาบอกว่าไม่ได้ทำเพื่อหารายได้ แต่อยากทำการเกษตรเพื่อให้คนในพื้นที่ได้กลับสู่วิถีเกษตรแบบดั้งเดิม ที่ไม่ใช้เคมี ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ซึ่งเขาบอกว่าถ้าคนรุ่นใหม่กลับมาทำสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ศึกษาวางแผน และเผื่อแผ่ไปยังชุมชน  ชุมชนก็จะยั่งยืนไปพร้อมกับเราด้วย


      และนี่คือเรื่องราวของทายาทคนทำผ้าไหม ที่พัฒนาแบรนด์ไทยจนไปมีชื่อเสียงอยู่ในตลาดโลก ผู้อยากเติบโตอย่างไม่โดดเดี่ยว แต่ชุมชนรอบข้างต้องโตไปพร้อมกันด้วย
              



               
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอ

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย