PHOTO : สองภาค
จากติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษที่แต่งตำราขายเอง เป็นที่รู้จักดีในโลกออนไลน์จากเพจ “ครูหนึ่งอิงลิซชีวิตจริง” มียอดคนติดตามมากกว่าสองแสนคน วันหนึ่งเมื่อจังหวะชีวิตนำพาให้ต้องกลับมายังบ้านเกิดที่บ้านคกเลาเหนือ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ก็ทำให้ “สหกมล ผานามอญ” หรือ “ครูหนึ่ง” ติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษออนไลน์ ดีกรีปริญญาโท จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกนิเทศศาสตร์ สาขาการสื่อสารเพื่อการพัฒนา ที่มีความชื่นชอบและความสามารถพิเศษด้านภาษาอังกฤษ จนภายหลังได้นำมายึดเป็นอาชีพหลักของตัวเอง คิดพัฒนาปรับปรุงที่ดินที่ซื้อเก็บไว้ 12 ไร่ เพื่อต่อยอดสู่การทำเกษตรที่ยั่งยืนนำรายได้สู่ครอบครัวและท้องถิ่นสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมานับหลายเท่าตัว
จากเขียนตำราเรียน ผันตัวสู่เกษตรกรมือใหม่
ย้อนไปเมื่อ 6 – 7 ปีก่อน หลังจากเปิดสถาบันติวเตอร์สอนภาษามาได้ระยะหนึ่ง จากการคลุกคลีและมองเห็นปัญหาด้านการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย จึงทำให้สหกมลใช้ประสบการณ์ที่มีเพื่อคิดค้นและเขียนเรียบเรียงเป็นตำราเรียนเพื่อสอนให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นมาในแบบฉบับของตนเอง จนเป็นที่มาของการจัดตั้งเพจครูหนึ่งอิงลิซชีวิตจริง เพื่อสอนภาษาอังกฤษและขายตำราเรียนผ่านออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมียอดการสั่งซื้อและถูกตีพิมพ์มาแล้วกว่า 12 ครั้งด้วยกัน แต่วันหนึ่งเมื่อต้องกลับมายังบ้านเกิด เพื่อพัฒนาที่ดินที่ซื้อเก็บไว้ ก็กลับกลายเป็นการสร้างบทบาทใหม่เพิ่มเติมให้กับชีวิตขึ้นมาอย่างไม่ทันตั้งตัว
“จริงๆ ตอนแรกไม่ได้คิดจะกลับมาทำเกษตรเลย ความตั้งใจ คือ แค่อยากมาปูพื้นฐานทำที่ทางเตรียมรอเอาไว้ว่าวันหนึ่งหากต้องกลับมาอยู่บ้านจริงๆ เราจะมีที่อยู่มีพื้นที่เอาไว้ทำงานนะ เพราะยังไงเราก็ขายตำราและสอนภาษาอังกฤษผ่านออนไลน์เป็นอาชีพหลักอยู่แล้ แต่บังเอิญพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลายน้ำ เวลาหน้าฝนก็จะเป็นที่รับน้ำสุดท้าย เวลาหน้าแล้งกว่าน้ำจะมาถึงเราก็เป็นที่สุดท้ายเหมือนกัน ดังนั้นเราเลยคิดหาวิธีบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ในพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่งก็คิดเลยไปถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้ได้มากที่สุดว่าทำยังไงถึงจะสามารถใช้พื้นที่ได้ตลอดทั้งปี เพราะจากเดิม คือ แค่ทำนาปีละครั้ง ก็เลยเริ่มหาอะไรมาทดลองปลูกเพิ่ม เพราะเราก็อยากมีพื้นที่สวยๆ เอาไว้ตอนกลับมาอยู่ด้วย
“พอดีพ่อกับแม่ก็มีเมล็ดพันธุ์ผักเก็บเอาไว้หลายชนิด เช่น ถั่วฟักยาว บวมพ่วง บางชนิดเราก็ซื้อมาปลูกเองด้วย ทำไปทำมา ก็เลยกลายมาเป็นอย่างทุกวันนี้ พอพื้นที่สวย บรรยากาศก็ดี ใครเข้ามาก็ชอบ กอปรกับเราลงทุนกับที่นี่ไว้เยอะ รายได้ที่มีเข้ามาก็มาจากขายหนังสือทางเดียว ก็เลยคิดอยากทำอะไรขึ้นมาเพื่อให้พอมีรายได้กลับคืนมาบ้าง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะที่นี่ก็อยู่ไม่ไกลจากเชียงคานมากนัก และทำเกษตรจริงจังขึ้นมา เพราะถ้าทำสำเร็จชุมชนก็ได้ประโยชน์ไปด้วย” สหกมลเล่าที่มาให้ฟัง
สร้างฐานลูกค้า จากลูกเพจที่มีอยู่
โดยหลังจากรู้แล้วว่าจะต้องเตรียมวางแผนลงมือทำอะไรบ้าง ด้วยความที่มีผู้ติดตามในเพจครูหนึ่งอิงลิซชีวิตจริงกว่าสองแสนคน สหกมลจึงใช้ฐานลูกค้าเดิมจากที่มีอยู่ในการทำประชาสัมพันธ์ออกไป เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความตั้งใจที่เกิดขึ้น รวมถึงการอัพเดตชีวิตในแต่ละวันถึงสิ่งที่ทำออกไปให้ได้รับรู้ ขณะเดียวกันก็สร้างตั้งชื่อให้กับฟาร์มและสร้างเพจใหม่ขึ้นมาด้วย โดยใช้ชื่อว่า “ฟาร์มโซคูล Farm Socool” เพื่อเริ่มต้นอีกหนึ่งบทบาทใหม่ของชีวิตในฐานะเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มเกษตรในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง
“พอคิดจะทำขึ้นมา เราก็เริ่มต้นจากง่ายๆ เลย เพราะเรามีฐานลูกค้าเดิมอยู่ในมืออยู่แล้วจากเพจสอนภาษาอังกฤษ เราก็แค่โพสต์บอกเขาไปว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เรามาทำฟาร์มของตัวเองด้วยนะ ที่ฟาร์มเรามีอะไรบ้าง เราขายอะไร ซึ่งในช่วงเริ่มต้นก็ทำให้ได้ลูกค้ากลับมาจำนวนหนึ่ง ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะส่วนใหญ่แล้วเขาเป็นผู้บริโภคอยู่ปลายทาง บางครั้งก็ไม่เคยรู้เลยว่าผักที่เขารับประทานกันไปนั้นจริงๆ แล้วตอนอยู่ที่แปลงปลูกจะมีหน้าตาเป็นยังไง เพราะบางอย่างเราเองก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน พอได้เห็นก็เกิดความรู้สึกตื่นอยากบอกต่อให้คนอื่นๆ ได้รู้บ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วมีความต้องการตรงนี้มีอยู่เยอะมาก บางอย่างก็เป็นเรื่องว้าว! สำหรับเขา ตัวเกษตรกรเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจริงๆ แล้วยังมีตลาดภายนอกที่กว้างอยู่อีกมาก ซึ่งปรากฏพอลองเอามาขาย อาทิตย์เดียวได้เป็นหมื่นเลย
“โดยนอกจากพยายามถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกไปแล้ว เรายังเป็นฟาร์มปลอดสารพิษ ใช้วิธีดูแลแบบธรรมชาติ จึงทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยได้ด้วย สำหรับชื่อจริงๆ ตอนแรกเราตั้งจะใช้ว่า Farm School เพราะเราเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ แต่จดทะเบียนทางการค้าไม่ได้ เพราะเป็นคำสามัญทั่วไป เราเลยแปลงมาเป็น Farm Scool แทน”
สร้างมูลค่าเพิ่ม ขายเมล็ด แทนขายผลผลิต
จากผลผลิตจากไร่ที่ไม่ได้มีเยอะมากนัก สหกมลมองว่าการปลูกเพื่อนำผลผลิตไปขายเพียงอย่างเดียว อาจเป็นการบริหารจัดการที่ยากกว่า ที่สำคัญอาจไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงมือทำมาด้วย เขาจึงเลือกที่จะขายเมล็ดแทนขายผลผลิตสด ซึ่งก็ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้หลายเท่าตัว และยังง่ายต่อการจัดการด้วย
“ถามว่าทำไมเราจึงเลือกขายเมล็ดมากกว่าที่จะขายผลผลิตออกไป ต้องบอกก่อนว่าตอนนี้เรายังเป็นฟาร์มเล็กๆ และทดลองปลูกหลายอย่าง ถ้านำแค่ผลผลิตไปขาย อย่างปลูกถั่ว 3 ไร่ เราขายได้มากสุดก็กิโลกรัมละ 40 - 120 บาท แล้วแต่ฤดูกาลว่าหน้าไหนผลผลิตจะออกน้อยหรือเยอะ ถ้าออกน้อยก็ขายได้ราคาดี แต่ยังไงก็ถือว่าไม่เพียงพอและคุ้มค่าอยู่ดีกับการที่เราจะไปส่งขายทั่วประเทศ เพื่อหากลุ่มลูกค้าที่ต้องการอยากได้ผักปลอดสารพิษกับปริมาณผลผลิตที่เรามีอยู่ในตอนนี้ อย่างถั่วฟักยาวเองถ้าโตเต็มที่แล้ว ไม่เก็บวันนี้พรุ่งนี้ก็เน่าแล้ว ขายก็ไม่ค่อยได้ราคา เราเลยมองว่าสู้เก็บเมล็ดไว้ขายดีกว่า ซึ่งทุกวันนี้ถ้าเป็นถั่วฝักยาวเราจะขายที่ 40 เมล็ด 120 บาท ฟักหนึ่งมีเกือบ 40 เมล็ด เพราะถั่วเราเป็นพันธ์โบราณที่พ่อเก็บรักษาไว้จะยาวเป็นพิเศษเคยวัดได้สูงสุดฟักหนึ่งยาวถึง 86 เซนติเมตรทีเดียว และเฉลี่ยแล้วใน 1 กิโลกรัมจะได้ถั่วประมาณ 30 - 35 ฟัก ตีเป็นเงินแล้วหากขายเมล็ดเราจะได้เงินหลายพันบาททีเดียว นี่อาจเป็นวิธีคิดมุมใหม่ที่ทำให้เราแตกต่างจากการทำเกษตรรูปแบบเดิมๆ ซึ่งเรามองว่าจริงๆ แล้วการจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการเกษตรได้ เราต้องเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น มีเทคโนโลยีที่ดีทั้งเทคโนโลยีด้านการผลิตและการสื่อสารออกไปให้คนข้างนอกได้รับรู้”
จริงๆ ถามว่าเมล็ดพันธุ์ผักของฟาร์มโซคูลแตกต่างจากเมล็ดพันธุ์ที่มีขายทั่วไปในท้องตลาดยังไง นอกจากลักษณะพิเศษเฉพาะอย่างถั่วฟักยาวที่ยาวมากกว่าปกติแล้ว แต่อีกสิ่งที่เราคิดว่าทำให้ผู้บริโภคเกิดการตัดสินใจซื้อได้ง่าย คือ การทำให้เกิดความเชื่อและเห็นภาพคล้อยตามไปด้วย จึงทำให้เกิดคุณค่าขึ้นมาในสินค้าได้ ซึ่งความรู้สึกที่ได้ย่อมแตกต่างจากการเดินไปซื้อเมล็ดพันธุ์ตามร้านมาปลูกเองแน่นอน
“เราไม่เคยมีประสบการณ์ทำเกษตรมาก่อน ก็อาศัยวิธีทดลองหาความรู้ด้วยตัวเองและจากองค์ความรู้ดั่งเดิมของพ่อกับแม่ที่ทำมาด้วย จนถึงทุกวันนี้จริงๆ เราก็ไม่ได้ชอบที่จะลงไปขุดดินนั่งเพาะปลูกด้วยตนเองนะ แต่เราชอบที่จะบริหารจัดการดูแลมากกว่า ถามว่าจริงๆ เราไม่ต้องมาทำอย่างทุกวันนี้ก็ได้ แค่ขายตำราเหมือนเดิมทางออนไลน์ ไปนั่งกินข้าวและเช็คอินสวยๆ อยู่ที่ไหนสักแห่ง ไม่ต้องมามานั่งทำเกษตรให้หน้าดำแบบนี้ แต่ที่เรายังอยู่ตรงนี้ เพราะเราเสพติดความรู้สึกของการปลูกต้นไม้ การได้รดน้ำ เฝ้ามองดูความเปลี่ยนแปลงทุกวัน วันนี้ต้นนี้เริ่มออกดอกแล้วนะ มะละกอต้นนี้ออกลูกดกมาก กล้วยที่ปลูกไว้เริ่มออกลูกงาม ไผ่ที่ปลูกไว้แตกหน่อใหญ่ เป็นความรู้สึกตื่นเต้นที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หลายคนอาจเฉยๆ แต่เรากลับมีความสุข ที่สำคัญถ้าบริหารจัดการดี มันสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับเราได้ด้วย” สหกมลกล่าวทิ้งท้ายไว้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี