PHOTO : PAPA PAPER CRAFT®
นี่คือ “SIMPLY DÉCOR” พวกเขาทำผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาแบรนด์ “PAPA PAPER CRAFT®” ทว่าไม่ใช่กระดาษธรรมดาๆ แต่มีทั้งกระดาษที่ไม่ลามไฟเพื่อใช้ทำวอลเปเปอร์ กระดาษดูดซับกลิ่นได้ กระดาษกันน้ำ สะท้อนน้ำ กระดาษสำหรับทำกากอนามัยป้องกันไวรัสโควิด-19 กระทั่งแผ่นกรองฝุ่น PM2.5 ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา เจาะกลุ่มของตกแต่งบ้าน บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ของขวัญของที่ระลึก และวัสดุตกแต่งภายในอาคาร ลบภาพจำเก่าๆ ของกระดาษสา “บ้านต้นเปา” จ.เชียงใหม่ แหล่งผลิตกระดาษสาชื่อดังของไทยเมื่อหลายทศวรรษก่อนไปจนสิ้น
เมื่อทายาทฟื้นวิกฤตกระดาษสา “บ้านต้นเปา”
"บ้านต้นเปา" อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นแหล่งผลิตกระดาษที่เคยมีชื่อเสียงอย่างมากในอดีต เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี หลายคนอาจคุ้นเคยกับผลงานของพวกเขา ในรูปลักษณ์กระดาษสาที่ติดอยู่บนพัดและร่มบ่อสร้าง ปกสมุด หรือกรอบรูปบ้าง เคยมียุครุ่งเรืองที่ขยายตลาดออกไปทั่วประเทศและทั่วโลก
ทว่าเมื่อวันเวลาผันผ่าน ความนิยมในการใช้กระดาษสาลดน้อยลง โรงงานผู้ผลิตกระดาษสาในพื้นที่ ต่างทยอยเลิกกิจการ จนปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวที่ยังเป็นลมหายใจสุดท้ายของบ้านต้นเปา นั่นคือ “บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด” (SIMPLY DÉCOR) ซึ่งขับเคลื่อนโดย “ธนากร สุภาษา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด ทายาทรุ่น 2 ของโรงงานผลิตกระดาษสาบ้านต้นเปา และแน่นอนว่าเขาจะไม่ทำเหมือนเก่า แต่จะใช้นวัตกรรมมานำธุรกิจ ฟื้นชีวิตภูมิปัญญาของพวกเขาให้กลับคืนมาอีกครั้ง
ธนากร เล่าว่า พ่อของเขาบุกเบิกธุรกิจนี้ตั้งแต่เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน โดยผลิตกระดาษสาในรูปแบบที่เป็นแผ่นประดับไม้ใบ และดอกไม้ เพื่อส่งต่อให้กับผู้ผลิตร่มและพัด บ้านบ่อสร้าง จนทำให้กระดาษสาบ้านต้นเปากลายเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ กระทั่งเมื่อเขาเข้ามาสานต่อธุรกิจ เริ่มสังเกตเห็นว่าความนิยมของกระดาษสาในรูปแบบเดิม ๆ นับวันก็จะยิ่งลดน้อยลง รวมถึงเกิดสถานการณ์ผู้ผลิตเริ่มขายตัดราคากันเอง เขาเทียบให้ฟังว่าจากอดีตเคยขายได้แผ่นละ 20 บาท ก็ลดเหลือเพียงแค่ 8 บาท เท่านั้น น้อยลงกว่าครึ่ง ฉะนั้นการทำรูปแบบเดิมๆ คงไม่ตอบโจทย์เหมือนวันเก่าอีกแล้ว
สร้างแบรนด์ พัฒนาสินค้ามุ่งสู่ตลาดโลก
สิ่งที่ทายาทอย่างเขาทำ คือการหาจุดยืนให้ธุรกิจใหม่ โดยเริ่มจากเปิด บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด ขึ้น และสร้างแบรนด์ PAPA PAPER CRAFT® เพื่อเป็นผู้ผลิตกระดาษธรรมชาติรูปแบบแปลกใหม่ และมุ่งทำตลาดต่างประเทศเป็นหลัก
จากกระดาษสาลวดลายซ้ำๆ พวกเขาก็เริ่มใช้วัสดุพืชที่เหลือใช้จากธรรมชาติ เช่น ใยมะพร้าว ต้นกล้วย ใบไผ่ เปลือกตะไคร้ เปลือกข้าวโพด กากกาแฟ เป็นต้น มาเป็นส่วนผสมในเนื้อกระดาษ พร้อมใส่เติมทั้งฟังก์ชันและดีไซน์ เพิ่มคุณประโยชน์การใช้งาน โดยที่ยังยึดกระบวนการผลิตแบบแฮนด์เมด เพื่อรักษาเสน่ห์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น และยังรับเทรนด์โลกโดยผลิตภัณฑ์ทุกตัวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้รวดเร็ว รวมถึงยังใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ทำให้สินค้ากลายเป็นที่ดึงดูดจากลูกค้าโดยเฉพาะชาวต่างชาติ ที่ให้ความสำคัญกับโลกและสิ่งแวดล้อม
“ผมเชื่อว่า สินค้ากระดาษมีศักยภาพต่อยอดได้อีกหลายด้าน โดยเฉพาะด้านตอบเทรนด์รักษ์โลก ซึ่งต่างชาติให้ความสำคัญ และผมอยากให้คนไทยให้ความสำคัญเช่นกัน ผมจึงมุ่งต่อยอดกระดาษสาจากแค่เป็นแผ่น มาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กลุ่มของตกแต่งบ้าน บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก และของขวัญของที่ระลึก วัสดุตกแต่งภายในอาคาร โดยเราจับมือกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน เพื่อช่วยกันผลักดันและสนับสนุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การตลาด และการลงทุน”
“นวัตกรรม” ธงนำธุรกิจ SIMPLY DÉCOR
จากกระดาษที่เคยโลดแล่นอยู่ในแวดวงของฝากของที่ระลึก พวกเขาเลือกสร้างนิยามใหม่ ด้วยพลังของคำว่า “นวัตกรรม” เราเลยได้เห็นกระดาษเส้นใยธรรมชาติ PAPA PAPER CRAFT® ขยับขยายจากแค่เส้นใยธรรมชาติตอบโจทย์โลกและสิ่งแวดล้อม มาสู่เส้นใยนวัตกรรม ที่มีทั้ง กระดาษไม่ลามไฟซึ่งเหมาะสำหรับไปทำเป็นวอลเปเปอร์ กระดาษดูดกลิ่นได้ กระดาษกันน้ำ สะท้อนน้ำ มาทำโปรดักต์อินเทรนด์อย่างหน้ากากอนามัยป้องกันไวรัส กระดาษสาป้องกันโควิด-19 และในปี 2564 นี้ พวกเขาก็กำลังพัฒนากระดาษไปสู่แผ่นกรองฝุ่น PM2.5 เพื่อใช้ร่วมกับเครื่องปรับอากาศ เครื่องกรองอากาศ เป็นต้น แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ของเมืองเชียงใหม่และประเทศไทยมาก่อนหน้านี้
นอกจากนวัตกรรมด้านตัวสินค้า พวกเขายังพัฒนาแอปพลิเคชั่น ชื่อ Simply Decor มาใช้ควบคุมต้นทุนการผลิต และบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างน่าทึ่งอีกด้วย และนี่คือภาพที่เปลี่ยนไปของคนทำกระดาษสาบ้านต้นเปาในวันนี้
ข้ามผ่านวิกฤตด้วยแนวคิดธุรกิจยั่งยืน
วันนี้ทุกคนกำลังเจอวิกฤตจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่สำหรับ SIMPLY DÉCOR นี่เป็นแค่วิกฤตครั้งใหม่ที่พวกเขาต้องเจอเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาต้องเจอกับวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่หลายครั้ง
"ที่ผ่านมา ธุรกิจเจอวิกฤตหนักมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรก ยุคคุณพ่อเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ได้รับผลกระทบเรื่องค่าเงินบาท ครั้งที่สองรุ่นผมก็เจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และน้ำท่วมกรุงเทพฯ ลูกค้ารายใหญ่หยุดชะงักไปหลายราย และล่าสุดเจอการ Digital Disruption และโควิด-19 ซึ่งถือเป็นวิกฤติใหญ่ที่สุดของทุกธุรกิจ และมีผลกระทบค่อนข้างเป็นวงกว้าง คู่ค้ารายหลายปิดกิจการลงไป รวมถึงคำสั่งซื้อลดไปกว่า 40 เปอร์เซ็นต์"
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิกฤตครั้งใหม่ของพวกเขา แต่ SIMPLY DÉCOR ยังอยู่รอดและประคับประคองตัวเองต่อไปได้ ด้วยวิธีคิดในการทำธุรกิจที่ไม่สู้แบบเดียวดาย แต่เป็นบริษัท SME ที่นำพาตัวเองเข้าหาหน่วยงานภาครัฐแทบทุกหน่วยงาน เพื่อต่อเติมองค์ความรู้ที่ยังขาด ตลอดจนนวัตกรรม แหล่งทุน และช่องทางการตลาดเพื่อให้ธุรกิจได้ไปต่อ อย่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์(องค์การมหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นต้น
ขณะที่แนวคิดในการทำธุรกิจ ก็มองถึงการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินธุรกิจให้เจริญเติบโตบนพื้นฐานของธรรมาภิบาลและการดูแลรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งการคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิด "SEED" หว่านพืชแล้วต้องหวังผล ซึ่งประกอบด้วย S - Sustainable การสร้างความยั่งยืน , E - Ethic มีจริยธรรม , E - Encouragement ส่งเสริมและสนับสนุน และ D – Development การพัฒนา นั่นเอง
“จากนี้ไปเราจะไม่หยุดพัฒนา เพราะกระดาษอยู่คู่กับโลกใบนี้ ผมก็จะเดินหน้าเติมนวัตกรรมให้แก่กระดาษเส้นใยธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สินค้าทุกชิ้นแตกต่าง โดดเด่นในตลาด และยังมีส่วนช่วยสร้างรายได้สู่เศรษฐกิจชุมชนบ้านต้นเปา และพื้นที่อื่นๆ ช่วยสานและรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ให้อยู่คู่ท้องถิ่น ประเทศไทยสืบไป”
และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา โรงงานผู้ผลิตกระดาษสาและกระดาษเส้นใยพืชแห่งสุดท้ายของบ้านต้นเปา ซึ่งการคงอยู่ของ “SIMPLY DÉCOR” และแบรนด์ “PAPA PAPER CRAFT®” ในวันนี้ ไม่เพียงช่วยสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ให้คงอยู่คู่บ้านต้นเปาได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวชุมชนที่ยังยึดอาชีพทำกระดาษสา ที่มีอยู่กว่า 300 ครอบครัว นับ 1,000 ชีวิต อีกด้วย ซึ่งความสำเร็จแบบมีส่วนร่วมนี้เองคือกุญแจไขไปสู่ธุรกิจยั่งยืนของพวกเขา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี