แกะสูตรลับ “หอมรัญจวน” แฟรนไชส์คาเฟ่ขนมไทยของอดีตแอร์โฮสเตส พลิกขนมหลักสิบสู่เงินล้าน ทำ 5 ปี มี 7 สาขา

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : หอมรัญจวน ขนมไทย
 

              


     จากชีวิตสวยหรูของแอร์โฮสเตสสาวที่เดือนๆ หนึ่งได้เงินไม่ต่ำกว่าหลักแสนบาท ได้ใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก ได้ท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นชีวิตที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝันอยากมีบ้าง แต่ด้วยความฝันที่มีบวกกับจังหวะชีวิตที่ต้องเลือก จึงทำให้ พจนันท์​ เกตุ​ประเสริฐ อดีตแอร์โฮสเตสสาวตัดสินใจลาออกจากงานเงินเดือนแสนกว่าบาท เพื่อมาขายขนมไทยกล่องละไม่กี่สิบบาท ซึ่งหากใครมองก็คงนึกเสียดาย แถมยังต้องฟันฝ่าอุปสรรคทั้งคำดูถูก กลเกมในธุรกิจที่ไม่ได้โลกสวยอย่างที่คิด แต่สุดท้ายวันนี้ก็สามารถรุกขึ้นมายืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง เริ่มต้นสร้างธุรกิจจากคาเฟ่ จนกลายเป็นแฟรนไชส์คาเฟ่ขนมไทยที่มีครบวงจรทั้งขนม น้ำ ไอศกรีม ภายใต้ชื่อแบรนด์ “หอมรัญจวน ขนมไทย” ทำมา 5 ปี มี 7 สาขาด้วยกัน
 

บทเรียนแรกในโลกธุรกิจ
 
               
     โดยกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ พจนันท์เล่าให้ฟังว่าเธอต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่คำตำหนิไม่เห็นด้วยกับการทิ้งอาชีพมั่นคงเพื่อมาทำค้าขาย การดูถูกว่าน่าจะทำไปได้ไม่รอด ไปจนถึงถูกแอบนำชื่อไปใช้ ในขณะที่ธุรกิจกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แต่แล้วสุดท้ายโชคชะตาก็นำพาให้เธอมาพบสิ่งที่ดีกว่า
               




     “ช่วงในระหว่างที่เป็นแอร์โฮสเตสได้เดินทางไปต่างประเทศเยอะมาก ได้เห็นคาเฟ่จากหลายๆ ที่ ซึ่งหลายแห่งก็นำขนมท้องถิ่นมาใช้เป็นเมนูหลักของร้าน ทำให้เรานึกอยากทำร้านคาเฟ่โดยนำขนมไทยมาใช้บ้าง เพราะเป็นคนชอบกินขนมไทยอยู่แล้ว อีกอย่างหากย้อนไปเมื่อ 5 – 6 ปีก่อนคาเฟ่ขนมไทยก็ยังไม่บูมเท่ากับตอนนี้ จนตอนหลังวางแผนจะกลับมาอยู่เมืองไทยเพื่อสร้างครอบครัวที่ชลบุรี เลยพยายามมองหาลู่ทางใหม่ ก็ทำให้นึกย้อนถึงความชื่นชอบในขนมไทย จนลาออกมาแล้วจึงเริ่มลงเรียนแบบจริงจัง และก็ทดลองทำออกมาขาย เริ่มจากลองโพสต์ขายก่อน จากนั้นก็เริ่มรับออร์เดอร์เยอะขึ้น ส่งตามร้านบ้าง


     “ทำอยู่ได้ 4 – 5 เดือนเงินเก็บก็เริ่มร่อยหรอ ขายได้เดือนละ 2 – 3 หมื่นบาท ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เกือบถอดใจอยู่หลายครั้ง จนมาเห็นแบรนด์ April's Bakery ซึ่งเจ้าของเขาก็เป็นแอร์โฮสเตสมาก่อนเหมือนกัน แต่เขาก็ยังทำอยู่ได้ เลยทำให้มีกำลังใจขึ้นมา ก็เริ่มลองปรับรูปแบบลองจัดเป็นกระเช้าของขวัญ ทำให้ขายได้ราคาดีขึ้น จนในที่สุดก็เริ่มมีร้านเล็กๆ ของตัวเอง ตอนนั้นขายดีมาก เพราะร้านขนมไทยแบบนี้ในชลบุรียังไม่ค่อยมีบวกกับเอาไปลงรีวิวในเพจแนะนำร้านด้วย ทำให้ลูกค้าก็เริ่มเยอะขึ้น แต่สุดท้ายเริ่มมีปัญหาเรื่องพื้นที่เพราะตอนนั้นร้านเราเล็กก็เลยย้ายออกมา  ระหว่างหาที่ใหม่ก็ลองวางขายตลาดนัดบ้าง แต่ขายไม่ได้เลย เพราะตลาดทั่วไปขายอันละ 10 – 20 บาท แต่ของเราเป็นขนมงานฝีมือขายกล่องละ 50 บาท เลยไม่มีใครซื้อ


     “จนในที่สุดก็ไปเจอกับที่แปลงหนึ่ง สามีเป็นคนหามาให้ ตอนแรกคิดว่าคงเป็นตึกทาวน์เฮ้าส์สักที่หนึ่ง แต่ปรากฏว่ากลับเป็นที่เปล่าของร้านหมูกระทะเดิมเคยเช่าไว้และเลิกกิจการไป มีสีสเปรย์พ่นกำแพงเต็มไปหมด แต่ด้วยราคาเช่าไม่แพงและได้พื้นที่ค่อนข้างใหญ่ด้วย 200 ตารางวาก็เลยตัดสินใจลองดูทั้งที่ก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะออกมาเป็นยังไง กระทั่งวันที่ไปรางวัดที่มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาหาก็มาถามว่าเราจะมาทำอะไร มาขายอะไร ตอนแรกก็ไม่ได้บอกว่าขายขนมไทย จนมารู้ภายหลังว่าเขามาจากเซเว่นฯ กำลังมาดูที่เพื่อเตรียมเปิดร้านเร็วๆ นี้ เลยอยากทำความรู้จักไว้ก่อน ความรู้สึกตอนนั้น คือ เหมือนเป็นความโชคดีในโชคร้ายเลย จากที่เงียบๆ ไม่มีใครมาทำอะไร ก็กลายเป็นทำเลทองขึ้นมา” พจนันท์เล่าย้อนเรื่องราวก่อนจะมาเป็นธุรกิจในปัจจุบันให้ฟัง



 

 
ฟ้าหลังฝน
 
               
     โดยหลังจากล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง ในที่สุดพจนันท์ก็สามารถตั้งหลักกับธุรกิจที่เธอรักได้ ด้วยขนาดร้านและพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นทำให้สามารถทำอะไรได้มากมาย ตั้งแต่ทำขนมขาย เปิดคลาสสอนทำขนม รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นโอกาสธุรกิจครั้งใหม่ที่ใหญ่และเติบโตขึ้นมากกว่าเดิม
               

     “เปิดตัวมาวันแรกเราก็ขายดีเลย จากแต่ก่อนเป็นร้านเล็กเคยขายได้เดือนละ 4 – 5 หมื่นบาท แต่พอเปิดร้านใหม่ขายวันแรกได้ 5 หมื่นกว่าบาทเลย ตอนนั้นดีใจมาก จากนั้นโอกาสดีๆ ก็เริ่มมีเข้ามา มีรายการโทรทัศน์หลายช่องมาขอถ่ายทำ มีคนเชิญไปออกงานแสดงสินค้า ได้ไปร่วมงานกับแบรนด์ดังๆ เซฟดังๆ มากมาย โรงแรมใหญ่ๆ ก็สั่งออร์เดอร์เข้ามา เรารู้สึกเหมือนทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว เราเชื่อว่าอย่างนั้น เพราะถ้าวันนั้นไม่เจอกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานา ไม่ได้ออกจากร้านเดิม ก็คงไม่ผลักให้เรามาถึงจุดนี้ได้” พจนันท์เล่าด้วยน้ำเสียงแห่งความสุข
               

     เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ แต่พจนันท์เล่าว่าตัวเธอเองก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมทำตัวเองให้น่าสนใจ รวมถึงบางครั้งก็ต้องวิ่งเข้าไปหาโอกาส เพื่อเปิดช่องทางใหม่ๆ ให้กับตัวเองด้วย
               




     “การทำร้านใหม่ ทำให้เราทำอะไรได้สะดวกขึ้น ด้วยขนาดร้านที่ใหญ่ขึ้นทำให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามสร้างโอกาสให้กับตัวเองด้วย ไม่ใช่อยู่เฉยๆ บางครั้งเราก็ต้องสร้างสปอตไลท์ให้กับตัวเอง พาตัวเองไปอยู่ในที่ที่คนอื่นสามารถมองเห็นเราได้ด้วย ซึ่งในระหว่างที่เปิดร้านไปด้วย เราก็พยายามหาอีเวนต์ไปออกบูธไปแนะนำตัวเองให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยไปของวงในทำให้ได้รับผลตอบรับดีมาก จนทำให้ใครๆ รู้จักเรามากขึ้น เริ่มกล้าให้เราทำงานใหญ่ๆ ให้ ครั้งหนึ่งเคยรับงาน 3 – 4 หมื่นชิ้นให้เวลามาแค่ 3 วันก็มี ซึ่งเรามีนักเรียนที่มาเรียนด้วยอยู่ในมือ เลยสามารถมาช่วยทำได้ จากโอกาสแรก ก็ต่อไปโอกาสที่ 2 ที่ 3 ต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด”
               

     โดยในคาเฟ่หอมรัญจวน ขนมไทย เรียกว่ามีทุกอย่างครบวงจร ตั้งแต่ขนมไทยชาววังโบราณ ที่ต้องพิถีพิถันใช้ฝีมือในการทำ เมนูเครื่องดื่มจากขนมไทยที่ไม่ได้หากินได้ง่ายตามคาเฟ่ทั่วไป แต่เป็นสูตรเฉพาะที่คิดดัดแปลงขึ้นมาเอง เป็นเครื่องดื่มใส่ขนมไทย อาทิ ทับทิมกรอบ อาลัว ไปจนถึงไอศกรีมก็เป็นรสชาติของขนมไทยด้วย
 




แตกหน่อ ต่อยอด สู่แฟรนไชส์คาเฟ่ขนมไทย
 
               
     จากการสร้างโอกาสให้ตัวเองหลายๆ ทาง ทำหลายอย่างที่คิดว่ามีโอกาส จนในที่สุดพจนันท์ก็พบช่องทางสร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจ ด้วยการต่อยอดจากคาเฟ่ร้านขนมไทยให้กลายมาเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ โดยเท่าที่ลองเสิร์ชข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ณ ตอนนี้แทบไม่พบว่ามีใครทำเป็นคาเฟ่ขนมไทยออกมาในรูปแบบของแฟรนไชส์เลย อาจเพราะด้วยการบริหารจัดการที่ค่อนข้างยาก ละเอียดอ่อนของตัวขนมไทยเองก็ได้
               

     “บังเอิญได้ไอเดียมาจากตอนที่เริ่มเปิดสอนนักเรียน ซึ่งจะมีคำถามเข้ามาร้อยแปดอย่างเลย บางอย่างไม่ก็รู้ ก็ต้องทดลองเรียนรู้และไปหาคำตอบมาให้เขา จนเริ่มรู้สึกว่าเราเริ่มมีความรู้มากขึ้น ถ้าลองเปิดเป็นแฟรนไชส์เราน่าจะสามารถช่วยดูแลเขาได้ เพราะเราเรียนรู้มาจากนักเรียนแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วการจะทำออกมาในรูปแบบแฟรนไชส์ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะขนมไทยค่อนข้างละเอียดอ่อน ไหนจะเรื่องการขนส่ง การออกแบบกระบวนการผลิต อย่างเรื่องไส้ขนมต่างๆ เราจะเป็นคนทำส่งไปให้ และให้เขาไปทำในส่วนแป้งประกอบขึ้นรูปอีกที บางสาขาถ้ามีวัตถุดิบท้องถิ่นที่ดีเขาก็ส่งมาให้เราช่วยคิดและทำเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะสาขาออกมาให้ก็มี ซึ่งกว่าที่จะตัดสินใจเปิดรับแฟรนไชส์แต่ละที่ได้เราสัมภาษณ์ค่อนข้างเยอะเลยและดูองค์ประกอบหลายๆ ส่วน เพื่อให้แน่ใจว่าเขาอยากทำกับเราจริงๆ ไหม และถ้าทำแล้วโอกาสที่จะไปต่อได้เป็นยังไงบ้าง ตลาดและคู่แข่งเป็นยังไง”   
               




     ปัจจุบันหอมรัญจวน ขนมไทย มีทั้งหมด 7 สาขาด้วยกัน โดยแบ่งเป็นสาขาต้นตำรับ 2 แห่ง ได้แก่ หอมรัญจวน​ ขนมไทย​ ต้นตำรับ (ชลบุรี) และหอมรัญจวน​ ต้นตำรับ –​รังสิต และสาขาแฟรนไชส์อีก 5 แห่ง ได้แก่ หอมรัญจวน​ เชียงราย, หอมรัญจวน บ่อวิน, หอมรัญจวน บางนา, หอมรัญจวน​ ศรีราชา และล่าสุด คือ หอมรัญจวน จันทบุรี​
โดยนอกจากจะเป็นคาเฟ่ที่มีการประยุกต์ขนมไทยให้เป็นเมนูต่างๆ ขึ้นมาแล้ว ยังมีการต่อยอดทำเป็นชุดขนมไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และรูปเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิความเชื่อต่างๆ ด้วย ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กชั้นดีดึงดูดรายการต่างๆ ให้เข้ามาถ่ายทำ


     ล่าสุดนอกจากรูปแบบแฟรนไชส์แล้ว ยังมีโปรเจกต์ใหม่กำลังจะเปิดเป็นคีออสเล็กๆ ภายใต้ชื่อ  “หอมรัญจวน ทูโก” สำหรับผู้ที่มีทุนน้อย แต่อยากเริ่มต้นธุรกิจด้วย และนี่คือ เรื่องราวทั้งหมดของแอร์โฮสเตสสาวผู้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคง่ายๆ จนประสบความสำเร็จกับเส้นทางที่เลือกเดินได้ในทุกวันนี้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย