คุยกับ FLOWLOW คนทำท่าเรืออัจฉริยะ ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวภูเก็ต สู่นวัตกรรม “กักตัวบนเรือยอชต์”

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : FLOWLOW




               
     ในวันที่ประเทศไทย เพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ที่อยากเข้ามาเที่ยวไทยในช่วงโควิด ด้วยโมเดล “การกักตัวบนเรือยอชต์” (Digital Yacht Quarantine) เพื่อปลดล็อกและฟื้นฟูการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง จ.ภูเก็ต  หนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่ได้รับอานิสงส์และอยู่เบื้องหลังนวัตกรรมรับมือการกักตัวบนเรือยอชต์ คือ บริษัท โฟล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารจัดการความปลอดภัยท่าเรือและนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี เจ้าของแพลตฟอร์ม FLOWLOW ผลงานลูกหลานคนภูเก็ตวัย 28 ปี “ธนภัทร ทั่วไตรภพ” กรรมการบริหาร บริษัท โฟล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เคยทำท่าเรืออัจฉริยะ (ท่าเรืออ่าวปอ) พัฒนาสายรัดข้อมือ QR Code และระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ชื่อ Flowpay เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมาแล้ว


       วันนี้พวกเขาพลิกวิกฤตโควิดให้กลายเป็นโอกาสธุรกิจใหม่ จะเป็นอย่างไรนั้นมาติดตามกัน



 
 
Q :  FLOWLOW ให้บริการด้านใด แล้วมาทำเรื่องของการกักตัวบนเรือยอชต์ได้อย่างไร


A : เดิมเราเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับระบบท่าเรืออยู่แล้ว เป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางทะเลโดยใช้ท่าเรือเป็นหลักในการควบคุมนักท่องเที่ยว และใช้สายรัดข้อมือที่มีทั้งแบบ QR Code แล้วก็ GPS  บันทึกข้อมูลส่วนตัวและใบหน้านักท่องเที่ยว เพื่อที่จะได้รู้ว่าใครลงทะเลไปบ้าง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นที่ไหนจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทัน เป็นพื้นฐานด้านความปลอดภัยในทุกๆ ท่าเรือที่เราทำมาก่อนจะเกิดสถานการณ์โควิด เนื่องจากคุณลุงของผม (ไชยา ระพือพล ประธานกรรมการ บริษัท พัชทรีทัวร์ กรุ๊ป จำกัด) ได้รับสิทธิสัมปทานในการบริหารท่าเทียบเรืออ่าวปอ และมีประสบการณ์มากว่า 20 ปี  หลังจากเกิดเหตุการณ์เรือฟีนิกซ์ล่มเมื่อปี 2561 เราก็มาคุยกันว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่สามารถติดตามนักท่องเที่ยวที่ลงเรือไปท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ ได้ รวมถึงการดูแลเรื่องการประกันภัยของนักท่องเที่ยวด้วย จึงได้พัฒนาท่าเรืออัจฉริยะขึ้นที่อ่าวปอ


      หลังจากเราทำโครงการเสร็จ ทางจังหวัดก็เห็นศักยภาพในตัวท่าเรือของเราว่ามีการควบคุมนักท่องเที่ยวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อมีโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ (Digital Yacht Quarantine) เราจึงได้รับโอกาสให้นำแพลตฟอร์มของ FLOWLOW มาใช้ในการควบคุมจัดการนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวโดยเรือยอร์ช



 

Q : อยากให้ช่วยอธิบายวิธีการทำงานของ FLOWLOW ในกระบวนการกักตัวบนเรือยอร์ช ตัวระบบของ FLOWLOW เข้าไปตอบโจทย์ในเรื่องใดบ้าง


A : กระบวนการจะเริ่มตั้งแต่นักท่องเที่ยวทำการติดต่อผ่านตัวแทน (Agent) เข้ามา ทางเอเยนต์ก็จะส่งรายชื่อนักท่องเที่ยวมาทาง FLOWLOW  เพื่อคีย์ข้อมูลเข้าไปในระบบหลังบ้าน แล้วเตรียมอุปกรณ์ (นาฬิกาข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ) ให้พร้อมสำหรับการใช้งาน ในวันแรกที่เรือเข้าจอดเทียบอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตร การตรวจครั้งแรกคุณหมอจะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวที่สามารถทำการขึ้นเรือนักท่องเที่ยวได้ เราก็จะฝากนาฬิกาไปกับทางคุณหมอ โดยเราจะใส่ระบบหลังบ้านเจาะจงชื่อบุคคลในแต่ละเรือนมาเรียบร้อยแล้ว คุณหมอแค่มีหน้าที่เอาไปแจก  ส่วนตัวหลังบ้านเราเองก็จะมอนิเตอร์นักท่องเที่ยวได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นข้อมูลแบบ Real Time โดยเราจะทำการมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพ (Health Monitoring) ของนักท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้เราจะเห็นจากระบบหลังบ้านทั้งหมด และสามารถแยกแยะความเสี่ยงได้


     โดยหากอุณหภูมิเกิน 37 องศาขึ้นไปจะแจ้งเตือนเป็นสีส้ม ถ้าเกิน 4 ชั่วโมงจะอัพเกรดเป็นสีแดง ที่ต้องรอเวลาเพราะเรือลอยลำอยู่กลางทะเลซึ่งบางลำไม่มีแอร์ หรือบางวันนักท่องเที่ยวเขาอาบแดดฉะนั้นอุณหภูมิร่างกายก็จะสูงกว่าปกติ เราเลยทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง ถ้าเกิดยังไม่ลดลงเราก็จะติดต่อไปทางเอเยนต์ให้เขาสอบถามไปยังเรือว่าเกิดอะไรขึ้น กรณีที่มีคนป่วยเราก็จะติดต่อไปยังคุณหมอที่รับผิดชอบเคสนี้เพื่อให้ดูแลตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งเราให้บริการมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2563 จนถึงวันนี้รวม  147 ราย ยังไม่พบเคสที่มีอาการป่วยเลยแม้แต่รายเดียว หลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน (ปัจจุบันอยู่ที่ 10 วัน) ก็จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด ก่อนอนุญาตให้เดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ตต่อไป


      ตั้งแต่ให้บริการมาเรามีการอัพเกรดนาฬิกา และระบบหลังบ้านไปแล้ว 2-3 เวอร์ชัน ปัจจุบันนาฬิกาของเราจะเป็นคล้ายๆ Garmin เลย คือหน้าจอสี มีการวัดค่าต่างๆ ได้มากขึ้น ตรวจจับได้นานขึ้น โดยอุปกรณ์ต่างๆ เราไปร่วมกับพาร์ทเนอร์ บริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง (POMO) ผู้ให้บริการโซลูชั่น Tracking และ Monitoring ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา



 

Q : นอกจากการกักตัวบนเรือยอร์ช ตัวระบบของ FLOWLOW ยังสามารถนำไปใช้กับบริการด้านใดได้อีกบ้าง


A : ในส่วนของนาฬิกานอกจากนำไปใช้ในสถานการณ์โควิดนี้แล้ว  เรายังมองที่จะไปใช้ดูแลในงานอื่นๆ ด้วย เช่น งานวิ่ง โดยจะเป็นการให้เช่าเพื่อใส่วิ่งมาราธอน แล้ววิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพให้กับนักกีฬา เป็นต้น โดยจะเริ่มจากระบบให้เช่า แล้วเราจะทำหน้าที่ซ่อมบำรุง (Maintenance) อย่าง กรณีจอเสีย แบตเสื่อม ก็จะไปเปลี่ยนให้ แล้วก็ทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนส่งกลับคืนลูกค้า รวมถึงให้บริการในเรือทั่วไปด้วย เช่น เรือสำราญที่ให้บริการท่องเที่ยวล่องเรือรับประทานอาหาร (Dinner Cruise) ซึ่งที่ผ่านมาเรามีโปรเจ็กต์ที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่ขึ้นเรือสวมใส่นาฬิกาของเรา เพื่อดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เช่น อาจมีเด็กหรือผู้สูงอายุไปด้วย ก็สามารถตรวจจับได้


       แต่ก่อนคนจะมองแค่ในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่พอมีโควิดเข้ามาคนก็จะมองเห็นประสิทธิภาพของมันมากขึ้น ทางเราเองก็มองว่า นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาหลังโควิดนั้น จะเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่ใช่กลุ่มใหญ่เหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นกลุ่มเล็กที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพด้านความปลอดภัยและคุณภาพด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น เราจึงทำตรงนี้เพื่อมาตอบโจทย์ เพื่อให้ภูเก็ตมีมาตรฐานในการท่องเที่ยวทางทะเล เพราะภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอันดับ 1 ของประเทศ โดยก่อนโควิดมีคนออกทะเลทั้งเกาะสูงถึงประมาณ 4-5 หมื่นคนต่อวัน


      ณ ปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้มีนักท่องเที่ยวน้อยลงกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากระบบของ FLOWLOW เป็นมาตรฐานความปลอดภัยของท่าเรือที่สามารถใช้ได้กับทุกท่าเรือในประเทศไทย ฉะนั้นท่าเรือไม่จำเป็นต้องรอลูกค้า แต่สามารถสร้างมาตรฐานนี้เพื่อเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคตได้ ธุรกิจของเราจึงยังคงเดินหน้าต่อไป เพียงแต่ว่าอาจจะเดินช้าหน่อยเพราะท่าเรือในภูเก็ตกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เองก็ยังคงปิดให้บริการอยู่ เราเลยต้องมูฟไปทำอย่างอื่นแทน เช่น งานวิ่ง รวมถึงการใช้ติดตามผู้ป่วยติดเตียง เหล่านี้เป็นต้น



 

Q : FLOWLOW วางเป้าหมายให้กับตัวธุรกิจของเราต่อไปอย่างไร


A : เรามองว่าการสร้างมาตรฐานในการท่องเที่ยวนั้นสำคัญที่สุด เลยต้องการขยายไปยังท่าเรือทุกท่าในจังหวัดภูเก็ต รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง เราต้องการทำให้ชีวิตหรือการท่องเที่ยวสะดวกสบายมากขึ้น มีมาตรฐานและมีคุณภาพที่ดีขึ้น พยายามหาบริการที่สอดคล้องและส่งเสริมกันเข้ามารวมไว้ในที่เดียวกัน ปัจจุบัน ตัวแพลตฟอร์ม FLOWLOW ครอบคลุมทั้ง ข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวอันดามัน, คำแนะนำในกรณีฉุกเฉิน, ประกันการเดินทาง และระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ในชื่อ Flowpay เพื่ออํานวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย


      ซึ่งในอนาคตเราอยากเป็นที่ 1 สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดย FLOWLOW จะต้องสามารถตอบโจทย์ในการท่องเที่ยวได้ทุกอย่าง มอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า เพื่อทำให้ทั้งภูเก็ตและบริษัทของเราเติบโตมากขึ้น มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เป็นตัวกลางที่มีมาตรฐาน ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการท่องเที่ยวให้กับลูกค้า ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องทำเองทุกอย่างคนเดียว แต่สามารถไปร่วมมือกับคนอื่นเพื่อทำให้ภาพนี้มันเกิดขึ้นจริงได้ โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นโลโคด้วยกันเอง เราต่างถนัดในพื้นที่โซนนี้ก็ต้องพยายามผลักดันให้เต็มที่ที่สุด เพื่อมาช่วยกันพัฒนาภูเก็ตให้ดีขึ้น


     วันนี้มีคนที่ทำระบบแบบเราทั้งรายใหญ่และรายเล็ก แต่ข้อได้เปรียบของ FLOWLOW คือเรามีท่าเรือของเราเองทำให้เราสามารถนำระบบไปใช้ได้ทันที ขณะที่บริษัทอื่นจะต้องใช้เวลาในกระบวนการยื่นขอใบอนุญาตต่างๆ มากกว่า 1 ปี เราเลยมีโอกาสที่จะเริ่มได้เร็วกว่าคนอื่น ได้ลองได้พัฒนาไปก่อนคนอื่น แต่ในอนาคตแน่นอนว่าการแข่งขันก็คงจะรุนแรงขึ้น เราจึงต้องพยายามครอบคลุมทุกแขนงของการท่องเที่ยวให้มากที่สุด เราจะวิ่งไปเรื่อยๆ เขาตามเรา เราก็วิ่งต่อไป รวมถึงการพัฒนาด้านความสะดวกสบาย การตลาด และรูปลักษณ์ของแบรนดิ้งภูเก็ตที่จะทำให้สอดคล้องกันไปด้วย เราเชื่อว่าการที่บริษัทโลโคทำงานกับโลโคด้วยกัน มันน่าจะมีสัมพันธภาพที่ดีกว่า และมีความแข็งแกร่งที่มากกว่า





Q : ทราบมาว่าก่อนมาทำ FLOWLOW คุณเคยทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มมาก่อน ได้เรียนรู้อะไรจากธุรกิจแรกแล้วได้นำมาใช้ในวันนี้หรือไม่ อย่างไร


A : ธุรกิจเดิมของเราคือม็อกเทลน้ำผลไม้ชื่อว่า Anyfriday ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นปี 2 คณะบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับน้องชายและเพื่อนอีก 2 คน ทำตัว  Anyfriday ขึ้นมาด้วยความบังเอิญ เนื่องจากตอนนั้นมีงานตลาดนัด ARTBOX  เข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก แล้วมีบูธว่างอยู่พอดี เรามีเวลา 1 เดือนที่จะคิดไอเดียออกมาว่าจะขายอะไร ก็ลองทำอะไรที่มันแปลกดู ปรากฎว่าได้รับความนิยม จนสามารถขยายแฟรนไชส์ไปทั้งในและต่างประเทศได้ ซึ่งตอนนี้เราได้ขายธุรกิจให้กับบริษัทที่อินโดนีเซียไปแล้ว ตอนนั้นก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง พวกผมเองยังเด็กมากๆ และยังไม่มีประสบการณ์ ก็แค่ลองทำดูและเรียนรู้ไป ซึ่งก็ใช้จ่ายไปค่อนข้างเยอะในการขยายร้าน และพบว่าธุรกิจมีวงจรของมัน มีขึ้นแล้วก็มีลง แต่ตอนนั้นเราได้เรียนรู้เยอะเหมือนกัน ทั้งเรื่องการทำแบรนดิ้ง เรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ได้ประสบการณ์อะไรมาเยอะมาก


     ตอนนั้นผมอายุประมาณ 20 ปี ตอนนี้ผมอายุ 28 ปีแล้ว ในแพสชันส่วนตัวของผม ผมยังอยากทำโปรเจ็กต์อะไรก็ได้ที่จะมาช่วยพัฒนา จ.ภูเก็ต พัฒนาพื้นที่ที่เราอยู่ให้มีศักยภาพมากขึ้นในการรองรับนักท่องเที่ยว ถามว่าทำไมถึงอินกับ จ.ภูเก็ตนัก เนื่องจากผมเองมองว่าวันนี้ทุกอย่างไปกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ หมด แต่ประเทศไทยเรามีตั้ง 77 จังหวัด ซึ่งผมยังเชื่อว่าแต่ละคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาจังหวัดของตัวเองได้ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ภูเก็ต แต่จังหวัดเล็กๆ ก็สามารถช่วยกันยกระดับและส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เช่นกัน เหมือนที่ผมกำลังทำกับภูเก็ตในวันนี้


     สำหรับคนที่อยากกลับไปทำอะไรที่จังหวัดของตัวเอง โดยเฉพาะการทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี สิ่งที่คุณต้องเข้าใจก็คือคนต่างจังหวัดการรับรู้ในเทคโนโลยีจะต่างกับกรุงเทพฯ ฉะนั้นเราจะต้องเจอกับสิ่งที่ยากแน่นอน โดยเฉพาะการทำให้หลายๆ คนในต่างจังหวัดปรับตัวเข้าถึงเทคโนโลยี การใช้ App ของเรา ใช้บริการของเรา ใช้สินค้าของเรา สำหรับผมรู้สึกว่านี่เป็นจุดที่ท้าทายที่สุด แล้วก็มีโอกาสที่จะทำแล้วไม่สำเร็จด้วย จริงๆ แล้วนอกจากเทคโนโลยี ยังมีอีกหลายอย่างมากเลยที่สามารถทำได้ แต่โดยส่วนตัวผมมองว่า เทคโนโลยีมันสามารถที่จะขยายตัวได้ (Scale up) นั่นหมายความว่า ถ้าทำตัวนี้ได้สำเร็จ มันก็จะสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ด้วย นอกจากในจังหวัดของเราเอง และนั่นก็จะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของเราได้อีกมากในอนาคต





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย