“Deeco” รองเท้ายางพาราสำหรับโค ไอเดียหนุ่มวิศวะมอ.สงขลา เปิดตลาดใหม่เพิ่มมูลค่ายางได้หลายเท่า

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : Deeco





     อะไรนะ! โคก็ต้องใส่รองเท้ากับเขาด้วย แถมข้างละตั้งหลายร้อยอีกด้วยนะ
               

     นี่คือแบรนด์ Deeco (ดีโค่) รองเท้ายางพาราสำหรับโค นวัตกรรมเกษตรคูลๆ ของ “ณัฐวี บัวแก้ว” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท จีฟินน์ รับเบอร์เทค จำกัด หนุ่มวิศวะจาก มอ.สงขลานครินทร์ ที่เคยฝากผลงาน “ถุงเพาะชำจากยางพารา” ย่อยสลายได้เจ้าแรกของโลก แบรนด์ Greensery ซึ่งเคยคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันนวัตกรรมทางการเกษตร ในเวที PSU Startup Challenge มาแล้วเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน  


      วันนี้เขานำยางพารากลับมาสร้างความว้าวในตลาดอีกครั้ง ด้วยนวัตกรรมรองเท้าสำหรับโคที่ทำมาจากยางพารา โดยออกแบบแม่พิมพ์ให้สอดคล้องตามหลักสรีระของกีบเท้าโค และสูตรยางรองเท้าอีกด้วย
               

       ว่าแต่ทำไมโคต้องใส่รองเท้า แล้วตลาดนี้จะน่าสนใจแค่ไหน ไปติดตามกันเลย!




 
นวัตกรรมจากความบังเอิญกับโอกาสที่ซ่อนอยู่
               

     ใครจะคิดว่า ระหว่างนั่งอยู่หน้าบ้านแล้วเห็นวัวชนเดินผ่าน บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่าง ณัฐวี และเจ้าของวัวชน ในวันนั้นจะกลายเป็นโอกาสธุรกิจใหม่มาซะได้
               

     “ตอนนั้นมันเริ่มจากแค่ผมอยากได้โปรดักต์เกี่ยวกับยางอีกสักตัวหนึ่งที่มูลค่าสูงขึ้นและเพิ่มราคายางได้มากๆ นอกจากถุงเพาะชำที่เราทำอยู่แล้ว วันหนึ่งผมนั่งอยู่หน้าบ้าน แล้วเห็นวัวชนเดินผ่าน ผมถามเจ้าของวัวชนว่าเขาชนกันที่เท่าไร เขาบอก 10 ล้านบาท แต่ละตัวแพงมากเลยนะ แล้วผมสังเกตว่าเท้าของวัวจะใส่รองเท้าแตะช้างดาว ซึ่งเขาใส่เพื่อป้องกันเท้าบาดเจ็บ เพราะสมมติเขาชนกันที่ 10 ล้านบาท เขาต้องมีเงินเดิมพัน 10 เปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องนัดมาเจอกันในเวลาที่กำหนด ซึ่งถ้าใครมาไม่ทันเงิน 10 เปอร์เซ็นต์นั้นหรือ 1 ล้านบาทจะตกเป็นของอีกฝั่งหนึ่งทันที ฉะนั้นสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้คือเวลาวัววิ่งริมถนนอาจจะเจอเศษกระจก ตะปู กระเบื้อง หรืออะไรก็ตาม ซึ่งถ้าวัวมันเหยียบก็คือหายไปเลยนะเงิน 10 เปอร์เซ็นต์นั้น แล้วเขาไม่ยอมแลกกับ 90 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือแน่นอน เขาเลยเอารองเท้าช้างดาวมาใส่ แต่ผมกลับมองว่าวัวชนตั้ง 10 ล้านบาท แต่ทำไมไม่ใส่ Adidas ไม่ใส่ Nike ถ้าเรามีเงินเยอะขนาดนั้นเราคงใส่ Nike ไปแล้ว เลยจุดประกายว่าถ้าอย่างนั้นผมจะเอายางมาทำรองเท้าให้วัวใส่ดีกว่า เพื่อให้เหมาะกับราคาวัวที่มีมูลค่าสูงขนาดนี้” เขาเล่า
               

     แต่ตลาดวัวชนเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม แถมแต่ละคนก็รักและทนุถนอมวัวชนยิ่งกว่าลูก ฉะนั้นการจะให้ลองเอารองเท้าจากงานวิจัยไปใส่ก็คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงแน่ เขาเลยมามองใหม่ว่านอกจากตลาดวัวชนแล้วยังมีสัตว์อะไรอีกบ้างที่ใส่รองเท้า ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ “โคนม” พลเมืองสัตว์ขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งทั่วโลกมีโคนมอยู่ถึง 143 ล้านตัว ขณะที่ในไทยก็มีอยู่ประมาณ 6.7 แสนตัว แถมยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีอีกด้วย ส่วนเหตุผลที่โคนมต้องใส่รองเท้า ก็เพราะป้องกันอาการเจ็บที่กีบเท้านั่นเอง



 
           
ไอเดียเกิดจากวัวชน ต่อยอดสู่ตลาดโคนม
               

     ปัญหาโคนมเจ็บกีบเท้า นับเป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นกับโคนมทั่วโลก เขาบอกว่า ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของโคนมที่เลี้ยงในแต่ละฟาร์ม เกิดปัญหาเจ็บกีบเท้า ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อปริมาณน้ำนมและคุณภาพของน้ำนมที่จะลดลง รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาการผสมพันธุ์ยากและปัญหาเต้านมอักเสบได้อีกด้วย
               

     “ปัญหาการเจ็บกีบเท้าของโคนมเกิดขึ้นกับโคทั่วโลกและยังคงแก้ไม่ได้ เพราะ 1.มันมาจากกายวิภาคของกีบทั้ง 2 ข้างที่รับน้ำหนักไม่เท่ากัน  2.ทั่วโลกให้อาหารข้นกับวัวซึ่งส่งผลให้วัวแข็งแรงและมีน้ำนมเยอะ แต่อาหารข้นถ้าถูกปรับนิดหนึ่งหรือว่าเป็นกรดมันจะดูดซึมเข้ากระเพาะแล้วซึมเข้ากล้ามเนื้อและทำให้กีบแตกได้ และ3.ถ้าเราเลี้ยงวัวอย่างดีวัวจะมีน้ำหนักโตเต็มวัยคือ 500-700 กิโลกรัม ซึ่งส่งผลให้กีบแตกอีกเพราะว่าน้ำหนักมันเยอะ แล้วถ้าเราเลี้ยงบนพื้นซีเมนต์ก็ส่งผลให้กีบแตกอยู่แล้วเพราะการกระจายแรงไม่ดี ถ้าเราเลี้ยงบนพื้นดิน อย่างที่มวกเหล็กแต่ละปีจะเกิดน้ำท่วม เขาก็จะเอาดินเอากรวดมาถม ซึ่งเวลามีหินหรืออะไรตกลงไปเสียบมันก็จะอัดกลับเข้าไปกีบก็จะแตกได้เหมือนกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้มันแก้ยากมาก เพราะว่ามันเกิดจากตัวโคเองและสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงด้วย”


      เมื่อเจ็บกีบเท้าโคจะนอนมากกว่ายืน แต่การนอนจะทำให้เต้านมติดเชื้อได้ ขณะที่เวลาเจ็บกีบเท้าโคจะทานอาหารน้อยลง ซึ่งทำให้ผสมพันธุ์ไม่ได้ ส่งผลให้ไม่มีน้ำนมให้รีด เลยก่อปัญหาเป็นลูกโซ่ ทำให้ผู้เลี้ยงโคนมต้องเอารองเท้ามาใส่ตรงข้างที่เจ็บ เพื่อพยุงกีบให้ลอยขึ้น ซึ่งจากการวิจับพบว่า ถ้าไม่ใส่รองเท้าให้โคกีบจะหายอยู่ประมาณ 3 เดือน แต่ถ้าใส่รองเท้าไม้หรือรองเท้าชนิดอื่น แผลจะหายประมาณ 3 สัปดาห์


     “ผมไปสัมภาษณ์เกษตรกรพบว่า วัวที่เกิดอาการเจ็บกีบเท้า น้ำนมมันจะลดจากเดิมประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปกติเขาจะใช้รองเท้าไม้ ราคาอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 200 บาทรวมค่ากาว แต่มันใช้งานได้แค่ครั้งเดียวแล้วก็ต้องทิ้ง สำหรับฟาร์มที่มีกำลังหน่อย เขาจะนำเข้ารองเท้ามาจากนิวซีแลนด์ เป็นรองเท้าสำหรับโคโดยเฉพาะ อันนี้ขายกันอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,000 บาท ใช้ได้ 4-5 ครั้ง ผมเลยมองว่าเราเองมีองค์ความรู้ด้านยางอยู่แล้ว เรามีทีมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ จึงได้พัฒนารองเท้าโคจากยางพาราขึ้นมา”



 
               
พัฒนารองเท้าตอบโจทย์โคนม ตอบโจทย์ตลาด


     รองเท้ายางพาราสำหรับโคนมแบรนด์ Deeco ถูกออกแบบแม่พิมพ์ให้สอดรับตามหลักสรีระของกีบเท้าโคและสูตรยางรองเท้า สามารถรับน้ำหนักโคได้โดยไม่เกิดการแตกหักและมีความแข็งแรงมากพอไม่ทำให้เกิดการยุบตัวเมื่อรับน้ำหนักของโค ในกระบวนการขึ้นรูปรองเท้าใช้แม่พิมพ์แบบกึ่งฉีด ซึ่งช่วยให้ตัวรองเท้ารับแรงและกระจายแรงได้ดีขึ้น มีช่องระบายอากาศและสวมใส่ได้ง่ายขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรองเท้าไม้ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มีความแข็งกระด้างไม่ยืดหยุ่นและยังต้องใช้กาวในการติดกับกีบเท้าซึ่งมีความยุ่งยาก และยังไม่สามารถนำกลับมาใช้งานซ้ำได้ด้วย


     นอกจากนี้พวกเขายังพัฒนารองเท้าโคนมให้มีความแข็ง 2 ระดับ ซึ่งช่วยให้โคสวมใส่ได้สบายมากขึ้น ที่สำคัญยังได้พัฒนารองเท้าที่สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยการเคลือบผิวรองเท้าด้วยนาโนซิลเวอร์ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเพิ่มเติม และรองเท้าสำหรับโคนมยังเป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ใช้สวมใส่เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บที่กีบเท้า เพื่อให้อาการบาดเจ็บนั้นหายเร็วขึ้นได้


     “ราคาขายที่เราทำได้อยู่ที่ 350-500 บาท และยังใช้งานได้ถึง 5 ครั้ง เท่ากับของนำเข้า แต่ของเราทำราคาได้ถูกกว่า ซึ่งหลังจากนำไปให้ผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศประมาณ 20 ฟาร์ม ได้ทดลองใช้ก็พบว่าได้ผลที่ค่อนข้างดี แต่ยังติดปัญหาเรื่องไซส์เนื่องจากเบื้องต้นเราทำไซส์ M ซึ่งเป็นไซส์มาตรฐานของโคส่วนใหญ่ที่เลี้ยงในประเทศไทย แต่มีปัญหาว่าบางฟาร์มเขามีโคนำเข้าที่ตัวจะค่อนข้างใหญ่ ทำให้ใส่รองเท้าไซส์ M ไม่ได้ แต่กลุ่มนี้ยังมีจำนวนน้อยอยู่ ซึ่งถ้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต เราก็สามารถทำแม่พิมพ์เพื่อเพิ่มไซส์รองเท้าได้”
 

     สำหรับผลยุทธ์การตลาด เขาบอกว่า เนื่องจาก Deeco เป็นสินค้าใหม่ จึงเจาะตลาดโดยการนำเสนอผ่านสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องดูแลสัตว์ในแต่ละฟาร์มอยู่แล้ว และยังเป็นกลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือ จึงสามารถช่วยกระจายสินค้าของพวกเขาไปสู่ฟาร์มต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ส่วนโมเดลที่ 2 คือการพัฒนาสินค้าที่มีราคาขายถูกลง ไม่แตกต่างจากรองเท้าไม้ เพื่อจับตลาดกลุ่มที่ใช้รองเท้าไม้อยู่เดิม โดยจะทำราคาขายไม่เกิน 150 บาท



 

การเป็นผู้ประกอบการคือการประกอบกัน


     ณัฐวี เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่นำพาตัวเองไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างตัวแม่พิมพ์ที่ทำยาก พวกเขาก็ได้ บริษัท อินเตอร์แนชชั่นแนลรับเบอร์พาทส์ จำกัด ที่ทำชิ้นส่วนรถยนต์ให้โตโยต้ากับฮอนด้า มาช่วยผลิตให้ โดยเซ็นสัญญากันหลังจากไปเข้าโครงการ SME D Scale Up ของ SME D Bank เลยมีโอกาสได้ใช้โนว์ฮาวของมืออาชีพมาช่วยทำแม่พิมพ์ให้


     “จริงๆ แล้วแม่พิมพ์รองเท้าโคจะแพงมาก ต้องใช้เงินเป็นหลักล้านบาทต่อ 1 ชุด แต่เราคุยกันได้ในราคาที่โอเค แล้วเขาก็เป็นมืออาชีพด้วย  ทำให้เรามีไลน์ผลิตที่เก่งทางด้านการผลิต ผมเองก็มีทีมวิจัยจากมอ.สงขลานครินทร์ ที่เก่งทางด้านยางเช่นกัน จึงเป็นการทำงานร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย”


     นอกจากนี้เขายังชอบเวทีประกวดเพราะเชื่อว่าถ้าชนะ นอกจากจะได้เงินรางวัล ยังได้พื้นที่สื่อในการประชาสัมพันธ์ตัวเองแบบฟรีๆ อีกด้วย และเขาไม่เชื่อเรื่องการทำงานคนเดียว เพราะเชื่อว่า การเป็นผู้ประกอบการคือการประกอบกัน


     “ผมจำคำพูดของคนๆ หนึ่งได้ เขาบอกว่า การเป็นผู้ประกอบการเกิดจากการประกอบกันของหลายๆ ส่วน มันไม่มีใครเก่งไปทุกด้าน แต่ถ้าเราเอาด้านที่เก่งแล้วไปหาคนที่เก่งในด้านที่เราด้อยแล้วมาสนับสนุนเรา มันก็จะออกมาเป็นผู้ประกอบการได้ ที่สำคัญถ้าจะทำให้อยู่รอดได้เราต้องใช้นวัตกรรม เพราะถ้าเราทำธุรกิจที่ไม่มีนวัตกรรม เราอาจมีรายได้เยอะก็จริง แต่จะอยู่รอดได้แค่ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะวันหนึ่งก็จะมีคนทำตาม แต่ถ้าใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย เราก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน” เขาบอก
 

     และนี่คือเรื่องราวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ อดีตเด็กหนุ่มที่ทำงานส่งตัวเองเรียนมาตั้งแต่ปี 1 หลังผู้เป็นพ่อมาเสียชีวิตลงกระทันหัน เขาคือลูกชายคนเดียวในบ้านที่ต้องนำพาครอบครัวให้ไปต่อ เคยถูกหลอก ถูกโกง ต้องต่อสู้ดิ้นรนมาสารพัด แต่สุดท้ายก็คว้าปริญญาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต ที่มอ.สงขลานครินทร์ มาได้สำเร็จ และมีธุรกิจของตัวเองตั้งแต่อายุ 23 ปี วันนี้เขาอายุ 26 ปี ธุรกิจกำลังไปได้ดี และไม่มีปัญหาใดใหญ่เกินไปอีกแล้ว เพราะปัญหาที่หนักหน่วงเขาเคยผ่านมันมาหมดแล้วก่อนหน้านี้




               
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย