คุยเบื้องหลัง “Kan Vela Chocolate” ช็อกโกแลตครบวงจรสายพันธุ์ไทย ของอดีตนักลงทุนที่มาทำธุรกิจยั่งยืนในเชียงใหม่

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : Kan Vela Chocolate





      “กานเวลา” (Kan Vela Chocolate) คือชื่อของช็อกโกแลตสายพันธุ์ไทยแท้ ที่ปลูกเอง แปรรูปเอง โดยชาวเชียงใหม่ พวกเขาสร้างสรรค์คราฟต์ช็อกโกแลตที่เป็นเอกลักษณ์  เคยส่งช็อกโกแลตรสชาติไทยๆ ไปคว้ารางวัลระดับโลกจากเวที INTERNATIONNAL CHOCOLATE AWARDS มาแล้ว


      เบื้องหลังความสำเร็จคือชายชื่อ "ธนา คุณารักษ์วงศ์” ผู้ก่อตั้ง บริษัท กานเวลา ช๊อคโกแลต จำกัด (Kan Vela Chocolate) เขาคืออดีตนักลงทุนฟูลไทม์ที่ฝึกเล่นหุ้นมาตั้งแต่อายุ 18 ปี แต่วันนี้เขาเลือกปรับพอร์ตชีวิตใหม่ มาเดินบนถนนสายหวาน ทำธุรกิจช็อกโกแลตครบวงจร ที่มีดอกผลเป็นความสุข และแบ่งปันกำไรสู่ผู้คนทั้งห่วงโซ่


      ทำไมนักลงทุนถึงอยากผันมาทำธุรกิจช็อกโกแลต เขาคิดและทำแบบไหน มาฟังคำตอบไปพร้อมกัน



 

Q : ทราบมาว่าก่อนหน้าที่จะมาทำธุรกิจช็อกโกแลต คุณเคยเป็นนักลงทุนมาก่อน


A : ผมสนใจเรื่องการลงทุนมาตั้งแต่เด็ก ตัวผมเองลงทุนในตลาดหุ้นมาตั้งแต่อายุ 18 ปี ตอนนั้นขอเงินคุณพ่อมาเล็กๆ ก้อนหนึ่งเพื่อลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ไปทดลองแบบไม่มีความรู้อะไรเลย อาศัยว่าถนัดขอก็เลยขอคุณพ่อเติมมาเรื่อยๆ จนพอร์ตขยับขึ้นมาเป็นหลักล้านบาท จนวันหนึ่งเกิดวิกฤตซับไพรม์ เงินลงทุนหายไป 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นทุนทั้งนั้นแทบจะไม่มีกำไรอะไรเลย
               

       ผมเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Food Science and Technology) จาก ม.เชียงใหม่ ตอนแรกตั้งใจจะไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย แต่พอดีมาสอบติดที่ MBA NIDA เสียก่อน (คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ : นิด้า)  ช่วงนั้นเป็นช่วงที่การลงทุนมันเริ่มเละเทะ ผมเลยมาถามตัวเองว่าอยากจะได้ความรู้หรืออยากจะได้ใบปริญญา ถ้าเราไปเรียนที่ออสเตรเลียคงได้ใบปริญญากลับมา แต่การจะรู้ลึกในแก่นของวิชาจริงๆ ก็คงไม่เหมือนเราเรียนภาษาไทย ผมเลยเลือกเรียนที่เมืองไทยเพราะอยากได้วิชาความรู้ที่ผมจะเข้าใจมันได้จริงๆ เทอมสุดท้ายมีโอกาสไปเป็นผู้ช่วยของ “ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์” สมัยอาจารย์ยังสอนอยู่ที่นิด้า จนเรียนจบอาจารย์ก็ให้โอกาสช่วยงานต่อ ผมอยู่กับอาจารย์เกือบ 2 ปี ก่อนที่อาจารย์วรพลจะไปเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. ผมเลยออกมาและเป็นนักลงทุนเต็มเวลา (Full Time Investor) ทำอยู่ประมาณ 7-8 ปี ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะช่วงนั้นเป็นขาขึ้นของตลาดหุ้นด้วย



 

Q : ดูเหมือนอาชีพนักลงทุนก็กำลังไปได้ดี แล้วทำไมถึงอยากเปลี่ยนมาเป็นคนทำช็อกโกแลตได้


A : ตอนนั้นพอร์ตผมโตขึ้นหลายพันเปอร์เซ็นต์ เพราะมันเปลี่ยนที่หลักการ เปลี่ยนที่วิธีคิด ซึ่งการลงทุนก็เหมือนกับการทำธุรกิจคือเราต้องเข้าใจแก่น เข้าใจวงจรของธุรกิจหรือของบริษัทที่เราเข้าไปลงทุน ตอนนั้นทุกอย่างโอเคผมทำได้ไปเรื่อยๆ จนแต่งงานมีลูกมีครอบครัว ถึงจุดหนึ่งลูกผมอายุประมาณ 3-4 ขวบ ผมเริ่มมีความรู้สึกว่าโลกของการลงทุนเป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร 24 ชั่วโมง ซึ่งมันทำให้เราเครียดและเริ่มส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว คราวนี้พอลูกเริ่มโตขึ้น ผมเกิดความคิดที่อยากจะออกจากจุดนั้น อยากเปลี่ยนวิถีชีวิต อยากมีเวลาให้ครอบครัว อยากอยู่กับธรรมชาติ และอยากให้ลูกๆ โตกับธรรมชาติ


     ครอบครัวเราอยู่เชียงใหม่ ผมคิดอยากจะทำสวน อยากอยู่กับต้นไม้ วันหนึ่งมีคนเอาผลโกโก้มาให้ดู ผมก็เอะใจว่าสิ่งนี้หรือที่เขาเอาไปทำช็อกโกแลต จากที่เคยเข้าใจมาตลอดว่าโกโก้เป็นพืชของต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วมันปลูกอยู่ในพื้นที่เขตเส้นศูนย์สูตรบวกลบ 20 องศา เจริญเติบโตได้ดีในภูมิอากาศของประเทศเขตร้อนชื้น ไม่ได้ปลูกอยู่ในบ้านเมืองฝรั่งเลย รู้สึกทันทีว่าโกโก้น่าสนใจเลยหามาทดลองปลูก 10 ต้นในพื้นที่บ้าน เป็นสายพันธุ์จากชุมพร พอเห็นว่ามันโตได้ดี ก็เริ่มมาศึกษาเรื่องการทำโกโก้เป็นช็อกโกแลต โชคดีที่มีองค์ความรู้เยอะแยะไปหมด แค่ search เข้าไปใน Amazon ก็สามารถหาหนังสือเกี่ยวกับพวกนี้มาศึกษาได้แล้ว


      จากนั้นผมลองไปซื้อเมล็ดโกโก้แห้งที่เขาเรียกว่า คาเคา นิบส์ (Cacao Nibs) ที่เอามาปั่นเป็นช็อกโกแลต ไปซื้อเครื่องปั่นช็อกโกแลตตัวเล็กๆ มาลองทำดู ปรากฏทำเสร็จให้ใครกินก็บอกไม่อร่อย (หัวเราะ)  ผมเลยมาศึกษาว่ามันเกิดจากอะไรทุกคนก็บอกโกโก้ไทยจะออกเปรี้ยวเป็นลักษณะเฉพาะตัว ผมก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่หน้าที่คือต้องไปศึกษาเพิ่มเติม คราวนี้จากที่แค่อยากลองทำช็อกโกแลต ผมเริ่มไปศึกษาตั้งแต่ก่อนจะเป็นเมล็ดโกโก้แห้งว่าเขาทำกันยังไง ไปหาตำราจากเมืองนอกมาอ่าน ศึกษากระบวนการก่อนและหลังการปลูก หาพวกงานวิจัยในต่างประเทศมาดู กลายเป็นว่าผมสนุกเหมือนกับสมัยผมลงทุน ผมมองว่ามันเหมือนเราเล่นเกม การที่เราสามารถเคลียร์ในแต่ละประเด็นปัญหาออกไปได้ ก็เหมือนกับเราผ่านเข้าไปเล่นในด่านต่อไปได้เรื่อยๆ



 

Q : จากต้นโกโก้ที่ทดลองปลูกในบ้าน กลายมาเป็นธุรกิจช็อกโกแลตครบวงจรขึ้นมาได้อย่างไร


A : พอเราค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละขั้น ผมก็เริ่มทำกระบวนการตั้งแต่ต้น จากที่ซื้อเมล็ดโกโก้มาทำช็อกโกแลต ก็เริ่มไปซื้อผลโกโก้สดจากเกษตรกรที่พอจะแบ่งขายให้เราได้ ตอนนั้นไปเจอสวนโกโก้ชื่อ “ไร่ธนาทิพย์” ที่ประจวบคีรีขันธ์ ก็ต้องขอบคุณที่เขายอมขายให้เพราะทำให้เราได้มาทดลอง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นพาร์ตเนอร์กันอยู่ ผมก็เอามาหมัก ตากแห้ง ลองผิดลองถูกอยู่เป็นปี แต่ผมอาจโชคดีที่เรียนมาทางด้านฟู้ดไซน์ เลยพอมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง ก็อาศัยไปหาตำรากลับมาอ่านทบทวนใหม่ และลงรายละเอียดให้ลึกขึ้น จนเข้าใจกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้น จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาจนทำได้ครบวงจร ตั้งแต่การปลูกจนถึงแปรรูปและจัดจำหน่าย


        ทุกวันนี้สวนของเราปลูกต้นโกโก้อยู่ประมาณ 3,000 ต้น แต่เพิ่งเริ่มให้ผลผลิตได้ประมาณ 1,000 ต้น โดยเรายังใช้ผลผลิตจากเกษตรกรอยู่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้ของเราเองที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีผลผลิตไม่เต็มที่ พอได้ผลโกโก้ก็มาทำเป็นช็อกโกแลต คราวนี้พอให้คนอื่นกินเขาเริ่มไม่บ้วนทิ้งแล้ว เลยอยากทำจริงจัง จึงพัฒนาคราฟต์ช็อกโกแลตขึ้นมาใช้ชื่อแบรนด์ว่า “กานเวลา ช๊อคโกแลต” (Kan Vela Chocolate) และมีร้านของเราด้วย โดยได้น้องสาวผม (นิรมล คุณารักษ์วงศ์) ที่ชอบทำขนมและศิลปะ (เป็น Chocolatier จาก Professional School of Chocolate Art) มาดูแลเมนูต่างๆ ในร้านและคอยครีเอทช็อกโกแลตให้


        สำหรับคำว่า “กานเวลา” มาจาก 2 องค์ประกอบหลัก คือเป็นคราฟต์ช็อกโกแลตที่ต้องใช้ความพิถีพิถันในการทำ ทุกกระบวนต้องการความเอาใจใส่ ความพยายาม เพื่อเป็นการเตือนตัวเราว่า กานเวลา ต้องใส่ใจในทุกรายละเอียดและต้องทำของที่ดีมีคุณภาพให้กับลูกค้า


     อีกประเด็นเป็นเหตุผลส่วนตัวของผม คือที่ผ่านมาเวลาทำงานผมจะเต็มที่มาก จนอาจหลงลืมคนรอบข้างไป อยู่ในโลกของการลงทุน ทุกวินาทีเป็นเงินเป็นทองไปหมด ซึ่งมันคือนิสัยที่ไม่ดีและนั่นคือสาเหตุที่ผมอยากจะออกมาจากตรงนั้น เพราะเหมือนทุกนาทีมีค่าแต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีค่าแค่กับตัวผม แต่ไม่ได้เกิดคุณค่ากับคนอื่นเลย ซึ่งคำว่า “Kan” เป็นอักษรตัวแรกของชื่อภรรยาและลูกชายผม ผมเลยใช้ชื่อว่า “กานเวลา” เพื่อย้ำเตือนตัวเอง  



 

Q : ทราบมาว่า Kan Vela Chocolate ไปคว้ารางวัลระดับโลกมาด้วย ไม่ทราบว่าเป็นเวทีอะไรแล้วไปได้รางวัลมาได้อย่างไร


A : ตอนนั้นเราทำช็อกโกแลตกินแล้วอร่อย แต่ก็กลัวว่าจะเป็นแค่อคติของเราเอง ฉะนั้นสิ่งที่จะบอกเราได้ดีที่สุดก็คือมาตรฐาน เลยลองส่งช็อกโกแลตไปประกวดในเวที INTERNATIONNAL CHOCOLATE AWARDS ซึ่งไม่ว่าเราจะได้รางวัลหรือไม่ได้รางวัลมา แต่กรรมการเขาจะส่งฟีดแบ็กกลับมาให้คล้ายๆ กับคำวิจารณ์ช็อกโกแลตของเรา ซึ่งผมอยากฟังคนเก่งๆ เขาวิจารณ์ รางวัลก็แอบหวังนะ แต่อยากได้คำวิจารณ์มากกว่า ปรากฏเราได้มา 2 รางวัล คือ เหรียญทองแดง ประเภทช็อกโกแลตสอดไส้ รสฝรั่งพริกเกลือ และประเภทช็อกโกแลตบาร์ ดาร์กช็อกโกแลต 72 เปอร์เซ็นต์คลองลอย


      เราส่งตัวอย่างไปประมาณเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เขาตัดสินออกมาช่วงปลายเดือนตุลาคมก่อนเราเปิดร้านพอดี เลยได้จังหวะพอเปิดร้านเลยมีรางวัลเป็นจุดขาย เพราะเวลาใครมาร้านหรือมารีวิว เขาเห็นว่าร้านเราได้รางวัล ก็นำไปบอกต่อ เลยช่วยทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น



 

Q : ดูเหมือนว่าการทำช็อกโกแลตวันนี้แตกต่างจากโลกของนักลงทุนอยู่มาก แล้วนิยามความสำเร็จของคุณแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร


A : ตอนผมเป็นนักลงทุน ผมจะสนใจแค่ว่าผลตอบแทนในแต่ละปีที่ผมทำได้มันเยอะแค่ไหน แล้วบางทีก็ชอบไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งสุดท้ายก็จะอยู่แต่กับตัวเลข อยู่กับความฟุ้งเฟ้อ  แต่พอผมลงมาอยู่กับเกษตรกรมันเป็นสังคมที่เขาไม่ได้มองกันที่เปลือกนอกเลย เราไม่ต้องมี Accessories ไม่ต้องมีหัวโขน ไม่ต้องมีอะไรทั้งนั้น  


       อย่างเวลาผมลงไปให้ความรู้กลุ่มเกษตรกรที่อยากปลูกโกโก้ ก็ไปกินไปนอนกับเขา ตอนเย็นทำกับข้าวนั่งล้อมวงกัน เป็นสังคมอีกแบบหนึ่งที่พอทำแล้วผมรู้สึกว่ามันมีคุณค่า ฉะนั้นความสำเร็จที่วัดได้แน่นอน หนึ่งคือ ธุรกิจเราต้องเดินไปได้และมีกำไร เพราะว่ามันมีคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีกเยอะที่ต้องพึ่งพาอาศัยการเติบโตของเรา ซึ่งก็คือกลุ่มพนักงาน และกลุ่มที่เขามีปฏิสัมพันธ์กับเรา ที่เราต้องการไปช่วยให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เช่น กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ เป็นต้น


       ที่ผ่านมาผมพยายามแนะนำว่าโกโก้คือพืชทางเลือกไม่ใช่พืชที่เขาจะต้องไปโค่นพืชหลักทิ้ง พืชทางเลือกคือพืชที่ปลูกแล้วเขาสามารถเก็บขายได้เรื่อยๆ ผมใช้หลักการเงิน หลักการทำธุรกิจมาจับ นั่นคือกระแสเงินสด (Cash Flow) ปัญหาของเกษตรกรไทยคือ เราปลูกพืชหลักอย่างเดียวพอผลผลิตออกมาราคาถูกกด หรือเจอภัยพิบัติ ภัยแล้ง ปลูกมาแต่ไม่มีผลผลิตให้ขาย เมื่อเขาไม่มี Cash Flow ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เกิดเป็นปัญหาหนี้นอกระบบตามมา แต่ถ้าเขามีพืชที่เป็น Cash Flow ที่เป็นพืชยืนต้นอย่างโกโก้ซึ่งเขาไม่ต้องตัดโค่น ไม่ต้องเผาทิ้งให้เป็นปัญหาหมอกควัน แต่สามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งปี มันจะกลายเป็นเงินที่สร้าง Cash Flow ให้กับเขาได้ ผมพยายามแฝงข้อคิดเรื่องพวกนี้ให้กับคนที่มาปรึกษาเราเพราะมองว่าเรื่องกระแสเงินสดและความเสี่ยงสำคัญกับเกษตรกรมาก


      การที่ผมมาทำธุรกิจนี้ ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนเยอะขึ้นมาก มันไม่ได้ได้แค่ตัวเรา แต่ทุกการกระทำของเราจะส่งผลบวกต่อคนที่อยู่รอบข้างและพึ่งพิงเราด้วย ผมรู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่ากับคนอื่นมากกว่าในอดีต เพราะว่าทุกอย่างที่เราทำแม้กระทั่งการไปให้ความรู้กับเกษตรกรที่เขาสนใจ ให้ความรู้ตามข้อเท็จจริงไม่ใช่แค่การโฆษณาชวนเชื่อ มันทำให้ผมรู้สึกมีคุณค่า และคิดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจเรายั่งยืนในระยะยาว สุดท้ายจะเกิดเป็นสังคมที่เราทุกคนจะมีความสุขไปด้วยกัน


      สำหรับกานเวลาเราอยากจะค่อยๆ โต ไม่จำเป็นต้องเร่ง แต่อยากจะทำของที่มีคุณภาพและค่อยๆ โตไป โดยที่การเติบโตนั้นเราอยากจะโตไปพร้อมกับสังคมรอบข้าง เกิดความร่วมมือช่วยเหลือและแบ่งปันกัน และอยากเป็นต้นแบบให้กับคนที่อยากจะทำธุรกิจนี้ เราอยากจะเติบโตไปแบบนั้น



 

Q : วันนี้ใครหลายคนอยากเปลี่ยนอาชีพมาทำธุรกิจเกษตร สำหรับคนที่ก้าวมาก่อนพอจะมีข้อแนะนำให้กับคนที่อยากเข้ามาในตลาดนี้หรือไม่


A : หลักๆ เลยคือ “วิธีคิด” สำคัญกว่า “วิธีการ” วิธีคิดหมายถึง “หลักการ” ผมยกตัวอย่างนิสัยส่วนใหญ่ของคนไทยเราชอบทางลัด คืออยากรู้เลยว่าต้องทำยังไง ขอวิธี 1-2-3-4 แล้วจะไปทำตาม นึกออกไหม แต่หลายๆ ครั้งโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น องค์ประกอบหลายอย่างมันไม่เหมือนกัน องค์ประกอบของแต่ละคน แต่ละพื้นที่ แต่ละธุรกิจไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเกิดคุณเข้าใจถึงแก่นของมัน เข้าใจถึงวิธีคิด เข้าใจถึงหลักการ คุณจะสามารถไปประยุกต์เข้ากับสิ่งที่คุณอยากจะทำได้เอง


      แน่นอนว่าการจะเข้าใจถึงจุดนั้นได้ คุณต้องศึกษาให้ลึกถึงแก่น เหมือนที่ผมทำ อย่างตอนเด็กๆ ที่ผมลงทุนแล้วล้มเหลวเพราะว่าผมให้ความสำคัญกับวิธีการ เราฉาบฉวย แต่วันหนึ่งพอเราประสบความสำเร็จได้ กลับมาย้อนดูมันคือเรื่องของวิธีคิดมากกว่า ซึ่งพอเราเข้าใจวิธีคิดเราจะเข้าใจกลไก เข้าใจว่าหลักการที่ถูกต้องคืออะไร แล้วค่อยไปปรับปรุงไปประยุกต์ใช้เอา เช่นเดียวกัน การจะมาทำธุรกิจเกษตรคุณต้องเข้าใจก่อนว่า พืชที่คุณอยากจะปลูกคืออะไร ตลาดอยู่ตรงไหน สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมถูกสอนมาก็คือ “Look for the best and prepare for the worst” มองหาสิ่งที่ดีที่สุดแต่เตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดอยู่เสมอ คือทุกอย่างเราจะมองแต่ข้อดีไม่ได้ แต่เราต้องมองเผื่อไปด้วยว่าจุดเลวร้ายที่สุดมันคืออะไร เพราะฉะนั้นในการทำธุรกิจสิ่งสำคัญที่สุดคือ มองหาคอขวดของปัญหาให้เจอ ต้องมองให้ออกว่ารากเหง้าของปัญหาคืออะไร พอรู้ก็ลงไปศึกษาจนแก้ตรงนั้นได้ เมื่อนั้นไม่ว่าเราจะเจอภาวะไหน เราก็จะผ่านมันไปได้
 

 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย