PHOTO : 28 Days Off
ผ่านไปบนถนนสุวรรณศรที่เชื่อมระหว่างนครนายก – ปราจีนบุรี จะพบร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่งลักษณะเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงห้องกระจกให้นั่งรับชมวิวจากสวนภายนอก โดยมีชื่อว่า “28 Days Off - Specialty Coffee” ร้านที่คอกาแฟพิเศษหรือ Specialty Coffee คนปราจีนบุรีและนครนายกมักมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ จิบกาแฟดีๆ อยู่เสมอๆ เป็นอีกหนึ่งร้านน่านั่งที่อยากแนะนำหากได้มีโอกาสแวะผ่านมา
แต่เดี๋ยวก่อน! หากใครคิดจะมาเป็นลูกค้าที่นี่ ไม่ใช่จู่ๆ นึกอยากจะมาก็มาได้เลยนะ อาจผิดหวังกลับไปก็ได้ เพราะร้านนี้เขาเปิดขายเป็นรอบๆ ละ 28 วันเท่านั้น หากมาไม่ทันต้องเว้นไปอีก 28 วันจึงค่อยกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งตามชื่อร้านที่ตั้งไว้ เหตุผลไม่ใช่เพื่อสร้างกิมมิกขึ้นมาเท่ๆ แต่เพราะความจำเป็นบางอย่างของชีวิต
แต่เปิด-ปิดบ่อยแบบนี้ลูกค้าจะหายไหม แล้วอะไร คือ กลยุทธ์มัดใจที่ทำให้แม้จะห่างหายไปนานเป็นเดือนๆ แต่ยังมีลูกค้าที่เฝ้ารอเพื่อจะได้กลับมาใช้บริการอีกครั้ง ลองไปฟังคำตอบจาก เสนีย์ วงษ์มณฑล หนุ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันเจ้าของร้านกัน
ระหว่างหน้าที่ และความรัก (ในกาแฟ)
เสนีย์ หรือ นัท เล่าจุดเริ่มต้นไอเดียธุรกิจร้านกาแฟเปิด - ปิด 28 วันให้ฟังว่า เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของเขาและภรรยา เสาวรส วงษ์มณฑล (ผึ้ง) ที่วันหนึ่งอยากมีธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมา เพราะเป็นนักดื่มกาแฟกันอยู่แล้ว หากมีเวลาว่างก็มักจะพาครอบครัวไปเสาะแสวงหาร้านกาแฟดีๆ กัน จนในที่สุดด้วยความลงตัวในหลายๆ อย่าง จึงตัดสินใจเปิดเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ขึ้นมาในพื้นที่บ้านของตัวเอง ซึ่งเป็นสวนอยู่ติดริมถนนสุวรรณศรที่เชื่อมระหว่างจังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี แต่ด้วยเหตุผลที่ตัวเขาเองนั้นทำงานอยู่แท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่กลางทะเลอ่าวไทย ส่วนภรรยาทำหน้าที่เป็นแม่บ้านคอยดูแลลูกๆ และโดยส่วนใหญ่ยังดูแลร้านกันเอง ไม่ได้มีพนักงานมาช่วย ทำให้ช่วงเวลาที่เขาต้องกลับไปทำงาน จึงต้องปิดร้านไว้ จนกลายเป็นที่มาของการตั้งชื่อร้าน 28 Days Off ในที่สุด เพื่อบอกให้ลูกค้าได้รับรู้ถึงคอนเซปต์ของร้าน
“แรกๆ ก็กังวลกันนะ เพราะเราเองยังไม่เคยเห็นใครทำธุรกิจแบบนี้ แต่เราทำเพราะความจำเป็น ไม่ใช่แค่คิดขึ้นมาสนุกเฉยๆ คิดเหมือนกันว่าเปิดเดือนเว้นเดือนแบบนี้ ลูกค้าจะกลับมากินเราไหม แต่กลายเป็นว่าในช่วง 2 รอบที่ผ่านมายอดขายกลายเป็นเพิ่มขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดเจนเลย จึงกลายเป็นว่าทุกคนโอเคกับสิ่งที่เราทำ จากจุดอ่อนเลยกลายเป็นกิมมิกให้กับร้านไปในที่สุด” เสนีย์เล่าถึงความกังวลใจในช่วงแรกให้ฟัง
โดยวิธีการที่เสนีย์และภรรยาเลือกใช้เพื่อสื่อสารออกไปยังลูกค้า คือ ในทุกๆ รอบของการเปิดร้านพวกเขาจะแจ้งวัน เวลาไว้ที่หน้าเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม รวมถึงการแจ้งกับลูกค้าโดยตรงเมื่อเข้ามาใช้บริการที่ร้าน และบางครั้งก็มีลูกค้าช่วยแชร์บอกต่อๆ กันให้ด้วย
“ทุกครั้งที่โพสต์รูปลงไปในเพจหรืออินสตราแกรมของร้าน ผมจะต้องแนบติดท้ายไปเสมอว่ารอบนี้ผมจะเปิดถึงวันที่เท่านี้นะ ปิดวันไหน และเปิดอีกทีเมื่อไหร่ เวลาลูกค้าเข้ามานั่งรอกาแฟในร้านได้คุยกันก็จะแจ้งบอกให้เขาทราบไปด้วย หรือบางทีเวลามีลูกค้ามาเช็คอินที่ร้านเขาก็จะเขียนแนะนำให้ด้วยว่ารอบนี้ร้านเปิดถึงวันนี้นะ จะเปิดอีกทีเมื่อไหร่ เป็นการช่วยกระจายข่าวบอกต่อๆ กันไป”
โดยในวันธรรมดาลูกค้าหลักส่วนใหญ่ของร้านจะเป็นคนทำงานในจังหวัดปราจีนบุรีและนครนายก ส่วนเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนัตขัตฤกษ์ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนผ่านทางมา ซึ่งคอนเซปต์ของร้าน 28 Days Off จะเป็นร้านกาแฟแบบ Slow Bar อุปกรณ์การชงจะเน้นแบบไม่ใช้เครื่องชงไฟฟ้า แต่สำหรับลูกค้าที่ต้องการความเร่งด่วนก็มีเครื่องอัตโนมัติสำรองไว้ให้บริการด้วย โดยเขาจะทำหน้าที่ในการชงกาแฟเป็นหลัก ส่วนภรรยาจะเป็นคนทำขนมโดยมีโดนัทหน้าต่างๆ เป็นเมนูชูโรง แต่จริงๆ แล้วก็สามารถสลับดูแลและทำแทนกันได้
คุณภาพ – เซอร์วิสมายด์ สูตรลับคลาสสิกคู่ธุรกิจ
ถึงแม้จากจุดอ่อนอาจกลายเป็นกิมมิกหรือสร้างจุดเด่นขึ้นมาให้กับธุรกิจ แต่เสนีย์เล่าว่าเขาและภรรยาเองยังให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและการบริการมาเป็นที่หนึ่งอยู่เสมอ เพราะเชื่อมั่นว่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจและทำให้ลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ได้
“ผู้บริโภคทุกวันนี้อาจเปิดรับมากขึ้นในรูปแบบธุรกิจที่มีความหลากหลายหรือมีข้อจำกัดบางอย่างเหมือนกับเรา แต่สิ่งที่ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ ก็คือ คุณภาพ ผมจะคุยกับแฟนเสมอเลยว่ายังไงเรื่องคุณภาพและการบริการที่ดีต้องมาเป็นอันดับหนึ่งก่อน ร้านสวยร้านน่ารักอาจเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ลูกค้าอยากเข้ามา แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ลูกค้ายอมจ่าย และกลับมาใหม่ได้”
โดยทุกวันนี้หลังจากปิดร้านในแต่ละรอบ ทั้งคู่ก็จะมานั่งคุยกันว่าตลอดเวลา 28 วันหรือเกือบหนึ่งเดือนที่เปิดร้านไปนั้น มีสิ่งใดบ้างที่ทำได้ดีแล้ว หรือมีสิ่งใดอีกบ้างที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไข รวมถึงการวางแผนเตรียมตัวเพื่อการเปิดร้านรอบหน้าต่อไป
“เวลาขายจบรอบทีหนึ่งผมกับภรรยาก็จะมานั่งคุยกันว่าที่ผ่านมาอะไรบ้างที่เราทำไว้ดีแล้ว หรือมีอะไรอีกที่ยังติดขัดและขาดตกบกพร่องไป และเราจะสามารถแก้ไขได้ยังไง เช่น เอาระบบ POS เข้ามาช่วยเก็บข้อมูลการขาย เช็คสต็อกสินค้าไหม หรือมีเครื่องมืออะไรอีกบ้างที่เราจะสามารถให้บริการลูกค้าได้เร็วและสะดวกขึ้น หรือมีวัตถุดิบอะไรบ้างที่เราต้องซื้อมาเตรียมเอาไว้เพิ่ม หรือรอบหน้าเราจะพรีเซ็นต์เมนูอะไรดี อย่างที่ผ่านมาเป็นหน้าของมะยงชิดที่บ้านมีปลูกไว้ เราก็เลยเอามาทดลองทำเมนูกาแฟและขนม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราต้องคุยกันตลอดทุกครั้งหลังจากปิดร้านแต่ละรอบ”
จาก 28 Days Off ถึง 24 / 7
เสนีย์เล่าว่าทุกวันนี้แม้การเปิด-ปิดร้านครั้งละ 28 วันของเขาอาจกลายเป็นจุดเด่นให้กับธุรกิจ จนใครๆ ก็สามารถจดจำได้ แต่เขาก็ไม่ได้สนับสนุนให้ใครทำตาม เพราะมันอาจไม่ใช่แนวทางการทำธุรกิจที่ถูกต้องนัก แต่อยากให้เริ่มต้นที่ความพร้อมและความเหมาะสมมากกว่า และในอนาคตข้างหน้าวันหนึ่งหากมีโอกาสเขาก็อยากเลือกที่จะเปิดร้านได้ทุกวันเหมือนกับคนอื่นๆ เช่นกัน
“อย่างที่บอกว่าเราต้องทำธุรกิจขึ้นมาในรูปแบบนี้ ก็เพราะความจำเป็นบางอย่าง ซึ่งเราคิดแล้วว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับชีวิตของเราในตอนนี้ แต่ถ้าอยู่ดีๆ นึกอยากเปิดก็เปิด อยากปิดก็ปิด โดยที่ยังไม่มีความพร้อม ยังไม่ได้จริงจังกับมัน หรือไม่มีเหตุผลอะไรที่ดีมารองรับ ผมว่าจากข้อดีอาจกลายเป็นข้อเสียแทนก็ได้ อีกอย่างที่ทำแบบนี้ได้ เพราะเราเอาสิ่งที่ชอบสิ่งที่รักเป็นตัวนำ และทำอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ต้องเสียค่าเช่า ค่าใช้จ่ายเหมือนกับคนอื่นๆ เงินที่นำมาสร้างก็มาจากเงินเก็บของตัวเองไม่ได้ไปกู้ยืมใคร เลยทำให้ไม่เครียดและอยู่ได้ จริงๆ แล้ววันหนึ่งหากมีโอกาสหรือสามารถหาคนเป็นตัวแทนผมกับแฟนผมได้ที่เราไว้ใจได้ ผมก็อาจเปิดทุกวัน เพราะยังไงการทำธุรกิจถ้าเราสามารถรันให้ต่อเนื่องได้ทุกวันก็ย่อมดีกว่า และถ้าถึงวันนั้นเราอาจเปลี่ยนชื่อร้านเป็น 24/7 ก็ได้ (หัวเราะ)” เสนีย์กล่าวทิ้งท้าย
จะว่าไปสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากร้าน 28 Days Off ในวันนี้ นอกจากจะได้รู้จักไอเดียธุรกิจแปลกใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งแล้ว ยังทำให้รู้ว่ารูปแบบการทำธุรกิจทุกวันนี้จริงๆ แล้วไม่มีหลักการอะไรตายตัว ไม่มีอะไรถูกอะไรผิด ขอเพียงทำแล้วมีความตั้งใจจริง และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ ไม่ว่าธุรกิจอะไร รูปแบบไหน ก็ย่อมสำเร็จได้ไม่แตกต่างกันเลย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี