PHOTO : PALATTA
วันแรกที่แบรนด์น้องใหม่ปรากฎตัวขึ้นในตลาด เจอสกัดดาวรุ่งทุกวิถีทาง ปัญหาสารพัดเข้าโถมใส่จนเผลอถอดใจได้ทุกเมื่อ แต่ทว่าด้วยน้ำอดน้ำทน และพลังศรัทธาของ “พลัฏฐ์ อารีวงศ์ศิลป์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิสดอม เพอร์เฟค จำกัด ทายาทธุรกิจรองเท้าหนังที่มีประสบการณ์ในสนามเครื่องหนังมากว่า 30 ปี วันหนึ่งเขาสามารถนำพาแบรนด์ "PALATTA" ให้กลายเป็นเครื่องหนังไทยขวัญใจลูกค้าคนจีนได้สำเร็จ มีอาณาจักรธุรกิจอยู่ใน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ที่เต็มไปด้วยพลังมงคล หนุนนำความสำเร็จให้กับเขา
เปิดฉากธุรกิจฉบับ บู๊ สู้ ฟัด
พลัฏฐ์ คือทายาทธุรกิจรองเท้าหนัง เขามีประสบการณ์ช่วยธุรกิจของพ่อมาตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี วันหนึ่งระหว่างไปส่งรองเท้าตามร้านพบว่า ทางร้านอยากได้กระเป๋าหนังมาขายด้วย แต่ทั้งเขาและพ่อไม่มีความรู้เรื่องกระเป๋ามาก่อน จึงเริ่มจากไปรับกระเป๋าจากโรงงานมาขายต่อ ทว่าพอเริ่มขายดีปัญหาก็เกิดทันที
“เริ่มแรกผมใช้วิธีไปรับกระเป๋าของคนอื่นมาขายก่อน ไปตามโรงงานผลิตกระเป๋า ขายไปได้ระยะหนึ่งพอเริ่มขายดีก็มีข้อเสียตามมาคือเจ้าเก่าเขาไม่อยากให้เราขาย เพราะเหมือนเราจะไปตัดราคาเขา ตอนนั้นสมมติซื้อมา 100 บาท ผมขายแค่ 110 บาท เอากำไร 10 บาท ผมก็โอเคแล้ว เพราะเรายังเด็กขายได้ก็ดีแล้ว ขอแค่ให้มีงานทำเท่านั้นเอง แต่บางเจ้าเขาต้องได้กำไร 40-50 บาท เขาก็ไปบอกเจ้าของโรงงานว่าอย่าขายให้ผม เลยเหมือนโดนกลั่นแกล้ง จากเดิมเราเคยรับของได้ที่ประมาณ 100 ใบ ตอนหลังเขาเหลือให้แค่ 30-40 ใบ ซึ่งเวลาไปส่งของแต่ละที อย่างไปส่งร้านที่ภูเก็ต พอได้ของไปน้อยมันก็ไม่คุ้ม” เขาเล่า
และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการเปิดเกมรบบทใหม่ โรงงานไม่ขายของให้ ก็ได้เวลาวิ่งหาช่างทำเองมันเสียเลย
“ผมเลยมาเริ่มแผนใหม่ โดยเริ่มวิ่งหาช่างเอง ผมไปซื้อวัตถุดิบมา แต่ก่อนกระเป๋าหนังปลากระเบนขายดีผมก็ไปดูว่าต้องซื้อปลากระเบนที่ไหนก็ต้องไปที่ระนอง พอได้หนังปลากระเบนเสร็จมันเป็นหนังสดจะทำยังไงต่อ ผมก็ต้องไปโรงฟอก ก็เริ่มศึกษาเรื่องโรงฟอกหนัง พอเอาหนังปลากระเบนเข้าโรงฟอกได้ ก็เริ่มหาซื้อหนังวัวมาเพิ่ม แล้วก็ไปส่งบ้านช่างเอง คราวนี้ก็ตัดปัญหาเรื่องโรงงานไม่ขายของให้เราได้ พอทำมาสักระยะทุกอย่างกำลังไปได้สวย ปรากฎก็โดนแกล้งอีก ปลากระเบนเริ่มไม่ขายให้เรา ไปโรงฟอกหนังเขาก็ไม่ค่อยอยากทำให้ อย่างเราซื้อหนังสดมา 2 ล้านบาท พอเอาเข้าโรงฟอกนัดวันที่ 1 แต่พอไปเขาก็บอกไม่ได้ต้องมาวันที่ 10 พอวันที่ 10 ก็บอกต้องมาวันที่ 15 สุดท้ายพอถึงวันที่ต้องฟอก หนังเรา 2 ล้าน เหลือดีแค่ไม่ถึงล้านบาท เสียหายไปเลยครึ่งหนึ่ง ก็เหมือนถูกกลั่นแกล้ง เพราะเขามีออเดอร์จากเจ้าอื่นอยู่แล้วหนังของเราก็เลยโดนดองจนเสียหาย”
เขาบอกบททดสอบสุดหิน ที่เล่นงานตั้งแต่ช่วงแรกของการทำธุรกิจ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำลายความมุ่งมั่นในตัวเขา พลัฏฐ์เริ่มแก้ปัญหา จนสุดท้ายก็ได้มาสร้างธุรกิจครบวงจรด้วยตัวเอง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพาแขนขาของใครอีก และนั่นคือที่มาของโรงงานเครื่องหนังวิสดอม เพอร์เฟค ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 75 ไร่ ใน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เมื่อปี 2557 ก่อนที่ 2 ปีต่อมา แบรนด์ "PALATTA" จะได้ถือกำเนิดขึ้น
สร้างแบรนด์ สร้างตัวตน เพิ่มความเชื่อมั่นในตลาด
หลังผลิตสินค้าโดยไร้แบรนด์มาได้ 2 ปี พลัฏฐ์ พบว่า เวลานำสินค้าที่ผลิตเองไปขายจำเป็นต้องมีตัวตน เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไปซ้ำกับคนอื่น เลยเริ่มสร้างแบรนด์ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า "PALATTA" ที่ออกเสียงว่า “พะ-ลัด-ตา” หรือเขียนเป็นภาษาไทยได้ตามชื่อของเขาว่า “พลัฏฐ์ตา” นั่นเอง
“เราต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะว่าแต่ละบริษัทก็จะมีความเป็นตัวเองแตกต่างกัน ไม่ซ้ำใครถึงจะขายได้ ถ้าเราไปซ้ำกับคนอื่นมันจะขายลำบาก ฉะนั้นเราต้องสร้างแบรนด์ของเราขึ้นมาเอง” เขาว่า
พลัฏฐ์ เรียนรู้วิชาทำรองเท้าจากผู้เป็นพ่อมาตั้งแต่วัย 18-19 ปี แต่เมื่อต้องมาเริ่มธุรกิจของตัวเองเขากลับเลือกที่จะทำกระเป๋า เขาให้เหตุผลว่า เวิร์กกว่ารองเท้า เพราะไม่ต้องมีปัญหาเรื่องสต็อก
“รองเท้ามันไม่ค่อยเวิร์ก เพราะต้องสต็อกเยอะ ต้องสต็อกสี สต็อกไซส์ สต๊อกแบบ ไม่เหมือนกระเป๋า เขาถูกใจสีแดงได้แบบที่ชอบก็คล้องแขนไปได้เลย แต่รองเท้าถูกใจแบบแล้ว มีสีดำไหม มีสีน้ำตาลไหม พอได้สีแล้ว ไซส์ 43 มีไหม 44 มีไหม มันเลยขายยากกว่า สังเกตไหมร้านกระเป๋าจะมีเยอะกว่าร้านรองเท้า เพราะว่าต้นทุนรองเท้าจะสูงกว่ากระเป๋า”
กระเป๋าแบรนด์น้องใหม่เปิดตัวขึ้นในตลาด มีหลายแบบ หลายไซส์ หลายสี ทั้งหนังปลากระเบน หนังวัวลายช้าง และหนังจระเข้ ที่ไม่ได้มีดีแค่ดีไซน์เท่านั้น แต่ยังขายความเป็นมงคลด้วย เพราะเป้าหมายของพวกเขา คือลูกค้าคนจีน
“หนังจระเข้จะเป็นหนังที่แพงที่สุด และส่วนที่แพงที่สุดก็คือส่วนท้อง ซึ่งการใช้หนังจระเข้มาทำกระเป๋าเขาถือว่านำโชคเรียกทรัพย์ เรียกเงินเรียกทองเข้ามา ส่วนปลากระเบนเป็นสัตว์น้ำลึกก็คือเงินเข้ากระเป๋าแล้วก็ออกยาก ส่วนกระเป๋าหนังวัวลายช้าง ก็เป็นสัตว์ใหญ่ ใช้แล้วก็จะมีเงินก้อนใหญ่ๆ เข้ามาในกระเป๋า รวมถึงการใช้สีประจำวันเกิดสังเกตว่ากระเป๋าของเรามีหลายสีมาก เพราะคนจีนเขาเชื่อเรื่องพวกนี้ เป็นเหมือนกระเป๋ามงคล ซึ่งตัวที่ขายดีสุดก็คือหนังวัวลายช้าง เพราะมันไม่แพงมาก และมีแบบมีสีให้เลือกเยอะ สามารถเปลี่ยนได้บ่อย” เขาเล่า
มีสินค้าที่ตอบโจทย์ตลาดได้ แต่กว่าแบรนด์น้องใหม่จะได้เกิดในตลาดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เมื่อเกมสกัดกั้นยังไม่จบ
“ผมมาใหม่จะสู้กับคนเก่ายังไง ก็ต้องสู้ด้วยเครดิตและคุณภาพของสินค้า โดยผมจะให้เครดิตเทอมกับร้านค้ายาวกว่าคนอื่น ลูกค้าหลักของผมจะเป็นกลุ่มที่มีบริษัททัวร์จีนเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด พวกนี้จะมีหน้าร้านอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ อย่าง ภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา เป็นต้น โดยปกติเขาให้เครดิตร้านกัน 3 เดือน หรือ 90 วัน แต่ผมให้ 4-5 เดือนเลย เพราะถ้าเราเครดิตเทอมน้อยเรามาใหม่เราสู้คนเก่าไม่ได้อยู่แล้ว และเราเอากำไรไม่มากเพราะต้องการขายไปได้เรื่อยๆ แต่คุณภาพของเราต้องดี ที่สำคัญเราพร้อมรับคำติชมของลูกค้า เขาบอกให้เปลี่ยนอะไรผมทำให้ได้หมด แต่คนรุ่นเก่าไปเตือนเขาไม่ได้นะ เขาไม่เปิดรับขนาดนั้น ผมเคยได้ยินเถ้าแก่เขาเถียงกับเจ้าของร้านว่า ปรับแบบเขาไม่ได้ เพราะแบบเขาดีอยู่แล้ว เพราะเขาทำมานาน ไม่ยอมรับฟังอะไรเลย แต่ขณะที่ผมได้หมด จะให้ปรับอะไรจะให้ทำอะไรผมทำได้ ราคาก็ต่อรองกันได้ เพราะผมเชื่อว่าผมอายุยังน้อยยังต้องไปอีกไกล ผมต้องการสร้างแบรนด์เราให้ไปได้ไกลที่สุด” เขาว่า
แบรนด์ PALATTA คือสินค้าที่รู้จักกันดีในกลุ่มทัวร์จีน มีลูกค้าเป้าหมายอายุ 30-50 ปี เป็นกลุ่มวัยทำงานเป็นหลัก โดยราคาขายสินค้ามีตั้งแต่หลักพันไปจนหลักหมื่นบาท ซึ่งช่วงที่ยังไม่มีโควิดและนักท่องเที่ยวจีนยังคึกคัก เคยขายดิบขายดีชนิดที่ลูกค้าแห่ซื้อกระเป๋ากันคนละ 5-10 ใบ ของแทบไม่เหลือค้างในสต็อก เข้าและออกเร็วมาก จนเมื่อโควิดมาเยือน ลูกค้าจีนมาเมืองไทยไม่ได้ พวกเขาก็เปลี่ยนเกมมาขายออนไลน์ นำสินค้าจากไทยไปเสิร์ฟถึงเมืองจีนมันเสียเลย ซึ่งนอกจากจะได้ลูกค้าคนจีนทยอยกลับมาแล้ว ก็ยังได้กลุ่มลูกค้าคนไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิดอีกด้วย แต่อย่างไรยอดขายก็ยังหายไปกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยหอมหวานก่อนหน้านี้
ความเชื่อและศรัทธาหนุนนำพาธุรกิจ
พลัฏฐ์ ทำการค้ากับลูกค้าคนจีน ไม่เพียงมีสินค้าที่ตอบความเป็นมงคลในแบบที่คนจีนชื่นชอบเท่านั้น แต่ตัวเขาเองก็มีความเชื่อและศรัทธาในเรื่องเดียวกันนี้ด้วย ภายในอาณาจักรของวิสดอม เพอร์เฟค จึงเป็นเหมือนแหล่งรวมของมงคล ความเชื่อและศรัทธา และศาสตร์แห่งฮวงจุ้ย ในทุกจุดทุกมิติ
“ผมมีความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยว่าเป็นพลังที่เรามองไม่เห็น ทำให้ผมได้พลังบวกมา บางครั้งว่างๆ ผมมานั่งสมาธิเงียบๆ นึกถึงครูบาอาจารย์ที่นับถือก็ทำให้ผ่อนคลายขึ้น เหมือนเติมพลังให้ไปต่อ ที่ตรงนี้เดิมข้างหน้าผมจะสร้างเป็นร้านกาแฟ และโชว์รูมกระเป๋า เผื่อวันข้างหน้าถ้าทัวร์จีนกลับมา ก็จะได้มาซื้อสินค้าที่นี่ แล้วคนที่อยากจะออเดอร์กับผมก็สามารถมาคุยที่ออฟฟิศต่อได้ ผมรู้ว่าคนจีนชอบเรื่องฮวงจุ้ย หมายเลขโทรศัพท์ของผมยังเป็น 8888 เลยเห็นไหม ผมซื้อมาตั้ง 2 ล้านบาท ผมยอมลงทุน บ้านเลขก็ 88/8 เพราะคนจีนเขาชอบ เหมือนศีลเสมอกัน เราต้องได้เจอกัน ผมเชื่ออย่างนี้ เพื่อนคนจีนผมก็เป็นเลข 8 หมด อย่างบริษัททัวร์ที่ผมส่งกระเป๋าให้ก็ 8998 เหมือนกันทุกคน ทะเบียนรถผมเองก็ 998 เพราะหมอดูบอกว่าเป็นเลขลักกี้นัมเบอร์ของผม ผมก็ใช้มาตลอด
เรื่องพวกนี้ผมคิดทุกจุด เพราะผมมองว่าคนจีนเวลามาดูงานกับเรา เขาจะมองทุกอย่างทุกองค์ประกอบ เขาอยู่กับวงการฮวงจุ้ยเขารู้เขาเห็น ฉะนั้นการที่เรามีออฟฟิศอยู่ตรงนี้เหมือนเราคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น เขาก็อยากค้าขายด้วย ผมคิดอย่างนี้นะว่า คนจีนเขามองหลายๆ มุม เขามองว่าโรงงานเราน่าเชื่อถือไหม เพราะแต่ก่อนคนไทยไปทำเสียไว้เยอะบางกลุ่มไปรับเงินมัดจำคนจีนมาแล้วปิดโรงงานหนีก็มี แล้วคนจีนก็ทำกับคนไทยไม่ต่างกัน ต่างคนก็ต่างกลัวกัน แต่การที่ผมมีพื้นที่ที่มั่นคงและเชื่อถือได้เขาก็ค้าขายกันได้อย่างสบายใจขึ้น”
นอกจากการสร้างอาณาจักรที่เต็มไปด้วยพลังบารมี เขาบอกว่ายังหมั่นไหว้พระทำบุญอย่างสม่ำเสมอ จึงมักมีผู้ใหญ่เกื้อหนุนในการทำธุรกิจ แต่อย่างไรเขาย้ำว่า ตัวเขาเองก็ต้องวางตัวดี ทำของดี ยึดมั่นในคุณภาพด้วย เพื่อไม่ให้เครดิตที่สั่งสมมาต้องหมดไป และผู้ใหญ่ที่เกื้อหนุนพลอยต้องเสียชื่อไปด้วย
ทำธุรกิจต้องรักษาเครดิตและมีวินัยทางการเงิน
ในยามวิกฤตทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจที่เคยฝากฝังชีวิตไว้กับทัวร์จีนอย่าง วิสดอม เพอร์เฟค แต่ระหว่างที่หลายบริษัทยังมีปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อจากธนาคาร มาต่อลมหายใจ แต่วิสดอม เพอร์เฟค กลับได้สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) จาก SME D Bank ที่ 5 ล้านบาท เขาบอกว่าไม่มีปัญหาเรื่องการกู้เงิน เพราะการรักษาเครดิตและวินัยทางการเงิน กฎเหล็กที่ธุรกิจ SME ต้องมี
“ผมมองว่าทำธุรกิจต้องมีวินัยทางการเงินเป็นอันดับแรก อย่างผมเองเรื่องการเงินผมไม่เคยพลาดเลย ไล่ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ผมก็ไม่เคยพลาด จ่ายตรงเวลา ส่วนใหญ่ผมจะชอบจ่ายก่อนดีลด้วยซ้ำ เพราะว่าถ้าต้องจ่ายหลายๆ อย่าง มันก็จะหลงลืมได้ ผมก็จะเคลียร์หนี้ที่ต่ำกว่าแสนบาทก่อน ทุกวันที่ 1 ผมจะไล่จ่ายให้หมด แต่ถ้ามากกว่าแสนก็ทยอยจ่ายไปวันที่ 10-15-20 ผมมองว่าเรื่องวินัยทางการเงินสำคัญมาก ผมกลัวเรื่องการผิดพลาดมาก เลยพยายามรักษาเครดิตของตัวเอง
ถามว่าวินัยทางการเงินสำคัญกับการทำธุรกิจของ SME อย่างไร ถ้าเราไม่มีวินัยทางการเงิน หรือเกิดติดเครดิตบูโรขึ้นมา ถ้าคู่ค้าของเรารู้ เขาจะไม่มั่นใจในการค้าขายกับเรา และอาจจะมองเราไม่ดี การจะทำธุรกิจกับคนที่รวยระดับพันล้านหมื่นล้าน เขาไม่มามองเราแค่การส่งงานให้เขาได้เท่านั้นหรอก แต่เขาจะมองทุกจุดเลย เพียงแต่เขาจะไม่บอกให้เรารู้เท่านั้นเอง ถ้าเรามีปัญหาทางการเงิน เขาไม่เอาเราหรอก เพราะถ้าเราทำไม่ดีขึ้นมาธุรกิจเขาก็เสียหาย จริงไหม ฉะนั้นวินัยทางการเงินสำคัญที่สุด”
วันนี้การทำธุรกิจยังยากลำบาก และอาจไม่คืนกลับมาเหมือนวันเก่า พลัฏฐ์ บอกเราว่าถึงเวลากำหนดกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ โดยหากลูกค้าทัวร์จีนไม่กลับมาเหมือนเดิม วิสดอม คงต้องไปทำตลาดออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้น และหาช่องทางขายใหม่ๆ ที่จะนำพาธุรกิจให้ไปต่อ อย่างไรก็ตามหนึ่งในข้อดีของโควิดก็คือ ทำให้คู่แข่งในธุรกิจน้อยลงมาก เพราะหลายกิจการทยอยปิดตัวไป เพราะฉะนั้นหากพวกเขายังคงอยู่รอดไปได้ ก็เชื่อว่าจะมีโอกาสเติบได้อีกมากในอนาคต
“หลายคนที่เคยดิสเครดิตผม ตอนหลังเขาจะเลิกกิจการก็เอาของมาขายให้ผม ผมก็ช่วยเขาซื้อนะ และไม่เคยกดราคาด้วย ผมถามเขาว่าอยากได้เท่าไหร่ก็บอกผม ถ้าผมซื้อได้ผมก็ช่วยซื้อ เราช่วยๆ กัน ตอนหลังเขาก็มาขอโทษขอโพย ผมบอกไม่เป็นไร ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักผม แต่ผมเชื่อว่าเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ให้ทุกคนรู้เองว่า ผมเป็นคนยังไง ผมไม่เคยไปให้ร้ายใคร และไม่เคยยุ่งกับใคร ใครไม่ขายของให้ผมผมก็ซื้อแค่ที่เขายอมขายให้ ตอนนั้นทุกคนคิดกันว่าผมคงทำไม่เกิน 1 ปี เดี๋ยวก็คงจะเจ๊งไปเอง แต่พอผมเริ่มอยู่มาได้จนถึงวันนี้ ทุกคนก็รู้ว่าผมทำจริง คนที่เคยว่าผมก็เริ่มเงียบหายไป ผมเลือกสร้างการยอมรับด้วยการพิสูจน์ตัวเอง จนทำให้เรามีวันนี้ได้”
เขาบอกปฏิบัติการวิ่ง สู้ ฟัด ที่ทำให้แบรนด์ PALATTA กลายเป็นที่รู้จัก และบริษัท วิสดอม เพอร์เฟค อยู่มาได้อย่างแข็งแกร่งจนถึงวันนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี