PHOTO : ตงศิริฟาร์ม
บนพื้นที่ 30 ไร่ ใน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นที่ตั้งของ “ตงศิริฟาร์ม” (TongSiri Farm) ฟาร์มเกษตรแบบผสมผสาน ที่มีทั้งผืนนา พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และทำสวน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และตั้งอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก มีผลผลิตจากฟาร์มเป็นข้าวและผักปลอดสาร มีไข่ไก่อารมณ์ดี มีคาเฟ่ชิคๆ นำผลผลิตจากฟาร์มมาทำเป็นอาหาร และจำหน่ายให้กับผู้คนที่แวะไปเยี่ยมเยือนโลกใบเล็กของพวกเขา
นี่คือผลผลิตจากก้อนความฝันของเกษตรกรรุ่นใหม่ “นัท-อุกฤษณ์ อภิวัฒนานนท์” และ “หม่อน-พุธิตา รัตนกถิกานนท์” คู่รักที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากคนทำเกษตร แต่มีประสบการณ์ชีวิตไม่ธรรมดาในโลกการทำงาน เมื่อ 5-6 ปีก่อน ทั้งสองตัดสินใจหักมุมชีวิตมาเป็นเกษตรกร และเริ่มต้นสร้างอาชีพที่ยั่งยืนและมั่นคง บนผืนดินที่ชื่อ...ตงศิริฟาร์ม
เมื่อโบรกเกอร์ซื้อขายทองคำล่วงหน้าอยากมาเป็นเกษตรกร
อุกฤษณ์ ไม่ใช่ลูกหลานเกษตรกร และไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำเกษตรมาก่อน เขาเรียนจบปริญญาตรี สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยทำงานเป็นนายหน้าซื้อขายสัญญาล่วงหน้าทองคำในตลาดหลักทรัพย์ (Gold Future) มีเงินเดือนเกือบแสน แต่ไม่เคยเหลือเก็บ วันหนึ่งอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เลยไปอยู่เมืองจีน 1 ปี เพื่อหาลู่ทางทำธุรกิจ ใครจะคิดว่าชีวิตที่เมืองจีนกลับเปลี่ยนความคิดเขาไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง
“ตอนแรกผมอยากหาของจากเมืองจีนมาขายในไทย อยากทำค้าขาย แต่พอไปอยู่แล้วทำให้เห็นข้อเท็จจริงว่า โลกธุรกิจทุกวันนี้การแข่งขันสูงมาก แทบไม่เหลือพื้นที่สำหรับพ่อค้าหน้าใหม่อย่างเราเลย โลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และไวขึ้นมาก สุดท้ายก็ต้องไปแข่งกันที่ราคา ผมจึงเกิดความคิดว่า ทำไมเราต้องเอาของจากต่างประเทศเข้ามาขายด้วย แล้วบ้านเรามีอะไรดี เลยนึกถึงคำพูดของในหลวง ร.9 ว่าจริงๆ แล้วบ้านเราการผลิตสำคัญ เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ผมคิดว่าความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญที่สุดของเราก็คือการผลิต ดังนั้นถ้าเราทำได้ดี แตกต่างจากคนอื่น ก็จะสามารถยืนอยู่ได้และมีความมั่นคง เลยตัดสินใจกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่เมืองไทย” เขาเล่า
หลังกลับจากจีน อุกฤษณ์ เข้าศึกษาต่อปริญญาโทใน คณะเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ก่อนไปซื้อที่ใน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เพื่อทำตงศิริฟาร์ม ซึ่งเป็นชื่อที่ผสมรวมกันระหว่างชื่อเล่นของพ่อ “ตง” และชื่อจริงสองตัวแรกของแม่ “ศิริ” โดยมี “พุธิตา” คนรักซึ่งเป็นอดีตพนักงาน SCG มาร่วมสานต่อความฝันไปด้วยกัน
ได้เวลาผลผลิตจากฟาร์มออกเดินทางสู่ผู้บริโภค
ผลผลิตแรกในฟาร์มตงศิริ ก็คือ ทำนาข้าวหอมมะลิปลอดสารพิษ แต่ต้องประสบปัญหาวิกฤตภัยแล้งอย่างหนัก และขายไม่ได้ราคาเพราะคุณภาพความหอมไม่เหมือนกับข้าวทางอีสาน ปลูกตะไคร้ก็ไม่มีตลาด ทำให้ต้องหันมาทำปศุสัตว์ขนาดเล็ก คือ เลี้ยงเป็ดไข่และไก่ไข่อารมณ์ดี โดยเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ทำสูตรอาหารเองจากของที่มีอยู่ในฟาร์ม และเน้นใช้โปรตีนจากธัญพืช ไม่ใช่โปรตีนจากสัตว์ เวลาเดียวกันก็ปลูกผักปลอดสารพิษเพิ่มเติม ทำให้เล็กลงเพื่อจะได้ดูแลทั่วถึงมากขึ้น
“หลังจากตะไคร้เจ๊งเราก็เลยหยุดไปก่อน แล้วมาทำอะไรที่เราชอบกิน ผมเองเป็นคนชอบกินไข่ไก่ก็เลยมาเลี้ยงไก่แต่เลี้ยงแบบปล่อยให้เขาเป็นอิสระ จากเดิมเน้นขายก็เปลี่ยนมาเน้นแจกแทน มองว่าเวลาเรามีผลผลิตที่ดีถ้าเราให้กับคนใกล้ตัวก็จะเกิดการบอกต่อปากต่อปาก (Word-of-Mouth) ซึ่งเป็นการตลาดที่สำคัญที่สุด เพียงแต่ว่ามันอาจจะโตช้าหน่อยเท่านั้นเอง พอไข่ไก่เยอะขึ้นมีเหลือมากกว่าแจก เราก็เริ่มหาตลาด โดยไปขายคนในกรุงเทพฯ จึงเอารถตู้มาโมดิฟาย ติดสติ๊กเกอร์ตงศิริฟาร์ม แล้วจัดการส่งสินค้าของเราเอง และเริ่มปลูกผักปลอดสาร ขายให้กับลูกค้าที่ซื้อไข่ไก่ของเราอยู่ จนเกิดเป็นลูกค้าประจำและมีสินค้าให้เขาเลือกเยอะขึ้น และส่งให้กับร้านอาหารที่มีความเข้าใจเรา ผมวิ่งไปส่งสูงสุดประมาณวันละ 30 ที่ ออกตั้งแต่ตี 5 ถึงบ้าน 2 ทุ่มทุกวัน สักพักก็เริ่มไม่ไหว เลยตัดสินใจเปิดคาเฟ่และทำหน้าร้านขึ้นมา”
นั่นคือที่มาของ "ติดดิน คาเฟ่” (Tiddin café & farmcation) ร้านเล็กๆ ที่ใช้ผลผลิตในฟาร์มมาทำเป็นอาหาร และวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลผลิตจากฟาร์ม บริการนักท่องเที่ยวที่แวะไปเยี่ยมเยือนพวกเขา รวมถึงสร้างตลาดของตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง Facebook Page และ Line@ สามารถรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า เพื่อวางแผนการผลิตในรอบถัดไปได้
สำหรับรายได้ในปัจจุบัน มาจากการขายไข่ไก่ที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ มีโบนัสประจำปีเป็นการจับปลาในบ่อไปขาย ที่ประมาณ 200,000 แสนบาท รายได้จากการขายผักอยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือคือรายได้จากคาเฟ่ ที่เริ่มมีการแปรรูปสินค้า และนำผลผลิตจากฟาร์มมาวางขาย ซึ่งค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณหลักล้านบาทต่อปี
ธุรกิจเกษตรไม่มีสูตรสำเร็จ
ตงศิริฟาร์ม อยู่ในสนามเกษตรมาได้ 5-6 ปี แต่ อุกฤษณ์ ยอมรับว่าเขาต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกและดิ้นรนจนตกผลึกความคิดอยู่นาน เคยถูกหลอก เคยผิดหวัง เคยทำแล้วก็เจ๊ง เคยดิ้นรนขนของไปเร่ขายเพราะไม่มีตลาด และเคยทดท้อจนอยากจะวางมือมาแล้วหลายครั้ง หนึ่งในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้คือ การทำเกษตรไม่มีสูตรสำเร็จ
“ผมไม่เชื่อในเรื่องสูตรหรืออะไรก็ตามที่บอกว่าสิ่งนี้ดีที่สุด ผมว่ามันไม่มีอยู่จริง แต่ผมเชื่อว่า การทำอะไรก็ตามต้องลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด และพึ่งพาตัวเราให้มากที่สุด อย่างสมมติเขาบอกว่าปุ๋ยหมักจากขี้หมูดีสุด แต่ผมไม่เลี้ยงหมู แต่เราเลี้ยงไก่ แทนที่ผมจะต้องไปซื้อขี้หมูมาทำแล้วต้องเสียค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าเสียเวลา แถมผลผลิตที่ได้ก็ต่ำกว่าเขาอยู่ดี สู้เรามาใช้ขี้ไก่ที่เรามีดีกว่าไหม ผมจึงมองว่าการทำเกษตรหรืออะไรก็ตามมันไม่มีสูตรตายตัว และไม่มีคำว่าดีที่สุด ดังนั้นแล้วคุณควรเลือกจุดที่ทำให้ต้นทุนคุณต่ำที่สุด แล้วก็ทำให้คุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และขายในราคาที่สมเหตุสมผล เท่านี้ก็จะทำให้ลูกค้าอยู่กับคุณได้นานแล้ว” เขาบอกหัวใจของการทำเกษตรให้เป็นธุรกิจ
จากงานประจำที่เคยทำรายได้ให้ก้อนโต แต่วันนี้อุกฤษณ์ยอมรับว่ามีรายได้ต่อเดือนในส่วนของตัวเองลดลงหลายเท่า ทว่าสิ่งที่ทำกลับตอบโจทย์ชีวิตเขาได้มากกว่างานที่เคยผ่านมาก่อนหน้านี้
“ทุกคนมีวิสัยทัศน์ในชีวิตที่ต่างกัน บางคนอยากรวย อยากสบาย แต่สำหรับผมความรวยหรือความสบายมันไม่ได้ตอบโจทย์ผมตอนนี้ แต่ผมกำลังค้นหาความมั่นคงในชีวิต ความมั่นคงที่ว่าคือ ในแต่ละวันผมมีเงินเลี้ยงดูครอบครัวไม่ขัดสน คนงานทำงานได้ปกติโดยที่ผมสามารถจ่ายเงินให้เขาได้ และเราพอมีเงินเหลือเก็บ ผมมีรายได้แค่เดือนละหมื่น แต่มีความสุขจากการที่ได้เห็นว่า ฟาร์มของเราเป็นยังไง ช่วงเช้าอาจจะเหนื่อยจากการทำงานทั้งวัน แต่ตอนเย็นเวลาพระอาทิตย์ตกทำให้เห็นว่าวันนี้เราตัดหญ้าเสร็จแล้ว ฟาร์มดูเรียบร้อยขึ้น ดูสวยขึ้น มันคือรางวัลของชีวิตเราในแต่ละวัน หรือการที่ได้เห็นว่ามีคนเข้ามาที่คาเฟ่เยอะขึ้น มีคนมากดไลค์เพจเพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้มันตอบโจทย์ชีวิตผม” เขาว่า
วันนี้ความฝันเดินทางมาไกลขึ้น เมื่อถามว่ายังอยากเห็นตงศิริฟาร์มเป็นอะไรอีกในอนาคต เขาบอกว่า อยากเห็นฟาร์มเติบโตไปได้เรื่อยๆ โดยโตจากความต้องการของลูกค้า ซึ่งการใช้การตลาดนำจะทำให้การทำเกษตรไปได้ไกลขึ้น ไม่ใช่แค่การปลูกผลผลิตเพื่อขายเท่านั้น เช่น อาจจะเป็นการเพาะปลูกที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้ผลผลิตรสชาติดีขึ้น การขยายพันธุ์ดีขึ้น สามารถขายได้ราคาสูงขึ้น หรือทำเป็นสวนไม้ประดับ ทำเป็นฟาร์มเกษตรเชิงท่องเที่ยว หรือจะพัฒนาไปสู่เรื่องของสิ่งแวดล้อม อย่าง นำพลังงานทดแทนมาใช้ในฟาร์ม ซึ่งเหล่านี้ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกเยอะมาก
“ถ้ามันมีอะไรที่ผมสามารถทำต่อได้ตามกำลังของผม ผมก็จะทำต่อไปเรื่อยๆ ขอแค่ไม่ไกลเกินตัวเรา ดีทั้งต่อตัวเรา ต่อชุมชน และต่อลูกค้า ผมก็ยินดี”
เริ่มจากเล็ก เข้าใจ ยอมรับ และอดทน
วันนี้ใครหลายคนอยากมาทำธุรกิจเกษตร รุ่นพี่ที่เดินทางมาก่อน บอกเราว่า ให้ใช้เวลาอยู่กับมันให้มากที่สุด และให้เริ่มจากเล็กๆ ทำตามกำลังที่ดูแลไหว จะได้มีภาระที่น้อยลง เพราะถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เขาก็อยากเริ่มจากฟาร์มเล็กๆ แค่ 1-3 ไร่ แทนที่จะเป็น 30 ไร่อย่างวันนี้
“ใครที่อยากเข้ามาทำเกษตร อันดับแรกเลยคือ คุณต้องเข้าใจและยอมรับกับทุกอย่างที่จะเจอ เพราะว่าการเกษตรนั้นจริงๆ แล้ว ถามว่ายากไหมก็ไม่ยากและก็ไม่ได้ง่ายสำหรับทุกคนเช่นกัน เพียงแต่คุณต้องพยายามศึกษาและทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้ และอย่าย่อท้อเวลาที่เกิดปัญหา เพราะว่าการเกษตรเป็นอะไรที่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งมันมีความไม่แน่นอน ตลอด 5-6 ปี ที่ผมทำผ่านมา ก็มีวันที่หนักมากถึงขนาดท้อแท้และอยากจะพักเหมือนกัน บอกตัวเองว่าทำไมเราต้องมาทำอะไรขนาดนี้ เพียงแต่ผมโชคดีที่มีกำลังใจจากคนรอบข้าง จึงผ่านความรู้สึกนั้นมาได้ การทำเกษตรในวันแรก เปรียบเทียบก็เหมือนผมยังเป็นเมล็ดใต้พื้นดิน ยังไม่ได้งอกเงย มองไปทางไหนก็มืดมิดไปหมด ไม่รู้จะไปหาลูกค้าจากไหน ทำแบบนี้แล้วจะไปได้จริงไหม มีคำถามในหัวเต็มไปหมด แต่สุดท้ายก็ต้องลองทำดู จนเริ่มมีความรู้ความชำนาญ เริ่มมีคนชอบ มีคนติดตาม มันจะเป็นกำลังใจเล็กๆ ทำให้อยากจะพัฒนาต่อ และทำให้มันดีขึ้นจนงอกเงยขึ้นมาเอง”
ขณะที่เกษตรในวันนี้ก็แตกต่างไปจากเกษตรในยุคก่อน เพราะทุกอย่างสามารถทำเงินได้ ขอแค่สื่อสารไปถึงผู้บริโภคให้เป็นเท่านั้นเอง
“เชื่อเถอะว่าสิ่งไหนที่คุณชอบต่อให้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คุณก็จะทำได้เอง เพราะเดี๋ยวนี้เกษตรมันเป็นได้ทุกอย่าง ไม่จำเป็นแค่การขายต้นไม้เท่านั้น แต่ทุกวันนี้กระทั่งดินคุณก็ขายได้ เลี้ยงหนอนแมลงวันก็ขายเป็นอาหารสัตว์ได้ ปลูกกล้วยก็เอามาแปรรูปเป็นผงกล้วยดิบได้ แม้แต่ปลูกต้นไม้ใหญ่แล้วใบไม้ร่วงคุณแค่กวาดใส่กระสอบยังขายได้เลย ขอแค่คุณต้องสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจว่ามันเอาไปใช้ยังไงเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้สื่อโซเชียลไวมาก บางทีสินค้าของคุณอาจไปเตะตาคนที่เขาต้องการ แล้วเขากดสั่งซื้อทันทีเลยก็ได้ ขอแค่ต้องอดทน เพราะบางครั้งการที่เราจะไปเชื่อมต่อกับตลาดที่ยังมองไม่เห็นนั้นมันยากและใช้เวลา เพียงแต่ขอให้ทำต่อไป มุ่งมั่นต่อไป ค่อยๆ ทำ ด้วยต้นทุนและทรัพยากรที่มี เชื่อเถอะว่าความจริงใจที่คุณมีทุกคนสัมผัสได้ และนั่นแหล่ะจะเป็นต้นทุนที่คุณจะแสดงให้ทุกคนยอมรับ แล้วคนไหนที่เขาเข้าใจคุณ ชื่นชมในตัวคุณ คุณก็จะมีกำลังใจในการทำต่อไปเอง” เขาบอกในตอนท้าย
และนี่คือเรื่องราวของตงศิริฟาร์ม คนที่ทำเกษตรด้วยสองมือ และหัวใจของเกษตรกร อยากสร้างผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ด้วยความซื่อสัตย์ และจริงใจกับลูกค้า จนเป็นที่มาของธุรกิจที่ตอบโจทย์ชีวิตพวกเขาในวันนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี