PHOTO : สองภาค
ถ้าวันหนึ่งอายุ 60 ปี คุณคิดว่าตัวเองจะทำอะไรอยู่?
พักผ่อนอยู่กับบ้าน ทำงานอดิเรก อยู่กับลูกหลาน ออกเดินทางท่องเที่ยวไปตามแพ็กเกจทัวร์ หรือเลือกที่จะทำงานต่อไป และหากยังทำอยู่จะเลือกทำในรูปแบบใดถึงจะเรียกว่าพอเหมาะพอดีกับชีวิตช่วงบั้นปลายที่เหลืออยู่
ลองมาดูตัวอย่างจากคู่รักวัยเกษียณ ศรัณย์ จำปาเพชร และ ณิชารัตน์ จันทะมี เจ้าของ “สุขนิยม” ที่พักเล็กๆ ติดริมแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่แม้จะต้องมีภาระหน้าที่ให้รับผิดชอบดูแลในวัยที่หลายคนอาจมองว่าควรหยุดพักผ่อนได้แล้ว แต่อะไร คือ สิ่งที่ทำให้เขาและเธอยังเลือกที่จะทำงานต่อ และการทำงานรูปแบบไหนถึงจะบาลานซ์ชีวิตและความสุขของเวลาที่เหลืออยู่ในบั้นปลายชีวิตได้อย่างลงตัว ลองไปติดตามพร้อมๆ กัน
เริ่มด้วยการเดินทาง
“จริงๆ ต้องบอกก่อนว่าเราเองก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาทำธุรกิจอะไรที่จริงจังในวัยนี้แล้ว แต่ทุกอย่างมาจากโอกาสที่มีเข้ามา”
ณิชารัตน์เกริ่นให้ฟังก่อนจะเล่าที่มาของการมาใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงคานว่า เริ่มมาจากที่ต้องเดินทางมาดูแลเจดีย์เก็บอัฐิให้กับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นคนเชียงคาน โดยเมื่อต้องเดินทางมาบ่อย และส่วนตัวที่เป็นนักเดินทางชอบท่องเที่ยวอยู่แล้ว บวกกับชื่นชอบที่นี่ จึงคิดอยากหากิจการเล็กๆ ทำขึ้นมา เพื่อจะได้เดินทางมาบ่อยขึ้น และมีรายได้มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายบ้างเล็กน้อย จนในที่สุดก็ได้เปิดร้านขายของสะสม ของที่ระลึก และของใช้ในบ้านขึ้นมาในปี 2552 ภายใต้ชื่อว่า “สำมะปิ” ซึ่งแปลว่าจิปาถะ แต่ด้วยการเติบโตของเมืองที่รวดเร็วทำให้จากกิจการเล็กๆ ที่คิดว่าทำเพื่อพอให้มีรายได้เข้ามาบ้าง ก็กลายเป็นรายได้หลักขึ้นมา แต่ยังคงเป็นธุรกิจเล็กที่มีความคล่องตัวสามารถเลือกวันเปิด-ปิด เพื่อเดินทางท่องเที่ยวอย่างที่ชื่นชอบได้
กระทั่งเมื่อปี 2559 มีโอกาสใหญ่เข้ามาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อญาติสนิทซึ่งเป็นเจ้าของบ้านมาเสนอให้เช่าพื้นที่บ้านด้านหลังติดริมโขงเพื่อทำกิจการที่พัก ทำให้ณิชารัตน์และศรัณย์ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้งถึงโอกาสที่เข้ามา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายในชีวิตของคนวัยเกษียณอย่างเธอและเขาที่ควรหยุดพักผ่อนได้แล้ว
“จริงๆ ตอนนั้นก็คิดหนักเหมือนกัน เพราะด้วยอายุเราเท่านี้แล้วก็ไม่อยากแบกรับภาระอะไรที่หนักเกินไป แต่ที่ทำให้ตัดสินใจทำเพราะคิดว่าทำให้ญาติพี่น้องด้วย เพื่อช่วยดูแลบ้านให้เขา และทำให้ดีขึ้นมา อีกอย่างก็สามารถเป็นรายได้เพิ่มขึ้นมาให้กับเราด้วย และเราก็อยู่ในทำเลที่ดี ซึ่งข้าวของวันหนึ่งถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องซื้อก็ได้ แต่ที่กินที่นอนยังไงก็ต้องกินต้องใช้” ณิชารัตน์เล่า
นำระบบเข้ามาช่วย
โดยสิ่งที่ณิชารัตน์และศรัณย์นำมาใช้ เพื่อจัดการกับภาระธุรกิจครั้งใหม่ เพื่อให้สามารถทำงานไปได้ด้วย ขณะเดียวกันก็ลงตัวกับการใช้ชีวิตที่ทั้งคู่ต้องการ คือ การนำระบบเข้ามาบริหารจัดการ วิธีการ คือ ณิชารัตน์จะแจกแจงงานทั้งหมดออกมาก่อนในแต่ละวันเริ่มตั้งแต่เช้า การเปิดบ้าน ดูแลลูกค้า รับลูกค้า ทำความสะอาดห้อง จากนั้นจึงแบ่งพนักงานออกเป็นกะ เพื่อให้ดูแลรับผิดชอบหน้าที่แต่ละส่วน
“งานเราจะเริ่มขึ้นตั้งแต่หกโมงเช้า เช่น ปิดไฟที่พัก ไปจนถึงสี่ทุ่มของทุกวัน เราจึงจ้างพนักงาน 4 คน แต่ให้เขาทำงานเป็นกะ ก็เหมือนจ้างเต็ม 2 คน แต่เขาไม่ต้องเหนื่อยลากยาวทั้งวัน แต่แบ่งครึ่งเป็นภาคเช้าและบ่าย เย็นๆ เราก็เข้าไปคอยตรวจเช็คดูแลความเรียบร้อย ผลตอบแทนอาจได้น้อยหน่อย ไม่มากเท่ากับคนอื่น แต่ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป ไม่เครียดเกินไป ก็ถือว่าคุ้มกว่า และลงตัวกับชีวิตของเรา” ณิชารัตน์อธิบายการทำงานให้ฟัง
โดยนอกจากการวางระบบให้ดีแล้ว จากการเป็นนักเดินทางด้วยกันทั้งคู่ที่ได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ มากมายเข้าพักตั้งแต่โรงแรมหรูราไปจนถึงกางเต็นท์แบกะดิน ก็ทำให้สามารถนำมาปรับใช้กับการทำที่พักในสไตล์แบบคนนิยมความสุขได้ด้วย
“จากการได้เดินทางท่องเที่ยวไปในหลายๆ ที่ทำให้ได้เห็นอะไรหลายอย่าง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่นักเดินทางอย่างเราให้ความสำคัญมาอันดับหนึ่ง ก็คือ เรื่องความสะอาด เพราะฉะนั้นเราจะบอกพนักงานเสมอว่าให้ทำยังไงก็ได้ ให้ลูกค้าที่เข้าพักสามารถนอนฟุบหน้าลงไปกับหมอนได้อย่างสบาย ซึ่งมันหมายถึงความใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ” ศรัณย์กล่าวเสริม
สมดุลชีวิต
จากพื้นที่ร้านขายของสะสมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทุกวันนี้สำมะปิแปลงสภาพเป็นเหมือนออฟฟิศเล็กๆ ให้ณิชารัตน์และศรัณย์ต้องเดินทางมาทุกวัน เพื่อดูแลกิจการที่พัก และได้อยู่ในพื้นที่ที่แวดล้อมไปด้วยสิ่งที่ชื่นชอบ วันดีคืนดีก็มีลูกค้าแวะเวียนมาพูดคุยมาอุดหนุนบ้างตามประสาคนชอบอะไรเหมือนกัน
ซึ่งเมื่อถามเพราะเหตุใดคนวัยเกษียณอย่างเขาและเธอจึงยังต้องทำงานอยู่ แทนการใช้ชีวิตพักผ่อนแบบบั้นปลายเหมือนเพื่อนในวัยเดียวกันก็ได้คำตอบจากทั้งคู่ว่า
“มันคงเป็นพื้นฐานของเราทั้งสองคนด้วยที่อยู่นิ่งเฉยๆ ไม่เป็น และเรากลับมีความสุขที่ได้คิดโน่นคิดนี่มากกว่า แต่ยังไงเราก็ยังยึดหลัก คือ เลือกทำสิ่งที่อยากทำ มีความสุข และสนุกกับมัน ถึงจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็พยายามปรับและหารูปแบบที่ลงตัวที่สุด ถึงทุกวันนี้เรายังทำงานอยู่ แต่เป้าหมายก็ไม่ได้เหมือนกับคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว เราไม่ได้มีความจำเป็นในการใช้เงินมากเท่ากับพวกเขา แต่แค่ทำยังไงให้สมมติมีแค่สิบบาท แต่เรายังคงรักษาสิบบาทนั้นให้คงอยู่ และมีรายได้เข้ามาบ้างเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างที่เราต้องการได้” ณิชารัตน์กล่าว
ขณะที่ศรัณย์ได้เสริมว่า “ผมว่าทุกวันนี้อาจมีหลายคนในวัยเดียวกันอยากทำในสิ่งที่เราทำ แต่เขาไม่สามารถทำได้ เหตุผลอีกข้อ คือ ผมมองว่ามันเป็นสัจธรรม เราไม่ได้รวยหรือมีเงินเก็บมากมาย ซึ่งการที่คนเรามีอายุมากขึ้นมักจะมีข้อกังวลให้หนักใจเรื่องใหญ่ คือ เราจะอยู่ได้นานแค่ไหน อันนี้ประเมินยากมาก สมมติคิดว่าอีกไม่นานเราก็ต้องจากไปแล้ว ใช้เงินที่เหลือทั้งหมดกับสิ่งที่อยากทำอย่างเดียว โดยไม่ได้วางแผนอย่างอื่นสำรอง ซึ่งหากประเมินพลาดสุดท้ายไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้ วันนั้นอาจแย่ก็ได้ นี่เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ดีๆ ซึ่งทุกวันนี้ผมกลับดีใจที่ได้อยู่ในระบบ ยังได้ทำงาน ได้หาเงิน ได้มีกำไรขาดทุน ผมว่าน่าสนใจกว่า ฉะนั้นการทำงานมันต้องอยู่คู่ผมไปอีกนาน จนกว่าจะไม่มีแรงทำนั่นแหละถึงจะยอมรับว่าตัวเองหาเงินใช้ไม่ได้แล้ว ”
โดยทุกวันนี้นอกจากภาระหน้าที่จากธุรกิจที่ทำอยู่ ณิชารัตน์และศรัณย์เลือกใช้ชีวิตไปกับสิ่งที่ชอบ ในทุกๆ วันถ้าไม่ติดขัดอะไรทั้งคู่จะออกไปปั่นจักรยานริมโขงก่อนมาประจำการที่สำมะปิ เพื่อคอยดูแลลูกค้าแขกที่พัก หากมีโอกาสประจวบเหมาะก็จะออกเดินทางไปท่องเที่ยวบ้างอย่างที่เคยชื่นชอบ รวมถึงได้ทดลองทำในสิ่งอื่นที่ชอบ เช่น การขี่มอเตอร์ไซต์ท่องเที่ยว ซึ่งคงน้อยคนนักในวัยนี้ที่คิดอยากทำอะไรแบบนี้
และนี่เอง คือ รูปแบบหนึ่งในการใช้ชีวิตของคนหลังวัยเกษียณ ที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องหยุดพักผ่อนเพียงอย่างเดียว แต่เรายังสามารถเลือกทำในสิ่งที่ชอบและต้องการได้ เพียงแต่บาลานซ์ จัดวาง จัดระเบียบชีวิตให้ดีเท่านั้นเอง
“ความหมายของสุขนิยม ไม่ใช่นิยมแต่สุข ไม่เอาทุกข์นะ แต่หมายถึงแม้จะมีทุกข์ แต่เราก็ยังเลือกที่จะมีความสุขได้แค่นั้นเอง ส่วนในรูปแบบไหนก็ขึ้นอยู่ที่เราเอง” ณิชารัตน์และศรัณย์กล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี