PHOTO : สองภาค
เพราะพรุ่งนี้ยังมีดวงตะวันขึ้นอยู่เสมอ ถึงแม้จะลาลับขอบฟ้าไปแล้วในช่วงเย็นของวันนี้ก็ตาม เปรียบเหมือนกับชีวิตของคนเราที่ต้องมีขึ้นมีลง ขอเพียงไม่ถอดใจยอมแพ้ไปเสียก่อนเราก็อาจไม่ต้องร้องไห้อีกครั้งก็ได้
เหมือนเช่นกับชีวิตของ “วีระ พุฒิกุลางกูร” อดีตเจ้าของโปรดักชั่นเฮ้าส์ชื่อดัง “คามาราร์ต สตูดิโอ” ที่เชี่ยวชาญด้านการตกแต่งภาพโฆษณาลำดับต้น ๆ ของประเทศ แต่เพราะทำงานหนักเกินไปวันหนึ่งจนเกิดล้มป่วยเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้ไม่สามารถเดินและพูดได้เป็นปกติ
โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า “พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า ผมไม่ร้องไห้อีกแล้ว” หลังจากที่ได้มาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งยังอำเภอเชียงคาน เมืองเงียบสงบริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดเลย พร้อมกับเปิดกิจการที่พักเล็ก ๆ “บ้านพักกายพักใจ” ไว้ต้อนรับเหล่านักเดินทางวีลแชร์ ครอบครัว และผู้สูงอายุเมื่อมาเยือนเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงแห่งนี้ด้วย
อุบัติเหตุชีวิต
ย้อนกลับไปเมื่อ 22 ปีก่อน วันที่ 9 มีนาคม 2542 ระหว่างที่กำลังทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างหนัก จู่ ๆ ชายหนุ่มในวัยสามสิบตอนปลายเจ้าของบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์ติด 1 ใน 5 มือวางรีทัชตกแต่งภาพของประเทศ ที่ชีวิตกำลังรุ่งและเติบโตไปด้วยดีอย่างวีระ ก็เกิดอาการชาและปากเบี้ยวขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว และตั้งแต่วันนั้นมาชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม
จากที่เคยทำงานได้เดือนละเป็นหลักล้านบาท เขากลับต้องกลายเป็นบุคคลที่แม้แต่จะเดินเหิน พูดคุย หรือช่วยเหลือตัวเองก็ลำบาก อโณทัย พุฒิกุลางกูร ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากต้องเป็นผู้รับภาระในการฟื้นฟูดูแลสภาพร่างกายและจิตใจของเขาให้กลับคืนมา พร้อมกับดูแลลูกน้อยวัยประถมศึกษาปีที่ 2 และอนุบาล 2 พร้อมกันไปด้วย
วีระต้องเริ่มหัดเรียนรู้ใหม่หมดทุกอย่างเหมือนเด็ก ตั้งแต่อ่าน ก – ฮ, A B C ไปจนถึงชื่อเรียกของสีต่าง ๆ ทั้งที่เคยเป็นงานที่เขาถนัดมากมาก่อน ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบสิบปีแรกที่ผ่านไป ไม่มีวันไหนเลยที่วีระไม่ร้องไห้ โดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นที่พระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งเป็นภาพที่เขาชื่นชอบและเฝ้ามองดูมาตลอด ก็ยังไม่สามารถทำได้ ทำให้เขาไม่มีกระจิตกระใจคิดที่อยากทำอะไรต่อไปเลย แม้แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไปบนโลกใบนี้
จนกระทั่งชีวิตเขาได้เริ่มรู้จักกับธรรมะ ได้พบครูดี ๆ หลายท่าน และหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนความคิดเขาให้มีกำลังใจเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งได้ ก็คือ “อ.กำพล ทองบุญนุ่ม” อดีตนักกีฬาว่ายน้ำ ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการกระโดดน้ำจนพิการทั้งตัวตั้งแต่จากศีรษะลงไป และภายหลังได้ผันตัวมาเป็นอาจารย์บรรยายธรรมะเดินทางไปให้กำลังใจกับผู้คนทั่วประเทศ
“ครั้งแรกที่เจอกับอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ท่านพูดกับผมเลยว่า “วีระคนพิการชอบเรียกร้องความสนใจ ถ้าเธออยากทำให้คนรอบข้างเธอมีความสุข เธอต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้” มันทำให้ย้อนกลับไปคิดได้เลยว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเกือบสิบปีนั้นผมทำร้ายภรรยามากแค่ไหน เพราะผมไม่เคยยอมทำอะไรเลย กระทั่งตื่นมาเช้าของอีกวันผมเริ่มลองหัดไปเข้าห้องน้ำเอง แปรงฟัน อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า กินข้าว จนภรรยาตื่นขึ้นมาก็ยังงง และจากนั้นผมก็เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ลองหัดทำอะไรขึ้นมาด้วยตัวเองเรื่อย ๆ และไปออกทริปติดตามอาจารย์กำพลบรรยายธรรมะกับชมรมเพื่อนคุณธรรมอยู่พักหนึ่ง”
วีระเล่าเท้าความให้ฟังว่าเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกสู่สาธรณะชน เพื่อให้เป็นแง่คิดและกำลังใจครั้งแรกในรายการเจาะใจ เมื่อ 7 ปีก่อน
“ผมเลือกแล้วว่าจะตายที่นี่”
กระทั่งเมื่อ 8 ปีก่อน เป็นครั้งแรกที่วีระและภรรยาพร้อมครอบครัวได้เดินทางมายังอำเภอเชียงคาน เมืองเล็ก ๆ เงียบสงบริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดเลย เพื่อมาดูแลมารดาของภรรยาที่กำลังเจ็บป่วย ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในตัวจังหวัด
เมื่อได้มาเจอกับสภาพภูมิประเทศที่มีแม่น้ำโขงอยู่ด้านหลัง และวิวภูเขาสลับซับซ้อนมองเห็นอยู่ไกล ๆ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย อัธยาศัยไมตรีเอื้ออาทรของผู้คนที่นี่ วีระจึงโทรศัพท์ไปบอกพ่อและแม่ของเขาว่า “ผมเจอที่ตายของตัวเองแล้ว”
และตั้งแต่นั้นมาหลังจากเดินทางไปมาหลายครั้งระหว่างกรุงเทพฯ - เชียงคาน วีระและอโณทัยก็ได้ตัดสินใจซื้อที่ดินในซอยเล็ก ๆ ผืนหนึ่งบนถนนคนเดิน เพื่อปลูกบ้านที่อยู่อาศัย โดยตั้งชื่อว่า “บ้านพักกายพักใจ” เพื่อใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนบั้นปลายของชีวิต
ความคิดแรกนั้นเขาไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นที่พักขึ้นมา เพียงแต่ต้องการสร้างเอาไว้เพื่อรับรองญาติ ๆ และเพื่อนสนิทมิตรสหายเท่านั้น แต่ด้วยบรรยากาศของบ้านที่เข้ามาแล้วอยู่ได้อย่างสบายใจ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการนั่งวีลแชร์ จึงเกิดการบอกต่อ ๆ กันมา วีระและภรรยาจึงตัดสินใจทำเป็นที่พักขึ้นมาในที่สุด เพื่อให้บริการแก่นักเดินทางวีลแชร์ รวมถึงผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่เดินเหินได้ไม่สะดวกคล่องตัวนัก
โดยห้องพักของบ้านพักกายพักใจ มีด้วยกันทั้งหมด 4 ห้อง ประกอบด้วยห้องครอบครัวขนาดใหญ่ด้านบน 2 ห้อง และห้องเล็กด้านล่าง 2 ห้องสำหรับอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการที่ต้องนั่งวีลแชร์หรือผู้สูงอายุที่เดินขึ้นชั้นบนลำบาก ราคาอยู่ที่ 800 -1500 บาทแล้วแต่ช่วงฤดูกาล ซึ่งไม่เพียงตกแต่งด้วยบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง ภายในบ้านยังมีมุมโชว์ผลงานภาพถ่ายของวีระให้ผู้มาเยือนได้ชื่นชมด้วย
นอกจากนี้ในจุดต่าง ๆ ของบ้านที่ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นั่งวีลแชร์ วีระจะเป็นผู้มาคุมการก่อสร้างด้วยตัวเองตลอด ซึ่งเก็บเกี่ยวมาจากทุกครั้งที่ได้มีโอกาสเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตามเขามักจะพกตลับเมตรติดตัวไว้อยู่เสมอ เพื่อทำการวัดขนาดของราวจับ ความสูงต่ำที่เหมาะสมของอ่างล้างหน้า โถชักครก พื้นต่างระดับ ฯลฯ จึงเรียกว่าเป็นที่พักที่สามารถพักได้อย่างสบายใจและสบายกายแก่นักเดินทางสองล้อได้จริง ๆ
หัวใจดวงใหม่
อโณทัยได้เป็นตัวแทนบอกเล่าความรู้สึกของการทำบ้านพักแห่งนี้ขึ้นมาว่า
“จริง ๆ เราตั้งใจสร้างพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาจุดประสงค์หลัก ก็คือ เพื่อเอื้อสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุให้มากันเป็นครอบครัวได้ คือ เราเอาตัวเราเองเป็นหลัก เพราะส่วนมากคนพิการไปไหนก็ไม่สะดวก ไม่อยากออกจากบ้าน ไม่อยากไปไหน หรือคนแก่เองก็ตาม ดังนั้นคอนเซปต์จึงคือ “บ้านพักกายพักใจ บ้านพักสุขสบายมากันได้ทั้งครอบครัว” คือ คุณสามารถมาเที่ยวได้โดยไม่ต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะอย่างเราเองเวลาไปไหนก็หอบหิ้วไปด้วยกันตลอด นอกจากนี้หากลองสังเกตดี ๆ ตามประตูหน้าต่างของบ้านเราจะมีกรงเหล็กใส่ไว้ เป็นอีกคอนเซปต์ที่เราคิดขึ้นมา คือ “คุกขังใจ” เพื่อขังใจตัวเองให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่นำสิ่งไม่สบายใจมาหรือปัญหาจากภายนอกเข้ามาทำให้เป็นทุกข์ เหมือนที่เราเองก็เคยผ่านมันมาแล้ว”
จากความตั้งใจดังกล่าว จึงทำให้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้ บ้านพักกายพักใจได้รับประกาศเกียรติคุณยกย่องให้เป็น “สถานที่อารยสถาปัตย์แห่งปี 2561” ประเภทโรงแรม/ที่พัก Friendly Design ที่มีการส่งเสริมและสร้างอารยสถาปัตย์ เพื่อให้คนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย
โดยทุกวันนี้ในทุก ๆ เช้าหากไม่ติดสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจหรือเจ็บป่วยไม่สบาย ในเวลาตี 5 ของทุกวันวีระจะปั่นวีลแชร์ออกมาริมฝั่งโขงเพื่อถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นและดูวิถีชีวิตผู้คนที่ผ่านทางไปมาในยามเช้า บางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่นพาลูกค้าที่พักออกมาใส่บาตรบ้าง ขณะที่ในเวลา 5 โมงเย็นจะเป็นเวลาอีกรอบหนึ่งที่เขาจะออกมาตามล่าดวงตะวันในเวลาใกล้ลาลับขอบฟ้าไปแล้วอีกเช่นกัน
เขาทำอยู่แบบนี้ทุกวันโดยไม่มีเบื่อ ประหนึ่งเหมือนจะชดเชยเวลาที่หายไปเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ขังตัวเองอยู่กับความท้อแท้สิ้นหวัง และแน่นอนวันนี้ใบหน้าของเขาไม่มีน้ำตาให้เห็นอีกต่อไป มีแต่ใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มและเปี่ยมไปด้วยความสุขเท่านั้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี