PHOTO : ฟรีซช็อต
ไอติมหวานเย็นในหลอดใส ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ฟรีซช็อต” ชูจุดต่างด้วยการเป็น สมูทตี้ที่ไม่ต้องปั่น นวัตกรรมความอร่อยโดนใจเด็กๆ เปิดตัวครั้งแรกด้วยการขายได้เกือบหมื่นหลอดในเวลาเพียง 4-5 วัน และยังคว้ารางวัลนวัตกรรมระดับประเทศมาแล้ว นี่คือผลงานของ SME ตัวเล็กๆ ใน จ.อุตรดิตถ์ “ภาสกร มณฑากุล” และ “รุจิเรศ กล่ำเหม็ง” บริษัท โชริฮาบุ จำกัด เจ้าของแบรนด์ “ฟรีซช็อต” ที่จับมือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ยกระดับไอศกรีมตลาดนัดให้ทำเงินล้านด้วยนวัตกรรม
เรียนรู้จากลูกค้าพัฒนาสู่นวัตกรรมสมูทตี้ที่ไม่ต้องปั่น
ภาสกร คือครูสอนดนตรี เขาแต่งงานเข้ามาในครอบครัวของภรรยาที่เป็นนัก Food Science และมีโรงงานลูกชิ้นเล็กๆ ใช้ชื่อแบรนด์ว่าบ้านสวน ตั้งอยู่ใน จ.อุตรดิตถ์ เขาได้เห็นปัญหาการเน่าเสียของสินค้าเพราะไม่ใส่สารกันบูด ทำให้ลูกชิ้นที่ทำมาจากสัตว์หลายชีวิต ต้องกลายเป็นแค่อาหารปลาอย่างน่าเสียดาย จึงเบนเข็มธุรกิจมาทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยใช้ผลผลิตจากในสวนที่เป็นเกษตรผสมผสาน ตามแนวคิด “โคก หนอง นา โมเดล” การประยุกต์ใช้ที่ดินตามศาสตร์พระราชา
ระหว่างนั้นเขาก็ยังเปิดร้านคาเฟ่ในเมือง และรับสอนดนตรีที่บ้านไปด้วย ใครจะคิดว่าแค่การสังเกตพฤติกรรมเด็กๆ ที่มาเรียน จะสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ให้กับพวกเขา
“ผมสังเกตพฤติกรรมของลูกศิษย์เด็กๆ ที่มาเรียนดนตรี เขาจะชอบเอาน้ำแข็งมาเคี้ยวเล่นกัน ผมถามว่าทำไม เขาบอกมันเย็นดี แล้วก็สนุก ไม่ได้มีเหตุผลอะไรเลยและไม่ได้เกี่ยวกับอากาศร้อนด้วยเพราะเขาเรียนในห้องแอร์ ซึ่งอยู่โรงเรียนเขาก็กินแบบนี้ ผมเลยไปถามเพื่อนที่สอนอยู่โรงเรียนอนุบาล ถามว่าเด็กๆ กินพวกน้ำหวานกันยังไง เขาก็บอกว่าเด็กชอบเคี้ยวน้ำแข็ง พอน้ำหวานหมดเหลือแต่น้ำแข็งก็เคี้ยวเล่นกัน มันเลยเป็นจุดให้ผมกลับมาคิดพัฒนาตัวฟรีซช็อต”
เด็กๆ ชอบเคี้ยวน้ำแข็ง เด็กชอบกินไอศกรีม และหวานเย็น แต่ปัญหาคือ ไอศกรีมละลายเร็วไป ส่วนหวานเย็น เวลาอยู่ในตู้แช่ก็จะกลายเป็นน้ำแข็งแห้งๆ กัดยังไงก็ไม่ขาดเพราะแข็งมาก เขาเลยจะหาสินค้าที่อยู่ระหว่างกลางของไอศกรีมและหวานเย็นแบบเก่า เพื่อมาตอบโจทย์ลูกค้าของพวกเขา
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมสมูทตี้ที่ไม่ต้องปั่น ที่ได้อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มาช่วยพัฒนาให้
นวัตกรรมความอร่อย ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ
ฟรีซช็อต คือ ไอศกรีมหวานเย็นรสผลไม้ ที่มีเนื้อสัมผัสเหมือนไอศกรีมสมูทตี้ โดยมีลักษณะของเกล็ดน้ำแข็งที่ละเอียด ละลายช้า และมีเนื้อผลไม้เหมือนทานผลไม้สดๆ การเติมสารในกลุ่มไฮโดรคอลลอยด์จากธรรมชาติ จากการใช้จุลินทรีย์ในการดัดแปลงแป้งมันสำปะหลังมาทำให้เกิดการแขวนลอยของเนื้อผลไม้ ไม่ให้นอนก้น ทำให้เมื่อละลายจึงไม่แยกชั้น อยู่ในหลอดกินง่ายไม่เลอะมือ และหากกินไม่หมดก็ยังสามารถปิดฝาเก็บไว้กินใหม่ได้
“สินค้าของเรารูปลักษณ์ทันสมัย เมื่อเอาออกมาจากตู้แช่ถ้าเกิดมันแห้งจนแข็งจัด ให้รอ 1 นาทีมันก็จะเริ่มเซ็ตตัวเอง และทำปฏิกิริยาทำให้สามารถบีบและดูดกินได้ปกติ ซึ่งสารสกัดจากธรรมชาติตัวนี้ทำให้โมเลกุลของน้ำแข็งจับตัวกับน้ำหวาน เกล็ดน้ำแข็งละเอียด และละลายช้า พอละลายก็ไม่แยกชั้นกัน ที่สำคัญรสชาติไม่เปลี่ยน คือเด็กๆ ทานไม่หมดก็สามารถเอากลับบ้านไปแช่เย็นได้โดยรสชาติยังคงเดิม ผมลองไปศึกษากลุ่มลูกค้าที่ซื้อไปขาย ซึ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนเขาบอกว่าเด็กๆ กินไม่หมดก็จะปิดฝาไว้ เก็บไว้กินตอนกลางวันต่อ โดยกินเป็นน้ำแทน
กลายเป็นว่าผลิตภัณฑ์ของเราที่ลูกค้าเอาไปขายต่อ เขาขายดีมาก โดยในปีแรกที่ทำออกมากลายเป็นกระแสทั่ว จ.อุตรดิตถ์เลย ถึงขนาดที่ยี่ปั้วทั้งหลายอยากได้ไปขายกัน จนเราต้องผลิตมือเป็นระวิง ซึ่งตอนนั้นเรายังใช้มือทำกันอยู่ ช่วงเดือนเมษายนผมเริ่มส่งเข้าปั๊มปตท.สายเอเชีย โดยเลือกวางในจุดที่มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ ปรากฎได้รับการตอบรับดีมาก เด็กๆ พอลงจากรถเห็นตู้เราก็วิ่งเข้ามาเลย ช่วงนั้นขายได้เกือบ 10,000 หลอด แค่ในช่วง 4-5 วัน และปั้มๆ เดียว จนต้องเกณฑ์แรงงานในหมู่บ้านมาช่วยกันทำถึง 3-4 ทุ่มทุกวัน”
เขาบอกความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น ทุกอย่างเหมือนจะไปได้ดี...ทว่าอุปสรรคก็ตามมาจนได้
ยกระดับสู่โรงงานมาตรฐาน ฟื้นความเชื่อมั่นของลูกค้า
แบรนด์น้องใหม่ที่ขายดิบขายดีไปทั่วจังหวัด ชนิดที่ต้องผลิตกันหามรุ่งหามค่ำ ทว่าวันหนึ่งกลับเกิดปัญหาใหญ่เมื่อสินค้าส่วนหนึ่งถูกผู้ค้านำไปวางขายในตู้แช่ของไอศกรีมดัง แถมยังขายดีกว่าไอศกรีมในตู้เสียอีก สถานการณ์ชักจะไม่ดีแล้ว
“มันมีปัญหาตรงที่ว่าพอมันบูมมาก ลูกค้าที่เขาไม่มีตู้แช่เราถามว่าอยากได้ตู้แช่เราไหม เขาบอกว่าไม่อยากได้เพราะว่ามันเปลืองไฟ เขามีตู้ไอศกรีมอยู่แล้วก็เลยเอาสินค้าเราใส่ไปในตู้ด้วย กลายเป็นไปอยู่ในตู้เขาทั่วจังหวัดเลย ปรากฏพอเซลส์ของแบรนด์มาเห็นก็เหมือนเราไปแย่งตลาดเขา เลยไปบอกลูกค้าว่าสินค้าของเรายังไม่มีอย. คุณเอามาขายได้ไง ขู่แค่นี้ลูกค้าหลายคนกลัวก็หยุดสั่ง ทำให้ยอดขายเราตกฮวบลงเลย จากเคยขายได้สูงสุดเดือนละ 4 หมื่นหลอด ปรากฏพอมีปัญหายอดหายไปเลย 3 หมื่นหลอดเลย เราเลยต้องมานั่งคิดต่อว่า จะแก้ปัญหายังไงดี จึงตัดสินใจมาทำโรงงานเราให้ได้อย. ด้วยความที่ไม่ได้มีทุนเยอะและอยู่ในพื้นที่สีเขียว เราเองไม่อยากย้ายโรงงานไปที่อื่นเพราะอยากจ้างงานในพื้นที่ด้วย เลยทำเป็น Smart Factory เล็กๆ ปรับมาจากโรงงานลูกชิ้นเดิม พยายามทำทุกอย่างให้ลีนที่สุด อย่างเครื่องกรอกบรรจุอัตโนมัติ ที่โรงงานอื่นเขาใช้กัน แค่เครื่องเล็กๆ ราคาก็ไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านบาทแล้ว แต่ของเราไปขอให้โรงงานช่วยทำเครื่องให้ ได้มาในราคา 1.4 ล้านบาท ถูกกว่าคนอื่น แต่ก็หนักสำหรับเราเพราะเป็นการลงทุนเครื่องจักรหนักเครื่องแรก” เขาเล่า
จากแรงงานคนทำได้ประมาณ 1-2 พันหลอดต่อวัน แต่เครื่องจักรสามารถผลิตได้สูงถึง 1 หมื่นหลอดต่อวัน ขณะที่ตัวโรงงานก็ปรับตามมาตรฐานอย. อุปกรณ์เป็นแบบ Food Grade แบ่งแยกห้องเตรียมวัตถุดิบ ห้องต้ม ห้องบรรจุ และโซนเก็บวัตถุดิบตามที่อย.แนะนำ สุดท้ายไอติมนวัตกรรมก็พร้อมออกสู่ตลาดอย่างสง่างามอีกครั้ง โดยนอกจากทำตลาดในจังหวัดอุตรดิตถ์ สินค้าของพวกเขาก็เริ่มขยับขยายไปขายในจังหวัดอื่นๆ ด้วย เช่น พิษณุโลก เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ตามตลาดนัดและถนนคนเดินต่างๆ รวมถึงขายทางออนไลน์ โดยตั้งราคาเอาใจเด็กๆ ที่แท่งละ 10-15 บาทเท่านั้น
ต่อยอดสู่สินค้าแก้ปัญหาผลผลิตเกษตรในจังหวัด
วัตถุดิบที่นำมาทำฟรีซช็อตไม่ได้มาจากผลไม้และสมุนไพรจากสวนของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังนำสับปะรดห้วยมุ่น ซึ่งเป็นสับปะรดที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของ จ.อุตรดิตถ์ มาใช้อีกด้วย ซึ่งช่วยแก้ปัญหาราคาพืชผลให้กับเกษตรกรไปในตัว
“ช่วงนั้นสัปปะรดห้วยมุ่น มีปัญหาราคาตกต่ำขายไม่ได้ เหลือแค่กิโลละบาท จนเขาจะเลิกทำกันแล้ว ท่านผู้ว่าฯ เลยให้โจทย์ผมมาว่าพอจะเอาสัปปะรดมาทำอะไรได้บ้าง เราก็วิจัยร่วมกับ ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์อีก โดยเริ่มจากทำเป็นน้ำขึ้นมาก่อน ซึ้งน้ำทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมาทำเป็นฟรีซช็อตปรากฎมันหวานเจี๊ยบเลย เรามองว่ามันผิดโจทย์แล้วเพราะหวานเกินไป เลยคุยกับเกษตรกรว่า ถ้าเป็นไปได้ผมขอผลที่มันตกเกรดจริงๆ คือไม่หวาน พวกลูกไม่สวย แล้วมันเปรี้ยวตรงใจเราด้วย เพราะพวกนี้เป็นหวานเย็นรสชาติเลยต้องเปรี้ยวๆ หน่อย แล้วเราก็ปรับเอาเนื้อและความหวานมาผสมจนได้ความกลมกล่อม เลยนำตัวนี้เข้าประกวด 7 Innovation Awards 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งเราเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รางวัลสุดยอดนักประดิษฐ์ ประเภทรางวัลนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม” เขาเล่า
ไม่เพียงสัปปะรดห้วยมุ่น แต่ในวันนี้พวกเขายังได้นำผลไม้ในท้องถิ่น มาต่อยอดเป็นสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ใช้จุดแข็งของ จ.อุตรดิตถ์ ที่เป็นแหล่งปลูกกล้วย 1 ใน 5 ของประเทศ มาแจ้งเกิดกล้วยอบพลังงานแสงอาทิตย์ แบรนด์คำลับแล สำหรับเจาะตลาดรุ่นใหญ่ และ FRUIT ENJOYZ ที่เจาะกลุ่มคนทำงาน พนักงานออฟฟิศ ที่ชอบหาสแน็กทานเล่นระหว่างทำงาน โดยชูจุดขาย นิ่ม หอมอร่อย ทานง่าย ไม่เลอะมือ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจขายส่งผลไม้ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียนหลงลับแล มะยงชิด และลองกอง เพื่อหารายได้มาหล่อเลี้ยงกิจการ และยังช่วยสนับสนุนสินค้าเกษตรในจังหวัด ให้เติบโตไปพร้อมกับพวกเขาด้วย
โดยปัจจุบัน ธุรกิจของพวกเขามีรายได้อยู่ที่หลักล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต เขาบอกว่า อยากนำพาแบรนด์ฟรีซช็อตไปวางขายที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ให้ได้ เพื่อขยายโอกาสธุรกิจให้ไปได้กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่บางจังหวัด แต่คือโอกาสทำตลาดไปทั่วประเทศ และนั่นคือความมุ่งมั่นของแบรนด์เล็กๆ ที่ลุกมาอัพเกรดไอติมตลาดนัด สู่สินค้านวัตกรรม จนทำเงินล้านให้กับพวกเขาได้ในวันนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี