ยังจำได้ไหม? 16 ปี “โรตีบอย” ผู้จุดกระแสขนมปังต่อคิวยาวเจ้าแรกในไทย

TEXT : กองบรรณาธิการ





     ย้อนไปเมื่อ 15 -16 ปีก่อน หากยังพอจำกันได้เมืองไทยมีกระแสขนมปังก้อนกลมที่ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่พักหนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นต้นกำเนิดของขนมปังที่มีคนยอมรอต่อคิวซื้อยาวเป็นชั่วโมงๆ ร่วมร้อยกว่าคนเป็นรายแรกในไทยก็ว่าได้ แถมยังทำให้เกิดอาชีพรับจ้างต่อคิวรับหิ้วขึ้นมาด้วย แน่นอนขนมปังที่เรากำลังพูดถึงอยู่คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก “โรตีบอย” นั่นเอง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าแม้เวลาจะล่วงเลยมานานนับสิบปี และตัวขนมปังต้นฉบับเองจะไม่ได้อยู่ในเมืองไทยแล้ว แต่หากเห็นขนมปังก้อนกลมลักษณะเดียวกันนี้ใครๆ ต่างก็ยังเรียกว่า โรตีบอย ไม่ว่าผู้บริโภคที่ลิ้มลองรสชาติโดยตรง คลิปสอนทำอาหาร หรือแม้แต่ร้านค้าหลายแห่งเองก็ยังเรียกชื่อนี้กันอยู่


     ผ่านมา 16 ปีแล้ว ยังคงคิดถึงกันบ้างไหม วันนี้ลองมาย้อนรอยเรื่องราวของขนมปังในตำนานชื่อนี้ และอัพเดตตัวธุรกิจว่าจริงๆ แล้ว ทุกวันนี้โรตีบอยยังมีขายอยู่ไหม? ขายที่ไหน? และเติบโตไปมากน้อยเพียงใดกัน   



 

โรตีบอยดังขึ้นมาได้ยังไง
 
               
        ความจริงแล้วโรตีบอย มีชื่ออย่างเป็นทางการ คือ “Rotiboy” หรือ “ร็อตตี้บอย” แต่เพื่อให้จดจำง่ายเข้าใจได้ง่ายคนไทยจึงมักเรียกว่า โรตีบอย โดยเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ร้านขนมปังถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในเมือง Bukit Mertajam รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ปี 2541 ผู้ก่อตั้ง คือ “Hiro Tan” แต่เรื่องราวที่เป็นจุดเปลี่ยนให้ตัวธุรกิจเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2545 หลังจากที่ได้ย้ายสาขาไปตั้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศ เพราะจู่ ๆ ขนมปังก้อนกลมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Mexican Bun” ก็กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่าวันละเป็นหมื่น ๆ ชิ้นนำโด่งพุ่งแซงขนมปังชนิดอื่นที่มีอยู่ในร้านไปเกือบหมด จึงทำให้เป็นที่สนใจของนักธุรกิจชาวต่างชาติ ทั้งสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย และอื่น ๆ ติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์กลับไปทำตลาดในประเทศของตนบ้าง


      สำหรับในไทยนั้นโรตีบอยได้เข้ามาทำตลาดเมื่อปลายปี 2548 และโด่งดังเป็นที่รู้จักจนมีลูกค้ามารอต่อคิวซื้อยาวเป็นหางว่าวเมื่อต้นปี 2549 เพราะความแปลกใหม่ กลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเปิดให้บริการขึ้นครั้งแรกที่สาขาสยามสแควร์และสีลม


      ซึ่งการจุดกระแสของโรตีบอยไม่ได้นำพาแค่แบรนด์ต้นตำรับเท่านั้นให้โด่งดัง แต่ยังสร้างปรากฏการณ์ขนมปังฟีเวอร์ให้เกิดขึ้นด้วย โดยหลังจากที่ทำออกมาได้ไม่นาน ก็เริ่มมีแบรนด์อื่น ๆ ขยับออกมาทำตามด้วย เช่น ปาป้าโรตี, คอฟฟี่โดม, มิสเตอร์บัน และเบเกอร์บอย จนไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีขนมปังก้อนกลมๆ สไตล์เม็กซิกันนี้อยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่ห้างร้านไปจนถึงตามตลาดนัดก็มีการทดลองทำออกมาเช่นกัน จนใครๆ ก็ต่างพากันเรียกขนมปังหน้าตาแบบนี้ว่าโรตีบอยกันไปหมด เรียกว่าห้างไหนหรือชุมชนใดไม่มีอาจถูกมองว่าเชยไปเลยก็ได้



 

ดังเร็ว แต่ก็ไปเร็วเช่นกัน
 
               
     ไม่น่าเชื่อว่าโด่งดังอยู่ได้ไม่นานเท่าไหร่ ในปี 2550 โรตีบอยกลับมีการประกาศยุติการให้บริการลงในเมืองไทย ซึ่งในขณะนั้นมีการเปิดตัวอยู่ 4 สาขาด้วยกัน ได้แก่ สีลม สยามสแควร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว และบิ๊กซีรามคำแหง
               

     จากปรากฏการณ์มาไวไปไวนี้ หลายคนต่างพากันวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นออกมาหลายข้อด้วยกัน เริ่มจาก 1. เป็นเพราะกระแสนิยม ซึ่งไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ที่แท้จริงของผู้บริโภคชาวไทย เมื่อได้ทดลองให้รู้แล้ว จึงไม่ได้มีการกลับมาซื้อซ้ำมากสักเท่าไหร่ 2. ว่ากันว่าอาจมาจากความไม่ชัดเจนของตัวแบรนด์เอง ซึ่งแม้จะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยได้โด่งดัง แต่สาขาต้นฉบับ 2 แห่งที่เปิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกันกลับมีเจ้าของเป็นคนละคนกัน จึงทำให้ขาดการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจนและสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
               

      3. การโหมกระหน่ำเข้ามาช่วงชิงตลาดของแบรนด์คู่แข่ง ซึ่งแม้โรตีบอยจะเป็นเจ้าแรกที่นำขนมปังก้อนกลมนี้เข้ามาในเมืองไทยก่อนก็จริงอยู่ แต่ด้วยความที่เป็นขนมปังสไตล์เม็กซิกัน ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของแบรนด์เพียงผู้เดียว ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถทดลองทำขึ้นมาได้ จนในที่สุดก็สามารถทำออกมาได้รสชาติใกล้เคียงแถมยังทำราคาได้ดีกว่า โดยเฉพาะกับมิสเตอร์บันที่ทำออกมาขนาดเล็กกว่า แต่จำหน่ายอยู่เพียงชิ้นละ 10 บาทเท่านั้น ในขณะที่โรตีบอยขายอยู่ชิ้นละ 25 บาท และเมื่อแบรนด์ไม่ได้มีการสร้างแบรนด์รอยัลตี้ขึ้นมาให้ชัดเจน ก็ไม่ยากที่ผู้บริโภคจะลองเปลี่ยนใจไปชิมและอุดหนุนแบรนด์อื่น ๆ บ้าง ซึ่งบางรายขยายสาขาออกไปมากกว่า 30 -40 แห่ง ขณะที่โรตีบอยกลับมีอยู่เพียงไม่ถึงสิบสาขาด้วยซ้ำ


      และข้อสุดท้ายข้อที่ 4. น่าจะมาจากกระแสเรื่องสุขภาพ ที่มีการโจมตีว่าหากรับประทานเข้าไปเยอะเกินไปจะไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะมีส่วนประกอบไปด้วยทั้งแป้ง น้ำตาล และไขมัน โดยแบรนด์ที่กลับอยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้ ก็คือ มิสเตอร์บัน ซึ่งเป็นของคนไทยผลิตขึ้นมาเอง อาจเป็นเพราะนอกจากราคาย่อมเยาที่จับต้องได้ง่ายแล้ว ทางแบรนด์ยังมีการผลิตขนมปังชนิดอื่น ๆ ออกมาจำหน่ายด้วย อาทิ ครัวซองต์, พาย เป็นต้น



 

โรตีบอยในวันนี้
 
               
      ถามว่าหลังจากข่าวประกาศยุติการให้บริการในเมืองไทยไป ธุรกิจของโรตีบอยเป็นอย่างไรต่อไปบ้าง ยังดำเนินกิจการอยู่หรือเปล่า หลังจากได้ทำการเสิร์ชหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตพบว่ามีการเปิดเพจ “Rotiboy Thailand” ขึ้นมาในปี 2557 โดยมีการบอกเล่าเรื่องราวที่มาของแบรนด์และคลิปวิดีโอของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคได้หวนคิดถึงกัน เหมือนเป็นความพยายามเพื่อจะรื้อฟื้นแบรนด์ขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการโพสต์ข้อความล่าสุดทิ้งไว้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ว่าจะมีการ Coming Soon กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ แต่ ณ วันนี้ก็ยังไม่ได้เห็น
               

     จากการที่วันนี้แบรนด์ Rotiboy ห่างหายจากตลาดบ้านเราไปนาน อาจทำให้หลายคนพาลสงสัยว่าจริง ๆ แล้ววันนี้แบรนด์ยังอยู่ดีไหม จากการเสิร์ชข้อมูลในอินเตอร์อีกเช่นกันพบว่าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแม่ผู้ให้กำเนิดอย่างมาเลเซียโรตีบอยยังอยู่ดี โดยมีการอัพเดตโพสต์ข้อความล่าสุดไปเมื่อช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมานี้เอง แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปบ้าง จนทำให้ต้องมีการประกาศปิดกิจการลงชั่วคราว แต่ก็กลับมาเปิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งได้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว


     ส่วนในเว็บไซต์ www.rotiboy.com เว็บไซต์หลักของแบรนด์ได้มีการโพสต์ข้อความให้ลูกค้าสามารถเข้าไปทำการสั่งซื้อออนไลน์ได้ โดยจะทำเป็นชุดขนมปังสำเร็จรูปแบบ Frozen ให้ลูกค้าทดลองนำไปอบรับประทานเองที่บ้านได้ คิดว่าอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ธุรกิจที่ทำขึ้นมาเพื่อรองรับในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่วนที่อินโดนีเซียเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเข้าไปทำตลาดของแบรนด์ Rotiboy ค่อนข้างมาก เท่าที่ลองเข้าไปดูในอินสตาแกรมของ “Rotiboy Indonesia” พบว่ายังคงมีการอัพเดตรูปภาพขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ล่าสุด คือ เมื่อสองวันก่อน 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี่เอง ทำให้รู้ว่ายังคงเป็นอีกประเทศที่ยังมีการจำหน่ายอยู่


      ในขณะที่สิงคโปร์อีกหนึ่งประเทศที่เคยนิยมชมชอบโรตีบอยพอ ๆ กับไทย กลับพบเพียงการรีวิวแสดงความคิดเห็นไว้ในเว็บไซต์ The Smart Local Singapore ตั้งแต่ปี 2556 ว่าได้มีการหยุดการให้บริการไปแล้ว เช่นเดียวกับเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ยังมีคนเข้าไปคอมเมนต์ว่าเสียดายกลิ่นหอมของขนมปังกาแฟ Rotiboy ที่ไม่มีอยู่แล้วอีกต่อไปในสิงคโปร์ แต่เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมานี้ กลับยังมีข่าวพูดถึงชุดโรตีบอยสำเร็จรูปให้นำไปทำรับประทานเองที่บ้านเหมือนกับที่ลงไว้ในเว็บไซต์มาเลเซียด้วย ก็เป็นไปได้ว่าร้านสาขาที่สิงคโปร์อาจไม่มีแล้ว แต่ยังคงมีโรตีบอยรูปแบบทางเลือกไว้ให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้นั่นเอง ซึ่งไม่แน่วันหนึ่งสำหรับในเมืองไทยเองแบรนด์ Rotiboy อาจเริ่มต้นกลับมาในรูปแบบนี้ก็ได้ แต่ที่แน่ ๆ คือ ทุกวันนี้หากได้เห็นขนมปังก้อนกลม ๆ ชนิดนี้ เราก็ยังคงเรียกกันติดปากว่า โรตีบอยอยู่เหมือนเดิมนั่นเอง




 
www.smethailandlclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย