“ฟาร์มมะเขือเทศ แตะขอบฟ้า” ไอเดีย Young Smart Farmer เมืองสุพรรณ ใช้วิชาเกษตรเปลี่ยนผักให้เป็นผลไม้หวานฉ่ำ

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ฟาร์มมะเขือเทศแตะขอบฟ้า





      ไม่ต้องเถียงกันอีกต่อไปว่ามะเขือเทศเป็นผักหรือผลไม้ เพราะฟาร์ม “แตะขอบฟ้า” ได้สร้างนิยามใหม่ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ด้วยการปรับมะเขือเทศให้เป็นผลไม้รสชาติหวานฉ่ำมันซะเลย!
               

     นี่คือเรื่องราวของ “ปิยะ กิจประสงค์” ผู้ก่อตั้ง ฟาร์มแตะขอบฟ้า Young Smart Farmer จ.สุพรรณบุรี ที่หอบหิ้วปริญญาตรีด้านแมลงจาก ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และประสบการณ์ทำงานฝ่ายคลังสินค้าและ R&D ในบริษัทเอกชนมาประมาณ 6 ปี กลับบ้านเกิดที่ จ.สุพรรณบุรี เพื่อทำเกษตรที่แตกต่าง เปลี่ยนผักให้เป็นผลไม้



               
               
ใช้องค์ความรู้ด้านเกษตร ทำมะเขือเทศรสชาติหวานฉ่ำ


     หลังตัดสินใจกลับบ้านมาทำเกษตรเมื่อประมาณปี 2556 ปิยะใช้เงินเก็บที่มีอยู่ประมาณกว่าแสนบาท มาสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกมะเขือเทศเชอรี เขาบอกว่าการปลูกผักในโรงเรือนจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เลือกเป็นมะเขือเทศเชอรี เพราะในตอนนั้นที่ จ.สุพรรณบุรี ยังไม่มีใครทำมะเขือเทศเชอรีในโรงเรือนมาก่อน พวกเขาคือเจ้าแรก


       ปิยะเลือกท้าทายตัวเองไปอีกขั้น ด้วยการปลูกมะเขือเทศให้กลายเป็นผลไม้รสชาติหวานฉ่ำ องค์ความรู้ที่ตัวเขาเด็กเกษตรสาขากีฏวิทยาและภรรยาที่จบมาทางด้านปฐพีวิทยา จะได้นำมาใช้อย่างเต็มที่ในการทำเกษตรครั้งนี้


     “คนไทยบัญญัติมะเขือเทศให้เป็นผัก แต่ผมอยากจะทำมะเขือเทศให้เป็นผลไม้ที่แม้แต่คนไม่ชอบมะเขือเทศก็กินได้”  ปิยะบอกกับเรา ก่อนอธิบายความเป็นผลไม้ในความรู้สึกของผู้คนก็คือ อย่างน้อยที่สุดกินแล้วต้องหวาน เนื้อแน่น และกรอบ


     “ตัวผมเรียนจบสายเกษตรมา ฉะนั้นเรารู้ว่าจะทำยังไงให้รสชาติพืชมันหวาน ทำยังไงให้เนื้อแน่นและกรอบ ซึ่งวิธีการไม่ได้มีอะไรยากเลย มันอยู่ที่อาหารที่เราใส่ไปให้กับพืช อันนี้ต้องยกเครดิตให้กับภรรยาที่เขาจบปฐพีวิทยามา ฉะนั้นเขาจะรู้เรื่องธาตุอาหาร เรื่องดินดี เราจึงสามารถปรุงอาหารเป็นสูตรเฉพาะของเราขึ้นมาได้ เราปลูกในกระถาง ใช้ขุยมะพร้าว และมะพร้าวสับซึ่งไม่มีธาตุอาหารอะไรเลย เพื่อที่เราจะใส่ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับพืชตัวนั้นลงไปได้ง่าย  โดยใช้เวลาพัฒนาอยู่ประมาณ 2 รอบการผลิต (Crop) รอบแรกเราทดสอบสายพันธุ์ว่าสายพันธุ์ไหนที่เหมาะกับบ้านเราแล้วรสชาติพอไปได้ที่สุด พอรอบที่ 2 ก็เริ่มปรับสูตรอาหารที่เหมาะสม รวมๆ ใช้เวลาอยู่ประมาณ 1 ปี ทุกอย่างก็เริ่มนิ่งขึ้น”




 
เลือกเวลาที่เหมาะ ชนิดพืชที่ใช่ เพิ่มกำลังใจในการทำเกษตร


     ปิยะเริ่มปลูกมะเขือเทศที่ 1 โรงเรือน ประมาณ 500 ต้น ผลผลิตรอบแรกที่คุณภาพยังไม่เข้าที่นัก แต่มีสูงถึงกว่า 1 ตัน  ผลผลิตต่อต้นสูงถึงเกือบ 3 กิโลกรัม


     “ถามว่าทำไมเราถึงทำได้ตั้งแต่ครอปแรก เพราะว่าเราเลือกปลูกในฤดูกาลที่เหมาะ ณ ตอนนั้นในพื้นที่ยังไม่มีการปลูกมะเขือเทศเลย ทำให้โรคแมลงไม่มี เป็นอะไรที่มันสมบูรณ์เพอร์เฟ็กต์มากตั้งแต่ครอปแรก ทำไมเราเลือกปลูกแบบนั้น เพราะถ้าสมมุติเราไม่เคยทำการเกษตรมาก่อนเลย แล้วยังไปปลูกพืชที่ไม่ตรงกับช่วงฤดูกาลของมันอีก แล้วเกิดพืชไม่เจริญเติบโตหรือได้ผลผลิตไม่ดี ตัวเราก็จะรู้สึกเฟล รู้สึกไม่ดี แล้วก็จะไม่มีกำลังใจทำการเกษตรจริงไหม”


      สำหรับเวลาที่เหมาะแก่การปลูกมะเขือเทศ เขาบอกว่าคือช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพราะมะเขือเทศเป็นพืชอากาศเย็นการปลูกในช่วงที่ได้ลมหนาวเข้ามาช่วย ก็จะทำให้ต้นเจริญเติบโตดีขึ้น ผลผลิตก็จะดีตามไปด้วย โดยใน 1 ปี จะปลูกได้ 2 รอบการผลิต



 

แก้โจทย์การตลาด ปรับสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร


      แม้จะได้ผลผลิตดี คุณภาพที่ใช่ แต่ปิยะยอมรับว่าปัญหาใหญ่ของพวกเขาคือเรื่องการตลาด เพราะทั้งเขาและภรรยาคือเด็กเกษตรที่เก่งกาจในสายการผลิตไม่ใช่ขาย


     “ตอนแรกมองแค่ว่า เราผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาแล้วเวลาขายก็คงจะไม่ยากอะไร ปรากฎว่าพอผลผลิตเยอะการขายกลับมีปัญหา เพราะเราไม่มีตลาดเลย อาศัยขายเพื่อนๆ พี่ๆ ในที่ทำงานเก่า ช่วยกันคนละโล 2 โล ครอปแรกที่ได้ผลผลิตมา 1 ตัน  500 กิโลแรกเราขายเป็นผลสด ส่วนอีก 500 กิโล ใช้ส่งแปรรูปทั้งหมด อันนี้คือปัญหา ผลผลิตดีแต่ขายไม่ได้เพราะไม่มีตลาดรองรับ ผมก็รู้สึกเฟลนะถึงขนาดที่หยุดปลูกไปเลยประมาณ 2-3 เดือน ประจวบเหมาะกับปี 2557 มีโครงการ Young Smart Farmer รุ่นที่ 1 ขึ้น ผมไม่รู้หรอกว่า Young Smart Farmer คืออะไร มันไม่เหมือนกับทุกวันนี้ที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่ผมแค่คิดว่า การที่เราไปอยู่ตรงนั้นน่าจะได้อะไรมากกว่าที่เราทำเองอยู่คนเดียว พอไปอบรมผมก็ได้รู้จักกับเครือข่าย รู้จักพี่น้องที่แม้ไม่ได้ปลูกมะเขือเทศเหมือนผม แต่สามารถเอาหลักการ แนวคิดอะไรหลายๆ อย่างของเขามาปรับใช้กับเราได้ บางคนที่เขาเก่งอยู่แล้ว มีสื่ออยู่ในมือก็ช่วยแนะนำ ที่ไหนมีการปลูกมะเขือเทศก็แนะนำกันมา จนเป็นจุดกำเนิดให้เกิดโรงเรือนที่ 2-3 ตามมาเรื่อยๆ” เขาบอก


     หลังจากมีเครือข่าย ได้เรียนรู้และเข้าใจอะไรมากขึ้น ปิยะตัดสินใจแก้ปัญหาเรื่องตลาดของเขา เป็นเปลี่ยนมาทำ “ฟาร์มท่องเที่ยวเชิงเกษตร” คือเน้นผู้บริโภคให้เข้ามาหา แทนออกไปหาผู้บริโภค


     “ถามว่าทำไมเราถึงเลือกทำแบบนี้ เพราะด้วยเราเป็นเกษตรกรเต็มตัว ถ้าสมมุติต้องออกไปขายของทุกวันแล้วงานในฟาร์มใครจะดูแล แต่ถ้าสมมุติเราเปลี่ยนเป็นดึงผู้บริโภคให้เข้ามาหาเราถึงฟาร์ม ได้ผู้บริโภคมาเราก็ไปคุยกับผู้บริโภค ไปเก็บของขาย พอเขาไม่อยู่แล้วเราก็แค่ทำงานในฟาร์มไป มันได้ประโยชน์หลายอย่าง แล้วอีกอย่างเวลามีคนเข้ามาที่ฟาร์มเราจะได้ฟังคำแนะนำจากเขา และลูกค้าก็จะได้สัมผัสตัวเกษตรกรโดยตรงด้วย รวมถึงการที่เราทำฟาร์มเราให้สวยงาม คนเห็นถ่ายรูปแน่นอน ถ่ายไปลงโซเชียลมีเดียของเขา ก็เป็นการประชาสัมพันธ์ฟรีๆ โดยที่เราไม่ต้องเสียเงินเลย”


     ฟาร์มท่องเที่ยวเชิงเกษตร แตะขอบฟ้า เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ไม่เก็บค่าเข้า มีผลผลิตมะเขือเทศตลอดทั้งปี มีเมล่อน องุ่น สับปะรดฉีกตา ที่ปรับปรุงรสชาติให้พอเหมาะพอดี และหากินได้แค่ที่ฟาร์มแตะขอบฟ้า รวมถึงยังมีไม้ประดับยอดนิยมอย่าง แคคตัส อีกด้วย



 

ทำฟาร์มให้สมาร์ทด้วยภูมิปัญญา ไม่ใช่เทคโนโลยี


      ปิยะเป็น Young Smart Farmer และเขาก็เคยหมกมุ่นเอามากๆ กับการทำฟาร์มให้สมาร์ทด้วยเทคโนโลยี IoT อยากจะเป็นฟาร์มมะเขือเทศอัจฉริยะ แต่สุดท้ายกลับไม่เป็นอย่างที่คิดเลยสักนิด


     “ผมเคยคิดว่าถ้านึกถึงฟาร์มมะเขือเทศอัจฉริยะในประเทศไทย เขาจะต้องนึกถึงฟาร์มแตะขอบฟ้า ถึงขนาดนั้นเลยทีเดียว แต่ปรากฎเงินไปจมกับระบบหมด แต่ผลผลิตที่กลับมาแทบไม่ได้อะไรเลย อย่างเช่น เราอยากจะทำให้โรงเรือนให้เย็น มีสภาพอากาศที่เหมาะกับมะเขือเทศ แต่พอทำไปแล้วปรากฎเอาเงินไปลงแต่ผลผลิตกลับไม่ได้ดีขึ้น มันยังร้อนอยู่ดี  ผมเลยตัดสินใจแก้ปัญหาง่ายๆ ที่มันยังร้อนอยู่เพราะมีหลังคาพลาสติกใช่ไหม พอแดดมาเลยร้อน ถ้าอย่างนั้นลองไม่ใส่หลังคาพลาสติกดู แล้วเปลี่ยนเป็นหลังคามุ้งแทน คนก็ถามว่าแล้วฝนตกจะทำยังไง ผมประเมินดูแล้วฝนตกในสุพรรณให้เต็มที่ไม่เกิน 2 เดือน ฉะนั้นผมยอมเสี่ยงกับ 2 เดือนดีกว่าผมไม่ได้ผลผลิตเลยทั้งปี ซึ่งปัจจุบันหลังคาเราเป็นมุ้งทั้งหมด และเปิดให้แสงเข้าเป็นช่วงๆ นี่ไม่ใช่นวัตกรรมอะไรเลย เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านง่ายๆ ด้วยซ้ำ บางทีเรามองไปไกลตัวเกินไป ต้องย้อนกลับมาดูตัวเองด้วยว่า อะไรที่เหมาะกับเรา ผมมองเทคโนโลยีก็เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ ใกล้เกินไปก็ร้อนตาย ไกลเกินไปก็หนาวตาย ฉะนั้นอยู่ให้พอดี ใช้ให้พอดีดีกว่า” เขาสะท้อนความคิด


     หลังคามุ้งนอกจากจะทำให้โรงเรือนไม่ร้อน ยังทำให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งแม้ในวันที่มรสุมเข้า ที่น่าเซอร์ไพรส์ไปกว่านั้นคือ ในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม ที่ปกติมะเขือเทศจะไม่ออกผลผลิต หรือมีลูกก็จะแคระเกร็น แต่มะเขือเทศของพวกเขากลับยังเติบโตได้ดีและมีผลผลิตให้ชื่นใจ เพราะภูมิปัญญาง่ายๆ ที่เกิดขึ้นนี้


     การอยู่ในโครงการ Young Smart Farmer  ทำให้ปิยะได้รู้จักกับเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ภาคตะวันตกที่มีอยู่ 8 จังหวัด ขณะที่พวกเขายังได้รวมตัวเกษตรกรรุ่นใหม่ใน จ.สุพรรณบุรี ตั้งเป็น “กลุ่มเกษตร เฟรช ฟิน” (KASET FRESH FIN) ครอบครัว Young Smart Farmer  เมืองสุพรรณที่ไม่ได้มีเงินเป็นบรรทัดฐานแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสิ่งที่แต่ละคนถนัด


      “พวกเราจะค่อนข้างสนิทสนมกัน แบ่งปันองค์ความรู้ให้กันและกัน อย่างที่บอกว่าการทำคนเดียวอาจจะไปได้ไวแต่ถ้าอยากจะไปได้ไกลต้องไปด้วยกัน เพราะเราได้ซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน บางทีเราไม่รู้หรอกว่าเดินไปขาเราจะทรุดหรือเปล่า แต่ถ้าเราอยู่กันเป็นกลุ่ม  10 คน ต่อให้ขาเราจะทรุดลงไป 2 คน แต่อีก 8 คน ก็ยังช่วยกันพยุงไปได้ เราทำคนเดียวถ้ามันล้มเราก็จะล้มไปคนเดียวไม่มีใครช่วยพยุง บางทีอาจจะมีคนซ้ำเติมด้วยซ้ำไปเพราะคิดว่าเราเป็นคู่แข่ง แต่การทำด้วยกันเราไปได้ไกลแน่นอน” เขาบอก





     ก่อนจะจบบทสนทนา เราถามปิยะในเรื่องใกล้ๆ ตัวว่า ทำไมถึงใช้ชื่อฟาร์มว่า “แตะขอบฟ้า” เขาบอกว่าทำฟาร์มมาตั้งแต่ปี 2556 แต่เพิ่งมาได้ชื่อฟาร์มจริงๆ ก็ตอนปี 2559 เหตุเกิดจากไปให้สัมภาษณ์แล้วมีรูปลงหนังสือพิมพ์ ในรูปปิยะใส่เสื้อเชิ้ตคอปกกางเกงยีนส์อย่างดี แต่สวมรองเท้าแตะช้างดาว รองเท้าคู่ใจที่เขาชอบใส่เวลาทำการเกษตร เพื่อนรุ่นน้องเลยแซวว่า “ปิยะแตะขอบฟ้า” เขาสะดุดหูไม่ใช่แค่เพราะที่มาของชื่อ แต่ยังชอบในความหมาย เพราะการแตะขอบฟ้าเป็นเหมือนการมุ่งไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย


     ปิดท้ายกับอีกความหมายแฝงคือ “พี่ตูน บอดี้สแลม” เป็นคนสุพรรณบุรี แน่นอนว่าเวลาเรานึกถึงการ "จะออกไปแตะขอบฟ้า" ก็มักจะนึกถึงเพลง "เรือเล็กควรออกจากฝั่ง" ของพี่ตูนทุกที เพราะฉะนั้นเลยเป็นอะไรที่พอเหมาะพอดีที่สุดแล้ว
 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย