PHOTO : Bean to Bar Chocolate
จันทบุรีไม่ได้มีแต่สวนผลไม้ อย่าง ทุเรียน มังคุด เงาะ สละ หรือ ลองกอง แต่ที่นี่ยังเป็นแหล่งปลูกโกโก้คุณภาพ แถมยังมีแบรนด์ช็อกโกแลตของตัวเองที่มีชื่อเสียงในหมู่คนรักสุขภาพอีกด้วย
นี่คือ “Bean to Bar Chocolate” (บีนทูบาร์ช็อคโคแลต)” แบรนด์ช็อกโกแลตเมืองจันท์ ที่ทั้งปลูกและผลิตใน จ.จันทบุรี แถมยังฉีกตัวเองออกจากตลาดด้วยการเป็นช็อกโกแลตคีโตเจ้าแรกในไทย ผลงานของ “จีรนุช ธรรมอินทอง” เจ้าของแบรนด์ Bean to Bar Chocolate คนเมืองจันท์ที่นำ 3 ความรัก คือ 1. รักสุขภาพ 2. รักช็อกโกแลต และ 3.รักจังหวัดจันทบุรี มาสร้างสรรค์เป็นโอกาสธุรกิจ
จากต้นโกโก้สู่ช็อกโกแลตเมืองจันท์
แม้จะมีชื่อเสียงเรื่องผลไม้จนโด่งดังไปทั่วประเทศ แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าที่ จ.จันทบุรี ยังเป็นแหล่งปลูกโกโก้คุณภาพและมีผลผลิตส่งออกไปต่างประเทศด้วย เช่นเดียวกับคนเมืองจันท์แท้ๆ อย่าง จีรนุช ชาวสวนผลไม้และนักจัดรายการวิทยุชุมชน ที่เพิ่งรู้เรื่องดังกล่าว ก็ตอนที่คิดจะทำช็อกโกแลตของตัวเอง
“จริงๆ เมืองจันท์ปลูกโกโก้มานานแล้ว แต่เราไม่เคยทราบมาก่อน จนเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เกิดความคิดที่อยากจะลดน้ำหนัก อยากดูแลสุขภาพ เลยมาเจอการกินอาหารแบบคีโต (Ketogenic Diet) คือการกินไขมันดีเข้าไปเพื่อที่จะลดไขมันในร่างกาย พอกินได้สักประมาณ 3 เดือน ก็คิดถึงของที่ตัวเองเคยชอบนั่นคือช็อกโกแลต ปกติจะต้องซื้อติดตู้เย็นไว้ตลอด แต่พอมากินคีโตเหมือนชีวิตขาดอะไรไปบางอย่าง ก็เลยคิดว่าวันหนึ่งถ้ามีโอกาสอยากจะทำช็อกโกแลตกินเอง เป็นช็อกโกแลตที่ไม่มีน้ำตาล จนประมาณ 1-2 อาทิตย์ต่อมา มีคนให้ไปซื้อเมล็ดโกโก้ใน อ.ขลุง จันทบุรี ก็เลยถึงได้รู้ว่าจังหวัดเราก็มีโกโก้ด้วย นี่คงเป็นโชคชะตาแล้วล่ะที่เราจะได้ทำช็อกโกแลต” เธอบอกกับตัวเองในตอนนั้น
จีรนุช ย้อนเล่าให้ฟังว่า จันทบุรีเริ่มส่งเสริมให้มีปลูกโกโก้เมื่อประมาณปี 2541 หลังผลไม้เมืองจันท์ราคาตกต่ำ ทางจังหวัดเลยมาคิดหาพืชอย่างอื่นมาปลูกเสริมแซมสวนผลไม้ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงที่ไม่มีผลไม้หรือผลไม้ราคาตก จนไปได้เมล็ดพันธุ์โกโก้มาจาก จ.ชุมพร เพราะสภาพอากาศคล้ายกับจันทบุรี และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เมืองจันท์มีสวนโกโก้ และทำเมล็ดโกโก้แห้งส่งออกไปต่างประเทศ ถึงขนาดที่เคยมีเชฟที่ทำช็อกโกแลตจากอเมริกา บินมาหาผลโกโก้ในเมืองไทย จนได้เจอกับแหล่งปลูกในจันทบุรี นำมาสู่การส่งออกไปอเมริกามาแล้ว
เพราะมีรุ่นพี่ทำอยู่ในพื้นที่เธอเลยได้ลงไปศึกษาดูงาน ควบคู่ไปกับเรียนรู้การแปรรูปจากเชฟช็อกโกแลตในเมืองไทย และอาศัยเรียนจากคุณครูที่ชื่อ YouTube จากนั้นก็ทดลองปลูกต้นโกโก้ควบคู่ไปกับการทำแบรนด์ช็อกโกแลตแห่งแรกในจันทบุรี
กำเนิดแบรนด์ช็อกโกแลตคีโตแห่งแรกในไทย
Bean to Bar Chocolate คือแบรนด์ช็อกโกแลตแบรนด์แรกของ จ.จันทบุรี ที่มาจากต้นโกโก้ซึ่งปลูกในจังหวัด จากเกษตรกรในพื้นที่ พวกเขาใช้สัญลักษณ์เป็นกระต่ายมีหูเป็นผลโกโก้ ซึ่งกระต่ายคือสัตว์ประจำจังหวัดของจันทบุรี ส่วนผลโกโก้ที่หูก็สื่อถึงธุรกิจที่ทำ นำผลโกโก้มาแปรรูปเป็นช็อกโกแลต เป็น Bean to Bar Chocolate ที่สะท้อนถึงจากเมล็ดโกโก้สู่แท่ง (บาร์) ช็อกโกแลต โดยชูจุดต่างความเป็นช็อกโกแลตเพื่อสุขภาพ เพราะเป็นช็อกโกแลตคีโตแห่งแรกในไทยอีกด้วย
“ตอนที่เริ่มทำยังไม่มีคนทำช็อกโกแลตคีโตเลย เราเป็นเจ้าแรกในไทยก็ว่าได้ ถึงตอนนี้เองก็มีคนทำช็อกโกแลตคีโตแค่ 2 แบรนด์ ถามว่าทำไมคนถึงทำน้อย เพราะว่าเขาอาจจะยังมองไม่เห็นโอกาสตรงนี้ก็ได้ โดยอาจคิดว่าการที่ไม่กำหนดเป็นช็อกโกแลตคีโตแบบเฉพาะเจาะจงไปเลย ก็น่าจะขายได้กว้างกว่า แต่จริงๆ แล้ว คีโตมันไม่ได้หมายถึงแค่กลุ่มคนกินคีโตเท่านั้น แต่คนที่กินคลีน คนที่รักสุขภาพ คนที่เป็นเบาหวานต้องการควบคุมน้ำตาล และคนที่ไม่อยากได้น้ำตาล แต่อยากจะได้ประโยชน์จากช็อกโกแลตก็สามารถกินได้ เพราะจริงๆ แล้วช็อกโกแลตเป็นไขมันที่ดี เป็นไขมันคุณภาพ แต่ถ้าเราไปเติมน้ำตาลซึ่งคนที่รักสุขภาพจะบอกว่าเป็นยาพิษต่อร่างกาย มันก็ไม่ได้สุขภาพเต็มที่เท่านั้นเอง” เธอบอก
เมื่อถามว่าคนอื่นไม่กล้าใช้เพราะกลัวตลาดแคบ แล้วทำไม Bean to Bar ถึงกล้าชูเรื่องนี้เป็นจุดขาย เธอบอกแค่ว่า
“จริงๆ ก็ไม่ได้เห็นโอกาสอะไรหรอก แต่แค่เห็นว่ายังไม่มีคนทำช็อกโกแลตสำหรับคีโตเลย จึงอยากจะทำให้ทุกคนได้กินเหมือนที่เราได้กิน เพราะคนที่กินคีโตก็คงต้องอยากกินช็อกโกแลตเหมือนกัน ง่ายๆ แค่นั้นเลย”
ช็อกโกแลตคีโตปราศจากแป้งและน้ำตาล แต่สำหรับคนที่ยังติดรสหวานพวกเขาก็จะใส่สารทดแทนความหวานที่คีโตทานได้ อย่าง อิริทริทอล (Erythritol) หรือน้ำตาลแอลกอฮอล์ โดยให้ความหวานที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของน้ำตาลปกติ ขณะที่ก่อนวางจำหน่าย Bean to Bar Chocolate จะนำช็อกโกแลตทุกตัวไปส่งตรวจในห้องแล็บเพื่อดูว่ามีน้ำตาลผสมอยู่หรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
“ที่เราต้องนำสินค้าไปส่งตรวจเพราะว่าในฉลากจะต้องมีข้อมูลโภชนาการระบุไว้ชัดเจน เนื่องจากคนที่เขารักสุขภาพเวลาจะทานอะไร เขาจะอ่านอย่างละเอียด ถ้าเราไม่มีตัวนี้การันตีให้เขา เขาก็จะไม่ซื้อของเรา และไปเลือกแบรนด์อื่นแทน ฉะนั้นเรื่องนี้จึงสำคัญมาก” เธอย้ำ
เปิดตลาดกับกลุ่มคนรักสุขภาพ
Bean to Bar Chocolate เริ่มจากการเอาเมล็ดโกโก้มาทำเป็น โกโก้นิบส์ หรือคาเคานิบส์ (Cacao Nibs) ซึ่งถูกยกให้เป็น Super Food หรืออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ที่นิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยเอาไปทานคู่กับกราโนล่า หรือโยเกิร์ต เป็นต้น โดยเริ่มขายไปในกลุ่ม ThaiKeto Friends ชุมชนชาวคีโตเจนิคที่ใหญ่ที่สุดในไทย โดยเปิดตลาดนัดออนไลน์ในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งโกโก้นิบส์จากเมืองไทยถูกกว่าของนำเข้าเป็นเท่าตัว จึงได้รับการตอบรับอย่างดีในการเปิดตัวครั้งแรก
หลังมีเครื่องทำช็อกโกแลต ก็เริ่มทำช็อกโกแลตแปรรูปออกมาขาย พอขายได้ขายดี ก็เริ่มสร้างโรงงานเล็กๆ ของตัวเอง เพื่อให้มีมาตรฐานไม่ใช่อาหารที่ทำจากในครัวอีกต่อไป เริ่มขออย. ขอมาตรฐานต่างๆ จนปัจจุบันมีมาตรฐาน GMP Codex เป็นที่เรียบร้อย รวมถึงการจดทะเบียนบริษัทเพื่อเตรียมตัวสำหรับการส่งออกในเร็วๆ นี้
“ตอนนี้เริ่มมีลูกค้าจากต่างประเทศติดต่อเข้ามาทางเพจว่า เขาต้องการช็อกโกแลตคีโตไปทำตลาดที่ประเทศจอร์แดน ซึ่งเขาต้องการเป็นตันเลย แต่เรายังไม่สามารถทำให้ได้มากขนาดนั้น โดยปัจจุบันเรายังต้องการผลสดที่เดือนละประมาณ 2 ตัน เพื่อให้เพียงพอต่อการขายในปัจจุบัน ซึ่งทางสวนเราเองมีอยู่ประมาณ 7 ไร่ ผลผลิตไม่พอก็ต้องรับซื้อจากสวนโกโก้ในจังหวัด ทุกวันนี้เรารับซื้อต่อเดือนยังไม่ถึง 2 ตันเลย เรายังคงต้องการผลผลิตเยอะกว่านี้มาก เพื่อขายในแบรนด์ตัวเองและรับจ้างผลิต (OEM) ตลอดจนเพื่อรองรับการส่งออกในอนาคต”
Bean to Bar Chocolate ทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงวางในร้านตัวแทนจำหน่ายที่ จ.จันทบุรี ทั้งร้านของฝาก ร้านกาแฟ และร้านอาหารในจังหวัด และยังวางขายในร้านคีโตเฮาส์ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยปัจจุบันมีสินค้า Bean to Bar Chocolate วางจำหน่ายเกือบทุกภาคทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ผลิตภัณฑ์ก็มีทั้ง โกโก้นิบส์ ช็อกโกแลตผง โกโก้แมส (Cocoa Mass) ช็อกโกแลตรสชาติต่างๆ และน้ำโกโก้คั้นสด ที่ได้จากกระบวนการหมักเมล็ดโกโก้ เป็นต้น
โอกาสปักหมุดช็อกโกแลตไทยบนแผนที่โลก
วันนี้ประเทศไทยปลูกโกโก้ได้แทบทุกภาคของประเทศ ขณะที่ช็อกโกแลตแบรนด์ไทยก็มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ บางแบรนด์ก็เคยไปคว้ารางวัลในต่างประเทศมาแล้ว กลายเป็นยุคหอมหวานของช็อกโกแลตสายพันธุ์ไทย ที่ขยับโอกาสให้ตลาดที่เคยเล็ก ค่อยๆ เติบโตขึ้น
“ที่ผ่านมาช็อกโกแลตไทยเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น อย่างตัวเมล็ดแห้งเองก็มีส่งออกไปญี่ปุ่นเยอะมาก เขาต้องการเอาไปทำช็อกโกแลตโดยใช้เมล็ดจากประเทศไทย ซึ่งถ้าเราส่งเสริมกันเยอะๆ แผนที่ช็อกโกแลตโลกก็จะมีประเทศไทยบรรจุเข้าไปในนั้นด้วย และเป็นอีกช่องทางที่จะทำเงินให้กับประเทศของเราได้ เพราะว่าคนที่กินช็อกโกแลต รวมถึงคนทำช็อกโกแลตทั่วโลกก็จะมาที่นี่ ในขณะที่ผลไม้บางชนิด อาจทำตลาดได้แค่บางประเทศ เช่น ทุเรียนอาจเป็นที่นิยมแค่ในประเทศจีน แต่คนกินช็อกโกแลตคือทั่วโลก และช็อกโกแลตยังเติบโตไปได้อีก ไม่เคยมีปีไหนที่มีความต้องการลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้น มีแต่จะหลงใหลมากขึ้น ช็อกโกแลตเป็นอะไรที่มีเสน่ห์ และสามารถเอาไปทำอะไรได้อีกเยอะ”
จีรนุช เป็น Chocolate Lover เธอเลยมีความสุขที่ได้ทำธุรกิจที่รัก และยังสนุกกับการเรียนรู้การทำช็อกโกแลตที่ไม่มีจบ เรียนไปเรื่อยๆ พร้อมกับทำขายไปเรื่อยๆ และยังเปิดสอนทำช็อกโกแลตเพื่อให้คนอื่นมีโอกาสมาเรียนรู้ไปกับเธอด้วย เมื่อถามถึงเป้าหมาย เธอบอกว่า ฝันอยากเห็น Bean to Bar Chocolate ส่งออกไปต่างประเทศ เป็นแบรนด์ช็อกโกแลตไทยที่ไปเฉิดฉายอยู่ในตลาดโลก
“จริงๆ มันก็เหนื่อยนะ การทำส่งออก เพราะเหมือนกับการก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง แต่เป็นความท้าทายที่ถ้าเราไม่ก้าว เราก็ไม่โต” เธอบอกในตอนท้าย
และนี่คือเรื่องราวของคนทำช็อกโกแลต ใน จ.จันทบุรี ที่เริ่มทุกอย่างจากความรัก ทั้ง รักสุขภาพ รักช็อกโกแลต และรักในเมืองจันท์ จนกลายมาเป็น Bean to Bar Chocolate ช็อกโกแลตคีโตแบรนด์แรกของไทย ที่ยังคงค่อยๆ เติบโตอย่างงดงามในวันนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี