เปิดพันธกิจ “วีระพงศ์ มาลัย” หัวเรือใหญ่ สสว. ยุคโควิด ส่ง Academy ออนไลน์ให้ SME เรียนรู้ได้ 365 วัน

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย 





     นับเป็นการเข้ามารับตำแหน่งที่ท้าทายกว่าผู้นำในทุกยุค ทุกช่วงเวลา สำหรับ “รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หลังนั่งเป็น ผอ.สสว.คนใหม่ เมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา ในห้วงเวลาที่ประเทศไทย ยังเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 จนมาถึงปีนี้ก็ยังต้องผจญกับโควิดระลอกใหม่ กลายเป็นยุคที่  SME ส่วนใหญ่บาดเจ็บสาหัส และได้รับผลกระทบเชิงลบมากกว่าจะมีโอกาสเติบโตเหมือนในยุคที่ผ่านๆ มา


      กลายเป็นความท้าทายของผู้นำคนใหม่ในหน่วยงานที่มีพันธกิจบูรณาการผลักดันการส่งเสริม SME ไทย เขามีวิสัยทัศน์อย่างไร วางนโยบายและแนวทางในการขับเคลื่อน SME ไปในทิศทางไหน เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤต และมีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต SME Thailand มีบทสัมภาษณ์ที่จะตอบทุกคำถามของเขาคนนี้





     Q : นโยบายของ สสว. กับการดูแล SME ในยุคนี้เป็นอย่างไร
 

      A : ผมมองว่าเราอาจช่วยทุกคนไม่ได้ แต่เราน่าจะให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงโอกาสการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน กลไกหลักๆ ที่ สสว. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลนโยบายเกี่ยวกับ SME เราต้องชี้เป้า ชี้ทิศทางให้ SME ได้ว่า ตรงไหนควรให้การสนับสนุนเชิงลึก จากนั้นเราต้องบูรณาการ เชื่อมโยงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ SME ทั้งหมดเพื่อการแก้ปัญหาได้ตรงจุด


      ซึ่งหลักๆ สิ่งที่ SME ต้องการก็จะเป็นเรื่องของตลาด การเพิ่มประสิทธิภาพ แล้วก็การเข้าถึงแหล่งทุน เรื่องแรก “ตลาด” ไม่ว่าจะเป็นตลาดออนไลน์ ตลาดออฟไลน์ ตลาดในและต่างประเทศ เป็นการสร้างให้เกิดตลาด โดยหากเขายังไปตลาดต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องทำตลาดภายในประเทศให้เข้มแข็ง เรื่องที่ 2 คือ “การเพิ่มประสิทธิภาพ” เพื่อทำให้ SME มีต้นทุนน้อยลงและผลกำไรดีขึ้น และเรื่องที่ 3  “การเข้าถึงแหล่งทุน” ที่ผ่านมา SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคารได้มักมีปัญหาเรื่องของสภาพคล่อง โดยเฉพาะถ้าไม่ได้อยู่ในระบบ ไม่ส่งภาษี ซึ่งถ้าเราทำเรื่องที่ 1 กับ 2 ได้ เรื่องเงิน ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ SME ส่วนใหญ่กลับคิดเรื่องเงินเป็นอันดับแรก ทั้งที่เป็นตัวสุดท้ายด้วยซ้ำ เพราะถ้าเราเห็นตลาด สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โอกาสในเรื่องของเงินทุนก็จะตามมาเอง


      ฉะนั้น สสว. จึงต้องสร้างระบบนิเวศให้ผู้ประกอบการประกอบธุรกิจได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ซึ่ง 3 เรื่องใหญ่ที่เราจะทำ ก็คือ 1. เรื่องของมาตรการและนโยบาย ซึ่งจริงๆ ต้องใช้ข้อมูล เวลานี้เรากำลังทำเรื่องระบบฐานข้อมูลที่จะทำให้เห็นความต้องการของผู้ประกอบการ จัดการปัญหารายพื้นที่ที่ทำให้สามารถเห็นได้ว่าเขาอยู่ตรงไหน สุขภาพดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจเหล่านี้เข้าระบบ วันนี้เรามี SME ในระบบอยู่ประมาณ 3 ล้านราย แต่ความจริงแล้วอาจจะมีถึง 6 ล้านหรือ 9 ล้านราย ซึ่งเราดูแลกลุ่มนั้นไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเขาอยู่ตรงไหน หรือมีความต้องการอะไร
เรื่องที่ 2 คือการให้บริการใน 2 ลักษณะ คือ ออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งออฟไลน์เรามีโครงการ มีการจัดอบรม อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ส่วนออนไลน์ เราก็กำลังทำเรื่อง SME  Academy 365 เพิ่มเข้ามา ส่วนเรื่องที่ 3 การทำตัวอย่างนำร่อง ตลอดจนยกระดับเรื่องซัพพลายเชนต่างๆ


     ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกลไกที่จะทำให้เห็นว่า SME อยู่ที่ไหน แล้วชี้เป้าหมาย ชี้ทิศทางให้เขาไปหาหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำได้เราต้องเห็นก่อนว่า เขาต้องการอะไร


 

     Q : แล้ว สสว. จะผลักดันให้ SME เข้าสู่ระบบเพื่อมองเห็นพวกเขาได้อย่างไร
               

     A : เรามีโครงการผลักดัน SME เข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อเปิดตลาดให้ SME สามารถค้าขายกับภาครัฐได้ โดยมีสิทธิพิเศษ 2 ข้อคือ 1.กรณีคัดเลือก หน่วยงานต้องซื้อสินค้าจาก SME อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ และเลือกจากผู้ประกอบการในจังหวัดก่อน พูดง่ายๆ คือ หากมีงบ 100 ล้านบาท ต้องซื้อจาก SME 30 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมี SME ขึ้นทะเบียนประมาณ 5,000 กว่าราย เป้าหมายเราคือ 2564 ต้องขึ้นทะเบียนให้ได้ 1 แสนราย แต่เบื้องต้น SME ต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบของ สสว. ก่อน
               

     และ ข้อ 2 คือ SME ได้แต้มต่อสามารถเสนอราคาแพงกว่ารายใหญ่ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะชนะเป็นระบบอัตโนมัติ นี่เป็นนโยบายจากภาครัฐที่ต้องการให้ SME สามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นวงเงินจำนวนมากได้ ซึ่งในแต่ละปีรัฐบาลจัดซื้อจัดจ้างที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ดังนั้นมูลค่าที่ SME จะได้ไม่น้อยกว่าประมาณ 4 แสนล้านบาท
               

     นี่เป็นมาตรการที่ สสว. ช่วย SME ในเรื่องตลาด โดยมีภาครัฐเป็นกลไกหนึ่งที่ใช้ในการส่งเสริม นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ช่วยในเรื่องของความรู้ด้วย โดยล่าสุดเราเพิ่งเปิดตัว โครงการ SME Academy 365 และกำลังทำระบบโคชชิ่งออนไลน์คู่ขนานกันไป



 
               
     Q : อะไรคือ SME Academy 365 แล้วจะช่วยผู้ประกอบการ SME ได้อย่างไร
 
               
     A : เราตั้งใจว่า ใช้ในการเรียนรู้ได้ 365 วัน เป็นแหล่งรวมความรู้ของผู้ประกอบการ ซึ่งก็ไม่น่าจะมีที่ไหนที่สามารถเรียนได้ 365 วันตลอด 24 ชั่วโมง เลยต้องเป็นรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นแพลตฟอร์มกลางที่จะใช้สำหรับ SME ที่ต้องการเข้าถึงความรู้ ตั้งแต่กลุ่มที่เริ่มต้นธุรกิจ เติบโต ขยายธุรกิจ ไปจนถึงต้องการปรับเปลี่ยน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในทุกมิติ
               

     เราทำทั้ง 2 แบบคือ ทำเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง (Certificated) โดยความลึก รายละเอียดของเนื้อหาจะแบ่งเป็นทั้งส่วนที่เป็นวิชาการ กับส่วนที่นำเสนอสั้นๆ เข้าใจได้ง่าย เพราะบางครั้งผู้ประกอบการอาจจะขาดหรือคิดว่าตัวเองควรจะรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม ก็สามารถมาหาข้อมูลที่นี่และเรียนรู้ด้วยตัวเองได้
โดยนอกจากวิชาหลักๆ ที่มีความสำคัญกับผู้ประกอบการธุรกิจ ตั้งแต่เรื่องการตลาด การเงิน การบริหารจัดการต่างๆ แล้ว จะต้องถูกเสริมเข้าไปเป็นองค์ประกอบในการทำธุรกิจยุคนี้ นั่นคือ การทำธุรกิจในยุค New Normal และ Next Normal เป็นเรื่องของการใช้ดิจิทัลในการทำธุรกิจและการค้า ซึ่งนี่เป็น 2 เรื่องหลักที่จะถูกแทรกเข้าไปในวิชาอื่นๆ
               

     สสว. ทำสิ่งนี้เป็นเหมือนแพลตฟอร์มกลาง ถ้านึกถึงสถานีโทรทัศน์ที่ใหญ่ๆ แปลว่า เราต้องมีคอนเทนต์ที่เตรียมไว้ มีการคัดสรรและเลือกมาจากมหาวิทยาลัยหรือองค์กรทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงกับหน่วยของภาคเอกชนที่ทำคอนเทนต์หลักๆ อยู่แล้วด้วย




                 
     Q : หมายความว่าจากนี้ สสว. จะสื่อสารกับผู้ประกอบการ SME ผ่านโลกออนไลน์ให้มากขึ้นใช่หรือไม่
 
               
      A : ผมคิดว่าผู้ประกอบการทุกคนต้องการเรียนรู้ เป้าหมายของเราคือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ถ้าเขาอยากรู้อะไรก็มาฝากเรื่องไว้ในนี้ แล้วเราก็จะไปจัดหาคำตอบมาให้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ผู้ประกอบการร้านอาหารแต่ละร้านมีสิ่งที่อยากรู้ บางร้านอาจอยากรู้เรื่องที่ว่าด้วยการเก็บเงิน คิดบัญชี บางร้านอาจไม่จำเป็นแต่อยากได้วิธีการบริหารจัดการครัว บางร้านอาจจะอยากปรับปรุงร้าน หรืออยากรู้ว่าควรจะต้องทำระบบการจัดการด้านสาธารณสุขหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งในโลกความจริงวันนี้ ผมคิดว่าผู้ประกอบการบางคนดูจากยูทูบและดูจากช่องทางอื่นๆ บ้างอยู่แล้ว
               

      ในอดีตผู้ประกอบการบางรายทำอู่รับซ่อมรถ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เขาต้องรอรถรุ่นใหม่มา ต้องไปเรียนรู้ วันนี้ดูจากยูทูบก็รู้ว่าเปลี่ยนน้ำมันอย่างไร เปลี่ยนไส้กรองที่ไหน ไม่มีความจำเป็นต้องไปรอคู่มือแล้วเรียนรู้ใหม่เลย วันนี้การเรียนรู้มันทำได้เร็วขึ้น เรื่อง Academy เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียนรู้ เป็นความรู้ที่ SME สามารถเรียนเองได้ใน 365 วัน
               

     นอกจากเรื่อง SME Academy 365 แล้วก็จะมีเรื่องที่เราทำคู่ขนานกันไป นั่นคือ การโค้ชชิ่งออนไลน์  เราขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาด้านการเงิน การตลาด และอื่นๆ มาเป็นโค้ชให้ ผู้ประกอบการสามารถถามได้ แชตได้ หรือใช้กล้องถ่ายโรงงานมาให้เห็นเลยว่าเครื่องจักรคุณเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร คือการเป็นที่ปรึกษา แต่ยังอยู่ในช่วงการวางนโยบาย ซึ่ง SME จะได้เห็นเร็วๆ นี้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ สสว.กำลังดำเนินการอยู่เพื่อ SME
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย