PHOTO : แบรนด์ จั๊บ จั๊บ
อยากทำสินค้านวัตกรรม แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากไหนดี ลองดูแนวทางของ แบรนด์ “จั๊บ จั๊บ” (JUB JUB) ก๋วยจั๊บอุบลกึ่งสำเร็จรูป ที่ใช้วิธีขอซื้อสิทธิบัตรงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัย แล้วมาต่อยอดเป็นผลิตใหม่ พัฒนาแบรนด์จนประสบความสำเร็จ สามารถวางขายทั้งในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ร้าน 7-11 และขายผ่านออนไลน์ โดยยังคงทำเงินล้านได้แม้ในช่วงโควิด-19
พวกเขาทำได้อย่างไร มาดูกัน
เริ่มที่เงิน 6 หมื่น ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เงินล้าน
จุดเริ่มต้นของก๋วยจั๊บอุบลกึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ จั๊บ จั๊บ ก๋วยจั๊บที่อร่อยได้ใน 5 นาที แค่เติมน้ำร้อน มาจาก 5 พี่น้องตระกูล “อู่สมบัติชัย” โดยมี “มนัสชญาณ์ อู่สมบัติชัย” เป็นหัวเรือใหญ่ เริ่มจากในปี 2559 เธอเห็นข่าวงานวิจัยเส้นก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป ของ “ผศ.ดร.จิตรา สิงห์ทอง” อาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เธอในฐานะศิษย์เก่าและโปรดปรานเมนูนี้มาก เลยคิดต่อยอดงานวิจัยมาทำธุรกิจ จึงขอซื้อสิทธิบัตรงานวิจัยดังกล่าว โดยใช้เงินทุนที่ 60,000 บาท ซึ่งทางอาจารย์เห็นถึงความตั้งใจจริง จึงยอมมอบสิทธิ์ทางการค้าให้
เธอบอกว่า ในตอนแรกก็ไม่ได้มั่นใจว่าก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูปจะขายได้ แต่เป็นเพราะใจรักในเมนูท้องถิ่นนี้ จึงอยากลองทำ และคิดเอาว่า ถ้าไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด อย่างน้อยก็ถือว่าได้ลองแล้ว โดยกว่าสินค้านวัตกรรมที่ต่อยอดจากงานวิจัยจะออกวางจำหน่ายได้ ก็ต้องใช้เวลาพัฒนาต่ออีก 6 เดือน เพื่อลดขนาดเส้นให้เล็กลง เพิ่มเติมเครื่องเคียง อาทิ น้ำซุป หอมเจียว หมูยอ ฯลฯ
ถามว่าเริ่มยากแค่ไหน ในตอนเริ่มต้นเธอบอกว่า น้ำซุปใช้ผงสำเร็จรูปซื้อจากร้านทั่วไป หมูยอฟรีซดรายและหอมเจียวจ้างโรงงานผลิต พอได้ตัวสินค้าก็ลองเปิดตัววางจำหน่ายประมาณปี 2560 โดยเริ่มจากขายผ่านออนไลน์ ส่งขายตามร้านของฝากทั้งในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใหญ่ๆ ทางภาคอีสาน โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือ นักท่องเที่ยวที่ซื้อกลับไปเป็นของฝาก เหล่าคนอุบลไกลบ้านที่อยากกินเมนูท้องถิ่นนี้ แต่เธอยอมรับว่า ในช่วงแรกธุรกิจยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะลูกค้ายังติว่าน้ำซุปหวานเกินไป กว่าจะได้รสชาติเหมือนต้นตำรับก๋วยจั๊บอุบล ต้องใช้เวลาปรับปรุงนานอยู่นานเกือบ 2 ปี
ยกระดับสินค้านวัตกรรม ขายในห้างฯ ดังและ 7-11
มนัสชญาณ์ บอกเราว่า เธอและครอบครัวไม่เคยทำธุรกิจอาหารมาก่อน ฉะนั้นในตอนเริ่มต้นจึงต้องอาศัยการหาข้อมูลเยอะมาก และเรียนรู้ลูกค้าผ่านการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ เธอบอกว่า ไปออกบูธขายสินค้าเกือบทั่วจังหวัดอุบลฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าว่าชอบ หรือไม่ชอบ ตระเวนออกงานอยู่เกือบปี เพื่อให้ลูกค้าได้ลองชิม และนำผลตอบรับนั้นมาปรับปรุงก๋วยจั๊บของเธอให้ขายดีขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นกระแสบอกต่อในเวลาต่อมา
การเป็นสินค้านวัตกรรม ทำให้เพิ่มโอกาสในการขาย โดยก๋วยจั๊บอุบลกึ่งสำเร็จรูป จั๊บ จั๊บ มีทั้งแบบถ้วย และแบบซอง ภายในบรรจุด้วยเส้นก๋วยจั๊บอบแห้งปราศจากสารกันเสีย ผงน้ำซุป หมูยอ กระเทียมเจียว ต้นหอมซอย ซึ่งสามารถเทน้ำร้อนเดือดจัด ทิ้งไว้ 5 นาที พร้อมรับประทานได้ทันที ในส่วนอายุการเก็บรักษา ก็นานถึง 6 เดือน ในส่วนของ เส้นก๋วยจั๊บ ทำจากแป้งข้าวเจ้า ซึ่งพวกเขาจ้างโรงงานในชุมชนผลิตเป็นเส้นสด จากนั้นนำมาอบให้เป็นเส้นแห้งกึ่งสำเร็จรูปภายในโรงงานของตัวเอง โดยปัจจุบันผลิตได้วันละประมาณ 400 กิโลกรัม กำลังผลิตประมาณ 25,000 - 30,000 ซองและถ้วยต่อเดือน
ทำอย่างไรจะให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จั๊บจั๊บ ตัดสินใจส่งตัวเองเข้าประกวดรางวัล เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ ซึ่งหลังได้รางวัลมาก็ทำให้แบรนด์เล็กๆ กลายเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น จนมีโอกาสเข้าไปขายอยู่ใน 7-11 จากธุรกิจเล็กๆ เลยถูกยกระดับเรื่องมาตรฐานการผลิต จนได้รับเครื่องหมาย GMP, HACCP, Codex สามารถวางขายใน 7-11 กว่า 3,600 สาขา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางเขตในพื้นที่กรุงเทพฯ
แต่ไม่ใช่เท่านั้น เพราะยอดขายใน 7-11 คิดเป็นแค่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ที่พวกเขาทำตลาดอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น เพราะตลาดหลัก 70 เปอร์เซ็นต์ คือวางขายในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง และขายผ่านออนไลน์ และยังคงขายดิบขายดีแม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19
อานิสงส์จากโควิด ทำยอดขายพุ่งหลายพันซองต่อสัปดาห์
ในวิกฤตโควิด หลายธุรกิจอาจประคับประคองตัวไปอย่างยากลำบาก แต่สำหรับสินค้านวัตกรรมอย่าง จั๊บ จั๊บ กลับขายดิบขายดี โดยมียอดขายเพิ่มสูงขึ้น เธอยกตัวอย่างให้ฟังว่า ปกติสินค้าวางขายอยู่ใน 7-11 ประมาณเดือนละ 16,000 ห่อ แต่ในช่วงโควิดปีที่ผ่านมา สินค้าเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นราว 4,800 ซอง ต่อสัปดาห์ เพราะเป็นหนึ่งในสินค้าที่ลูกค้าสามารถทำทานเองได้ง่ายๆ แม้ช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน และทำงาน Work From Home
และนั่นเองที่ทำให้ในช่วงวิกฤตโควิด -19 เธอยังรักษาสภาพการจ้างงาน ที่มีคนทำงานอยู่ 25 คน ไม่ให้ต้องตกงาน คนงานในโรงงานที่ส่งวัตถุดิบให้ จั๊บ จั๊บ ก็ยังคงมีงานทำ ขณะที่เกษตรกรที่ส่งข้าวเจ้าให้ก็ยังมีรายได้ กลายเป็นธุรกิจเกื้อกูลที่ยังโตไปด้วยกันได้ แม้ในห้วงเวลาที่ทุกคนเรียกว่าวิกฤต
บทเรียนความสำเร็จจากแบรนด์ที่ชื่อ จั๊บ จั๊บ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่เกิดขึ้นจากการนำความชอบมาต่อยอดเป็นธุรกิจ การพึ่งพาสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาสินค้านวัตกรรมเพิ่มแต้มต่อในตลาด จนสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างแบรนด์ให้ของธรรมดาๆ กลายมาเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับทั้งตัวเธอ และผู้คนที่อยู่ร่วมห่วงโซ่เดียวกันได้
และความสำเร็จเดียวกันนี้ SME รายอื่นก็ทำได้เช่นกัน เพียงแค่เรียนรู้ และลงมือทำเท่านั้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี