PHOTO : ข้าวฅนอินทรีย์ จังหวัดพิจิตร
เส้นพาสต้าและราเมง ที่เสิร์ฟความอร่อยอยู่ในตลาดโลก มีจุดเริ่มต้นในแปลงนาข้าวแข็งอินทรีย์มาตรฐานส่งออก ของ “กลุ่มข้าวฅนอินทรีย์ จังหวัดพิจิตร” พวกเขาผลิตข้าวแข็งอินทรีย์คุณภาพได้ประมาณ 100 ตันต่อปี ส่งโรงงานแปรรูปเป็นแป้ง เส้นพาสต้า และราเมง เมื่อข้าวเคมีเปลี่ยนเป็นข้าวอินทรีย์แถมยังมีมาตรฐานสากลรองรับ ทำให้สามารถขยับราคาผลผลิตจากหลักพันขึ้นเป็นหลักหมื่น แถมผลิตได้เท่าไรลูกค้าเหมายกล็อต และยังจ่ายเงินล่วงหน้าอีกด้วย
เบื้องหลังความสำเร็จคือเกษตรกรหนุ่มที่ชื่อ “สิทธา สุขกันท์” ผู้นำกลุ่มข้าวฅนอินทรีย์ จังหวัดพิจิตร ลูกหลานเกษตรกรที่ไปคว้าปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยทำงาน NGO ก่อนกลับมาเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด หนึ่งในความรักและความภาคภูมิใจของเขา
หนุ่มรัฐศาสตร์ผู้รักในอาชีพเกษตรกร
รัฐศาสตร์และเกษตร คือสองสิ่งที่สิทธาหลงใหล เพียงแต่เมื่อวัยเด็กเขาก็เป็นเหมือนลูกหลานเกษตรกรคนอื่นที่พ่อแม่ไม่อยากให้ทำเกษตรเพราะกลัวจะมีชีวิตที่ลำบาก เขาเลยตัดสินใจไปเรียนรัฐศาสตร์ แต่มีความฝันและมุ่งมั่นที่อยากจะยกระดับอาชีพชาวนาให้เทียบเท่ากับอาชีพอื่นๆ ให้ชาวนามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
หลังเรียนจบเขาไปทำงานกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision Foundation of Thailand) อยู่ที่มุกดาหาร ระหว่างนั้นเองที่ก็ซ้อมเป็นเกษตรกรด้วยการไปเช่าพื้นที่ทำนา เรียนรู้การทำนาอินทรีย์แบบทางอีสาน มีโอกาสอยู่ในกลุ่มที่ทำเรื่องมาตรฐานส่งออก ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของยุโรป อเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น เก็บเกี่ยวเป็นองค์ความรู้ติดตัวเขา
“ตอนนั้นพ่อแม่ผมที่พิจิตรเริ่มกลับมาทำนา ก็สังเกตว่าทำไมเขาต้องซื้อปุ๋ยซื้อยา ต้องเอาเงินไปจ่าย เลยไปหาวิธีการว่าทำยังไงให้ไม่ต้องเสียเงินกับของพวกนี้ เลยเริ่มหาความรู้มาช่วยแม่ โดยไปศึกษาเรื่องการทำปุ๋ยน้ำหมัก การทำ
จุลินทรีย์สรรพสิ่ง เพราะอยากจะช่วยที่บ้าน แล้วลองเอาน้ำหมักไปให้ที่บ้านใช้ดู ซึ่งในปี 2552 มีปัญหาเพลี้ยระบาดทั่ว จ.พิจิตร ปรากฏพอเอาน้ำหมักจุลินทรีย์สรรพสิ่งมาใส่ อาทิตย์เดียวตัวเพลี้ยบินไปหมดเลย กลายเป็นว่ามันมีประสิทธิภาพสูงมาก หลังจากนั้นผมก็มาฝึกทำนาที่อีสานต่อ แต่มองว่าการปลูกต้นไม้สักต้นมันก็เป็นที่ดินของเขา เลยตัดสินใจย้ายกลับมาที่บ้าน แล้วเอาความรู้เรื่องการทำมาตรฐานอินทรีย์ส่งออกมาทดลองทำที่บ้านใน จ.พิจิตร”
ดึงจุดแข็งของพื้นที่ สร้างโอกาสใหม่ให้ก่อเกิด
สิทธา ไม่ได้กลับมาบ้านเพื่อเริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์แบบไม่ลืมหูลืมตา แต่เขาเริ่มจากการวิเคราะห์จุดแข็งของ จ.พิจิตร นาภาคกลางที่เด่นเรื่องการปลูกข้าวแข็ง ข้าวที่นำไปส่งโรงสี ส่งโรงแป้งเพื่อทำเป็นเส้นต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากทางอีสานซึ่งจะเน้นปลูกข้าวหอมมะลิกับข้าวเหนียวเป็นหลัก
“ภาคกลางเรามีจุดแข็งคือข้าวแข็ง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีมาตรฐานส่งออก โดยเฉพาะการทำข้าวแข็งอินทรีย์ส่งออกซึ่งมีความต้องการในตลาดอย่างมาก และค่อนข้างหายาก คือในภาคกลางแทบไม่มีเลย ภาคเหนือตอนล่างก็แทบจะไม่มีส่วนทางอีสานก็เหมือนต้องไปแย่งพื้นที่ปลูกกับข้าวชนิดอื่น ซึ่งทำให้หายากเข้าไปอีก ในส่วนของผู้ซื้อเองอย่างโรงงานผลิตก็มีความต้องการเยอะมาก เราเลยจัดยุทธศาสตร์ 2 อย่าง คือทำข้าวแข็งสำหรับส่งออก และทำข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่สำหรับขายคนในประเทศ” เขาเล่า
สิทธาใช้ทักษะของการเป็นนักส่งเสริม เข้าถึงและเข้าใจ ทำงานแบบลงพื้นที่ใกล้ชิดชาวบ้าน ในแบบรัฐศาสตร์กับ NGO มาเริ่มภารกิจพลิกฟื้นนาข้าวแข็งอินทรีย์ จ.พิจิตร โดยเริ่มจากแบ่งที่นาของครอบครัวมาทดลองทำ 1 แปลง ประมาณ 15 ไร่ เวลาเดียวกันก็ทำน้ำหมักไปให้นาเคมีของแม่ใช้ จนสามารถลดการซื้อยาลงได้ ต้นทุนการทำนาก็เลยลดลงตามไปด้วย เมื่อนาอินทรีย์ที่ทำเริ่มเห็นหนทางไปต่อ ก็รวมกลุ่มชาวนาตั้งเป็น “กลุ่มข้าวฅนอินทรีย์ จังหวัดพิจิตร” มีสมาชิกอยู่ที่ 17 คน ใน 6 อำเภอ รวมพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ เป็นกลุ่มผู้ผลิตข้าวแข็งอินทรีย์ส่งออก ที่ได้มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป และแผนงานเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ (National Organic Program-NOP) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา มีผลผลิตข้าวแข็งอินทรีย์คุณภาพที่สามารถแปรรูปเป็นแป้งได้ดี ส่งให้กับบริษัทแปรรูปเส้นราเมง และพาสต้าสำหรับส่งออก โดยส่งผลผลิตแปรรูปเพื่อส่งออกประมาณ 100 ตันต่อปี ส่วนอีก 100 ตันเป็นผลผลิตที่จำหน่ายในประเทศ
ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ มีเท่าไรลูกค้าเหมายกล็อต
แม้การทำนาอินทรีย์จะไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลานานกว่าจะทำให้ชาวนาเข้าใจ รวมถึงได้ผลผลิตคุณภาพในแบบที่ต้องการ แต่เมื่อมองถึงผลลัพธ์จากการทำงานเขาบอกว่า...คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
“ภาคกลางทำข้าวอินทรีย์มาตรฐานส่งออกยากมาก เพราะส่วนใหญ่เขาจะใช้ปุ๋ยใช้ยาแรง ต้องได้ผลผลิตต่อไร่สูงๆ นี่เป็นความคิดของคนดั้งเดิม แต่พอเรามาเปลี่ยนโดยทำให้เห็นว่า ข้าวอินทรีย์มันขายได้ กลายเป็นว่าตอนนี้ข้าวของเราที่เป็นข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ลูกค้าซื้อล่วงหน้าแบบเหมายกล็อตเลย มีเท่าไรเขารับซื้อหมด และมีการจ่ายเงินล่วงหน้าด้วย 50 เปอร์เซ็นต์ เขาเอาไปผลิตเป็นเส้นพาสต้า ราเมง ส่งไปยุโรปและอเมริกาอีกที ปกติข้าวแข็งที่เป็นเคมีจะขายอยู่ที่ตันละ 9,000-9,500 บาท แต่พอเป็นอินทรีย์ขายที่ 14,000-15,000 บาท แตกต่างกันที่ตันละ 5-6 พันบาท สมมติเรามี 100 ตัน ตันละ 15,000 บาท ก็อยู่ที่ประมาณ 1,500,000 บาท เขาก็จะเขียนสัญญาจ่ายเงินให้เราล่วงหน้าเลย 750,000 บาท ถ้าเราผลิตได้ไม่ถึงเขาก็ไม่ปรับเงินหรือถ้าเราผลิตเกินเขาก็ไม่ว่า สุดท้ายเราส่งผลผลิตไปเท่าไหร่ ถ้าเราเอามาเกินก็แค่คืนเงินส่วนเกินให้เขาแค่นั้นเอง” เขาเล่าแต้มต่อของชาวนาอินทรีย์ที่มีมาตรฐานส่งออกในวันนี้
เมื่อถามว่าการทำนาอินทรีย์ยากกว่านาเคมีมากไหม คนทำบอกเราว่าไม่ได้ยากกว่ามากมาย เพียงแต่ต้องเตรียมอะไรเยอะกว่า เพราะว่าปุ๋ยและยาเกษตรกรต้องเตรียมเอง ถ้าจะไปซื้อข้างนอกก็ต้องเลือกที่มีใบรับรองว่าเป็นอินทรีย์เท่านั้น เพราะฉะนั้นเกษตรกรจึงเลือกที่จะทำกันเอง และดูแลด้วยความใส่ใจมากกว่านาเคมี
เกษตรอินทรีย์ต้องใช้เวลา และตลาดต้องมาก่อนการผลิต
สิทธาเริ่มทำนามาตั้งแต่ปี 2552 และเริ่มรวมกลุ่มทำนาอินทรีย์ในปี 2558 ระหว่างทางต้องล้มลุกคลุกคลาน และใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะผ่านมาตรฐาน และให้ผลลัพธ์ต่างๆ กลับมายังเขาและกลุ่มชาวนา เมื่อถามหัวใจของความสำเร็จเขาบอกแค่ว่า
“ผมมองว่าเวลาทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด การทำคนเดียวมันยาก แต่ถ้าเราทำร่วมกัน และช่วยกันทำมันก็จะไปได้ดีขึ้น เรามองที่เป้าหมายไม่ใช่ปัญหา ปัญหามี แต่ไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา เพราะส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาจากคน ไม่ได้เป็นปัญหาจากงาน หรือจากกลุ่มของเราเอง ฉะนั้นเป้าหมายของเราต้องชัดเจน วันนี้ชาวนาที่รวมกลุ่มกัน เขารู้สึกรักและเห็นคุณค่าในอาชีพ แล้วเขาก็ภูมิใจในอาชีพชาวนามากขึ้น ลูกหลานเองก็เริ่มเห็นว่าอาชีพเกษตรกรเดี๋ยวนี้ไม่ธรรมดา ทัศนคติเขาเปลี่ยนไป วันนี้กลุ่มของเรามีความรู้ ไม่ต้องซื้อปุ๋ยซื้อยา เรามีมาตรฐาน และมีตลาดรองรับ เรามีผู้ซื้อล่วงหน้าที่ทำให้ผลผลิตของเราขายได้จริง ไม่ใช่มามโนเอาเอง เราเป็นกลุ่มที่ไม่มีโรงสี ไม่มีโกดัง ไม่มีแม้แต่ที่ทำการกลุ่ม แต่เราสามารถทำข้าวส่งออกได้ เพราะอะไรที่เราขาดก็สามารถไปซับคอนแทร็กได้ ไม่ต้องทำเองทั้งหมด แต่เรามีกระบวนการจัดการของเราเอง เราใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนอย่างอื่นเมื่อไหร่พร้อมค่อยมี” เขาบอกหัวใจของการทำเกษตรยุคใหม่
วันนี้เริ่มจากขายข้าวให้กับโรงงาน แต่สิ่งที่อยู่ในแผนของพวกเขายังมีอะไรที่มากกว่านั้น โดยเขาบอกว่า ข้าวเปลือกมีทางไปแล้ว ต่อไปก็จะทำตลาดข้าวกล้อง และพัฒนาไปสู่เรื่องการแปรรูปต่อไป
“ตอนนี้เราทำตลาดข้าวกล้อง ข้าวสารเพิ่มเข้ามา ต่อไปก็จะทำเรื่องการแปรรูป รวมถึงพืชชนิดอื่น เราจะวางเป็นสเต็ปไป เอาตามความเหมาะสมของสมาชิกแต่ละคน เขาถนัดอะไรก็ให้ปลูกอย่างนั้น โดยตอนนี้เรากำลังทำเรื่องกล้วยน้ำว้าอินทรีย์ส่งออกอยู่ ซึ่งกว่าสมาชิกจะปลูกได้และให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาดจำเป็นที่ต้องใช้เวลา รวมถึงอนาคตเราจะทำเรื่องการแปรรูปอาหารเพื่อสุขภาพด้วย โดยใช้ข้าวและกล้วยอินทรีย์มาทำ เช่น อาจจะทำออกมาเป็นแบบชงดื่ม และขนมอบกรอบออร์แกนิก เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มของเรา แล้วก็ขยายฐานสมาชิกและเครือข่ายไปยังจังหวัดอื่นๆ ให้มากขึ้นด้วย”
สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากกลับไปเป็นเกษตรกรหรือทำธุรกิจเกษตรในบ้านเกิด เขาบอกว่า อยากให้เริ่มจากวิเคราะห์ตนเอง และวิเคราะห์พื้นที่ที่อยากกลับไปพัฒนา ว่าเดิมมีการทำอะไรอยู่แล้วเราจะไปต่อยอดหรือทำให้ดีขึ้นจากเดิมได้อย่างไร
“เขาต้องเริ่มจากค้นหาตัวเองให้เจอว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร จากนั้นต้องวิเคราะห์ทางบ้านว่ามีพื้นฐานอะไรอยู่ มีที่สวนที่ไร่ที่นาหรือแปลงผักอะไร แล้วที่บ้านมีองค์ความรู้อะไรที่เราจะเรียนรู้ได้บ้าง จากนั้นค่อยเอาองค์ความรู้จากการที่เราไปเรียน ไปอบรม ไปดูงานต่างๆ มาพัฒนาผนวกกัน ทำจนเริ่มมั่นใจและเห็นว่าถูกช่องก็ค่อยเดินหน้าต่อ ที่สำคัญต้องหาตัวตนของเราให้เจอ มันจะทำให้เราไม่ต้องไปลอกเลียนแบบใคร เราจะเป็นเกษตรกรในแบบของตัวเอง เป็นเกษตรอินดี้ในแบบตัวเราเอง ขอแค่ไปปลุกความชอบของเราให้ตื่น แล้วเราก็จะไปต่อได้เอง” เขาบอกในตอนท้าย
และนี่คือเรื่องราวของเกษตรกรยุคใหม่ ที่เลือกคิดและทำแบบใหม่ จนสามารถยกระดับชาวนาให้ผลิตข้าวคุณภาพมาตรฐานส่งออก ที่มีตลาดรองรับแน่นอน ขยับรายได้ให้มากขึ้น ต้นทุนลดลง และยังเห็นโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต ไม่ต้องติดอยู่กับวังวน “ชาวนาผู้ยากจน” เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี