“โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” 8 ปี ล้างหนี้ 50 ล้าน ปรุงเสน่ห์กาแฟอีสานมุ่งสู่ตลาดโลก

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว





     กาแฟอาราบิก้าหอมกรุ่น เสิร์ฟให้สัมผัสท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ของอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา มีผลผลิตกาแฟคุณภาพส่งให้กับร้านกาแฟทั่วประเทศ มีผลิตภัณฑ์กาแฟและเครื่องสำอางจากกาแฟพรีเมียม สร้างชื่อแบรนด์ “โรงคั่วกาแฟ” (Coffee Factory) จนเป็นที่รู้จักกันถ้วนทั่ว


     เบื้องหลังความสำเร็จคือชายที่ชื่อ “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” เจ้าของธุรกิจ “โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” อดีตเด็กหนุ่มที่เคยสร้างธุรกิจร้อยล้านได้ตั้งแต่ในวัย 20 ต้นๆ แต่ก็ต้องจบลงด้วยการเจ๊ง! ในเวลาเพียง 4 ปี ต้องแบกรับหนี้สินนับ 50 ล้านบาท เคยผ่านชีวิตที่มืดแปดด้าน จนมาพบทางออกเมื่อได้เริ่มต้นธุรกิจกาแฟครบวงจรที่วังน้ำเขียว     


      เขารับมือกับทุกเรื่องราวที่ผ่านมาอย่างไร มาฟังคำตอบที่จะเปลี่ยนความคิดคุณไปพร้อมกัน



 

     Q :  ก่อนจะมาเป็นโรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว ทราบว่าคุณเองก็เคยล้มเหลวมาก่อน ตอนนั้นทำอะไร แล้วความล้มเหลวที่ว่าหนักหนาแค่ไหน


     A : ผมเรียนจบนิเทศศาสตร์ แต่อยากเป็นผู้ประกอบการเพราะโดยนิสัยของผมแล้วชอบเป็นนักขายมาตลอด ไม่ชอบทำงานรูทีน เลยมาเริ่มธุรกิจแรกของตัวเองทำพวกนำเข้าอะไหล่คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อยู่ที่ดอนเมือง กรุงเทพฯ ตอนนั้นมีรายได้อยู่ที่ปีละประมาณ 120 ล้านบาท แต่ทำได้ประมาณ 4 ปี ปรากฎปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทำให้ธุรกิจผมเสียหายอย่างหนัก จนต้องปิดตัวลงในปีต่อมา ผมเริ่มทำธุรกิจตอนอายุ 24 ปี แต่ต้องมาเป็นหนี้ 50 ล้านบาท ตอนอายุ 29 ปี มันแย่มาก แล้วผมเองก็ยังเด็กด้วย ไม่มีที่ปรึกษา ไม่ได้มีสติสตางค์อะไรเลย ไม่รู้จะไปทางไหนมันมืดแปดด้านไปหมด เพิ่งเข้าใจในตอนนั้นเองว่า คำว่ามืดแปดด้านเป็นยังไง


     สุดท้ายผมตัดสินใจกลับบ้านคิดว่าจะไปหาวิธีตั้งสติก่อนแล้วค่อยออกมาเผชิญโลกใหม่อีกครั้ง ค่อยมาคิดว่าจะจัดการกับหนี้ 50 ล้านบาทนั้นยังไง เลยตัดสินใจไปบวช  พอได้สติกลับมาผมก็ออกมาดำเนินชีวิตเพื่อที่จะมารับผิดชอบกับสิ่งที่ต้องทำนั่นคือจัดการกับหนี้ที่ผมมี



 

     Q : คุณกลับมาเริ่มต้นใหม่ยังไง แล้วใช้วิธีไหนจัดการกับหนี้ก้อนโตนั้น


     A : ผมมาคิดว่าต้องมองหาธุรกิจใหม่ทำ จังหวะมีโอกาสเดินทางไปเที่ยววังน้ำเขียว เขาใหญ่ เพราะต้องการพักผ่อนสมอง ปรากฎไปเจอที่ดินอยู่แปลงหนึ่งที่อำเภอวังน้ำเขียว เห็นแล้วรู้สึกชอบมาก ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า เราต้องตั้งหลักแล้วทำตัวเองให้แข็งแรงให้ได้ก่อน ก็เริ่มจากทำเกษตรพอเพียงโดยเอาทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ เพื่อให้มีปัจจัย 4 ดำรงชีวิต โดยเริ่มจากเช่าที่ดินแปลงหนึ่งจำนวน 5 ไร่ ที่วังน้ำเขียว ปลูกผักปลูกข้าวทำเกษตรพอเพียง ประมาณ 1 ปี ทั้งทำกินเองที่เหลือก็แบ่งขาย


     จนวันหนึ่งผมไปจับจุดได้ว่า มีคนที่เอากาแฟอาราบิก้าไปลองปลูกที่วังน้ำเขียว ได้มีโอกาสไปเจอก็เลยเกิดไอเดียว่ากาแฟอีสานเป็นอาราบิก้าที่ผลผลิตดีมาก งามมาก ด้วยอากาศมันเย็น อุณหภูมิดี ดินก็ดี และที่นั่นเป็นเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วด้วย ในตลาดก็ไม่ค่อยมีใครทำกาแฟอีสาน ส่วนใหญ่ยังเป็นภาคเหนือกับภาคใต้มากกว่า ผมทดลองปลูกและผลผลิตก็ค่อนข้างดี เลยเริ่มศึกษาที่จะแปรรูปกาแฟอาราบิก้าที่ปลูกบนพื้นที่อีสาน ก็ไปศึกษาทางภาคเหนือ ถามคนที่รู้ ไปกินไปนอนกับเขา เพื่อศึกษาวิธีการแปรรูปกาแฟ แล้วก็กลับมาเริ่มต้นทดลองพัฒนากับวังน้ำเขียว ปรากฏว่ามันมีรสชาติที่ดีมีเอกลักษณ์มีความหอมละมุนลิ้น เป็นคาแรกเตอร์ของกาแฟอีสาน เลยจุดประกายว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนได้รู้ว่าเรามีกาแฟดีๆ อยู่ที่วังน้ำเขียว



 

     Q : คุณเริ่มสร้างแบรนด์กาแฟให้กับวังน้ำเขียวอย่างไร ทำอย่างไรให้เป็นที่รู้จักขึ้นมาหลังจากนั้น


     A : ผมมีโรงเลี้ยงวัวเก่าๆ อยู่โรงหนึ่ง ก็เลยประยุกต์มาเป็นร้านกาแฟแบบแฮนด์เมด เพราะว่าเราไม่มีทุน เริ่มจากการคั่วกาแฟด้วยกระทะทองเหลืองกับเตาถ่าน คั่วเองบดเองดริปเอง ตั้งชื่อว่า “โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” โดยเริ่มทำเป็นธุรกิจจริงจังเมื่อประมาณปี 2557 โดยใช้เงินก้อนสุดท้ายที่ 2 แสนบาท มาทำ ภายหลังก็ได้ SME D Bank มาช่วยด้วย เราเริ่มปลูกกาแฟกัน แล้วก็มีชาวบ้านที่ปลูกก็เอาผลผลิตมาแปรรูปกับเราและทดลองปลูกเพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นพอโลกโซเชียลแชร์เรื่องของพวกเราออกไป คนมากมายก็สนใจที่จะมาดูเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ทำกาแฟในภาคอีสานและแปรรูปเองด้วยวิถีแฮนด์เมด เราก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักขึ้นมา


     เริ่มขยายจากตรงนั้น มีทุนก็ค่อยๆ มาต่อยอด จนวันนี้เรากลายเป็นโรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว ที่ครบวงจรและมีชาวบ้านในชุมชนที่ปลูกกาแฟอยู่เบื้องหลัง ส่งผลผลิตให้โรงคั่วกาแฟเพื่อแปรรูป โดยตอนนี้เรามีโปรดักต์อยู่ประมาณ 20 รายการ ที่เป็นกาแฟคั่วสดซึ่งส่งให้กับร้านกาแฟรายย่อยทั่วประเทศ แล้วก็พัฒนาสินค้ามาเรื่อยๆ จากการลองผิดลองถูก จนเราเริ่มมีคุณค่าทางแบรนด์ที่เข้มแข็ง ตลาดทั่วประเทศยอมรับ และพัฒนามาสู่ Cosmetic Coffee  ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกาแฟพรีเมียม โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “โรงคั่วกาแฟ” หรือ Coffee Factory ทำพวก แชมพู  สบู่  ครีมอาบน้ำ ฯลฯ ที่คนต้องใช้ทุกวัน กลายเป็นว่า Cosmetic Coffee เป็นอะไรที่แปลกใหม่ และคนก็ให้ความสนใจอย่างมาก



 

     Q : จากโรงคั่วกาแฟ ร้านกาแฟ ทำไมถึงกลายเป็นเครื่องสำอางจากกาแฟไปได้ แล้วสินค้าใหม่นี้สร้างโอกาสให้กับโรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว ในวันนี้อย่างไร


     A : เนื่องจากการแข่งขันในตลาดกาแฟค่อนข้างสูง และต้องยอมรับว่า คนส่วนใหญ่ยังยึดติดว่ากาแฟที่ดีต้องปลูกในภาคเหนือหรือภาคใต้เท่านั้น แต่คนยังไม่ได้ยอมรับกาแฟอีสานสักเท่าไร เราจึงต้องหาวิธีทำให้คนยอมรับกาแฟของเรา โดยนำเสนอว่าเราเป็นกาแฟที่ปลูกแบบออร์แกนิก 100 เปอร์เซ็นต์ เราทำด้วยหัวใจของพวกเราที่เป็นกลุ่มเกษตรกร แล้วกาแฟอาราบิก้าของเรามีคาแรกเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ มีความหอม ได้บอดี้ มีความละมุน และมีกลิ่นที่มีเสน่ห์ ซึ่งแตกต่างจากภาคอื่น และเรายังมีคาเฟอีนแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้ในเรื่องของสุขภาพด้วย แต่ว่าที่ผ่านมากาแฟเราเหลือเยอะ โดยเรามีเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟอยู่ที่ประมาณ 50 ครอบครัว พื้นที่รวม 100 ไร่ ผลิตกาแฟได้ประมาณ 20 ตันต่อปี คราวนี้เกษตรกรตาดำๆ ที่ผมดูแลอยู่ เขาปลูกแล้วจะไปส่งขายที่ไหนถ้าไม่มีตลาด เพราะเขามั่นใจว่าเด็กหนุ่มคนนี้จะเป็นตลาดให้เขาได้ จะเป็นรายได้เสริมให้เขาได้ ผมเลยต้องแบกรับความรับผิดชอบตรงนั้นด้วยการกลับมาคิดว่า จะทำยังไงให้ผลผลิตขายออกไปได้ แล้วกลับมาเป็นรายได้สู่ชุมชน


     ในปี 2559-2560 ผมเลยพัฒนามาเป็น Cosmetic Coffee ที่ใช้กาแฟพรีเมียมมาทำ ซึ่งกลายเป็นว่าทุกคนยอมรับและกาแฟเรามีไม่พอผลิตขาย โดยผลผลิตของเราถูกนำมาทำกาแฟแปรรูป เช่น เมล็ดกาแฟคั่ว  กาแฟดริปสำเร็จรูป ชาดอกกาแฟ ที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มเครื่องสำอาง เช่น แชมพู  สบู่  ครีมอาบน้ำ อีก 50 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตในมือที่มีปีละ 20 ตัน เริ่มไม่พอ เราเลยต้องเซ็น MOU และช่วยเหลือเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในภูมิภาคอื่นด้วย ซึ่งการมาทำ Cosmetic Coffee  ทำให้เรามีกำไรดีกว่าเดิมเยอะมาก อย่างปกติเราขายเมล็ดกาแฟไปให้ร้านกาแฟจะได้กำไรประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์  แต่พอเป็นเครื่องสำอางเราได้กำไร 100 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งแตกต่างกันมาก


     ผมเองวางแผนที่จะทำให้คนทั้งโลกได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของคนไทย ที่มาจากผลิตผลของคนไทย ให้คนทั้งโลกมองเห็นว่าสินค้าของเรามีมาตรฐานที่ดีและมีคุณภาพที่ดีจริงๆ ที่จะส่งต่อให้กับผู้คนบนโลก ซึ่งในอนาคตก็หวังที่จะให้แบรนด์ โรงคั่วกาแฟ หรือ Coffee Factory  เติบโตไปในระดับโลกได้



 

     Q : กลับมาถึงเรื่องหนี้สินที่มีอยู่ คุณใช้เวลานานแค่ไหนในการจัดการหนี้ทั้งหมดนั้น และบทเรียนในอดีตสอนอะไรคุณ ส่งผลต่อการทำธุรกิจในวันนี้อย่างไร


     A : ผมใช้เวลา 8 ปี ก็สามารถปลดหนี้ 50 ล้านบาทได้สำเร็จ ซึ่งสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมาก็คือ การทำธุรกิจเราต้องหมุนตามโลกให้ทัน สภาพสังคมแวดล้อมที่มันเปลี่ยน เราต้องขยับตัวตามอยู่ตลอดเวลา และต้องยอมรับว่าระหว่างทางเราอาจต้องเจอกับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม ใครจะคิดว่าวันหนึ่งน้ำจะท่วมดอนเมือง ท่วมกรุงเทพฯ ใช่ไหม หรือใครจะคิดว่าวันหนึ่งเราจะเจอกับสงครามชีวะ สงครามโรคระบาด ที่กระทบถึงกันหมด เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าเราไม่ปรับตัว ไม่พัฒนาเรื่องของการบริหารจัดการ ตลอดจนตัวสินค้า เราก็คงจะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องไม่ยึดติดแต่ปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา


     โดยส่วนตัวผมยังเชื่อว่ามันมีโอกาสในวิกฤตเสมอ ถ้าเรามาถูกช่อง ถูกจังหวะ ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ที่วิธีคิดของพวกเราทั้งนั้น ถามว่าวันนี้ผมกลัวการเป็นหนี้ไหม ยอมรับว่ากลัว เพราะว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าเราไม่มีหนี้ เรากินอิ่มนอนหลับ ไม่ต้องเอามือก่ายหน้าผาก แค่มีบ้านหลังเล็กๆ มีที่สักแปลงหนึ่งเราก็สามารถสร้างอาหารขึ้นมาได้แล้ว แต่ถ้าเราเป็นหนี้มันมีความเครียด ฉะนั้นเราต้องทำตัวให้เป็นหนี้ให้น้อยที่สุด แต่ถ้าการเป็นหนี้นั้นสามารถต่อยอดธุรกิจขึ้นไปได้ แล้วเรามีกำลังที่จะมาใช้มัน ก็ทำได้และน่าทำ ฉะนั้นต้องวิเคราะห์ให้ดีๆ ในระดับที่เรารับได้


      สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมในวันนี้ มาจากการตกผลึกการใช้ชีวิตกับตัวเอง รู้ว่าผมต้องการชีวิตแบบไหน อยากทำอะไร มีเป้าหมาย มีความฝัน มีแรงบันดาลใจทุกๆ วัน ที่จะเดินไปถึงความฝันและมีความสุขระหว่างทาง ผมมองว่าการมีแรงบันดาลใจในชีวิตมันสำคัญมาก เพราะถ้าวันไหนที่เราหมดแรงบันดาลใจ หรือไม่มีพลังใจ เราจะไม่มีชีวิตชีวา มันไม่อยากจะทำอะไร ห่อเหี่ยวไปหมด แล้วสิ่งใหม่ๆ ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยเพราะว่าเราสิ้นหวัง อย่างตัวผมเองที่ใช้หนี้ 50 ล้านบาทได้ เพราะว่าพลังใจล้วนๆ ผมใช้เงิน 2 แสนบาท มาต่อยอดจนกลายเป็นปิดหนี้ได้ มีกระแสเงินสดหลายสิบล้านบาท ทั้งหมดนี้เพราะพลังในตัวล้วนๆ ไม่ใช่เงิน เงินมันแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น
 

     สำหรับผมธุรกิจนี้มีคุณค่า เพราะว่ามันมีผลกำไรที่เป็นผลกำไรชีวิตด้วย ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจเดิมที่ผมทำ ซึ่งผลกำไรชีวิตก็คือความสุข มันไม่ใช่แค่เงินที่จับต้องได้ แต่มันเป็นความสุข โดย 50 เปอร์เซ็นต์คือกำไรที่เป็นตัวเงิน ที่ผมสามารถใช้หนี้สิน ดูแลครอบครัวและคนรอบข้างได้ แต่อีก 50 เปอร์เซ็นต์ มันคือกำไรชีวิตที่ทำให้ผมมีความสุขในทุกๆ วันที่ได้ทำงานนี้
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย