“Fruitaya” นวัตกรรมเพื่อคนรักสุขภาพ จากผู้บุกเบิกแก้วมังกรในประเทศไทย

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand และ Fruitaya





     เมื่อกว่า 20 ปีก่อน สวนเกษตรเล็กๆ แถวรังสิต คลอง 10 จ.ปทุมธานี ได้บุกเบิกนำ “แก้วมังกร” มาทดลองปลูกในประเทศไทย วันนี้พวกเขากลายเป็น สวนเกษตรแก้วมังกร บนพื้นที่กว่า 130 ไร่ มีผลผลิตแก้วมังกรคุณภาพกว่า 2 แสนกิโลกรัมต่อปี (200 ตัน) ส่งออกไปในหลายประเทศ และเมื่อ 3 ปีก่อน ยังให้กำเนิดแบรนด์ “Fruitaya”  (ฟรุตทายา) ผลิตภัณฑ์แยม น้ำแก้วมังกร และแก้วมังกรอบแห้ง นวัตกรรมความอร่อยจากผลผลิตทางการเกษตรที่เข้ามาตอบตลาดคนรักสุขภาพโดยเฉพาะ ซึ่งวางแผนส่งออกไปตลาดโลกเร็วๆ นี้


      พวกเขาสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร มาฟังคำตอบจาก Young Smart Farmer  เมืองปทุมฯ  “ฉัตรโสรฬ บุณยาคุมานนท์” เจ้าของกิจการ สวนเกษตรแก้วมังกร แบรนด์ Fruitaya กัน
 


 
           
แจ้งเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ แก้ปัญหาผลผลิตตกเกรด


     สวนเกษตรแก้วมังกร Fruitaya เน้นปลูกแก้วมังกรคุณภาพปราศจากสารเคมีใน 3 สายพันธุ์ คือ สีขาวเวียดนาม สีแดงไต้หวัน และสีทองอิสราเอล ลูกใหญ่ สีสวย รสชาติหอมอร่อย ได้รับการรับรองครบทั้ง Global G.A.P. (รับรองสินค้าระดับโลก) และ Q G.A.P. (การรับรองสินค้าจากกรมวิชาการเกษตร) ตอกย้ำความปลอดภัย และได้คุณภาพ พร้อมส่งออกเป็นผลสดสู่ตลาดโลก  


      ทว่าในแต่ละรอบของการปลูก จะมีผลผลิตประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในกลุ่ม “ตกเกรด” คือผิวไม่สวย ไม่ควรคู่แก่การส่งออก ทำให้ราคาตกฮวบ จากผลสดทั่วไปขายกันที่กิโลกรัมละ 45-60 บาท แต่ถ้าผลตกเกรดต้องขายเข้าตลาดโดนกดราคาเหลือแค่ 10-20 บาทเท่านั้น ทั้งที่อยู่ในแปลงเดียวกัน และเป็นแก้วมังกรปลอดสารคุณภาพเดียวกับตลาดส่งออกแท้ๆ พวกเขาเลยมองว่า แทนที่จะขายทิ้งแบบถูกๆ ควรจะเอาผลผลิตเหล่านั้นมาเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของ Fruitaya


      “เราเริ่มต้นด้วยความที่เป็นสวนแก้วมังกร ฉะนั้นเราไม่มีความรู้เรื่องการแปรรูปอะไรเลย แต่ตัวผมเองพอมีคอนเนกชันกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลยไปติดต่อขอความช่วยเหลือบอกว่าเราสนใจจะแปรรูปแก้วมังกร อาจารย์เลยช่วยคิดสูตรในการผลิตและขอทุนจากภาครัฐให้ เพราะมองว่ายังไม่มีแก้วมังกรแปรรูปในท้องตลาดบ้านเรามากนัก เลยเห็นเป็นโอกาสและพัฒนาออกมาเป็น แยมแก้วมังกร น้ำแก้วมังกร และแก้วมังกรอบแห้ง


      แต่ว่าสูตรของอาจารย์ยังเป็นการเติมน้ำตาลลงไป เลยมองว่าอาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าของเราที่ใส่ใจสุขภาพ และเราเองก็อยากขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติด้วย และเรามีจุดแข็งคือเป็นเจ้าของสวนเอง ดังนั้นเราสามารถคัดเกรดคุณภาพในเรื่องของรสชาติวัตถุดิบได้ตั้งแต่ต้นทางอยู่แล้ว  เลยพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ Function Food ที่ไม่มีการเติมน้ำตาลเข้าไป เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ"


      สินค้านวัตกรรมใหม่ใช้เวลาพัฒนาอยู่ประมาณ 8 เดือน ผลลัพธ์ที่ได้คือผลิตภัณฑ์แปรรูปคุณภาพที่ขยับราคาขายและโอกาสในการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ได้อีกหลายเท่า จากสินค้าตกเกรดขายได้กิโลกรัมละ 10-20 บาท เมื่อนำมาแปรรูปเช่นทำเป็นแก้วมังกรอบแห้งขายได้ถุงละ 69 บาท  
 


 

ไม่ใช่แค่แก้วมังกร แต่คือ Fruitaya


      คนเอเชียอาจเรียกแก้วมังกรตรงๆ ตัวว่า Dragon Fruit แต่ชื่อจริงๆ ของพวกมันคือ Pitaya เมื่อต้องมาทำผลิตภัณฑ์จากแก้วมังกร พวกเขาเลยตั้งชื่อว่า “Fruitaya” ซึ่งมาจากคำว่า “Fruit” ที่แปลว่าผลไม้ และ “Pitaya” แก้วมังกรนั่นเอง


      “เราใช้ชื่อว่า Fruitaya เพื่อไม่ให้ตีกรอบตัวเองเกินไปว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากแก้วมังกรเท่านั้น  แต่ในอนาคตเมื่อเราทำแก้วมังกรได้แล้ว ก็มีโอกาสที่จะนำผลไม้ชนิดอื่นมาแปรรูปในลักษณะเดียวกันด้วย เพื่อให้เราสามารถต่อยอดธุรกิจต่อไปได้ไม่ใช่แค่แก้วมังกรเท่านั้น” เขาบอกที่มาของชื่อ


      เมื่อถามถึงแนวทางการทำตลาดของแก้วมังกรแปรรูป เขาบอกว่ายังเน้นตลาดส่งออกเป็นหลัก เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ต่างประเทศชื่นชอบ มองเป็น Superfruit ที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น มีไฟเบอร์สูง ช่วยในการขับถ่าย มีพรีไบโอติกช่วยปรับสมดุลลำไส้ มีวิตามิน D, C ช่วยในเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ และต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่สนใจเรื่องสุขภาพด้วย จึงเป็นโอกาสของแบรนด์ไทยที่จะได้ไปเติบใหญ่ในตลาดโลก โดยเบื้องต้นจะส่งไปในตลาดเดิมที่ขายผลสดอยู่แล้ว อย่าง ยุโรป ออสเตรีย ฝรั่งเศส และเอเชียตะวันออกกลาง ก่อนขยับขยายต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำมาตรฐานเพื่อให้พร้อมสำหรับการส่งออกสินค้าแปรรูป ไปกระจายความอร่อยในตลาดโลก


       “ถามว่าทำไมเราไม่เน้นตลาดในประเทศไม่ว่าจะเป็นผลสดหรือแปรรูป เพราะว่าด้วยความที่ประเทศไทยเรามีผลไม้เยอะ ดังนั้นคนจะมีทางเลือกมาก แก้วมังกรเลยอาจไม่ได้รับความนิยมมากนักเมื่อเทียบกับผลไม้อย่างอื่น อย่าง ทุเรียน หรือมะม่วง ที่ให้รสชาติหวานมากกว่า แต่ถ้าดูตลาดส่งออก เรามองอัตราการเติบโตของผลสดที่มีออเดอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าต่างชาติโดยเฉพาะยุโรปเขานิยมทานแก้วมังกรกันเยอะ  เพราะว่ามันมีคุณประโยชน์เพียงแต่ว่าคนไทยอาจจะยังไม่ค่อยรู้เท่าไร เราเลยมองตลาดส่งออกเป็นหลัก”



 

กว่า 2 ทศวรรษ ที่ยืนหยัดในตลาดแก้วมังกร


       สวนเกษตรแก้วมังกร Fruitaya อยู่ในตลาดมากว่า 20 ปี โดยพวกเขาเป็นผู้บุกเบิกนำแก้วมังกรเข้ามาปลูกในประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะไม่ใช่รายใหญ่ที่มีพื้นที่ปลูกสูงสุด แต่ก็เป็นรายเดียวของคนยุคริเริ่มที่ยังเหลือรอดอยู่ในขณะที่คนปลูกแก้วมังกรในยุคเดียวกันต่างทยอยล้มหายจากตลาดไปหมดแล้ว


      “เราเป็นผู้บุกเบิกแก้วมังกรเข้ามาในประเทศไทย เป็นสวนแรกๆ ที่ปลูกเลย และน่าจะเป็นเจ้าเดียวจากผู้ปลูกแก้วมังกรยุคแรกๆ ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งที่ล้มหายตายจากไป เพราะมีทั้งเรื่องของโรคระบาดทำให้เกิดความเสียหาย หลายรายก็เลยหยุดทำไป บางคนเขาปลูกในเชิงของธุรกิจซึ่งนักธุรกิจก็จะมองราคา ณ ตอนนี้เป็นหลัก ซึ่งบางทีผลผลิตล้นตลาด ราคาตก เขาก็เลือกที่จะล้มแล้วไปปลูกพืชอย่างอื่นแทนที่คิดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า เช่น ทุเรียน


     ถามว่าแล้วทำไมเราถึงยังอยู่ในตลาดมาได้ มองว่าเพราะเราพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ที่สวนของเราไม่เคยหยุดที่จะพัฒนา การที่เรามีคู่ค้าที่เป็นผู้ส่งออก ทำให้เราไม่ต้องง้อตลาดในประเทศมากนัก และเราก็พัฒนาทั้งในเรื่องของวิธีการปลูกเทคนิคการปลูกต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสวนในต่างประเทศ อย่างผมเองก็จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้กับสวนที่เวียดนาม เราบินไปดูสวนของเขา บางทีเขาก็มาหาความรู้กับเรา ในเรื่องของการตลาดและการแปรรูป รวมถึง บางสายพันธุ์อย่างเช่น สายพันธุ์สีทองอิสราเอล เราก็เอาเข้ามาปลูกในประเทศไทยก่อนเวียดนาม เขาก็มาดูงานที่สวนเรา เลยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาสวนของเราอยู่เรื่อยๆ”





      นอกจากการพัฒนาคุณภาพผลผลิต การยกระดับคนทำเกษตรมาสู่การแปรรูป ก็เป็นหนทางสู่ความยั่งยืนของนักธุรกิจเกษตรอย่างพวกเขา
               

      “ในมุมมองของผม การต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับตัวผลผลิตด้วยการแปรรูสำคัญมาก เพราะว่าเกษตรกรในประเทศไทย ถ้าตัวผลผลิตของเขาไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การส่งออกและทำขายตลาดในต่างประเทศได้ เขาก็จะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง แต่ถ้าเกิดเขาสามารถเอามาต่อยอดเป็นสินค้าแปรรูปได้ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้เยอะมาก และช่วยลดการกดขี่ของพ่อค้าคนกลางลงได้ด้วย ที่สำคัญยังทำให้เกิดตลาดใหม่ๆ ให้กับเขา


      กรณีของคนที่เป็นเกษตรกร ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจ หรือการแปรรูปสินค้า ผมมองว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐที่พร้อมสนับสนุนอยู่เยอะมาก อย่าง ตัวผมเองอยู่ในกลุ่ม Young Smart Farmer ของจังหวัดปทุมธานีด้วย ซึ่งพอเราเข้ากลุ่มก็จะมีคอนเนกชันที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กัน มีคอร์สอบรมหรืออะไรที่น่าสนใจก็จะมาบอกกัน หรืออย่างเจอปัญหาเรื่องของการปลูก ก็สามารถขอคำปรึกษากันได้ บางทีเราอยากจะหาสินค้าเกษตรอะไรก็คุยกันในเครือข่ายได้ บางคนในกลุ่มของเราทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวเราก็สามารถเอาสินค้าของเราไปฝากขายได้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เกิดจากการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” เขาบอก


      เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต คนทำธุรกิจแก้วมังกรบอกเราแค่ว่า อยากทำแบรนด์ให้คนรู้จักมากขึ้น เมื่อนึกถึงแก้วมังกรที่รสชาติอร่อย คุณภาพดี ก็อยากให้นึกถึง Fruitaya เมื่อนึกถึงแก้วมังกรในประเทศไทย ก็ขอให้นึกถึงสวนของพวกเขา เท่านั้นความฝันก็บรรลุเป้าหมายแล้ว


      และนี่คือเรื่องราวของคุณปลูกแก้วมังกร ที่ไม่ได้อยากหยุดแค่การขายผลผลิต แต่นึกถึงการแปรรูปเป็นสินค้านวัตกรรม เพื่อต่อยอดโอกาสธุรกิจไม่รู้จบให้กับพวกเขา
 





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย