“ถ้ำสิงห์” กาแฟดังเมืองชุมพร ธุรกิจชุมชนที่ทำเงินปีละหลักสิบล้านบาท

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : Thamsing Coffee





     ชุมพร คือแหล่งปลูกกาแฟโรบัสต้าขึ้นชื่อ ที่ให้กำเนิดแบรนด์กาแฟคุณภาพอยู่หลายแบรนด์ หนึ่งในนั้นคือ  “ถ้ำสิงห์” (Thamsing Coffee) แบรนด์กาแฟจากชุมชน ที่รวมตัวก่อตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ จังหวัดชุมพร เริ่มต้นจากคน 20 คน กับพื้นที่ปลูกไม่ถึงร้อยไร่ วันนี้ถ้ำสิงห์ขยับขยายเป็นอาณาจักรกาแฟกว่า 1,200 ไร่ กับสมาชิก 650 คน มีสาขาร้านกาแฟอยู่ 6 สาขา มีศูนย์โอทอปจำหน่ายสินค้าของตัวเอง มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งกาแฟคั่ว-บด กาแฟ 3 in 1 กาแฟ 4 in 1 กาแฟแคปซูล กาแฟดริป หรือแม้แต่ชาดอกกาแฟ สร้างรายได้ต่อปีอยู่ที่หลักสิบล้านบาท  
               

     เบื้องหลังของแบรนด์ชุมชนที่พลิกชีวิตคนถ้ำสิงห์ คือชายที่ชื่อ “นิคม ศิลปศร" ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ จังหวัดชุมพร พวกเขาสร้างทั้งหมดนี้ขึ้นมาได้อย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อมกัน



 
               
ฟื้นกาแฟเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง


      ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ชุมพรคือแหล่งปลูกกาแฟโรบัสต้าที่สำคัญของประเทศไทย ดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก” ซึ่งหนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟขึ้นชื่อก็คือ ตำบลถ้ำสิงห์ ที่ในอดีตมีการปลูกกาแฟกันหลายหมื่นไร่ เคยผ่านยุครุ่งเรืองที่ผู้คนร่ำรวยเพราะกาแฟ จนเข้าสู่ยุคถดถอยเมื่อผลผลิตกาแฟล้นตลาด ราคากาแฟตกต่ำ จนกาแฟค่อยๆ หายไปจากถ้ำสิงห์ เหลือพอให้ลูกหลานดูต่างหน้าอยู่เพียงไม่กี่ไร่เท่านั้น


     ภายหลังมีความพยายามฟื้นกาแฟชุมพรให้กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง โดยเริ่มมีการสร้างแบรนด์ประจำท้องถิ่นขึ้น ซึ่งกาแฟเขาทะลุนับเป็นเจ้าแรกในการนำร่อง และเป็นจุดกำเนิดของการรวมกลุ่มเพื่อการแปรรูปกาแฟชุมพร ชาวถ้ำสิงห์เองเลยได้กู้ศักดิ์ศรีอดีตแหล่งกาแฟชั้นยอดของตัวเองคืนมาบ้าง ด้วยการรวมตัวกันก่อตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ จังหวัดชุมพร ขึ้นในปี 2551 โดยทำครบวงจรทั้ง ผลิต แปรรูป และจำหน่าย พร้อมแจ้งเกิดแบรนด์ “ถ้ำสิงห์” (Thamsing Coffee) ให้เป็นที่ประจักษ์นับแต่นั้น



 

สร้างกาแฟคุณภาพที่เริ่มจากเมล็ดพันธุ์ที่ดี


     เบื้องต้นนิคมรวบรวมสมาชิกได้ประมาณ 20 คน กับพื้นที่ปลูกกาแฟไม่ถึง 100 ไร่ โดยคัดเลือกจากคนที่เคยมีประสบการณ์ในการปลูกกาแฟเมื่อกว่า 30 ปีก่อน เขาบอกว่า เน้น “หัวไว ใจสู้” มาก่อน เรื่องอื่นเอาไว้เรียนรู้กันทีหลัง  เป้าหมายของพวกเขาคือรื้อฟื้นกาแฟถ้ำสิงห์ให้กลับมามีชีวิต เพื่อแปรรูปและสร้างแบรนด์ให้กับชุมชน


      “ที่อื่นเขาอาจรวมตัวกันเพื่อรับซื้อผลผลิตกาแฟจากสมาชิก แต่ของถ้ำสิงห์เรารวมกลุ่มกันเพื่อส่งเสริมการปลูกกาแฟ และสอนให้สมาชิกของเราทำกาแฟคุณภาพ โดยที่ทางกลุ่มจะรับซื้อเมล็ดสดไม่ใช่เมล็ดกาแฟสาร เพราะเราต้องการคัดคุณภาพของเมล็ด จากนั้นเอาเมล็ดสุกสีเเดง นำไปลอยน้ำเพื่อเเยกเมล็ดเสียออก เอาเข้าเครื่องสีเปลือกนอกออก มีการอบในโรงอบพลังงานเเสงอาทิตย์ มีการตรวจสอบวัดความชื้น นำไปบ่มไว้ในโกดังที่มีอากาศถ่ายเทอย่างน้อย 1 ปี นำมาสีเปลือกกะลาเพื่อคัดเเยกขนาดเมล็ด นำไปคั่วด้วยเครื่องระบบปิด มีการควบคุมอุณหภูมิเเละเวลาที่เหมาะสมจนได้กาเเฟคั่วตามมาตรฐานของเรา เมื่อนำมาชงก็จะได้กาเเฟที่มีรสชาติ เข้ม หอม นี่คือกระบวนการที่เราทำกาแฟคุณภาพในแบบถ้ำสิงห์” เขาบอก


      ถ้ำสิงห์ รับซื้อเมล็ดกาแฟสดจากสมาชิกที่กิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดประมาณเท่าตัว เพื่อจูงใจให้คนมาปลูกและมาขายกับพวกเขา ขณะที่เมล็ดพันธุ์ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก ก็เป็นสายพันธ์ดั้งเดิมที่คนถ้ำสิงห์ปลูกกันมาเมื่อกว่า 30 ปีก่อน  


     เมื่อผลผลิตคุณภาพพร้อมก็ได้เวลาทำสินค้าที่ตอบโจทย์ตลาดกันแล้ว



 

ผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค ทำตลาดถึงมือผู้ซื้อ


     ถ้ำสิงห์ เป็นแบรนด์กาแฟของชุมชน แต่มีวิธีคิดหลายอย่างที่น่าทึ่ง เช่น การเลือกพัฒนาสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งกาแฟคั่ว-บด กาแฟ 3 in 1 กาแฟ 4 in 1 ผสมดอกคำฝอย กาแฟแคปซูล กาแฟพริก กาแฟดริป หรือแม้แต่ชาดอกกาแฟ ของกินหายากที่มีจำนวนจำกัด และสร้างมูลค่าให้กับเมล็ดกาแฟเป็นสิบเท่า


     “ตัวดอกกาแฟ จะบานประมาณ 4-5 รอบ ใน 1 ปี ซึ่งเราจะคัดเฉพาะดอกที่บานวันแรก มาทำชาดอกกาแฟ มันพิเศษตรงที่ว่าในช่อดอกที่เราเก็บมานั้น ยังไม่เหี่ยว ยังไม่ได้ผสมพันธุ์ ยังมีความบริสุทธิ์อยู่ ซึ่งการเอาดอกมาผลผลิตกาแฟอาจจะลดลงก็จริง เพราะตรงที่เป็นดอกจะไม่ติดผล แต่ชาดอกกาแฟเรารับซื้อที่กิโลกรัมละ 300 บาท จากเดิมเขาขายเมล็ดกาแฟได้กิโลกรัมละ 30 บาทเท่านั้น ทำให้รายได้เขาเพิ่มขึ้น ในส่วนของผู้บริโภคเอง ชาดอกกาแฟ จะเป็นของหายาก คือในแต่ละรอบเราผลิตชาดอกกาแฟได้แค่ 20 กิโลกรัม ใน 1 ปี มีให้กินแค่ 4-5 รอบเท่านั้น ฉะนั้นหมดแล้วหมดเลย ซื้อไม่ทันก็อด” เขาบอกของล้ำค่าที่เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ถ้ำสิงห์ในวันนี้
 

     นอกจากมีสินค้าที่ดี พวกเขายังคิดช่องทางการตลาดที่ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง โดยเริ่มจากทำศูนย์โอทอปของตัวเอง เพื่อเป็นโชว์รูมสินค้า ทำหน้าที่ในการติดต่อ ประชาสัมพันธ์และขายสินค้าให้กับลูกค้าทั่วประเทศ  มีร้านกาแฟของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 6 สาขาใน จ.ชุมพร  ขายผ่านช่องทางของไปรษณีย์ไทย ขายผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊กและไลน์  และยังสามารถสั่งตรงได้ทางโทรศัพท์อีกด้วย


     “สิ่งที่ผมมองว่า จะได้ประโยชน์กับทางกลุ่มเราที่สุดคือการทำตลาดที่ลูกค้าสามารถสั่งตรงกับเราได้เลย โดยที่ไม่ต้องผ่านคนกลาง เป็นการเชื่อมถึงกันได้ระหว่างกลุ่มของเรากับผู้ดื่มกาแฟโดยตรง” เขาบอกวิธีคิด
นอกจากในชุมพร นิคมบอกเราว่าพวกเขาหวังที่จะให้กาแฟถ้ำสิงห์ไปกระจายความอร่อยอยู่ในจังหวัดอื่นๆ ด้วย โดยคิดเอาไว้ว่าอยากจะทำแฟรนไชส์ แต่เป็นแฟรนไชส์ที่ไม่เหมือนแฟรนไชส์ร้านกาแฟทั่วๆ ไป


     “ปกติแฟรนไชส์เขาจะบอกเลยว่ารูปแบบร้านต้องเป็นแบบนี้ๆ ตามที่เจ้าของแฟรนไชส์กำหนดเท่านั้น แต่เรามองว่า เราต้องการแค่ขายเมล็ดกาแฟให้กับร้าน ฉะนั้นในเรื่องของการดีไซน์และรูปแบบก็คงแล้วแต่เขา โดยเขาอาจจะมีร้านเล็กๆ ตามสไตล์ของตัวเองอยู่ร้านหนึ่ง แล้วก็เอาโลโก้กาแฟถ้ำสิงห์ของเราไปติดก็ได้ จะทำเป็นลักษณะนี้”


     ในส่วนของตัวกาแฟ เขาบอกว่า จะพัฒนาไปเป็น กาแฟผงสเปรย์ดราย (Spray Dried Coffee Powder) และกาแฟสำเร็จรูป (Instant Coffee) มากขึ้น เพื่อให้สามารถรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่รับซื้อได้ที่ประมาณ 100 ตัน ต่อปี จากผลผลิตที่ชาวถ้ำสิงห์ผลิตได้ที่ประมาณ 600 ตัวต่อปี



 

     จากการรวมตัวของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ประมาณ 20 คน ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ มีสมาชิกอยู่ที่ประมาณ 650 คน พื้นที่ปลูกกาแฟกว่า 1,200 ไร่ มีรายได้อยู่ที่หลักสิบล้านบาทต่อปี กลายเป็นแบรนด์ชุมชนที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพและเคยติดอันดับ Top 10 ของประเทศมาแล้ว ชื่อเสียงที่หายไปนานของกาแฟถ้ำสิงห์ กลับมาสร้างตำนานบทใหม่ได้อีกครั้ง


      เมื่อถามถึงหัวใจของความสำเร็จ นิคมในฐานะผู้ที่ปลุกปั้นและฟันฝ่าร่วมกับชาวถ้ำสิงห์มาตั้งแต่ต้น บอกแค่ว่า


     “ผมมองว่ามันเกิดจากความตั้งใจ ความมุ่งมั่นที่อยากจะทำเพื่อชุมชน โดยที่ไม่ได้หวังประโยชน์ส่วนตน แต่เอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แล้วก็ทำให้มันเกิดขึ้นมาเพื่อชุมชนของเรา พวกเราต้องการสร้างแบรนด์ให้กับท้องถิ่น ต้องการที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการแปรรูปในระดับท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เกษตรกร รู้จักการบริหารจัดการ แปรรูป มีเครื่องไม้เครื่องมือเป็นของตัวเอง มันจะทำให้สินค้าเกษตรของเราได้ส่วนแบ่งทางการตลาด และเกษตรกรก็จะมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ขึ้นมาได้ในที่สุด”


     และนี่คือเรื่องราวของกาแฟชุมชน เจ้าของสโลแกน "เข้มอย่างสิงห์ ดื่มกาแฟถ้ำสิงห์" ที่สร้างความสำเร็จขึ้นมาได้ ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของพวกเขา
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน