ล้วงสูตรลับ! สร้างแบรนด์น้ำพริกกับ “วังวรา” ‘ทำเอง’ หรือ ‘จ้างผลิต’ แบบไหนดีกว่ากัน?

TEXT : นิตยา สุเรียมมา





     ถ้าพูดถึงสินค้าออนไลน์ยอดนิยมที่ถูกนำไปทำธุรกิจกันมาก เบอร์หนึ่งอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นพวกเสื้อผ้า  สินค้าแฟชั่นต่างๆ แต่อันดับต่อมาที่ไม่น้อยหน้าไปกว่ากันเลยสำหรับในบ้านเรา ก็คือ “น้ำพริก” อาจเพราะด้วยวัฒนธรรมการบริโภคของคนไทยหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ น้ำพริกจึงกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ใครๆ ก็นึกถึงหากคิดอยากทำธุรกิจขึ้นมาสักตัว หรือเพื่อหารายได้เพิ่มเข้ามาให้กิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤตเช่นนี้
               

      แต่อย่างไรเสียการเริ่มต้นทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยงเสมอ ไม่ว่าจะมือใหม่ หรือแม้แต่คนที่เคยทำธุรกิจมาแล้ว ในวันนี้เราจึงมาเจาะทุกเรื่องสำหรับผู้ที่สนใจอยากมีแบรนด์น้ำพริกเป็นของตัวเอง จะจ้างผลิต หรือลงทุนทำเอง แบบไหนดีกว่า “ณัฐพัชร์ วราสุทธิไพศาล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วังวราเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการผลิตน้ำพริกและหนังไก่กรอบ ภายใต้แบรนด์ “วังวรา” จะมาไขข้อสงสัยทุกอย่างให้ฟัง
               

     โดยก่อนที่จะไปลงลึกถึงการสร้างแบรนด์น้ำพริก ณัฐพัชร์ อธิบายถึงธุรกิจที่ทำอยู่ให้ฟังก่อนว่า แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1. การผลิตสินค้าของตัวเองภายใต้แบรนด์วังวรา 2. การรับจ้างบรรจุน้ำพริกและสินค้าอบแห้ง และ 3. การรับจ้างผลิต (OEM) น้ำพริกสูตรต่างๆ ซึ่งในที่นี่จะขอเล่าถึงการให้บริการ 2 ส่วน คือ การรับจ้างบรรจุ และการรับจ้างผลิต




 
เริ่มต้นธุรกิจง่ายๆ ด้วยการรับจ้างบรรจุ


     ณัฐพัชร์ เล่าประสบการณ์การทำธุรกิจให้ฟังว่า ในช่วงเริ่มต้นเธอเองก็เป็นคนหนึ่งที่สร้างแบรนด์น้ำพริกขึ้นมา โดยใช้วิธีผลิตเองเล็กๆ ขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงหาที่รับจ้างบรรจุใส่กระปุกฝาดึง เพื่อให้น้ำพริกดูดี ดูมีราคามากขึ้น ภายหลังจากเมื่อเริ่มมีทุนมากพอจึงลงทุนซื้อเครื่องบรรจุเป็นของตัวเอง และรับจ้างบรรจุให้กับ SME รายย่อยที่อยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง แต่ยังไม่มีเงินทุนซื้อเครื่องจักรมาใช้ด้วย
               

     “ช่วงแรกที่เริ่มต้นทำแบรนด์น้ำพริกขาย เราก็เริ่มต้นจากไปจ้างให้เขาบรรจุให้ก่อน จำได้ว่าตอนนั้นเขารับขั้นต่ำ ก็คือ 100 – 200 กระปุกขึ้นไป ตอนหลังพอเก็บเงินซื้อเครื่องเองได้ ก็เริ่มมองเห็นโอกาสว่ายังมีคนอีกมากที่อยากทำบรรจุภัณฑ์สินค้าให้ดูดี เพื่อสร้างแบรนด์ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่อยากลงทุน เพราะเพิ่งเริ่มต้น เราเลยลองรับจ้างบรรจุโดยคิดขั้นต่ำน้อยๆ แค่ 60 – 100 กระปุกก็รับแล้ว ทำให้มีลูกค้าสนใจมาใช้บริการจำนวนมาก มีทั้งน้ำพริกและขนมอบแห้งต่างๆ แต่น้ำพริกจะเยอะสุดประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ได้” ณัฐพัชร์เล่าจุดเริ่มต้นของการรับจ้างบรรจุให้ฟัง
               

     โดยจุดเด่นของการรับจ้างบรรจุของวังวราจะไม่เหมือนที่อื่น เพราะนอกจากจะรับบรรจุขั้นต่ำในปริมาณที่ไม่สูงมากแล้ว ยังสามารถให้คำปรึกษาในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสินค้า ราคาขาย และการทำตลาดให้กับลูกค้าได้ด้วย จึงทำให้มีลูกค้า SME รายย่อยเข้ามาใช้บริการค่อนข้างมาก
               

      “ด้วยความที่เราเป็นลูกค้ามาก่อน เลยทำให้มองเห็นปัญหา มีลูกค้าหลายคนมากที่ทำอาหารเป็น แต่ไม่มีความรู้เรื่องการเก็บรักษาอาหารเลย เช่น อาหารบางประเภทจะใช้กระปุกฝาดึงไม่ได้นะ เนื่องจากมีแก๊สอาจทำให้กระปุกแตก หรือระเบิดได้ เพราะไม่มีใครเคยให้คำแนะนำเขา เราเลยเก็บประสบการณ์ตรงนี้แล้วมาสร้างให้เป็นเหมือนคอมมูนิตี้ขึ้นมา คือ ไม่ได้รับจ้างแค่บรรจุ แต่ยังช่วยเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมให้ด้วย เพราะเราเองก็เคยตัดสินใจเลือกใช้แพ็กเกจจิ้งแบบผิดๆ มาแล้ว จนทำให้ไม่ตอบโจทย์การขาย ทั้งการเลือกประเภท ขนาด ไปจนถึงราคาที่สูงเกินไป ไม่สามารถนำมาทำกำไรได้ ซึ่งมีลูกค้าเกินครึ่งเลยที่เข้ามาแล้วมีปัญหาแบบนี้ เราจึงพยายามยึดหลักตรงนี้มาใช้ คือ ก่อนรับงานจะบอกกับพนักงานทุกคนเสมอว่าต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจเรื่องนี้ก่อน เช่น ต้องรู้ก่อนว่าจะบรรจุอะไร บรรจุในปริมาณเท่าไหร่ เพื่อเราจะได้ให้คำแนะนำได้ถูกต้อง และเขาเองก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปฟรีๆ แบบทำไปแล้ว แต่ขายไม่ได้”



               

     ณัฐพัชร์เล่าว่าในการรับจ้างบรรจุลูกค้าจะมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ 1. อยากมีแบรนด์ของตัวเอง 2. ทำเพื่อใช้ในงานเทศกาลและกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำบุญ งานแต่ง งานอีเวนต์
               

     โดยปัจจุบันวังวราจะรับบรรจุขั้นต่ำอยู่ที่ 100 ชิ้น ต่อ 1 สูตร หรือ 1 ประเภทสินค้า สำหรับราคากระปุกฝาดึงที่นิยมใช้กันมากจะมีราคาขั้นต่ำอยู่ที่ชิ้นละ 14 -15 บาท ดังนั้นสำหรับผู้ที่เริ่มต้นช่วงแรก ยังไม่มีเงินลงทุนจ้างผลิต และต้องการผลิตเองไปก่อน สามารถเริ่มต้นลงทุนจ้างบรรจุได้ในงบประมาณไม่เกินสองพันบาท ซึ่งมีบรรจุภัณฑ์ให้เลือก 4 ชนิดด้วยกัน คือ กระปุกฝาดึง ขวดแก้ว ถุงซีล และถุงซิปล็อก ซึ่งแต่ละอย่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป
 
 
  • กระปุกฝาดึง - เป็นภาชนะที่ปิดสนิท เป็นสุญญากาศ อากาศไม่เข้า จึงรักษาคุณภาพสินค้าได้ดี ดูดี สะอาด สามารถทำราคาให้กับสินค้าได้ แต่ไม่เหมาะกับวัตถุดิบที่อาจทำให้เกิดแก๊ส เพราะอาจระเบิดหรือแตกได้ และมีราคาสูง
 
  • ขวดแก้ว - เหมาะกับสินค้าที่บรรจุไปแล้วอาจทำให้เกิดแก๊สได้ เช่น น้ำพริกปลาร้า แยมผลไม้ นอกจากนี้ยังช่วยให้สินค้าดูพรีเมียมและสวยงามน่ารับประทานได้ ข้อเสีย คือ น้ำหนักเยอะ การปิดฝาอาจมีการรั่วซึมได้มากกว่ากระปุกฝาดึงเล็กหน่อย เนื่องจากใช้วิธีปิดด้วยการหมุนเกลียว
 
  • ถุงซีล - ประหยัด เก็บรักษาอาหารได้ดี สกรีนตกแต่งหน้าซองได้ ข้อเสีย คือ ภาพลักษณ์ไม่ดูดีเท่ากระปุกฝาดึง เปิดแล้วต้องกินให้หมด ไม่สามารถปิดเก็บไว้ได้ จึงเหมาะกับการบรรจุสินค้าในปริมาณไม่มาก สามารถเลือกใช้แบบซองธรรมดา ไม่สกรีน แล้วติดสติ๊กเกอร์ก็ได้ เพื่อลดต้นทุน แต่หากมีปริมาณลูกค้าที่แน่นอน มีตลาดอยู่แล้ว  ลงทุนสกรีนจำนวนมาก ก็ประหยัดต้นทุน และช่วยให้ดูดีกว่า
 
  • ถุงซิปล็อก - คุณสมบัติจะใกล้เคียงกับถุงซีล สามารถใช้เป็นถุงเปล่าและติดสติกเกอร์ เพื่อลดต้นทุน หรือสกรีนก็ได้เช่นกัน ราคาใกล้เคียงกัน เหมาะกับการบรรจุสินค้าปริมาณมาก เพราะรับประทานครั้งเดียวไม่หมด ก็สามารถล็อกเก็บไว้ได้ ข้อเสีย คือ ถ้าปิดไม่ดีอาจทำให้อากาศรั่วซึมเข้าไปได้


 
 
“จ้างผลิต” สูตรลัดความสำเร็จ แบบสำเร็จรูป
 

      ในส่วนของการรับจ้างผลิต (OEM) น้ำพริกสูตรต่างๆ ณัฐพัชร์ เล่าว่า เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ต่อยอดขึ้นมาจากการรับจ้างบรรจุ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นสัดส่วนการทำงานที่เยอะที่สุดของธุรกิจ โดยมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ได้


      รูปแบบการให้บริการรับจ้างผลิตน้ำพริกของวังวรา ทางบริษัทจะเป็นผู้คิดสูตรน้ำพริกมาตราฐานเอาไว้ให้ ปัจจุบันมีทั้งหมดประมาณ 12 สูตรด้วยกัน อาทิ น้ำพริกปลาสลิด น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกนรกกุ้ง น้ำพริกปลาร้า โดยมีขั้นตอนการสั่งดังนี้ 1.เลือกประเภทน้ำพริกที่ชื่นชอบได้ที่หน้าเว็บไซต์ 2.จากนั้นสั่งตัวอย่างเพื่อทดลองชิมก่อนได้ 3.ติดต่อพนักงาน เพื่อขอรายละเอียดค่าใช้จ่าย


     ซึ่งค่าใช้จ่ายจะคิดจาก 1.ประเภทน้ำพริกที่เลือก 2.แพ็กเกจจิ้งที่เลือกใช้ (ขึ้นอยู่กับประเภทและขนาด) 3.ส่วนเสริมอื่นๆ เช่น ค่าออกแบบฉลาก โลโก้ ค่าขออย. สำหรับผู้ที่สนใจอยากสร้างแบรนด์น้ำพริกของตัวเองสักชนิด ควรเตรียมค่าใช้จ่ายไว้อย่างน้อยประมาณ 2 หมื่นบาท


     “สำหรับที่วังวรา น้ำพริกของเราจะเป็นระดับกลางถึงบน B,B+ ไซส์เล็ก 50 กรัม สามารถขายได้ที่ราคา 60-70 บาท เราจะรับผลิตให้ขั้นต่ำที่ 20 กิโลกรัม ต้นทุนน้ำพริกราคาขั้นต่ำอยู่ที่กิโลกรัมละ 320 บาท รวมแล้วก็ประมาณ 6,400 บาท ต่อมาเป็นค่าแพ็กเกจจิ้งและบรรจุ ถ้าเป็นกระปุกฝาดึงต่ำสุดจะตกที่ใบละ 14-15 บาท หากบรรจุกระปุกละ 100 กรัม จะอยู่ที่ 200 กระปุก = 3,000 บาท หากต้องการจดทะเบียน อย. เรามีค่าดำเนินการอยู่ที่ 6,000 บาท ซึ่งไม่ได้เฉพาะแค่ อย. เท่านั้น แต่ยังได้ GMP, HACCP ด้วย สามารถนำไปต่อยอดทำตลาดต่างประเทศได้เลย นอกจากนี้ยังมีค่าจิปาถะอื่นๆ อีก เช่น ค่าออกแบบฉลาก โลโก้ รวมๆ แล้วจึงควรเตรียมเผื่อไว้ที่ประมาณ 2 หมื่นบาท”


     สำหรับลูกค้าหลายที่อาจมีข้อสงสัยว่า หากเป็นสูตรน้ำพริกเดียวกันแล้ว จะแข่งขันทำตลาดกันได้อย่างไร ในข้อนี้ณัฐพัชร์ได้อธิบายไว้ดังนี้


     “ตลาดน้ำพริกเป็นตลาดที่ค่อนข้างกว้าง น้ำพริกที่ขายได้ คือ น้ำพริกที่กินแล้วอร่อย ติดใจอยากซื้อมากินอีกแค่นั้น ซึ่งน้ำพริกของเราจะไม่ใส่ผงชูรส ไม่ใส่วัตถุกันเสียใดๆ จึงมั่นใจได้ในความปลอดภัย การที่ชูจุดเด่นว่าน้ำพริกนี้เป็นสูตรของใครจะเป็นข้อดีได้ คือ เราต้องมีเพียงคนเดียว  แต่ว่าสุดท้ายก็ต้องตอบให้ได้อีกว่าแล้วดีกว่าสูตรอื่นยังไง ซึ่งจริงๆ แล้วการจะขายน้ำพริกได้ไม่ได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่สูตรเพียงอย่าเดียว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยขึ้นอยู่ที่ว่าจะไปขายใคร ขายที่ไหน จะสร้างแบรนด์ และทำตลาดยังไง เหมือนกันลูกค้าเราหลายคนเอาสูตรน้ำพริกไปขายเหมือนกัน แต่กลับขายได้ไม่เหมือนกันเลย เช่นบางคนอาจขายน้ำพริกปลาสลิดดี บางคนขายน้ำพริกตาแดงดี เพราะมีปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกันนั่นเอง ซึ่งด้วยรูปแบบการรับจ้างผลิตแบบนี้ บริการของเราจึงเหมาะสำหรับที่ผู้ที่อยากเริ่มต้นสร้างแบรนด์ อยากทดลองตลาดดูก่อน ขายเล็กๆ ไปก่อน จะไม่เหมาะกับรายใหญ่ที่อาจอยากได้สูตรน้ำพริกของตัวเอง หรือทำขายระดับแมสไปเลย”



 

เลือกอะไรดี? ทำเอง หรือ OEM


     สุดท้ายณัฐพัชร์ได้ฝากแง่คิดกับคนที่อยากมีแบรนด์น้ำพริกของตัวเอง และกำลังตัดสินใจเลือกระหว่างลงทุนทำเอง หรือจ้างโรงงานผลิตกับข้อดีข้อเสียไว้ดังนี้


     “ข้อดีสำหรับคนที่อยากทำเอง คือ ต้นทุนถูกกว่า ควบคุมต้นทุนได้ ปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วกว่า ไม่ต้องสต็อกวัตถุดิบเยอะ แต่ข้อเสีย คือ เรื่องมาตรฐาน และการสร้างแบรนด์อาจยากกว่า เช่น เวลาจะขยายตลาดเอาไปฝากขายในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านค้าต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วเขามักจะถามหามาตรฐานการผลิต มีใบรับรองอะไรไหม ซึ่งหากเราไม่มีตรงนี้ โอกาสการเติบโตก็จะยากกว่า
               
 
     สำหรับการให้โรงงานผลิตให้ ข้อดี คือ มีตัวเลือกที่หลากหลาย ซึ่งดีสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี ข้อต่อมา คือ ได้มาตรฐาน ฉะนั้นถ้าทำเสร็จแล้วจะเอาเข้าไปเสนอขายที่ไหนก็ เรื่องความสะอาด ความเรียบร้อย ความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ ก็ดูดีกว่า ทำให้ลูกค้าปลายทางเกิดความมั่นใจได้ การทำราคา การสร้างแบรนด์ก็ง่ายขึ้น แต่ข้อเสีย คือ ลงทุนสูงในช่วงแรก ซึ่งจะว่าไปก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่อยากฝากไว้ข้อสำคัญสำหรับการทำกับโรงงาน คือ แผนธุรกิจต้องชัดเจน ถ้าหากไม่มีแผน แค่ทดลองทำไปก่อน ถ้ายังไม่รู้จะขายยังไง ขายใคร จะทำให้การลงทุนกับโรงงานกลายเป็นข้อเสียขึ้นมาทันที เพราะไม่รู้ว่าเดือนหนึ่งจะขายได้เท่าไหร่ แล้วสุดท้ายสต็อกก็จะไปค้างอยู่ที่บ้าน ขายไม่ออก ก็จะกลายเป็นข้อเสียไปในที่สุด” ณัฐพัชร์กล่าวทิ้งท้าย
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย