PHOTO : แน็คเก็ต
“แน็คเก็ต” (Nacket) คือแบรนด์ขนมขบเคี้ยวไทยๆ ที่วางขายอยู่ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จำพวก ชีสเชคไส้สับปะรด (ขนมปังกรอบไส้สับปะรด) กล้วยน้ำว้าทอดกรอบรสหวาน, เผือกแท่งทอดกรอบรสเค็ม,ฟักทองทอดกรอบรสหวาน และมันหวานแผ่นทอดกรอบรสหวาน ฯลฯ
หลายคนอาจมองว่า นี่คือสแน็คสุดแสนจะธรรมดา แต่รู้ไหมว่าในปีที่ผ่านมา ที่ทุกคนเรียกว่าวิกฤต ทว่าพวกเขากลับทำยอดขายไปได้สูงถึง 41 ล้านบาท!
ใครอยู่เบื้องหลังขนมบ้านๆ เหล่านี้ แล้วทำอย่างไรถึงได้เข้าไปขายอยู่ในร้านดังอย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น ที่สำคัญยังวางขายมานานถึง 15 ปีอีกด้วย มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ธุรกิจของเด็ก MBA ที่ใช้ของดีในท้องถิ่นมาแจ้งเกิดขนมขบเคี้ยว
“แน็คเก็ต” เป็นแบรนด์เล็กๆ ที่ก่อตั้งโดย “พัทธนันท์ แสงสุขเกษมศักดิ์” เจ้าของบริษัท ทันน่า ฟู๊ดส์ จำกัด โดยคำว่า แน็คเก็ต นั้นมาจากชื่อของลูกสาวตัวน้อยของเธอนั่นเอง ก่อนจะมาเป็นผู้ประกอบการ พัทธนันท์ เรียนจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อด้วยปริญญาโท MBAที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน หลังเรียนจบเธอเริ่มต้นทำงานด้านจัดซื้อ และการตลาดในบริษัทเอกชนอยู่ช่วงหนึ่ง โดยระหว่างเรียนและทำงานเธอมักจะซื้อ “ชีสเชคไส้สับปะรด” ขนมรสเด็ดของ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาฝากเพื่อนๆ อยู่เสมอ เพราะเป็นที่เลื่องลือว่า ขนมปราณบุรีให้เนื้อสับปะรดจัดหนักจัดเต็ม เลยเห็นโอกาสนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจ โดยเริ่มจากชีสเชคไส้สับปะรด เมื่อประมาณปี 2547
เริ่มจากนำสับปะรดจากปราณบุรีมาทำเป็นไส้ขนมรสอร่อย แล้วไปเสนอขายตามร้านยี่ปั้ว ร้านกาแฟ และในตลาดชุมชน พอธุรกิจเริ่มไปได้ จึงคิดขยายตลาด แน่นอนว่าเธอไม่ได้มองร้านทั่วๆ ไป แต่มีเป้าหมายคือ เซเว่น อีเลฟเว่น ร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ
ยกระดับขนมบ้านๆ ให้มีมาตรฐานพร้อมเข้า 7-11
การจะทำให้สินค้าธรรมดาๆ ไปขายในร้านอย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย พัทธนันท์ บอกว่าเธอเริ่มนำสินค้าไปเสนอเซเว่นฯ ในปี 2549 แต่กว่าจะได้สินค้าพร้อมไปวางขายก็ปี 2550 เข้าไปแล้ว เพราะทางเซเว่นฯ ต้องเข้ามาสำรวจสถานที่ผลิตว่า ได้มาตรฐานและมีกำลังการผลิตเพียงพอไหม โดยใช้เวลาพัฒนาสินค้าร่วมกันอยู่ถึง 1 ปี
จากขนมธรรมดาๆ เลยยกระดับตัวเองขึ้นมาให้มีโรงงานมาตรฐาน เธอบอกว่า เดิมมีโรงงานผลิตอยู่ย่านบางพลัด กรุงเทพ และมีเพียงมาตรฐาน อย. เท่านั้น แต่พอจะขายในร้านดัง เธอจึงเริ่มทำมาตรฐานให้สูงขึ้นจนได้มาทั้ง มาตรฐาน GMP และ HACCP ต่อมาก็มีการเพิ่มไลน์สินค้า จนปัจจุบันมีทั้งหมด 22 รายการ เป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนมาแปรรูป ซึ่งเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นเครือข่ายใน 5 จังหวัด ให้มีงานทำและมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ
โดยมีสินค้าครอบคลุม 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มแครกเกอร์ไส้สับปะรด ไส้สตอเบอร์รี่ 2.ปั้นสิบไส้ต่างๆ ไส้ปลา ไส้ถั่ว ไส้ต้มยำกุ้ง โดยผสมข้าวสังข์หยดของ จ.พัทลุง ลงไปด้วย 3.กลุ่มทอดสูญญากาศ กล้วยทอดสูญญากาศ ซึ่งเป็นกล้วยหอมทอดจาก จ.ชุมพร 4.ผัก ผลไม้ทอด เช่น กล้วย เผือก มัน ฟักทอง ซึ่งมาจาก จ.สุโขทัย และกลุ่มที่ 5.อาหารทะเล ที่มาจาก จ.ตราด
สินค้าที่ขายดี อันดับหนึ่ง คือ กลุ่มกล้วย มัน เผือก ฟักทองทอด รองลงมาคือ กลุ่มอาหารทะเล ปูกรอบ กุ้งกรอบผสมสมุนไพร และตามมาด้วยกลุ่มกล้วยหอมทองกรอบ
จากรายได้หลักหมื่น สู่ยอดขายหลายสิบล้าน
หลายคนอาจมองว่า แน็คเก็ต ก็คือขนมบ้านๆ ที่มีขายกันทั่วไป แต่สำหรับเจ้าของแบรนด์พวกเขาบอกเราว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือ อร่อย ได้คุณภาพ และที่สำคัญคือเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่เป็นการกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นด้วย โดยในแต่ละปี บริษัทของพวกเขารับซื้อสินค้าจากชุมชนต่างๆ ปีละหลายร้อยตัน อย่างกลุ่มผักผลไม้ทอดกรอบ รับซื้ออยู่ที่ 100 ตัน กลุ่มอาหารทะเลรับซื้อที่ประมาณ 30 ตัน ปั้นสิบกับกล้วยหอมทอดรับซื้อที่ประมาณ 20-30 ตัน ขณะที่สับปะรดอยู่ที่ 70-100 ตันต่อปี
ถามว่าผลิตของเยอะขนาดนี้แล้วแต่ละปีพวกเขาขายได้เท่าไร?
พัทธนันท์ บอกว่า ก่อนหน้านี้เธอใช้วิธีขายส่งเข้าตลาดยี่ปั๊ว ซึ่งยอดขายก็จะอยู่ที่หลักหมื่น-หลักแสนต้นๆ แต่พอมาขายเข้า เซเว่น อีเลฟเว่น ยอดขายเติบโตมาอยู่ระดับหลักสิบล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมา มียอดขายอยู่ที่ 41 ล้านบาท
หลายสินค้าเจอโควิดแล้วยอดขายตก แต่กับ แน็คเก็ต พวกเขากลับขายดีขึ้น บวกกับในปี 2563 ที่ผ่านมาบริษัทยังปล่อยสินค้าใหม่ อย่าง อาหารทะเลทอดกรอบ ออกสู่ตลาด เลยปลุกยอดขายให้ยังคงเติบโตได้แม้ในวิกฤต
และนี่คือธุรกิจบ้านๆ ที่ทำรายได้ไม่บ้านเลยสักนิด
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี