Mister Box Delivery แนะ SME ต้องเลือกกล่องแบบไหน? ถึงจะตอบโจทย์ธุรกิจส่งด่วน

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : MISTER BOX DELIVERY



               
     ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในธุรกิจสุดฮอตที่ถือว่าบูมสุดๆ ในยุคโควิด-19 ระบาดเช่นนี้ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก “Food Delivery” เพราะนอกจากจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ทำงานแบบ Work From Home กันมากขึ้นแล้ว Food Delivery ยังเป็นหนึ่งในช่องทางการเอาตัวรอดและทางออกให้กับธุรกิจร้านอาหารต่างๆ ที่ไม่สามารถเปิดหน้าร้านให้บริการลูกค้าได้ตามปกติ รวมถึงยังช่วยเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นอีกช่องทางหนึ่งในสถานการณ์ปกติด้วย


     แต่การจะปรับรูปแบบธุรกิจให้เข้าสู่ Food Delivery ได้นั้นแท้จริงแล้วมีความยากง่ายยังไง หรือแม้แต่ปัจจัยง่ายๆ อย่างการเลือกซื้อกล่องจัดส่งอาหารมาใช้สักใบหนึ่ง ควรเลือกซื้อยังไง วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆ จาก “Mister Box Delivery” ผู้ผลิตและจำหน่ายกล่องส่งอาหารสัญชาติไทยที่มีลูกค้าเป็นผู้ประกอบการร้านค้ามากมาย รวมถึงแพลตฟอร์มเดลิเวอรีต่างๆ มาฝากกัน



               

     “นริศรา รวีจารุดล” เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Mister Box Delivery เล่าว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น นับเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของธุรกิจ Food Delivery เมืองไทยให้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากช่วงที่มีการระบาดของโรคในรอบแรกได้ส่งผลให้มีผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าร้านอาหารต่างๆ สนใจอยากเข้ามาให้บริการ Food Delivery เพื่อจัดส่งอาหารให้กับลูกค้ากันมากขึ้น โดยดูจากยอดจำหน่ายกล่องเดลิเวอรีของบริษัทเองที่มีการขยับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
               

     “การจัดส่งสินค้าแบบเดลิเวอรีถือเป็นเทรนด์ที่ต้องมาอยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงแรกอาจอยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่มากกว่าที่เริ่มเปลี่ยนก่อน แต่พอเกิดโควิดขึ้นมาขายของไม่ได้ ทำให้คนที่อาจเคยคิดว่ายังไม่พร้อม ยังไงก็ต้องปรับตัวในที่สุด รวมถึงตัวลูกค้าเองด้วย ซึ่งพอได้เริ่มลองเปลี่ยน แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคเองก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว เริ่มเคยชินกับการสั่งเดลิเวอรีมากขึ้น ทำให้แม้จะกลับมาเปิดร้านได้ตามปกติ ก็ต้องเพิ่มช่องทางเดลิเวอรีเข้าไปด้วย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า”
               

      โดยจากประสบการณ์ที่ได้ร่วมทำงานกับธุรกิจหลายแห่ง จึงอยากฝากคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าร้านอาหารที่สนใจอยากเริ่มต้นให้บริการเดลิเวอรีไว้ดังนี้



 
 
สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจได้ไม่นาน


      สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ยังบริหารจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง หรือยังมีพนักงานไม่มากนัก อยากแนะนำให้เลือกใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีอยู่ก่อน เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ รวมถึงจะได้ไม่ต้องลงทุนมากในช่วงแรก โดยอาจเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยม หรือแพลตฟอร์มเล็กๆ ในท้องที่หรือจังหวัดของตัวเองที่ทำขึ้นมาโดยคนไทยก่อนก็ได้ เพื่อไม่ต้องเสียค่าจีพีเยอะ ลองเลือกให้เหมาะสมกับตัวเองดู จากนั้นในภายหลังเมื่อมีความพร้อมมากขึ้น ได้เรียนรู้และเข้าใจในระบบการจัดส่งมากขึ้นจะลองขยับขยายมาจัดส่งด้วยตัวเองด้วยก็ได้
 
 
สำหรับร้านค้าที่เริ่มเติบโตขึ้น เริ่มมีสาขา และปริมาณพนักงานมากขึ้น


     อยากแนะนำให้ทางร้านลองทำการจัดส่งด้วยตนเองด้วย เนื่องจากถือเป็นการทำตลาดอย่างหนึ่ง เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น อีกด้านหนึ่ง คือ เพื่อให้ธุรกิจเก็บรวบรวมดาต้าของลูกค้าไว้ด้วย เพราะหากใช้แพลตฟอร์มเพียงอย่างเดียว ก็จะสูญเสียข้อมูลตรงนี้ไป ซึ่งก็ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เพราะสินค้าก็มีอยู่แล้ว แรงคนก็มี ที่ต้องเพิ่มเติมขึ้นมา คือ กล่องและอุปกรณ์ในการจัดส่ง และพนักงานเพื่อเข้ามาช่วยบริหารจัดการออร์เดอร์ โดยผู้ประกอบการร้านค้าเองควรให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ด้วย เช่น การติดโลโก้ เบอร์โทร โปรโมชั่นไว้ท้ายกล่อง เพื่อให้ผู้พบเห็นสามารถจดจำร้านได้


     โดยช่วงแรกอาจลองเริ่มจากใกล้ๆ ก่อน จึงค่อยขยายรัศมีการจัดส่งออกไป ไปจนถึงการทำเป็น Root เส้นทางในการจัดส่งแต่ละครั้ง แต่ถึงแม้จะเริ่มหันมาจัดส่งด้วยตนเอง แต่ก็ไม่ควรละทิ้งการให้บริการผ่านแพลฟอร์มอื่นที่มีด้วย ควรทำควบคู่กันไปทั้ง 2 ด้าน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาส และช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ เพราะแม้อาจต้องจ่ายค่าจีพีที่สูง แต่ก็ทำให้ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย Fix Cost หรือต้นทุนประจำ   
               

      สำหรับการจะเจาะเข้าหาลูกค้าได้ อาจลองเริ่มต้นจากพื้นที่ใกล้เคียงตัวร้านก่อน โดยลองเข้ากรุ๊ปไลน์ เฟซบุ๊กของชุมชน เพื่อเข้าไปแนะนำตัว หรือเข้าไปร่วมกิจกรรมเพื่อให้เป็นที่รู้จัก



 

อยากส่งเดลิเวอรีบ้าง เลือกใช้กล่องแบบไหนดี?
               

      มาถึงอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการจัดส่งเดลิเวอรี คือ การเลือกใช้กล่องที่เหมาะสมกับสินค้าและความต้องการของธุรกิจมีปัจจัยสำคัญอะไรเกี่ยวข้องบ้าง ผู้บริหาร Mister Box Delivery ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้
 
               
     1. ดูที่ระยะทางและระยะเวลาที่ใช้ในการจัดส่ง ในแต่ละรอบว่านานแค่ไหน ส่งใกล้หรือส่งไกล ส่งในรัศมีกี่กิโลเมตร เพื่อที่จะได้นำมาคำนวณการเลือกใช้กล่องเพื่อจัดเก็บอุณหภูมิที่เหมาะสมได้ ซึ่งหากจัดส่งไม่ไกล ระยะเวลาไม่นาน อาจไม่จำเป็นต้องเลือกใช้กล่องที่มีความหนามากก็ได้ เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณลงได้ แต่สำหรับบางร้านที่ต้องจัดส่งเป็น Root ตามเส้นทางก็อาจต้องเลือกใช้กล่องที่มีคุณภาพในการจัดเก็บอุณหภูมิได้มากหน่อย


     2. สินค้าที่ส่ง คือ อะไร ต้องการการดูแลมากน้อยแค่ไหน เป็นอาหารเครื่องดื่มประเภทร้อนหรือเย็น ต้องการจัดเก็บอุณหภูมิที่เท่าไหร่ โดยกล่องเดลิเวอรีหนึ่งใบสามารถเลือกใช้ได้ทั้งร้อนและเย็น เพียงแต่ต้องเลือกคุณภาพให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง ซึ่งโดยส่วนใหญ่หากเป็นการเก็บอุณหภูมิร้อนมักจะทำได้ง่ายกว่าการทำความเย็น เช่นหากต้องการคงสภาพของวิปครีมบนตัวเครื่องดื่ม หรืออาหารแช่แข็งอาจจำเป็นต้องเลือกใช้กล่องที่มีคุณภาพสูงขึ้นมาหน่อย



               

     3. ขนาดแพ็กเกจจิ้งที่ใช้ และปริมาณการจัดในแต่ละรอบ เพื่อนำมาคำนวณหาพื้นที่ความจุที่เหมาะสมต่อการเลือกใช้กล่อง เช่น บางร้านขนาดแพ็กเกจจิ้งอาจไม่ได้ใหญ่มาก แต่มีปริมาณการจัดส่งในแต่ละรอบที่เยอะ ก็ต้องเลือกกล่องที่ขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้อาจลองคำนวณได้จากการสถิติการจัดส่งแต่ละครั้ง การจัดทำโปรโมชั่น โดยควรเลือกขนาดที่เหมาะสมไม่ควรเลือกเผื่อให้ใหญ่จนเกินไป เช่น จากปกติส่งน้ำ 4 แก้ว แต่เลือกกล่องที่ใส่ได้ถึง 16 แก้ว เนื่องจากจุดกำเนิดของอุณหภูมิที่แท้จริงมาจากตัวของสินค้าเอง ดังนั้นหากเลือกกล่องที่มีขนาดใหญ่เกินจริง มีพื้นที่ว่างเหลือเยอะ ก็จะไม่สามารถทำอุณหภูมิให้ถึงเพื่อเก็บรักษาคุณภาพของสินค้าได้ดี ที่สำคัญยังสิ้นเปลืองเงินด้วย
               

      4. ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อย กล่องเดลิเวอรีมีหลายเกรดหลายราคาให้เลือกก็จริง แต่ควรดูที่คุณภาพเป็นสำคัญ โดยอาจไม่จำเป็นต้องแพงมาก แต่ก็ไม่ถูกจนเกินไป จนไม่สามารถใช้งานได้ ควรเลือกดูรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ตัวประกอบโครง ตีนตุ๊กแก ซิปรูด กล่องมีเคลือบกันน้ำไหม สามารถพับเก็บได้ไหม สิ่งเหล่านี้อาจมองไม่เห็นความจำเป็นในตอนแรก แต่เมื่อได้ลองใช้งานแล้ว กลับมีความสำคัญมาก  
               

      5. บริการเสริมอื่นๆ ที่มี ได้แก่ การรับประกันคุณภาพ การช่วยส่งเสริมการตลาด เช่น การจัดทำโลโก้ การบริการหลังการขายต่างๆ
               

       โดยในช่วงแรกนั้นอาจลองเลือกใช้กล่องมาตรฐานที่มีอยู่แล้วไปก่อน ภายหลังหากได้ทดลองใช้งานดูแล้ว หากมีความต้องการอะไรเพิ่มเติมจึงค่อยลองปรึกษาผู้ผลิต เพื่อให้ช่วยออกแบบให้ก็ได้ แต่ทั้งนี้อาจมีขั้นต่ำในการผลิตหรือราคาที่สูงขึ้นตามมาด้วย
               





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย