Take Me Home มะเขือเทศจากฟาร์มอัจฉริยะ ผู้พลิกยอดขาย 0 บาท สู่เบอร์ 1 ในประเทศไทย

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : Take Me Home





     วันแรกที่มะเขือเทศ Take Me Home ลูกกลมโตสวยเหมือนแอปเปิล วางขายในตลาดขายส่งผัก-ผลไม้เมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง 6 โมงเช้า ทำยอดขายไปได้ทั้งสิ้น “0 บาท!” ทั้งที่หั่นราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 20 ซึ่งถูกกว่ามะเขือเทศปกติในยุคนั้นเป็นเท่าตัว
               

     ผ่านมา 15 ปี มะเขือเทศที่คนเมินใส่ในวันแรก เติบใหญ่กลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายมะเขือเทศสดในระบบไฮโดรโปนิกส์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผลิตสินค้าคุณภาพจากฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farming) ส่งผลผลิตสู่ตลาดสูงถึง 300-400 ตันต่อปี จำหน่ายในโมเดิร์นเทรดชั้นนำ และทำส่งออกมาแล้ว
               

     ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มาฟังคำตอบจาก “นิกกี้-ปนัดดา เคปเปิล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี.เอ.ที.ที. จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายมะเขือเทศสด แบรนด์ “Take Me Home” และ “Tomato House” จ.เชียงใหม่กัน



 
 
ผู้บุกเบิกมะเขือเทศสายพันธุ์นอกเข้าสู่ตลาดประเทศไทย
               

     “ถ้าปลูกแล้วจะรับซื้อไหม?” คือคำถามที่เกษตรกรใน จ.เชียงใหม่ โยนใส่ปนัดดาคนทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พริกหวาน เมื่อประมาณปี 2547 หลังผลผลิตทางการเกษตรราคาตกเพราะคนแห่มาปลูกกันเยอะมาก จนถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งคำถามนี้ไม่เคยอยู่ในหัวของคนขายเมล็ดพันธุ์อย่างเธอมากก่อน แต่ก็เลือกที่จะรับโจทย์ไปนอนคิดต่อว่าจะตอบคำถามและหาทางออกให้กับเกษตรกรอย่างไร


     “เลยมาคิดว่าสิ่งที่ปลูกควรเป็นพืชที่กินได้ทุกวัน มีทุกที่ กินได้กับทุกอย่าง เลยมองถึงมะเขือเทศเพราะใส่ในข้าวผัดก็ได้ ในส้มตำก็มี กินสดๆ ยังได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีมะเขือเทศสำหรับแต่งจาน คิดง่ายๆ แค่นี้เลย อย่างนั้นปลูกมะเขือเทศก็แล้วกัน เกษตรกรถามกลับมาว่า ถ้าปลูกแล้วมาขายเราจะรับซื้อใช่ไหม เลยบอกกลับไปว่าอย่างนั้นเราขอทดลองปลูกเองดูก่อนว่าเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งตอนนั้นในฟาร์มของเราไม่ได้ปลูกอะไรเลยนอกจากปลูกพืชเพื่อทดสอบสายพันธุ์ เพราะเราขายเมล็ดพันธุ์ จึงเริ่มจากนำเข้าพันธุ์มะเขือเทศจากเนเธอร์แลนด์มาทดลองปลูก เริ่มจากแค่สายพันธุ์เดียว เป็นพันธุ์เนื้อลูกใหญ่ ปรากฏว่าได้ผลดี แต่สิ่งที่เราลืมคิดต่อคือแล้วผลผลิตที่ได้เราจะเอาไปขายที่ไหน”




 
เปิดตลาดวันแรกทุบสถิติด้วยยอดขาย “0 บาท”


     ผลผลิตล็อตแรกออกมาเป็นตันๆ ผลสดสวยเด่นแดงฉ่ำ ปนัดดาจึงลองเอาไปวางขายในตลาดค้าส่งผัก-ผลไม้ ใน จ.เชียงใหม่ ยืนขายกันตั้งแต่ 6 โมงเย็นยัน 6 โมงเช้า ปรากฏ...ขายไม่ได้แม้แต่ลูกเดียว


     “ตอนนั้นมะเขือเทศเราลูกใหญ่สวยแดงฉ่ำมาเลย คนเดินมาก็โอ้โหอันนี้เรียกว่าอะไร แอปเปิลเหรอ เราบอกไม่ใช่ มันคือมะเขือเทศ เขาก็บอกมะเขือเทศลูกใหญ่ขนาดนี้เลยเหรอ ก็สนทนากันสักพักแล้วเขาก็วางและเดินจากไป..ไม่ซื้อ ทั้งๆ ที่เราขายแค่กิโลละ 20 บาท ในขณะที่มะเขือเทศทั่วไปตอนนั้นขายอยู่ที่กิโลละ 40-50 บาทเข้าไปแล้ว มองว่าอาจเพราะยังเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเมืองไทยมาก เพราะมะเขือเทศในยุคนั้นจะเขียวๆ แดงๆ ส้มกระดำกระด่าง นั่นคือมะเขือเทศในความทรงจำของทุกคน พอเห็นของเราคนเลยไม่รู้จัก ไม่แม้แต่จะตอบรับ มองแต่ไม่สนใจ ก็เลยกลับมานั่งกุมขมับ แล้วเวลาชาวบ้านมาถามว่า ถ้าเขาปลูกแล้วเราจะรับซื้อไหม จะซื้อยังไงถ้าไม่มีตลาด ก็เลยต้องมานั่งคิดกันใหม่” เธอเล่า


     ผลลัพธ์จากยอดขายวันแรกบอกเธอว่า ตลาดล่างไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องหาคนที่มีเงิน มีกำลังซื้อ ให้ความสำคัญกับเรื่องสินค้าคุณภาพและอยากได้ของดีมาเป็นลูกค้า นั่นคือกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ต เลยนำสินค้าไปเสนอที่ “ริมปิง ซูเปอร์มาร์เก็ต” ห้างท้องถิ่นชื่อดังของ จ.เชียงใหม่   


     “ริมปิงเขาเน้นขายของนอก ของนำเข้าเหมือน Villa Market พอเห็นมะเขือเทศของเราเขาบอกเข้ามาขายเลย มีของดีขนาดนี้อยู่เชียงใหม่เอาเข้ามาเลย เลยเหมือนเห็นแสงตรงปลายอุโมงค์ โชคดีที่เราเจอคนที่มีมายด์เซ็ตเดียวกันคืออยากขายของดีมีคุณภาพ ก็เริ่มวางขายที่นั่นแล้วมาสนับสนุนให้เกษตรกรปลูก ซึ่งการขายที่ริมปิงฯ เป็นเหมือนประตูให้เราออกไปสู่ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในเวลาต่อมา รวมถึงโมเดิร์นเทรดในกรุงเทพ  ได้ไปร่วมงานแสดงสินค้าอย่าง ไทยเฟ็กซ์ เพื่อให้คนรู้จักเรามากขึ้น จากนั้นเราก็เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น ในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน รวมถึงตลาดส่งออก”




 
มะเขือเทศที่เกิดจากฟาร์มอัจฉริยะ


     ปัจจุบัน Take Me Home เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายมะเขือเทศภายใต้แบรนด์ แบรนด์ “Take Me Home” และ “Tomato House” โดยมี 6 สายพันธุ์ 18 รายการ เป็นการปลูกจากฟาร์มของพวกเขาเองประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 40  เปอร์เซ็นต์ เป็นของเกษตรกรลูกข่าย กำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 300-400 ตันต่อปี พวกเขาเป็นแบรนด์แรกๆ ที่นำระบบ Smart Farming เข้ามาใช้ โดยเป็นเทคโนโลยีจากเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านการเกษตรติดอันดับต้นๆ ของโลก และปัจจุบันคือผู้ปลูกมะเขือเทศในระบบไฮโดรโปนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


     “การนำระบบ Smart Farming เข้ามาใช้ มันเป็นเรื่องของความมั่นคงของตลาด เพราะพอเรามีลูกค้าที่ต้องการสินค้าอยู่ตลอดเวลา ลูกค้าเขาไม่ได้สนใจหรอกว่าฤดูไหนร้อนฤดูไหนหนาว แต่เราต้องมีของให้เขาตลอด แต่ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ที่เราไม่สามารถขยายได้มาก โจทย์ก็คือทำยังไงให้พื้นที่เดิมที่เรามีอยู่สามารถสร้างผลผลิตที่มากขึ้น ต่อให้เป็นเพียงแค่กิโลเดียวแต่นั่นก็คือรายได้แล้ว เราจึงเริ่มนำเข้าเทคโนโลยีเข้ามาจากเนเธอร์แลนด์ ในการบริหารจัดการระบบน้ำ ช่วยคำนวณค่าความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิภายนอก-ภายใน ค่าความเค็มต่างๆ ของต้นไม้ แล้วประมวลผลว่าตอนนี้ต้นไม้ต้องการอะไร ต้องการอาหารเสริมในแต่ละมื้อไหม ได้อาหารเพียงพอไหม เราเริ่มทำระบบนี้ในปี 2013  จนมาในปี 2015  เราสามารถทำผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 5 กิโลกรัม/ตร.ม./ปี เพิ่มเป็น 25 กิโลกรัม/ตร.ม./ปี ได้ ซึ่งถือว่าสูงมาก นั่นคือเหตุผลที่เราเชื่อว่า มาถูกทางแล้ว”


     ระบบฟาร์มอัจฉริยะที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ สามารถลดการใช้คนลงได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ลดการสูญเสียปุ๋ยและน้ำลง 50 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับตัวโครงสร้างโรงเรือนให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ ทำให้แข็งแรงต่อภัยพิบัติ มีม่านบังแสงลดความร้อนจากภายนอก ปรับความอัจฉริยะให้เหมาะกับการใช้งานจริงของพวกเขา


     เมื่อถามว่าคุ้มกับการลงทุนไหม ปนัดดาฝากข้อคิดที่น่าสนใจให้ฟังว่า


     “ถามว่าเงินลงทุนสูงไหม ต้องถามว่าเทียบกับอะไร เพราะถ้าเทียบกับการลงทุนทำไปแล้วแต่ไม่ได้มีการจัดการด้านอื่นๆ เลยมันก็คงออกมาไม่ดี การที่มี Smart Farming คุณต้องเป็น Smart Farmer ด้วย เพราะหากคุณไม่ใช่ แล้วคิดว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะจะมาช่วยคุณ คุณก็ไปไม่เป็นแล้ว คุณสั่งเครื่องจักรปล่อยน้ำ แต่ไม่สนใจเรื่องโรคและแมลงคุณก็พัง ปล่อยให้เทวดาเลี้ยงพืชก็ตาย ต่อให้มีเครื่องที่เจ๋งที่สุดในโลกมาวางให้คุณใช้ แต่ถ้าคุณใช้ไม่เป็น หรือไม่สนใจมันก็ไม่ซัคเซส” เธอสะท้อนความคิด


     เธอบอกอีกว่า คนที่จะทำเกษตรแบบ Smart Farming ได้ ต้องเอาใจใส่ และใจรักจริงๆ ไม่ใช่มีแค่เงิน มีที่ดิน แล้วก็คิดทำฟาร์ม แต่พอถึงวันหยุดยาวก็หยุดทำขอไปเที่ยวก่อน ทำแบบนั้นเตรียมพบกับหายนะได้ เพราะการทำเกษตรเป็นเรื่องของการใส่ใจทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกวินาที จะแค่อยากเป็นไม่ได้ ที่สำคัญต้องซื่อสัตย์กับอาชีพของตัวเองด้วย



 

Take Me Home แบรนด์นี้คือความแตกต่าง


     Take Me Home เป็นมะเขือเทศที่มีแบรนด์ และมีแพ็กเกจจิ้งดีไซน์ทันสมัย เลือกใช้สีดำกับมะเขือเทศในยุคที่ยังไม่มีใครเขาใช้สีดำกับอาหาร เพราะแค่รู้สึกว่ามันสวย ไม่เคยทำอะไรตามเทรนด์ รู้แต่ว่าสิ่งที่ทำในวันนี้อีก 5 ปีข้างหน้าต้องรีบปรับตัวเพราะถ้ายังอยู่ที่เดิมความแตกต่างจะกลายเป็นของธรรมดาและทุกคนก็จะแซงหน้าไป


     “มีคนเคยพูดกับเราว่า มะเขือเทศก็คือมะเขือเทศ แล้วมันต่างกันตรงไหน ก็เลยปิ๊งชื่อ Take Me Home ขึ้นมา ทำยังไงให้สิ่งที่คนมองว่าเหมือนๆ กัน แต่มีจุดที่ทำให้รู้สึกว่าเหมือนไปดลใจเขาให้อยากหยิบกลับบ้าน หน้าตาเหมือนกันเขามะเขือเทศฉันก็มะเขือเทศแต่ฉันพูดกับเธอว่า Take Me Home  นั่นคือที่มาของแบรนด์เรา” เธอเล่า


     Take Me Home ไม่ใช่แบรนด์นักล่ารางวัล บนเวทีต่างๆ ทุกคนก็อาจจะไม่ได้เห็นชื่อของพวกเขา ปนัดดาบอกเราว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้น เท่ากับหัวใจของการทำธุรกิจ ที่เธอเรียกมันว่า “จรรยาบรรณ”


     “ถ้าพูดถึง 15 ปี ของการทำธุรกิจ เราน่าจะโตได้ไกลกว่านี้มาก ถ้าเราทำแบบคนอื่น แต่เรายังจำกัดในเรื่องของคุณภาพที่เราจับต้องได้ และพยายามควบคุมให้ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะพัง ซึ่งเราไม่ได้ต้องการอยู่รอดแค่เพื่อตัวเราเองแต่ต้องทั้ง 2 ฝั่งที่เราพามาด้วยนั่นคือเกษตรกรและผู้บริโภค นี่เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากๆ ฉะนั้นเรื่องของจรรยาบรรณในการทำธุรกิจจึงสำคัญ สินค้าของเราต้นทุนสูง เมล็ดพันธุ์เราแพง การบริหารจัดการเราแพง และเหนือสิ่งอื่นใดคือค่าของจรรยาบรรณที่เราใส่เข้าไป ใครที่มาเป็นลูกสวนเราต้องมีมาตรฐานในการเพาะปลูกที่สูงเพื่อให้มั่นใจได้ว่าของที่ออกจากเราไปต้องมีคุณภาพและปลอดภัยที่สุด โดยไม่ต้องมีคำถามกลับมา เพราะถ้าเป็น Take Me Home เขาเชื่อใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์”



 

     ปัจจุบันภายใต้บริษัท ดี.เอ.ที.ที. จำกัด นอกจากจะมีผลผลิตหลักอย่างมะเขือเทศ พวกเขายังมีบริษัทลูกที่ทำเรื่องของเทคโนโลยีเกษตร นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแนะนำให้กับประเทศไทย รวมถึงยังเป็นที่ปรึกษาในการทำ Smart Farming ให้กับหลายๆ บริษัท เช่น โรงสลัดของ CP ที่อยุธยาที่ใช้หุ่นยนต์ทั้งหมด รวมถึงยังเป็นคนที่นำเทคโนโลยีเข้าไปติดตั้งทำให้ระยองสามารถปลูกสตรอว์เบอรี่ และดอกทิวลิปได้ ในโรงเรือนที่มีอุณหภูมิ 18 องศา ตลอดทั้งปี เป็นต้น


     เมื่อถามถึงศักยภาพของธุรกิจเกษตรไทย คนอยู่ในสนามมากว่าทศวรรษบอกเราว่า


     “ยังเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำการเกษตรที่ดีได้ เราพูดเสมอว่าเราเป็นประเทศเกษตรกรรมแต่เกษตรกรรมในที่นี้ไม่ใช่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่ต้องเป็นอย่างเกษตรกรในต่างประเทศที่เขาขับ Porsche กันหมดแล้ว ทำไมเราถึงยังขับอีแต๋นอยู่ ทั้งที่กำลังซื้อมีอยู่มหาศาลมาก ซึ่งถ้าเราทำให้เกษตรกรรมของเรามีศักยภาพโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างที่บอกว่าไม่ต้องไปซื้อที่ดินเพิ่มหรอก แต่ทำยังไงให้สิ่งที่เรามีอยู่พัฒนาคูณเข้าไป เป็นคุณที่เป็นคูณ นั่นคือเป็นคุณที่อยู่ทุกวันนี้แต่คูณทวีเข้าไป เหนือสิ่งใดคือต้องมีกำลังใจ แล้วเราก็จะไปถึงจุดนั้นได้” เธอบอกในตอนท้าย
 


     นี่คือเรื่องราวของคนทำมะเขือเทศที่ขายแต่มะเขือเทศอย่างเดียวมาตลอด 15 ปี แม้ยอดขายในวันแรกจะเท่ากับ 0 บาท แต่ก็ไม่เคยหยุดความมุ่งมั่นไว้แค่นั้น ทว่าเลือกที่จะหาเส้นทางใหม่ เพราะเชื่อว่า ต้องมีสักทางที่ใช่สำหรับธุรกิจจากความตั้งใจดีของพวกเขา   
 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย