PHOTO : สวนปันแสน
เมื่อชีวิตในเมืองหลวงไม่ตอบโจทย์ “เสาวลักษณ์ มณีทอง” ลูกหลานเกษตรกรใน อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่มาเรียนบริหารธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ และทำงานอยู่ในกรุงเทพมากว่าสิบปี ตัดสินใจกลับไปบ้านเกิด เพื่อพลิกผืนดินที่คุ้นเคยเมื่อวัยเยาว์ มาเป็นธุรกิจแปรรูปสมุนไพร สร้างป่าอาหารที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยรายได้และความสุขสู่ชุมชน และยังส่งออกไปไกลถึง อเมริกา ศรีลังกา และออสเตรเลีย ทั้งหมดที่ว่านี้..เธอทำสำเร็จภายในเวลาแค่ 7 ปีเท่านั้น
ออกจากชีวิตผิดที่ผิดทาง กลับไปสร้างฝันใหม่ที่บ้านเกิด
กรุงเทพฯ อาจเป็นเมืองในฝันที่เด็กต่างจังหวัดหลายคนอยากมาเยือน แต่สำหรับ เสาวลักษณ์ ที่เติบโตมากับวิถีเกษตร อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและอ้อมกอดของขุนเขา เธอยอมรับว่า การใช้ชีวิตในเมืองหลวงเหมือนไปอยู่ผิดที่ผิดทาง และคิดมาตลอดว่าอยากกลับบ้านเกิดที่ จ.ตาก
เธอไม่ได้ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตในทันที แต่เริ่มจากวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง เรียนรู้เติมเต็มประสบการณ์ที่ยังขาด และหาโอกาสธุรกิจที่จะสามารถไปทำได้เมื่ออยู่บ้าน โดยเชื่อเสมอมาว่า ธุรกิจควรอยู่ได้ในทุกๆ ที่ ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ในเมืองเท่านั้น
“ทุกครั้งที่กลับบ้านในวันหยุด มีความรู้สึกว่าบ้านเราไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย พี่ป้าน้าอายังทำเกษตรแบบเดิมๆ ปลูกเสร็จ ไม่มีการตลาด ไม่มีการผลิตหรือแปรรูปอะไรที่เพิ่มมูลค่า ผักบ้านเราขายกำละ 5 บาท 10 บาท แต่พอไปเดินห้างฯ ของเหมือนกันแต่เขาขายแพงกว่าเป็นสิบๆ เท่า แถมยังแปรรูปไปเป็นอะไรได้อีกเยอะมาก ก่อนหน้านี้ช่วงปิดเทอมก็เคยไปปลูกผักออร์แกนิกที่บ้าน แต่พบว่ามันขายไม่ได้ ขายได้ก็ไม่แตกต่างจากคนที่เขาทำเคมี เลยกลายเป็นความรู้สึกในใจว่าต่อให้เราทำของที่ดีขนาดไหนแต่ถ้ามันไม่ถึงผู้บริโภคที่เห็นคุณค่า หรือแม้กระทั่งไม่มีการเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปหรือยืดระยะเวลาการขายออกไปได้ มันก็จะกลับไปสู่ปัญหาเดิมๆ เลยคิดว่า เราต้องเริ่มที่การแปรรูปผลผลิตในชุมชน แล้วต้องทำให้มันขายได้จริงขึ้นมา” เธอบอกความมุ่งมั่น
เรียนรู้จากการลงมือทำ สั่งสมประสบการณ์ก่อนกลับบ้าน
เสาวลักษณ์ ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ใจร้อน แต่เธอเป็นนักวางแผนที่ดีคนหนึ่ง เธอรู้ว่าปัญหาของการทำธุรกิจเกษตรคือเรื่องของการตลาดและแปรรูป จึงเริ่มจากมาหาความรู้ในสองเรื่องนี้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้าน เริ่มจากใช้ความรู้ที่มีมาเปิดเพจขายของออนไลน์ ใช้ชื่อว่า plant love หรือปลูกรัก
โดยเริ่มจากหาของมาขาย เป็นพวกสินค้าเพิ่มน้ำนมแม่เพราะเป็นช่วงที่ตัวเองมีลูกพอดี พอเชี่ยวชาญในการขายและมั่นใจว่าขายได้จริง ก็เปลี่ยนจากการเอาของคนอื่นมาขาย เป็นไปจ้างโรงงานผลิตแล้วขายในแบรนด์ของตัวเอง เพื่อเรียนรู้เรื่องการแปรรูป จนเข้าใจกระบวนการผลิต เข้าใจการบริหารจัดการในโรงงาน ก็พร้อมที่จะกลับบ้านเพื่อไปสอนคนในชุมชนให้แปรรูป โดยตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรักขึ้น ผลิตสมุนไพรสด สมุนไพรตากแห้ง และสมุนไพรแปรรูป จำพวกขมิ้นชันอินทรีย์ กระชายอินทรีย์ จิงจูฉ่ายอินทรีย์แบบแห้ง หอมแดงอินทรีย์ ฯลฯ รวมถึงผลิตภัณฑ์เพิ่มน้ำนมแม่ มีแบรนด์สินค้าชื่อ plant love และ Pan San (ปันแสน) มีผลิตภัณฑ์วางขายอยู่ในเว็บไซต์ www.punsansook.com และ www.momplantlove.com รวมถึงเฟซบุ๊ก plantlove อีกด้วย
แต่งานนี้ไม่มีอะไรง่าย ในวันเริ่มต้นเธอมีสมาชิกแค่ 7 คน มีรายได้ทั้งปีแค่หลักหมื่น กว่าจะรู้ถึงความสำเร็จก็ต้องล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย
ทำธุรกิจต้องไม่ขายฝัน แต่ต้องสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นจริง
ถ้าถามถึงแรงบันดาลใจในวันที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ ณ บ้านเกิด เสาวลักษณ์ บอกเราว่า แค่อยากให้ป่ากลับมาเหมือนเดิม ภูเขาไม่หัวโล้น อยากให้น้ำไม่แล้ง และอยากให้คนในชุมชนได้อยู่ดีกินดี ด้วยความที่สนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มเรียนรู้และศึกษาการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จนถึง โคก หนอง นา โมเดล เลยคิดนำทุกสิ่งเหล่านี้มาผสมผสานกัน เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ร่วมกันได้
“ถ้าเราจะปลูกป่าเข้าสู่พื้นที่สิ่งแรกเลยคือต้องทำป่าที่สร้างรายได้ ป่าที่เป็นอาหาร เพราะถ้าชาวบ้านท้องไม่อิ่ม เขาก็จะวนอยู่กับปัญหาเดิมๆ ฉะนั้นพืชที่เราจะไปส่งเสริมให้เขาปลูกนอกจากจะเป็นป่าแล้ว ทุกอย่างต้องนำมาแปรรูปได้ มันจึงจะวินทั้งเราวินทั้งเขาและวินทั้งโลก”
การตีโจทย์ป่าออกมาเป็นรายได้ คือการเลือกปลูกพืชที่จะสร้างรายได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว วางแผนการปลูกให้มีรายได้เข้ามาไม่ว่าจะใน 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน หรือ 1 ปี พืชที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องตอบโจทย์ตลาดและเป็นที่ต้องการ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย การสร้างป่าอาหารที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยรายได้และความสุขของชุมชน ตามที่เธอวาดหวังไว้
“เราเริ่มจากการทำจากสิ่งเล็กๆ ให้เป็นจริง แล้วค่อยๆ ตีแผ่มันออกไป เราไม่ได้ใช้การพูดเพื่อให้ทุกคนเห็นด้วย แต่ใช้การลงมือทำ และการมีรายได้จริงให้ชุมชนเห็น ถ้าเขาปลูกมาส่งขายเราเขาได้เงิน ถ้าเขามาทำงานกับเรา มาช่วยกันแปรรูป เขาได้เงิน น้องๆ ที่ว่างงานไม่มีงานทำมาทำงานกับเราก็มีรายได้จริง ทำให้จากคนแค่ 7 คนในตอนเริ่มต้น กลายเป็นเกษตรกรที่ผูกพันเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มของเราอยู่กว่า 300 คน ถ้าถามว่าเราเดินทางเติบโตขึ้นมาได้ยังไง มองว่าคือการมีรายได้จริง และทำให้คนที่มาอยู่กับเราอิ่มท้อง ไม่ได้พูดกับเขาว่าต้องช่วยกันปลูกป่านะเพื่อให้ฝนตกหรืออะไรอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยในเมื่อเขายังไม่พอกิน แต่เราใช้วิธีการง่ายๆ แค่ให้ทุกคนมีรายได้ ให้ทุกคนค่อยๆ เข้าใจแล้วเติบโตไปด้วยกัน เราไม่ได้เอาโลกสวยนำทาง แต่ค่อยๆ ลงมือปฏิบัติให้สิ่งที่ทำพอกพูนและเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ”
ตลาดส่งออก โอกาสจากโมเดลธุรกิจเกื้อกูล
เสาวลักษณ์ บอกเราว่า เธอไม่ใช่นักธุรกิจจ๋า แต่คือลูกหลานเกษตรกรที่ลุกมาทำธุรกิจเกษตร เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้มีเงินถุงเงินถังมาทำอะไรมากมาย การจะเริ่มต้นกิจการสักอย่างและเติบโตไปได้ จึงต้องอาศัยกลยุทธ์ “เป็นเพื่อนกัน” ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนกับฝั่งเกษตรกร เพื่อนกับฝั่งคู่ค้า ใช้การเดินทางที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อนำพากิจการให้เติบโต
“อย่างเวลาเราไปออกบูธตามงานต่างๆ ก็จะได้เจอคู่ค้า หรือบางทีไปอบรมไปทำ Business Matching ก็จะได้เจอกับเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจ เขาทำโรงงานแปรรูปใหญ่โต เขาต้องการเกษตรกรและวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ก็มาถามเราว่าสามารถปลูกอันนี้ให้ได้ไหม ปลูกฟักทองให้พี่สัก 20 ไร่สิ คนนี้ก็ให้ปลูกตะไคร้ คนนี้ให้ปลูกย่านาง เราก็นำโจทย์กลับมาหาเกษตรกร ใครพร้อมที่จะปลูก ก็วางแผนกระจายงานให้เขาปลูกและรับซื้อ ซึ่งพอเกษตรกรเขาขายได้จริง เขาก็มีความเชื่อใจเรา เราเองก็มีความเชื่อใจในเกษตรกรว่าเขาทำของที่ได้คุณภาพจริงๆ คือต่างคนต่างก็เชื่อใจกันและกัน พอได้ของที่ดีไปส่ง คู่ค้าก็เชื่อใจที่จะสั่งกับเรามากขึ้น” เธอว่า
และนั่นเองที่นำมาสู่โอกาสในตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะอเมริกา ศรีลังกา และออสเตรเลีย รวมถึงตลาดใหม่ๆ ในอนาคต หลังพัฒนาสินค้าจนได้มาตรฐานมาครบทั้ง USDA organic, GMP, HACCP, HALAL, Bio Economy
“เนื่องจากพอเราเริ่มทำผลผลิตออกมาได้คุณภาพ กลุ่มของเราก็เริ่มเป็นที่รู้จัก แล้วเพื่อนนักธุรกิจก็เริ่มรู้จักเรามากขึ้น ก็เริ่มแนะนำลูกค้ามา อย่างเพื่อนที่เขาทำส่งออกอยู่แล้ว เขาก็มาถามว่ามีขมิ้นไหม พอดีลูกค้าที่ศรีลังกากำลังถามหาอยู่ เขาจะเอาสินค้าของเราออกไปให้ กลายเป็นว่าเพื่อนเกื้อกูลกัน คำว่าเครือข่ายจึงสำคัญสำหรับเรามาก เพราะสินค้าที่ส่งออกไปต่างประเทศได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพื่อนที่ดูให้ทั้งหมด”
นอกจากศรีลังกา สมุนไพรของพวกเขายังส่งออกไปที่อเมริกาและออสเตรเลียมาแล้ว
“อย่างลูกค้าที่อเมริกาเป็นบริษัทที่ทำพวกสมุนไพร เขาต้องการสมุนไพรที่เป็นออร์แกนิกจริงๆ เพราะมันหายาก เขาก็บินมาดูแปลงของเราเองเลย มาเห็นว่าเราปลูกอินทรีย์จริง ปลูกทั้งภูเขาเลย ก็เอาของเราไปขายในปลายฤดูของเราหมายถึงว่า เราคุยกันไว้เป็นปี เพราะว่าผลผลิตบางอย่างเขาต้องการแต่เราไม่มีของอยู่ ก็ต้องใช้เวลาในการดีล จริงๆ ปีนี้เรามีแผนจะลุยตลาดส่งออกเต็มที่ เพราะทำมาตรฐานทุกอย่างรองรับไว้หมดแล้ว แต่ดันมาเจอโควิดเสียก่อน จริงๆ ตั้งใจจะส่งออกไปตะวันออกกลาง รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศให้มากขึ้น แต่แผนก็ต้องชะลอออกไป แต่เชื่อว่าถ้าทุกอย่างกลับมาปกติเราก็จะมาลุยส่งออกอีกครั้ง เป้าหมายจริงๆ คือเราอยากให้ผลิตภัณฑ์ของเราส่งออกไปได้ทั่วโลก อยากให้ต่างชาติรู้จักสมุนไพรไทย เชื่อถือและยอมรับเหมือนสมุนไพรของจีน ก็อยากจะไปไกลได้ขนาดนั้นบ้าง”
ในปีแรกที่กลับบ้านและปลุกปั้นความฝันขึ้นมาด้วยสองมือ เธอบอกว่าทั้งปีมีรายได้แค่หลักหมื่นบาท แต่วันนี้รายได้ของกลุ่มอยู่ที่กว่า 10 ล้านบาทต่อปีแล้ว หนึ่งในความฝันที่เธอวาดหวังไว้คือในอนาคต จะมีเหล่าคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเป็นแบบเธอ และได้นำความรู้ ความเชี่ยวชาญใหม่ๆ มาช่วยต่อยอดสวนปันแสนให้เติบโตได้ไกลกว่านี้
“วันที่เรายืนอยู่ตรงนี้คนเดียวในชุมชนแล้วสามารถสร้างมูลค่าขึ้นมาได้ขนาดนี้ มองว่าถ้าคนอีกหลายๆ คนที่มีความเก่งแล้วกลับมาอยู่บ้านเกิด ทุกคนมาช่วยกันพัฒนา โดยที่เราซึ่งมีประสบการณ์สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้เขาได้ แล้วเราก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อที่จะให้เขาเติบโต ในขณะที่เราเองวันหนึ่งก็จะมีคนมาเติมเต็มเรื่อยๆ เหมือนวงล้อ อยากให้มีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยเราในอนาคต มาเป็นคู่ค้า มาเป็นเครือข่ายกัน เพื่อที่จะส่งเสริมและเติมเต็มแล้วสำเร็จไปด้วยกัน” เธอบอกความปรารถนา
ปันแสน มาจากคำว่า แบ่งปันแสนสิ่งดี ซึ่งสิ่งดีๆ ที่ผู้หญิงคนหนึ่งได้ลงมือทำเมื่อ 7 ปีก่อน ก็กำลังส่งผลลัพธ์กลับมาให้เธอ ไม่ว่าจะในเชิงธุรกิจ ชุมชน แม้แต่ป่าอันงดงามที่เธอวาดหวังไว้แล้วในวันนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี