“ทิฟฟี่” แบรนด์ยาสามัญประจำบ้าน ที่เป็นธุรกิจพันล้าน เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

TEXT : กองบรรณาธิการ





     ขึ้นชื่อว่าอาการเจ็บไข้ได้ป่วยมักไม่เข้าใครออกใคร โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล มักเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นที่ใครก็สามารถเป็นได้อยู่บ่อยๆ และหนึ่งในยี่ห้อยาที่ทำให้นึกถึงและซื้อหามารับประทานได้ง่ายเพื่อใช้บรรเทาอาการดังกล่าวขึ้น ก็คือ “ทิฟฟี่” ยาแผงสีเขียวที่อยู่คู่เมืองไทยมานานกว่า 41 ปีนั่นเอง
               

     เห็นชื่อคล้ายฝรั่ง! แต่จริงๆ แล้ว ทิฟฟี่ คือ ยาบรรเทาอาการแก้ไข้ แก้ปวด และเป็นหวัดที่ผลิตขึ้นมาโดยคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์นะ ซึ่งผู้ที่ก่อตั้งแบรนด์ขึ้นมา ก็คือ “วินัย วีระภุชงค์” เจ้าของบริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด โดยที่มาของชื่อ ทิฟฟี่ นั้นมาจากเสียงของคนเวลาเป็นหวัด ซึ่งมักจะส่งเสียงอู้อี้พูดไม่ชัด เวลาสั่งน้ำมูกก็จะมีเสียงลมดังฟู่ฟี่ๆ ออกมา จึงนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ดังกล่าว



               

     ไทยนครพัฒนาไม่ได้ผลิตแค่ทิฟฟี่ออกมาเพียงแบรนด์เดียวเท่านั้น แต่ยังถือเป็นผู้ผลิตยาสัญชาติไทยรายใหญ่อันดับๆ ของประเทศด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเน้นไปที่กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน ตัวอย่างยาแบรนด์อื่น ได้แก่ ซาร่า – ลดไข้ บรรเทาปวด, แอนตาซิล - ลดกรด เคลือบแผลในกระเพาะ, นีโอติก้าบาล์ม – ทาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ, เบนด้า 500 – ถ่ายพยาธิ


     แรงบันดาลใจที่ทำให้วินัยสนใจมาทำธุรกิจเกี่ยวกับยาสามัญประจำบ้าน น่าจะมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ 1. พ่อของเขาที่ต้องเสียชีวิตลงด้วยไข้มาเลเรียตั้งแต่เขายังเล็กๆ อายุได้แค่ 8 ขวบ ทำให้ต้องออกมาช่วยแม่ค้าขายดูแลกิจการขายปุ๋ยและสินค้าเกษตรของครอบครัว 2. เมื่อโตขึ้นได้ทำงานเป็นเซลล์ขายยาให้บริษัทอังกฤษตรางู ทำให้เขาได้พบเห็นการเจ็บป่วยของผู้คนและความยากลำบากในการเข้าถึงยาในแต่ละพื้นที่ จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากสร้างโรงงานผลิตยาของตัวเองขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตนเองได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ ในช่วงแรกนั้นเขาได้ร่วมทุนทำกับญาติ ต่อมาภายหลังจึงได้แยกตัวออกมาและก่อตั้งธุรกิจของตัวเองขึ้นมาในชื่อ “ไทยนครพัฒนา” ในปี 2522 ซึ่งแบรนด์ที่ติดตลาดเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคชาวไทยดี ก็คือ ทิฟฟี่ นั่นเอง





     ในส่วนผสมของทิฟฟี่ 1 เม็ดนั้น ไม่ได้เป็นเพียงยาแก้ไข้ หรือลดปวดจากตัวยาพาราเซตามอลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทิฟฟี่ถือเป็นยาพาราเซตามอลแบบผสม ที่มีการผสมตัวยาแก้แพ้อย่างคลอร์เฟนิรามีน และลดอาการคัดแน่นจมูกอย่างฟีนิลเอฟฟริน ไฮโดรคอลไรด์ เข้าไปด้วยใน 1 เม็ดจึงสามารถบรรเทาลดไข้และเป็นหวัดคัดจมูกไปพร้อมกันได้ เหมือนเช่นเดียวกับดีคอลเจนแบรนด์ยานำเข้าจากต่างประเทศ  ซึ่งต่อมาภายหลังมีการแข่งขันกันเฉพาะตัวยาพาราเซตามอลในท้องตลาด เช่น ไทลินอล ทิฟฟี่ จึงสร้างแบรนด์ซาร่าแยกออกมาเฉพาะเพื่อลงแข่งขันด้วย
               

     จากที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงในตลาด ทิฟฟี่เองจึงมีการใช้กลยุทธ์การตลาด เพื่อสร้างแบรนด์ให้โดดเด่น เป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้นด้วยตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่เริ่มต้นทำแบรนด์แล้ว ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราจะเห็นได้ชัด คือ การสร้างสโลแกนประจำแบรนด์อย่าง “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” ที่หากพูดไปใครก็ต้องนึกถึงทิฟฟี่ หรือการเลือกใช้โทนสี เพื่อสร้างภาพจำ ทิฟฟี่สีเขียว ดีคอลเจนสีแดง และสุดท้าย คือ การนำดาราบุคคลมีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์อยู่เรื่อยๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและทันสมัย อย่างใหม่ - ดาวิกา โฮร์เน่ เป็นต้น





     นอกจากนี้ในการเติบโตของทิฟฟี่และแบรนด์ยาในเครือไทยนครพัฒนาเอง ยังเน้นเจาะกลุ่มตลาดไปที่ CLMV ประเทศเพื่อนบ้านของเราเป็นหลักด้วย ซึ่งทำจริงจังไม่ต่างจากในเมืองไทย ตั้งแต่การตั้งโรงงานผลิต การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค กฎหมาย ฯลฯ เรียกว่ากินส่วนแบ่งยาลดไข้แก้หวัดทั้งในประเทศ และ CLMV เป็นเบอร์ต้นๆ ทีเดียว


     ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่เอง จึงอาจเป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใดการขายยาสามัญประจำบ้านอย่างทิฟฟี่ จึงสามารถสร้างรายได้มากกว่าหลักหลายพันล้านบาทขึ้นมาได้ โดยมีข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ในปี 2559  นั้นบริษัทไทยนครพัฒนามีรายได้รวมอยู่ที่ 2,254 บาท กำไร 285 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ 2,636 ล้านบาท กำไร 414 ล้านบาท
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย