เจาะเทรนด์ Plant-based ไทย ตลาด (เขาว่า) มาแรงในปี 2564 ที่มีผู้บริโภค Flexitarian เป็นตัวเร่ง

TEXT : กองบรรณาธิการ





      ปี 2564 ยังเป็นปีแห่งโอกาสและความหวังสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย โดยเฉพาะธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือ Plant-based Food กลุ่มอาหารที่ทำมาจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย อัลมอนด์ ฯลฯ โดยพัฒนารสชาติ กลิ่น และสีสัน ให้เหมือนผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ไม่อยากทานเนื้อ
               

      เทรนด์นี้ถูกพูดถึงมาแล้วช่วงหนึ่ง ขณะที่หลายสำนักวิจัยต่างออกมาบอกว่าเป็นตลาดที่น่าจับตายิ่ง ด้วยตัวเลขมูลค่าธุรกิจและจำนวนผู้บริโภคที่เติบโตอย่างมากในต่างประเทศ ถามว่าแล้วประเทศไทยล่ะ เทรนด์ Plant-based Food มาหรือยัง แล้วเป็นโอกาสและความหวังจริงไหมในปี 2564   




               
                โควิดและ New Normal ตัวจุดโอกาส Plant-based Food


      หลังทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเจอกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กระแสของการใส่ใจสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ถูกให้ความสำคัญกันมากขึ้น ผู้บริโภคคนไทยเองก็หันมาตื่นตัวและเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย มีประโยชน์ต่อร่างกาย (Functional Food) ตลอดจนลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงเพราะมองว่าอาจเป็นที่มาของการแพร่เชื้อ  


     “จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา อย่าง ประเด็นที่เกิดการแพร่เชื้อในแพปลา ตลาดกุ้ง ฯลฯ รวมถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่มีการเกิดโรคร้ายซึ่งมีสัตว์เป็นพาหะ เช่น โรคไข้หวัดหมู ไข้หวัดนก ปัญหาสารเร่งในเนื้อสัตว์ ฯลฯ ทำให้คนเริ่มมีความหลอนเรื่องเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มหันมาทานอาหารที่ดีกว่าเนื้อ ซึ่งก็คือโปรตีนจากพืชกันมากขึ้น ขณะที่วันนี้คนไทยเองก็เริ่มมีความเข้าใจเรื่องโปรตีนจากพืชมากขึ้นดูได้จากในช่วงกินเจที่ผ่านมา ที่แบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Starbucks เองก็ออกมาทำอาหาร Plant-based  ร้านอาหารต่างๆ มีเมนู Plant-based ผู้บริโภคคนไทยก็เริ่มได้รับข้อมูลว่า Plant-based ต่างจากอาหารเจที่ส่วนมากทำมาจากแป้งหรือถั่วเหลืองอย่างเดียว แต่จะเป็นการนำพืชชนิดอื่นมาใช้ด้วย ซึ่งมองว่า Plant-based ไม่ใช่เทรนด์แต่เป็นโซลูชั่น ที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม”


      “วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์” Co-Founder และ CMO บริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด เจ้าของแบรนด์ มอร์มีท (More Meat) ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชที่ทำจากเห็ดแครง ฉายภาพตลาด Plant-based Food ในประเทศไทยที่มีการตื่นตัวและเติบโตมากขึ้นช่วงที่ผ่านมา



 

ตลาดไม่ได้มีแค่ชาววีแกน แต่โอกาสอยู่ที่กลุ่ม Flexitarian


     ตลาดโปรตีนทางเลือกอาจเริ่มต้นที่กลุ่มมังสวิรัติ ซึ่งคาดกันว่าจะมีอยู่ประมาณกว่าแสนคนในประเทศไทย รวมถึงผู้ที่ทานเจ ซึ่งส่วนมากจะกินแค่ช่วงเทศกาล กินเพราะความเชื่อทางศาสนา แต่ที่น่าสนใจคือ คนที่หันมาทาน Plant-based ในวันนี้ มีความหลากหลายและกว้างขึ้นมาก เช่น กลุ่มคนรักสุขภาพ ผู้บริโภคสายคลีน สายออกกำลังกาย สาวๆ ที่อยากดูแลตัวเอง ผู้สูงอายุ ตลอดจนกลุ่มที่ทานอาหารฮาลาล เหล่านี้เป็นต้น


     แต่ที่ต้องยกให้มาแรงสุดๆ ก็คือกลุ่มที่เรียกว่า “Flexitarian” หรือกลุ่มที่กินแบบ Vegetarian แต่ Flexible คือยืดหยุ่น โดยคนกลุ่มนี้พยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง ด้วยการทานบางอย่าง บางมื้อ บางวัน มังบ้างไม่มังบ้าง ซึ่ง EIC ได้รายงานข้อมูลจากสถาบันวิจัยตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคระดับโลกอย่าง Mintel ที่ระบุว่าการกินแบบ Flexitarian กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในยุโรป โดยมีรายได้ของเนื้อเทียมที่ทำจากพืช (เช่น เห็ด มะเขือม่วง เต้าหู้ ถั่ว เป็นต้น) เติบโตถึง 451 เปอร์เซ็นต์ (จาก 2014-2018) ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีชาวมังสวิรัติและวีแกนเพิ่มขึ้นถึง 440 เปอร์เซ็นต์ (ปี 2012-2016) นอกจากนี้ยอดขายนมและเนื้อที่ทำจากพืชทั่วโลกในปี 2018 อยู่ที่ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย (ที่มา : Euromonitor international)


     ในบ้านเราเองพลเมืองกลุ่มนี้ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นพลเมืองหลักที่จะขับเคลื่อนตลาด Plant-based ในปีหน้า


     “ในปี 2564 เราเชื่อว่ามูลค่าตลาด Plant-based  จะเติบโตที่ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ โดยปัจจัยมาจากการที่คนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเอง เลือกรับประทานสิ่งที่มีประโยชน์ และผู้บริโภคปัจจุบันยังมีพฤติกรรมที่เรียกว่า Flexitarain คือลดการทานเนื้อสัตว์ลง ซึ่งกลุ่มนี้เติบโตอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มหลักที่ทำให้ตลาด Plant-based  ไทยโตมากขึ้นในปีหน้า”



 

ผู้เล่นในตลาดและศักยภาพของประเทศไทย


     เมื่อถามถึงภาพรวมตลาดโปรตีนจากพืชในเมืองไทยที่ผ่านมา วรกันต์ บอกเราว่า ที่ผ่านมามีผู้เล่นที่เป็นแบรนด์ใหญ่อยู่ประมาณ 3 แบรนด์ ซึ่งพวกเขาคือ 1 ในนั้น โดยปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้นและมีแบรนด์ Plant-based เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าในปีหน้าจะได้เห็นแบรนด์อาหารทั้งที่เป็นธุรกิจร้านอาหาร ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ผลิตอาหารแปรรูปเข้ามาแข่งในด้าน Plant-based เพิ่มขึ้นอีกมาก


     “บ้านเราเองมีแบรนด์ Plant-based เยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตลาด Plant-based  ส่วนมากของนำเข้าเองไม่ค่อยตอบโจทย์ในประเทศไทย เนื่องจากว่าราคาสูง และส่วนใหญ่จะเป็นเบอร์เกอร์หรือไส้กรอก ซึ่งมันไม่เหมาะกับการนำมาทำอาหารไทย เลยไม่ค่อยตอบโจทย์ผู้บริโภคคนไทยเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสของ Local Brand อย่างเรา ที่สามารถทำโปรตีนจากพืชมาพัฒนาให้ตอบรสนิยมการทานและการนำมาปรุงอาหารของคนไทยได้มากกว่า และได้เปรียบในเรื่องการทำราคาอีกด้วย” วรกันต์ บอกจุดแข็งของผู้เล่นในประเทศไทย  


     ขณะที่ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS แนะนำว่า ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพที่สามารถกระโดดไปสู่ Plant-based Food ได้ง่ายคือ 1.ธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ (Processed Meat) และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ (Animal Product) เนื่องจากอยู่ในตลาดอาหารกลุ่มโปรตีนอยู่แล้ว การต่อยอดไปสู่ตลาด Plant-based Meat จึงไม่ใช่เรื่องยาก กลุ่มที่ 2.ธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปทั้งแบบพร้อมปรุงและพร้อมทาน (Ready-to-cook and Ready-to-eat) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ตอบโจทย์ชีวิตคนรุ่นใหม่ที่เน้นความสะดวก รวดเร็ว แต่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ รวมถึงกระแสนิยมผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากออร์แกนิค เป็นต้น โดยรูปแบบธุรกิจสามารถทำได้ทั้งแบบ B2C ที่ขายผ่านช่องทางร้านค้าปลีก และออนไลน์ และ B2B ที่ขายให้กับกลุ่มร้านอาหาร และบริษัทที่ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารของตนเอง เป็นต้น





      ด้าน “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่กำลังทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ Plant-based Food บอกเราว่า เทรนด์โปรตีนจากพืช โดยเฉพาะในกลุ่มของ Plant-based Meal  อาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบที่เป็น Plant based  ยังเป็นตลาดที่ใหญ่และมีโอกาสเติบโตสูงในประเทศไทย


      “วันนี้มันมีช่องทางที่คนไทยเข้าถึง Plant-based Food ได้สะดวกและง่ายขึ้นมาก อย่างเมื่อก่อนจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึง และจะเป็นแบรนด์นำเข้าซึ่งราคาค่อนข้างสูง และแน่นอนว่ามันยังมีเพนพอยท์บางอย่างอยู่ที่เป็นโอกาสให้กับแบรนด์ไทย อย่างการที่แบรนด์นำเข้าไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคคนไทย  ขณะที่เชื่อว่ากระแส New Normal จะเป็นอนาคตของผู้บริโภคยุคใหม่ทั้งคนไทยและต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ให้หันมาสนใจอาหารที่เป็น Plant-based กันมากขึ้น ซึ่งโปรดักต์ฮีโร่ก็คือ Plant-based Meal นี่เองที่เป็นจุดทำให้เราสนใจที่จะปรับพอร์ตสินค้าตัวเองมาสู่ Plant-based Food มากขึ้นในปีหน้า”
               

      ในปี 2564 วี ฟู้ดส์ คาดว่าจะสามารถเติบโตในตลาด Plant-based Food ได้กว่า 25-30 เปอร์เซ็นต์ โดยเน้นผลิตอาหารที่มีฟังก์ชัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของไทยมากขึ้น



 
               
      และนี่คือเทรนด์แห่งโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่มีแต้มต่อในเรื่องการเกษตรและอาหาร มีวัตถุดิบที่หลากหลาย รวมถึงการเป็นนักสร้างสรรค์ความอร่อยที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ทำให้ตลาดโปรตีนจากพืชมีสีสันขึ้นอีกมาก และมีโอกาสเติบโตไปเป็น Regional  Brand โบยบินสู่ตลาดอินเตอร์ได้ไม่ยากอีกด้วย
 
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย