TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ไร่ชาญลดา
ใครยังจำตำนานความอร่อยและชื่อเสียงของส้มบางมดได้บ้าง ครั้งหนึ่งย่านฝั่งธนเคยเป็นแหล่งปลูกส้มเขียวหวานขึ้นชื่อ ที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับชาวบางมดมานานหลายปี ก่อนจะข้ามผ่านวิกฤต ความเปลี่ยนแปลง และกลายเป็นเพียงตำนานเช่นในปัจจุบัน
หนึ่งในลูกหลานเกษตรกร ซึ่งมีศักดิ์เป็นทายาทรุ่น 3 อาณาจักรสวนส้มบางมดย่านฝั่งธน คือ “อังศุมา ศิริคุม” หลังจากเจอปัญหาโรคระบาดเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ครอบครัวของเธอและเกษตรกรสวนส้มรายอื่นก็อพยพไปหาแหล่งเพาะปลูกใหม่ เริ่มแรกย้ายไปที่ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี แต่ก็ยังแก้ปัญหาโรคระบาดไม่ได้ เลยต้องเปลี่ยนแผนไปลงหลักปักฐานที่ อ.โกสัมพี จ.กำแพงเพชร ที่ตั้งในปัจจุบัน
จากจุดเล็กๆ ขยับขยายเป็นสวนผลไม้ขนาด 112 ไร่ ใช้ชื่อ “ไร่ส้มชาญลดา” ซึ่งมาจากชื่อของพ่อและแม่ “เชี่ยวชาญและลดาวัลย์ ศิริคุม” ก่อนจะจัดตั้งเป็นบริษัทชื่อ “บริษัท ไร่ชาญลดา จำกัด” ขึ้นเมื่อปี 2556 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
ในตอนเริ่มต้นไร่ชาญลดาเน้นส่งผลผลิตไปขายตามตลาดไท ตลาดในภาคอีสาน และภาคใต้ แต่ตอนที่ทายาทอย่างอังศุมาและน้องชายเข้ามาสานต่อ คนรุ่นใหม่อย่างพวกเขาเกิดแนวคิดต่อยอดธุรกิจขึ้น โดยเธอมีดีกรีปริญญาตรีด้านภาษาญี่ปุ่น จากเอแบค และสนใจในธุรกิจเกษตร จึงคิดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตเกษตรด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้เพื่อคนรักสุขภาพ ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Chan Lada” (ชาญลดา) เริ่มจากน้ำส้มเขียวหวาน น้ำเสาวรส น้ำอะโวกาโด้ น้ำฝรั่ง น้ำกีวี และอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ ค่อยๆ ปลุกปั้นแบรนด์เล็กๆ ให้แจ้งเกิดในตลาดคนรักสุขภาพเมื่อกว่า 6 ปีก่อน
แนวคิดการทำธุรกิจของไร่ชาญลดา คือทำงานเป็นเครือข่าย โดยตัววัตถุดิบใช้ผลผลิตจากไร่ชาญลดาและสวนในเครือข่าย ซึ่งเป็นสวนที่ได้การรับรองมาตรฐานจีเอพี(GAP) จึงไม่มีปัญหาในเรื่องผลผลิต โดยส้มเขียวหวานจะมาจากไร่ชาญลดาทั้งหมด ส่วนฝรั่ง อะโวกาโด้ ได้มาจากสวนในเครือข่ายที่อยู่ใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ขณะที่เสาวรสและบีทรูทมาจากสวนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยการรับซื้อเป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งราคาจะไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับปริมาณของผลผลิตในช่วงนั้นๆ
สินค้าดี มีมาตรฐาน แต่ถ้าไม่มีตลาดก็คงไม่ต่อไม่ได้ เธอและน้องชายเลยเริ่มหาตลาด ด้วยการขยันออกบูธตามงานต่างๆ เปิดโอกาสให้คนได้เห็นและลองลิ้มชิมสินค้า จนไปเข้าตาห้างสรรพสินค้าชั้นนำและโรงแรมหรูใจกลางกรุงเทพเลยได้โอกาสไปวางจำหน่าย รวมถึงร้านอิ่มสะดวกอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น ด้วย
แต่การจะเข้าไปขายในเซเว่นไม่ใช่เรื่องง่าย หลังมีทีมงานลงมาดูกระบวนการผลิตที่โรงงาน พวกเขาเลยได้คำแนะนำให้ปรับปรุงกระบวนการผลิต การพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ตลอดจนออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจขึ้น
จนปัจจุบันสามารถนำสินค้าไปวางขายในเซเว่นได้ 2 ตัว คือน้ำเสาวรสผสมบีทรูท และเสาวรสผสมอะโวกาโด้ บรรจุขวดขนาด 250 ซีซี โดยเริ่มจากวางขายใน 3 สาขา หลังจากนั้นเพียง 3 เดือน ก็เพิ่มเป็น 7 สาขา และขยายเป็น 300 สาขา ในกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าว่าในปีหน้า 2564 จะขยายสาขาเซเว่นให้ได้ที่ 3,000 สาขา และเพิ่มจำนวนขึ้นในปีถัดไปเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงยังมีแผนในการทำตลาดส่งออกในอนาคตอีกด้วย โดยตั้งเป้าที่จะไปญี่ปุ่นเมืองแห่งคนรักสุขภาพ และใช้ทักษะภาษาญี่ปุ่นที่ร่ำเรียนมาเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดอินเตอร์ของพวกเขา
ส้มบางมดคือชื่อเสียงและร่องรอยความสำเร็จที่คนรุ่นก่อนได้สร้างเอาไว้ แต่วันนี้คนรุ่นใหม่อย่างพวกเขากำลังทำให้ตำนานนี้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง ด้วยการต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรให้ไปไกลมากกว่าส้ม และชื่อเสียงที่ดังไกลกว่าบางมด
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย