TEXT : กองบรรณาธิการ
“ยาหม่อง” ขี้ผึ้งสารพัดประโยชน์ หนึ่งในยาสามัญประจำบ้านที่ใช้ถูนวด เพื่อบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ เคล็ดขัดยอก แมลงสัตว์กัดต่อย โดยหากจะพูดถึงแบรนด์ยาหม่องเก่าแก่ของไทยที่อยู่มานานจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “ตราถ้วยทอง” เจ้าของสโลแกนคุ้นหูอย่าง “ทาถู ทาถู” หรือ “มิตรคู่เรือน เพื่อนคู่ตัว” รวมอยู่ด้วยแน่นอน
ด้วยอายุธุรกิจที่ยาวนานมากว่า 70 ปี อาจทำให้หลายคนเข้าใจว่าตราถ้วยทอง คือ ยาหม่องแบรนด์แรกๆ ที่มีการจำหน่ายขึ้นในเมืองไทย ซึ่งความจริงก็ไม่ผิดเท่าไหร่นัก หากแต่ไม่ใช่แบรนด์แรก แต่เป็นแบรนด์ที่ 3 โดยถือกำเนิดขึ้นมาจากร้านขายของชำเล็กๆ ย่านตลาดพลูชื่อ “ลี้เปงเฮง” โดยพ่อค้าชาวจีนชื่อ “โยธิน ลีลารัศมี” ซึ่งช่วงหนึ่งมีการระบาดหนักของไข้มาเลเรีย จึงได้ทดลองผลิตสูตรยาจีนออกมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านละแถวนั้นได้นำไปใช้ ปรากฏได้ผลดีเกินคาดจึงทำให้ชื่อเสียงของร้านเริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ภายหลังจึงได้เริ่มผลิตยาชนิดอื่นออกมาเพิ่ม หนึ่งในนั้นก็คือ ยาหม่อง จนเมื่อเสียงตอบรับดีมากขึ้น จึงได้เลิกกิจการร้านของชำ และหันมาผลิตยาหม่องขายเพียงเดียว และใช้สัญลักษณ์เป็นถ้วยทอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและการเป็นที่ 1 พร้อมจดทะเบียนบริษัทขึ้นในปี 2493 ในชื่อ “บริษัท ถ้วยทองโอสถ จำกัด”
โดยก่อนหน้าที่ยาหม่องตราถ้วยทองจะถือกำเนิดขึ้นนั้น ได้มีเจ้าตลาดอย่างแบรนด์ “ไทเกอร์ บาล์ม” จากประเทศพม่า ที่ไปโด่งดังอยู่สิงคโปร์ และแบรนด์ “บริบูรณ์ บาล์ม” ซึ่งผลิตโดยบริษัท บริบูรณ์โอสถ จำกัด จำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว
แต่เหตุผลที่ทำให้ยาหม่องตราถ้วยทองสามารถตีตื้นขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 อยู่ในตลาดได้นั้น อาจเป็นเพราะนอกจากคุณภาพของยาที่ถูกใจผู้บริโภคยุคนั้นแล้ว ยังเป็นแบรนด์แรกที่นำคำว่า “ยาหม่อง” เข้ามาใช้นำหน้าชื่อตราสินค้าด้วย โดยมีการเริ่มนำมาใช้ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 2495 บนฉลากบรรจุภัณฑ์ จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความคุ้นชินและเข้าใจง่ายกว่าการใช้คำว่า บาล์ม เนื่องจากว่าในยุคนั้นมีการนำเข้ายาจากพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษเข้าใช้หลายตัว เนื่องจากมีคุณภาพดี สามารถรักษาโรคหลายอย่างให้หายขาดได้ คนไทยจึงมักเรียกยาจากพม่าว่า “ยาของหม่อง” ซึ่งคำว่า หม่อง ก็หมายถึงคนพม่านั่นเอง
ไม่เพียงแต่เป็นแบรนด์แรกที่นำมาใช้ แต่ยังถือเป็นผู้คิดคำเรียกชื่อยาที่มีลักษณะคล้ายกับขี้ผึ้งว่า “ยาหม่องด้วย” โดยช่วงเวลานั้นในหน้าพจนานุกรมของไทย ก็ไม่ได้มีการบัญญัติคำศัพท์นี้เอาไว้ แต่เพิ่งมาเริ่มบัญญัติไว้ในราชบัณฑิตยสถานขึ้นเมื่อปี 2525 นี่เอง
และนอกจากจะเป็นแบรนด์แรกที่ให้กำเนิดคำว่า ยาหม่อง ขึ้นในเมืองไทยแล้ว ความโดดเด่นอีกอย่างของยาหม่องตราถ้วยทอง คือ การให้ความสำคัญกับการโฆษณาและสร้างแบรนด์ขึ้นมา สังเกตได้จากสโลแกนฮิตติดหูอย่าง “ทาถู ทาถู” หรือ “มิตรคู่เรือน เพื่อนคู่ตัว” ซึ่งมาจากประโยคเต็ม คือ “วิงเวียนศีรษะ ทาถู ทาถู เคล็ด ขัดยอก ทาถู ทาถู แมลงสัตว์กัดต่อย ทาถู ทาถู ยาหม่องตราถ้วยทอง มิตรคู่เรือน เพื่อนคู่ตัว” ว่ากันว่าได้มาจากมือฉมังแห่งวงการบันเทิงอย่าง ‘ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก’ ผู้ก่อตั้งกันตนา กรุ๊ป เป็นผู้ช่วยคิดให้ โดยมีการนำไปใช้ในสปอตวิทยุ โฆษณาในโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และอีกหลายอย่าง
ในสมัยนั้นยังผู้คนยังไม่ค่อยมีโทรทัศน์ใช้ เนื่องจากมีราคาแพง ส่วนใหญ่จึงยังนิยมดูหนังกางแปลง การตลาดช่วงแรกของยาหม่องตราถ้วยทอง จึงมุ่งไปที่กลุ่มคนดูหนังกางแปลงในสมัยก่อนด้วยที่เวลานั่งตามพื้นก็มักจะโดนแมลงสัตว์กัดต่อยได้
จากการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างใกล้ชิด และการทุ่มสร้างแบรนด์แบบเต็มที่ โดยมีการตั้งงบประมาณการตลาดไว้กว่าปีละ 60 -70 ล้านบาท บวกกับราคาย่อมเยา จึงไม่แปลกที่จะทำให้ตราถ้วยทองกลายเป็นแบรนด์ที่จดจำของผู้บริโภคได้ โดยว่ากันว่าในตลาดยาหม่องไทยนั้นมีตราถ้วยทองกินส่วนแบ่งตลาดกว่าครึ่งหนึ่ง
แม้ครั้งหนึ่งจะต้องเจอกับวิกฤตใหญ่ จากการเข้ามาของแบรนด์คู่แข่ง ทำให้ยอดขายจากหลายล้านตลับต่อเดือน กลับเหลือแค่เพียงหลักหมื่น ทำให้ต้องมีการปรับสูตรกันขนานใหญ่ เพื่อให้แรงขึ้น เข้มข้นขึ้น จากที่ไม่เคยปรับเลยตลอด 20 กว่าปี โดยปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาสินค้าออกมาหลายรูปแบบด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์คนได้ทุกวัย ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ จนถึงผู้สูงอายุ อาทิ Kiddy Balm ยาหม่องสำหรับเด็ก, ยาดม, ครีมบรรเทาอาการแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
และนี่คือ เรื่องราวของเจ้าตลาดแบรนด์ยาหม่องไทย ที่วันนี้หากพูดว่า “ทาถู ทาถู” ก็จดจำชื่อแบรนด์ได้แล้ว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย