TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : มาดาม พาเท่ห์
เป็นอีกจังหวัดที่อุดมไปด้วยร้านชิคๆ ผู้ประกอบการคูลๆ สำหรับ “อุดรธานี” และหนึ่งในความคูลที่ว่าก็คือร้านชื่อ “มาดาม พาเท่ห์” ธุรกิจครอบครัวที่เปิดให้บริการอาหารและเครื่องดื่มมานานกว่า 15 ปี แถมยังเคยได้รางวัล “วงใน ยูสเซอร์ ช้อยส์” (Wongnai Users' Choice) สุดยอดร้านอาหารยอดนิยมจากวงในกับเขามาแล้ว
อยากรู้ไหมว่ามาดามที่ไหนเป็นเจ้าของมาดาม พาเท่ห์ แล้วทำไมร้านนี้ถึงดังนัก ไปหาคำตอบกัน
มาดาม พาเท่ห์ มีชื่อเต็มๆ ว่า “มาดาม พาเท่ห์ พ.ศ.2515” เจ้าของร้านคือ “ชุติปภา สุรภาพวงศ์” หรือ “มาดามเหมย” ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาดาม พาเท่ห์ ไอเดียธุรกิจนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ คุณแม่ของเธอที่เกษียณจากงานประจำต้องการเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ไว้เป็นสถานที่พบปะพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ร้านชื่อเก๋จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน
จุดขายที่น่าสนใจของ มาดาม พาเท่ห์ ไม่ได้มีแค่ความชิค แต่คือสตอรี่ที่ไม่ธรรมดาของคุณแม่ของพวกเขา เด็กสาวที่เติบโตใน จ.อุดรธานี แต่งงานที่เวียงจันทร์ สปป.ลาว และทำงานเป็นแอร์โฮสเตส หนึ่งในผลพลอยได้จากชีวิตที่มีสีสันคือการรู้จักวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลาย การปรุงแต่งด้วยรสชาติที่ผสมผสานอย่างลงตัว โดยมีฝีมือที่สามารถรังสรรค์อาหารฟิวชั่นได้ถึง 5 ประเทศ และเป็นสูตรเฉพาะตัว ทั้ง ไทย จีน เวียดนาม สปป.ลาว และฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็น ขนมปัง สตู ข้าวต้ม เฝอ สเต็ก เป็นต้น
และนั่นคือที่มาของเมนูเด็ดและไม่ธรรมดาภายในร้าน อย่างเช่น “3 สหาย” ขนมปัง 3 แบบพร้อมเสิร์ฟ ประกอบด้วย “ปาเต” ขนมปังยัดไส้ตับบดที่ปรุงรส สไตล์ฝรั่งเศส, ครัวซองไส้ทูน่า และโรตี ที่สามารถเลือกใส่วัตถุดิบได้ เช่น ปูอัด กุนเชียง หมูยอ รับประทานคู่กับสตูสูตรลับเฉพาะของร้าน ซึ่งถือเป็นเมนูซิกเนเจอร์ที่ขายดิบขายดีมาจนถึงตอนนี้
รวมถึงข้าวต้มเห็ดชาจีน เฝอเนื้อผัด เฝอหมูผัด ฯลฯ และเมนูกาแฟโบราณถึง 6 รูปแบบ ทั้ง กาแฟเย็น, โอเลี้ยง, โอเลี้ยงยกล้อ, โอเลี้ยงจ้ำบ๊ะ, โอยัวะ และโกปี๊ นอกจากนี้ ยังมีชานมเย็น น้ำมะขาม สูตรเฉพาะของร้านให้ได้ลองลิ้มอีกด้วย
ในวันที่ผู้บริโภคเริ่มใช้สื่อโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น กระแสถ่ายรูปและเช็กอิน ทำให้ มาดาม พาเท่ห์ กลายเป็นที่รู้จักในเวลารวดเร็วจากทั้งคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ ตอกย้ำความสำเร็จอีกขั้นด้วยการไปคว้ารางวัลร้านยอดนิยมสูงสุดจากวงใน ยูสเซอร์ ช้อยส์ จนเกิดเป็นกระแสบอกต่อปากต่อปาก ว่าถ้ามาเมืองอุดรต้องไม่พลาดมาลิ้มรสความอร่อยที่มาดาม พาเท่ห์ ผลที่ตามมาคือคนล้นร้าน ที่นั่งไม่พอ แถมยังต้องต่อคิวนาน และยังไม่มีที่จอดรถ จนนำมาสู่การขยายสาขาที่ 2 ที่นำปัญหาของสาขาแรกมาปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ตอบครบทุกความต้องการของลูกค้า
ในวันที่เกิดวิกฤตโควิด-19 มาดาม พาเท่ห์ ก็เจ็บหนักไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะสาขาที่ 2 ได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะพึ่งเปิดได้แค่ 4 เดือนเท่านั้น และพึ่งพานักท่องเที่ยวเป็นหลัก เปิดร้านยังไม่ทันได้หาเงินจากช่วงเทศกาลและฤดูท่องเที่ยวแต่ก็ถูกโควิดเล่นงานเข้าให้
แต่ความเจ๋งของที่นี่ คือพวกเขาเลือกที่จะปรับตัว ทั้งปรับรูปแบบการให้บริการ โดยมาขายผ่านเดลิเวอรี่ ตามเสียงเรียกร้องของลูกค้า เริ่มคิดค้นเมนูใหม่ๆ และปรับราคา เพื่อจูงใจผู้บริโภคเลือกสั่งไปรับประทานที่บ้านได้ ส่วนพนักงานก็ให้สลับกันมาทำงาน เพื่อให้ทุกคนยังมีรายได้ประคองชีวิต และหาเงินทุนสนับสนุนจากแบงก์มาเติมใส่ธุรกิจ
เวลาเดียวกันก็วางแผนธุรกิจในอนาคต เพื่อรองรับช่วงไฮซีซั่น ต้อนรับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวไทย เป็นกรุ๊ปละ 30-40 คน โดยเพิ่มการให้บริการช่วงเย็น ที่สามารถปิดร้านแบบ Exclusive โดยมีแนวคิดการจัดงานที่ชัดเจนอีกด้วย
การปรับตัวไม่หยุดนิ่ง และกินขาดตั้งแต่ไอเดียธุรกิจ ใครจะคิดว่าวันนี้ไม่เพียง มาดาม พาเท่ห์ จะฟื้นจากวิกฤตมาได้ แต่ยังเตรียมขยายสาขา 3 ที่บ้านห้วยสำราญ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายสายพันธุ์ และเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้คนเดินทางมายลเป็นจำนวนมาก ปูทางโอกาสธุรกิจที่จะขยับขยายต่อไปได้อีกในอนาคต
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย