“เกษตรอุตสาหกรรม” นโยบายเร่งด่วน พา SME ฝ่าคลื่นดิสรัปชันปี 64

TEXT : กองบรรณาธิการ





     อะไรจะเป็นแต้มต่อให้กับประเทศไทยในปีหน้า หลังต้องผ่านคลื่นความเปลี่ยนแปลงโถมซัดอย่างสาหัสสากรรจ์ในปีนี้ ทั้งเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า การเข้ามาของคู่แข่งหน้าใหม่ในสนามธุรกิจดิจิทัล ขณะที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ก็ยังไม่รู้จะไปสิ้นสุดเอาตอนไหน ถึงขนาดที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หนึ่งในหน่วยงานขับเคลื่อนและสนับสนุน SME ถึงกับต้องยกให้ปี 2564 เป็นปีแห่ง SMEs Disruption คลื่นปฏิวัติ SME กันเลยทีเดียว
           

     แล้วอุตสาหกรรมไหนจะเป็นฮีโร่มากู้วิกฤตให้กับประเทศเราได้  มาฟัง “ณัฐพล รังสิตพล” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ฉายภาพถึง “อุตสาหกรรมเร่งด่วน” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 นโยบายเร่งด่วน  ( STI หรือสติ  ประกอบด้วย ทักษะเร่งด่วน-Skill, เครื่องมือเร่งด่วน-Tools และอุตสาหกรรมเร่งด่วน-Industry) ที่กรมฯ จะเอามาช่วย SME ไทยในปีหน้า อุตสาหกรรมที่ว่าก็คือ “เกษตรอุตสาหกรรม”



 
           
ทำไมต้องเกษตรอุตสาหกรรม
           

     ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤต ทั้งสถานการณ์ไวรัส ปัญหาโลกร้อน ความแห้งแล้ง และขาดแคลนอาหาร แต่ประเทศไทยกลับได้อานิสงส์ เพราะนอกจากเราจะเป็นประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิดได้ดี จนได้รับการยอมรับไปทั่วโลก การอยู่ในเขตประเทศร้อนชื้นและทำการเกษตรได้ดี คือแต้มต่อสำคัญที่ไทยจะต่อสู้ได้ในระยะยาว


     “ประเทศเราถ้ายืนให้ถูกที่  จะมีโอกาสที่ดีในการเป็นศูนย์กลางของอาหาร ศูนย์กลางของเกษตรอุตสาหกรรมของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกของเราในตอนนี้” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บอก


     ขณะที่ในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดิจิทัล เอไอ หรือหุ่นยนต์ ตลอดจนเทคโนโลยีล้ำๆ สิ่งที่ต้องยอมรับคือเรายังไม่ใช่ประเทศที่เก่งที่สุด เรายังคงเดินตามหลังประเทศใหญ่อย่างจีน แม้แต่แพลตฟอร์มออนไลน์ และสินค้าส่วนใหญ่ที่ขายดีอยู่บนออนไลน์ในตอนนี้ ก็เป็นของต่างชาติแทบจะทั้งสิ้น


     ฉะนั้นถ้าแข่งผิดที่ ยืนผิดจุด ประเทศไทยก็จะเสียเปรียบในการแข่งขัน



 

เมื่อเงินในเศรษฐกิจไม่ได้มาจากอุตสาหกรรมเดิม


     ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด ในยุคที่ประเทศไทยยังรุ่งเรืองและหอมหวาน เรามีรายได้จากการส่งออก รับทรัพย์จากการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวไหลบ่ามาไทย เม็ดเงินก็หลั่งไหลมาเรื่อยๆ GDP ยังโต อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า ฯลฯ เคยแข็งแกร่ง แต่วันนี้ทุกอย่างกลับข้าง และล้มกระดานความหวังเดิมไปจนสิ้น  


     เมื่อเศรษฐกิจติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สนามบินโล่งเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยไม่ได้ ส่งออกมีปัญหา ขณะที่ยานยนต์ น้ำตาลทราย ปิโตรเลียม ยางนอกและยางในรถยนต์ ตลอดจนผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ที่เคยเป็นความหวังเมื่อในอดีต ปีนี้กลับติดอันดับกลุ่มอุตสาหกรรมดำดิ่ง ที่ตัวแดงเทือกทั้งแผง


     แต่ระหว่างที่อุตสาหกรรมขาหนึ่งวิกฤต แต่กลับมีบางกลุ่มธุรกิจที่ยังคงเติบโตและเป็นดาวรุ่ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค ที่สอดรับกับสถานการณ์โควิด และเทรนด์การหันมาใส่ใจสุขภาพของผู้คน ตลอดจนกลุ่มสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง การแปรรูปและถนอมผลไม้และผัก ซึ่งสองตัวหลังอยู่ในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม ความหวังของประเทศไทยในปี 2564


     “ในยุค Next Normal เราต้องยืนในจุดแข็งของประเทศเรา ยืนในจุดที่โลกมีปัญหา ยืนในจุดที่โลกกำลังจะไป และเราจะได้เปรียบตรงนั้น ซึ่งก็คือเรื่องของอาหาร ปีนี้เราคงได้เห็นดัชนีอุตสาหกรรมกันแล้วว่าตัวที่ยังคงเติบโตขึ้นก็คืออาหาร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหารคน อาหารสัตว์ นี่คือโอกาสของเกษตรอุตสาหกรรม”



 

“คนเก่งกลับถิ่น” จุดแจ้งเกิดเกษตรอุตสาหกรรมปี 2564


     ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รายงานมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2563 ในปีที่ประเทศไทยและโลกยังเผชิญกับวิกฤตไวรัส ซึ่งพบว่า มีมูลค่าสูงถึง 243,855 ล้านบาท สะท้อนการเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับสนับสนุนในระยะเร่งด่วน ตามนโยบายของกสอ.ในปี 2564


     ถามว่าต้องทำอย่างไร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกางแผนให้เราฟังว่า จะทำผ่านการยกระดับศักยภาพในภาคการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป การพัฒนานักธุรกิจเกษตร และการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพและพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพ รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจสู่กระบวนการผลิต ที่มีมูลค่าสูง ต่อยอดขยายผลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งห่วงโซ่  ตลอดจนการส่งเสริมวิสาหกิจให้มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง


     “เกษตรอุตสาหกรรม จริงๆ เราพูดกันตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่จุดที่จะเน้นในปีนี้คือ คนเก่งกลับถิ่น วันนี้เราพบว่ามีคนที่เคยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความรู้ความสามารถเชื่อว่ามีคนกลับถิ่นเป็นล้านคน แล้วคนกลับถิ่นที่เป็นคนเก่งก็ต้องมีระดับหลายแสนคน ซึ่งกลุ่มหนึ่งมาจากอุตสาหกรรม อีกส่วนก็มาจากภาคบริการ อย่าง กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มที่เป็นนักธุรกิจใหม่เลยก็มี โดยจากที่เราไปสำรวจมาพบว่า ส่วนใหญ่อยากทำเกษตรกัน โดยเฉพาะเกษตรอาหารนี่ขึ้นมาเป็นอันดับ 1-2 เลย ซึ่งคนกลุ่มนี้ค่อนข้างพร้อมในเรื่องของความรู้ และจิตวิญญาณในการเป็นนักธุรกิจ ที่สามารถเดินออกมาแล้วต่อยอดได้ค่อนข้างเร็ว เราจะเริ่มจากการกรูมคนกลุ่มนี้ให้เขาเป็นนักธุรกิจเกษตร” เขาบอกในตอนท้าย



 

     สำหรับเป้าหมายในปี 2564 อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมบอกว่า ตั้งเป้าส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ไม่ต่ำกว่า 3,356 กิจการ พัฒนาทักษะกับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 13,375 คน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 177 กลุ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพเพิ่มขึ้น 982 ผลิตภัณฑ์ ด้วยงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งคาดสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้านบาท
 
               
     ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ปี 2564 จะมีวิกฤตอะไรมาเซอร์ไพรส์คนทำธุรกิจอีกบ้าง จะหนักหนาหรือเบาบางกว่าปีนี้ แต่ถ้ายืนได้ถูกที่ ปั้นได้ถูกจุด SME  ก็จะยังมีโอกาสเติบโต และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ แม้จะมีวิกฤตหรือไม่ก็ตาม
 










 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย