PHOTO : กิจจา อภิชนรจเรข และ One Off Coffee
เคยถามตัวเองไหมว่าเราคิดจะทำงานไปจนถึงเมื่อไร และจุดไหนที่อยากจะเกษียณตัวเอง ถ้าถามคนรุ่นก่อนอาจได้คำตอบว่าคงทำไปจนกว่าจะหมดแรงทำงาน แต่ถ้าถามคนรุ่นใหม่พวกเขาอาจวางแผนเรื่องนี้ตั้งแต่ในวัยยังไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกับ “วัน-อมตะ สุขพันธ์” และ “ออฟ-ณิสาพัฒน์ ทองประทุม” คู่รักผู้ก่อตั้ง หจก.วัน-ออฟ คอฟฟี่ ฟาร์มสเตย์ จ.แม่ฮ่องสอน ที่กลายมาเป็นผู้ประกอบการจากจุดเริ่มต้นแค่อยากวางแผนเกษียณตัวเองจากงานที่ทำเพื่อไปใช้ชีวิตที่สงบสุขในต่างจังหวัด
อมตะคือคนกรุงเทพ ส่วนณิสาพัฒน์คือคนกาญจนบุรี ที่มาเรียนและทำงานในเมืองหลวง ทั้งคู่ทำงานด้านวิจัยข้อมูลให้กับบริษัทเอกชน ในวัยย่าง 30 ปี ต่างเกิดความคิดที่อยากเกษียณตัวเองออกจากงานเพื่อไปใช้ชีวิตเรียบง่ายที่จังหวัดกาญจนบุรี หลังประเทศไทยเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554
“ปีนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ เราเห็นคนต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้เลยรู้สึกว่าอยากจะมีบ้าน มีที่ดิน มีแผ่นดินเป็นของตัวเองสักที เราคุยกันว่าจะทำงานไปอีกนานแค่ไหน ถ้าจะซื้อบ้านเราต้องผ่อนบ้านอีกกี่ปี เราจะใช้ชีวิตในอีก 3 ปี 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้าแบบนี้จริงๆ หรือ ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้หรือ บวกกับการที่เราทำงานวิจัยได้เดินทางไปทั่วประเทศ ได้เห็นคนต่างจังหวัด คนแก่ที่เขามีรายได้แค่วันละ 50-100 บาท แต่ทำไมสามารถเอาเงินนี้ส่งให้ลูกๆ ไปทำงานไปเรียนในกรุงเทพได้ทุกเดือน เลยรู้สึกว่าการใช้ชีวิตตรงนั้นต่างหากที่น่าจะเหมาะกับเราสองคน” พวกเขาเล่า
ด้วยความที่ณิสาพัฒน์เป็นคนกาญจนบุรี และอยากใช้ชีวิตอยู่ใกล้ครอบครัว หมุดหมายแรกของพวกเขาเลยเป็นการไปหาที่ลงหลักปักฐานที่เมืองกาญจน์ โดยเริ่มเก็บเงินจากการทำงาน ใช้น้อยลง ออมมากขึ้น ไม่ได้เลือกซื้อทรัพย์สินหรูหราอะไร แต่เลือกซื้อแผ่นดิน แล้วค่อยๆ สร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยสองมือ
ทว่าก่อนที่ชีวิตใหม่จะได้เริ่มต้น การทำงานสุดท้ายก่อนทิ้งทวนอาชีพวิจัยตลาด ก็ทำให้แผนชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนไปอีกครั้ง...
“จ๊อบสุดท้ายที่วางแผนไว้ก่อนจะหยุดจากงาน คือต้องไปทำวิจัยที่ภาคเหนือประมาณ 2 เดือน 5 จังหวัด ซึ่งจังหวัดสุดท้ายคือ แม่ฮ่องสอน ตอนนั้นเราเก็บเงินเก็บอะไรมาพอสมควร คิดว่าน่าจะหยุดทำงานได้จริงๆ แล้ว หลังทำงานเสร็จเราสองคนก็อยู่เที่ยวต่อ เพราะเคยดูหนังเรื่อง Happy Birthday เลยอยากไปปางอุ๋ง ก็ไปหาโฮมสเตย์พัก แล้วมีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของโฮมสเตย์ แกใจดีให้มอเตอร์ไซค์ยืมขับไปเที่ยว จนได้ไปเห็นภูเขา 1 ลูก คือจุดตรงนี้เลย สิ่งที่เราทำคือมองหน้ากัน แล้วคุยกันเล่นๆ ว่า ถ้าได้ที่ตรงนี้เราจะมาอยู่แม่ฮ่องสอน สุดท้ายก็ได้ที่ตรงนั้นมาจริงๆ มีประมาณ 7 ไร่ ผมมองว่าเราไม่ได้เลือกที่จะอยู่แม่ฮ่องสอน แต่แม่ฮ่องสอนต่างหากที่เลือกให้เราอยู่ที่นี่” อมตะเล่า
ที่ดินสวยสะดุดตา แต่แลกมากับการ “ไม่มีอะไรเลย” ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ปีแรกจึงต้องใช้เวลาไปกับการปลูกบ้าน ปรับปรุงสถานที่ ต่อน้ำ ทำโซล่าเซลล์ เริ่มถางหญ้า ปรับปรุงดิน เตรียมแปลงเพาะปลูก โดยความตั้งใจคืออยากปลูกต้นไม้ ปลูกป่า อยากกินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้น และไม่ใช้สารเคมี ทั้งไม้ยืนต้นและไม้ดอก โดยไม่ได้มองเป็นธุรกิจอะไร แค่ต้องการไปใช้ชีวิตเท่านั้น แต่ทว่าแผนก็ต้องเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2
“พอทำได้ 1 ปี เราเริ่มปลูกสตรอว์เบอรี เริ่มมีต้นไม้ เริ่มมีผัก เริ่มปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ได้ พอปีที่ 2 ก็เริ่มมองหาอาชีพที่จะเลี้ยงเราหรือต่อยอดจากสิ่งที่คนอื่นทำไว้แล้ว เพราะว่าเงินใกล้หมดแล้ว ก็ไปดูพืชเมืองหนาวสารพัดอย่าง แต่ก็มาตีโจทย์ว่า อะไรที่สามารถเก็บไว้ได้นาน แปรรูปได้ สุดท้ายก็นึกถึงกาแฟ ที่เราน่าจะเรียนรู้ได้เร็วและดีที่สุด ก็เลยเริ่มศึกษาหาข้อมูลเรื่องกาแฟ ตั้งแต่การเพาะต้นกล้าอย่างไร เมล็ดพันธุ์เป็นแบบไหน แปรรูปอย่างไร ทุกขั้นตอนการแปรรูปจะเพิ่มมูลค่าให้เราได้อย่างไร ใช้เงินเยอะแค่ไหน อะไรแบบนี้ เราก็เริ่มหาข้อมูลทั้งหลายทั้งมวล”
อมตะเล่าให้เราฟังว่า เริ่มแรกเขาตั้งใจจะปลูกกาแฟเอง แต่ด้วยระยะเวลาการปลูกและเก็บเกี่ยว ที่ต้องใช้เวลาถึงประมาณ 3-4 ปี ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะทันกิน จนได้ไปเห็นชาวบ้านปลูก เลยไปดูว่าเขาทำกันอย่างไร เลยเจอว่า ส่วนใหญ่ขายเมล็ดดิบ และหลายรายก็ไม่มีตลาดรับซื้อ เลยตัดสินใจหาเงินทุนก้อนหนึ่ง ไปรับซื้อกาแฟของชาวบ้านมาแปรรูปเอง
“ตอนนั้นเราไปรับซื้อเมล็ดกาแฟสดมา ไปซื้อและไปเก็บเองด้วย เพราะว่าเขาไม่มีคนเก็บ เนื่องจากช่วงทำกาแฟคือหน้าท่องเที่ยวพอดี เขามีโฮมสเตย์มีงานที่ต้องดูแลอยู่ เราเลยให้เงินเขาโดยที่เราไปเก็บเองด้วย จนได้เมล็ดกาแฟมาก็เริ่มมาแปรรูป ซึ่งรวมระยะเวลากว่าจะได้กาแฟก็ต้องมี 6-7 เดือน ระหว่างนั้นเราก็ขายกาแฟสาร (เมล็ดกาแฟดิบที่ผ่านการสีเอากะลาออกพร้อมที่จะคั่ว) เพื่อที่จะส่งให้กับโรงคั่วบางส่วน และเราเองเก็บไว้บางส่วนเพื่อที่จะคั่วแล้วมาชงขาย ระหว่างรอก็ไปฝึกชงกาแฟ โดยเลือกการชงแบบสโลว์บาร์ (Slow Bar) เพราะแม่ฮ่องสอนเป็นดอย ฉะนั้นต้องหาวิธีทำยังไงก็ได้ให้กินได้ง่ายหรือว่ามีวิธีการน้อยที่สุด ลดขั้นตอนทั้งหมด และลดต้นทุนลง ตอนนั้นเรายังไม่ได้เปิดเป็นร้านกาแฟอะไร แค่เหมือนมีนักท่องเที่ยวมาแวะเที่ยว มาซื้อสตรอว์เบอรี ก็มีกาแฟให้เขาชิมด้วย”
จากนั้นก็เริ่มหาวิธีคั่วกาแฟ จนตัดสินใจซื้อเครื่องคั่วขนาด 1 กิโลมาทำเอง ใช้เงินไปประมาณกว่าแสนบาท มีสินค้าก็ลองไปโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก เริ่มทำตลาดออนไลน์ แล้วกิจการเล็กๆ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ปริมาณกาแฟก็มีคนต้องการเยอะขึ้นตามไปด้วย เมื่อผลกาแฟของพวกเขาหมดก็เริ่มไปหากาแฟของเพื่อนเกษตรกรมา จนกระทั่งลูกค้าเชื่อถือมั่นใจในคุณภาพที่พวกเขาทำ จึงได้ให้เป็นคนรวบรวมผลผลิตให้ เริ่มต้นจาก 100 โลกรัม มาเป็น 1 ตัน 2 ตัน และปีนี้เข้าสู่ปีที่ 7 ของการทำกาแฟ พวกเขามีผลผลิตประมาณ 20 ตัน และมีแบรนด์กาแฟที่รู้จักกันในชื่อ “One Off Coffee” ตามชื่อของทั้งสองคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากเมล็ดกาแฟสู่ธุรกิจกาแฟครบวงจร
จากคนที่จับพลัดจับผลูไปใช้ชีวิตในแม่ฮ่องสอน วันนี้พวกเขาก่อร่างสร้างธุรกิจกาแฟแม่ฮ่องสอนครบวงจรขึ้นมาได้สำเร็จ เริ่มจากสวนถึงแก้ว คือจากสวนกาแฟ โกดังกาแฟสาร มีโรงคั่วกาแฟ ร้านกาแฟ และผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีมาตรฐานครบถ้วนทั้ง GMP Codex ฮาลาล ฯลฯ พร้อมสำหรับการส่งออกในอนาคต ขณะที่ยังมีฟาร์มสเตย์ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
“มันเริ่มจากว่ามีลูกค้าที่เขาชอบทานกาแฟมาหาเราถึงสวน พอช่วงหน้าหนาวเขาก็อยากจะมาเที่ยว ซึ่งบ้านของเราเป็นจุดที่ติดกับปางอุ๋งและบ้านรักไทยพอดี พอนักท่องเที่ยวรู้ เพื่อนๆ ที่ติดตามในเพจรู้ ก็จะมาหา ตอนแรกเราต้องดูแลสวน และยังต้องพาคนเที่ยว ต้องเทคแคร์ดูแล จนบางทีก็ไม่ได้พัก เลยต้องเลือกว่าเราจะรับลูกค้าเยอะๆ หรือแค่เป็นกรุ๊ปเล็กๆ ไม่กี่คนดี สุดท้ายเราก็เลือกเป็นกรุ๊ป นานๆ มาที เอาที่ไหว”
ในส่วนผลิตภัณฑ์กาแฟ พวกเขาคิดระบบขายกาแฟแม่ฮ่องสอนส่งให้กับร้านกาแฟต่างๆ โดยอาจเป็นลักษณะพาร์ตเนอร์กัน โดยให้ร้านต่างๆ เอากาแฟสุดพิเศษของพวกเขาไปใช้ ไม่ว่าจะร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ หรือร้านอาหาร ที่อยากเพิ่มเมนูน้ำเข้าไป โดยสามารถใช้โลโก้และเมล็ดกาแฟของพวกเขาได้ ขณะเดียวกันในอนาคตก็จะมีกาแฟคั่วและวัตถุดิบกาแฟ ส่งออกไปต่างประเทศด้วย
“เราพยายามพัฒนากาแฟของเราให้ดี ทำระบบหลังบ้านให้พร้อม ส่วนหน้าบ้านก็ทำกาแฟให้มีคุณภาพ อีกอย่างคือกาแฟของแม่ฮ่องสอนเวลาออกไปข้างนอก เกษตรกรไม่เคยได้เครดิตเลย เกษตรกรไม่เคยได้โชว์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของตัวเขา แต่เป็นของแบรนด์ๆ นั้น แต่อย่างของเราข้างหลังจะมีบอกเลยว่า เป็นผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรคนไหน จากที่ไหน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งอนาคตเราจะมีเว็บไซต์ และจะมีการใส่รูปเกษตรกรตรงหน้าซองเลย มีละติจูด มีสถานที่ มีทุกอย่างบอกหมด สามารถดูผ่านออนไลน์ได้ ต่อไปเราอาจจะถ่ายวิดีโอตั้งแต่เริ่มปลูก เป็นดอก เริ่มได้ผลผลิตและกระบวนการต่างๆ เพื่อบอกเขาว่ากาแฟของเราเป็น Single Origin สวนนี้มีแค่นี้หมดแล้วหมดเลย ไม่ใช่ของแมส นี่แหล่ะที่เขาเรียก Specialty Coffee หรือ กาแฟพิเศษ ซึ่งไม่ใช่แค่มูลค่าของกาแฟ แต่ว่ามันเป็นมูลค่าของชีวิตเขา” พวกเขาย้ำถึงความพิเศษของกาแฟจากแดนแม่ฮ่องสอน
ก่อนหน้านี้พวกเขาวาดฝันที่จะเกษียณตัวเองไปใช้ชีวิตเรียบง่ายในจังหวัดกาญจนบุรี ถึงตอนนี้เขาบอกว่าเป็นคนละภาพกับที่วางไว้ แต่ก็ให้คุณค่าและความหมายของชีวิตไม่ต่างกัน
“เดิมเราฝันที่อยากเป็นแค่คนธรรมดาที่ไปใช้ชีวิตในสวน เป็นชาวบ้านทั่วๆ ไป แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าไม่รู้ใครดลใจให้เราเป็นแบบนี้ได้ เราได้รับโอกาสจากการที่ทำงานแบบจริงจังแต่เราไม่ได้เรียกร้องอะไร เราทำแบบเรียบง่ายแต่ไม่มักง่ายที่จะทำ จนมีโอกาสเข้ามา แล้วก็สนุกที่จะทำกาแฟ สนุกกับงาน มีคนที่คอยสนับสนุนและพาเราเดินไปข้างหน้า แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาเราก็เจ็บมาเยอะ เราเป็นเกษตรกรแต่พอต้องเป็นผู้ประกอบการ เราไม่ได้ทำเกษตร แต่ต้องมาทำเรื่องเอกสาร ทำบัญชี ดูเรื่องงบ โดนเรื่องภาษีสารพัด รู้เลยว่าการที่จะไปส่งเสริมใครให้เป็นผู้ประกอบการนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันต้องมีพื้นฐาน ต้องมีองค์ความรู้ที่แน่นพอตัว
แต่ถามว่าทำไมพวกผมถึงยังยึดมั่นที่จะทำตัวนี้อยู่ เพราะเราเดินหน้าแล้วถอยไม่ได้ และเราเห็นเพื่อนกาแฟของเรา เพื่อนเกษตรกรของเรายังขาดความกล้า ขาดเงินทุน ขาดโอกาส และยังขาดองค์ความรู้รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกมาก แล้วเขาอยู่บนดอยการที่จะเดินทางมาข้างล่างไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งหน้าฝนยิ่งลำบาก แต่การที่เราเดินมาขนาดนี้แล้วเราคิดว่าสามารถเป็นสะพานให้แต่ละคนไปต่อได้ ไม่ใช่แค่เราสองคน”
จากคนธรรมดา ที่ฝันหาชีวิตเรียบง่าย กลายมาเป็นผู้ประกอบการในวัยกว่า 30 ปี วันนี้พวกเขายังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อ เพื่อเปลี่ยนฝันก่อนวันเกษียณให้กลายเป็นธุรกิจ และสร้างผลลัพธ์ที่ไม่ใช่แค่กับตัวเอง แต่ยังรวมถึงผู้คนรอบข้างที่จะเติบโตไปด้วยกันกับพวกเขา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี