I Love Flower Farm แปลงสวนดอกไม้ให้เป็นธุรกิจ ชุมชน “ได้เงิน” คนทำ “ได้ความสุข”

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : I Love Flower Farm
 


 

Main Idea


โมเดลธุรกิจ I Love Flower Farm

 
  • แปลงอาชีพในชุมชน ให้กลายเป็นโอกาสใหม่จากการท่องเที่ยว
 
  • ไม่ทำทุกอย่างเอง แต่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
 
  • มีรายได้และกำไรต้องกระจายสู่ชุมชน
 
  • ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย
 
  • ให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการ
 

 


     ดอกไม้ในสวนกว้าง อวดความงามอยู่บนพื้นที่นับ 12 ไร่ ใน ต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ I Love Flower Farm หมุดหมายของสายเที่ยวที่ชอบมีรูปถ่ายสวยๆ มาอวดคนบนโซเชียล


      ท่ามกลางความสวยงามที่เห็น มีแง่งามดีๆ ซ่อนอยู่เบื้องหลัง และมีคุณค่ามากไปกว่าแค่เรื่องของธุรกิจ เพราะนี่คือโมเดลเพื่อชุมชน ที่คิดโดย Young Smart Farmer “ปุ้ย-ณวิสาร์ มูลทา” ลูกหลานคนทำไม้ตัดดอกขายที่ร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปลุกปั้นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อชุมชนขึ้น โดยหวังให้เม็ดเงินที่ผลิดอกออกผลในสวนที่ชื่อ I Love Flower Farm มีส่วนกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ยั่งยืนร่วมกันทั้ง คน ชุมชน และธุรกิจ  




 
แปลงอาชีพชุมชนสู่ธุรกิจท่องเที่ยว


     แปลงดอกไม้ที่สวยงามใน ต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว แต่เป็นอาชีพที่อยู่คู่คนเหมืองแก้วมากว่า 20 ปีแล้ว ณวิสาร์ บอกเราว่า อาชีพหลักของชุมชนคือการปลูกไม้ตัดดอกขาย โดยมีคนทำอยู่ประมาณ 30-40 ครัวเรือน พื้นที่รวมกันประมาณ 150 ไร่ ซึ่งรวมถึงครอบครัวของเธอด้วย


     “ปกติชุมชนของเราทำดอกไม้มากว่า 20 ปี ปลูกดอกไม้เป็นอาชีพ แต่ไม่มีใครรู้ ทั้งที่หมู่บ้านของเราอยู่ห่างจากตัวเมืองแค่ 15 กิโลเมตรเท่านั้นเอง เลยมาคิดกันว่าน่าจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ในการทำเรื่องท่องเที่ยวนั้น เราคงไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด เพราะอาชีพหลักของเราจริงๆ คือทำไม้ตัดดอก เลยชวนคนในชุมชนมาทำร่วมกัน”


  I Love Flower Farm คือ ธุรกิจของชุมชน ที่ทุกคนล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียและส่วนร่วม โดยพื้นที่ 12 ไร่ เป็นการเช่าที่ของคนในชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่โล่งเหมาะแก่การทำสวนดอกไม้เพื่อการท่องเที่ยว แต่ด้วยถนนที่ค่อนข้างแคบ และไม่มีที่จอดรถ จึงปรึกษากับเทศบาลและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เพื่อทำที่จอดรถหน้าชุมชน จากนั้นชาวชุมชนก็รวมกลุ่มกันเพื่อรับสมัครคนขับรถพ่วง มีทีมงานช่วยตรวจสอบคุณภาพรถ และปรับปรุงให้ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว โดยช่วยกันบริหารจัดการกันเอง


     “เราเน้นการจอดรถนอกชุมชน เพื่อที่จะเป็นการประชาสัมพันธ์ไปด้วยว่า ถ้าจอง I Love Flower Farm  ไม่ได้ ก็ยังมีสวนอื่นๆ อยู่ ถ้าสวนนี้ตัดดอกไปแล้วยังมีสวนไหนให้ดูได้อีกบ้าง เพื่อไม่ให้เขามาแค่ที่เรา นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากนี้คนที่ไม่ได้ทำสวนดอกไม้ แต่อาจปลูกผัก ปลูกลำไย หรืออะไรอย่างอื่น เขาก็ยังสามารถเอาของไปขายตรงลานจอดรถได้ด้วยเช่นกัน โดยที่เราไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น” เธอสะท้อนแนวคิด





 
   สร้างเสน่ห์การท่องเที่ยวด้วยความเป็นธรรมชาติของชุมชน


     ใครที่มาเยือน I Love Flower Farm จ่ายค่าเข้าชมที่ 70 บาท นอกจากจะได้ดูดอกไม้สวยๆ จนเต็มอิ่ม ยังมี Welcome set อย่างน้ำสมุนไพร หรือ น้ำผลไม้ และขนมพื้นบ้าน อย่าง ขนมตองตึง ขนมวง ขนมตัวหนอน ขนมต้มขนม ฯลฯ ซึ่งเมนูจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มีในแต่ละฤดูกาล ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นฝีมือของกลุ่มแม่บ้านในชุมชนทั้งสิ้น


       “ที่นี่เราทำงานกันเป็นเครือข่าย รายได้ที่เกิดขึ้นเราอยากแบ่งให้กับชุมชน และอยากให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม อย่างเรามีร้านน้ำอยู่ในชุมชนก็ไปคุยกับเขาว่าให้ทำน้ำสมุนไพรมาส่งที่เรา ก็เกิดการรวมกลุ่มกันทำน้ำสมุนไพรขึ้น อีกกลุ่มหนึ่งเป็นแม่บ้านที่ปกติจะทำปิ่นโตส่งในช่วงเช้า เราก็ไปคุยว่าป้ามาทำขนมให้เราไหม ซึ่งก็เกิดเป็นกลุ่มทำขนมขึ้นมาอีก จากนั้นเรามาคิดต่อว่า เราไม่อยากสร้างขยะ อย่างหลอดน้ำดื่ม ก็ไปนั่งคิดกันอยู่นานว่าจะใช้อะไรแทนดี ในชุมชนเรามีอะไรที่สามารถทดแทนได้ไหม โดยที่เราไม่ต้องไปซื้อจากข้างนอก ก็เลยได้หลอดที่ทำจากต้นข้าว ก็เกิดเป็นกลุ่มแม่บ้าน 3-4 คนที่มาทำหลอดจากต้นข้าว จากของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์พอแห้งเหี่ยวไปก็คือฟางข้าวธรรมดา เป็นขยะไปเท่านั้นเอง พอมาทำหลอดชาวบ้านก็มีรายได้เพิ่มขึ้น”




    
     ถ้าทำทุกอย่างเอง เม็ดเงินที่เข้ามาก็คงไม่ได้กระจายไปหาใคร แต่ถ้าใช้โมเดลแบบ I Love Flower Farm เงินก้อนเดียวกันจะถูกกระจายลงสู่ชุมชนแบบทั่วถึง โดยนักท่องเที่ยวใช้เงิน 90 บาท สำหรับจ่ายให้กับค่ารถและค่าเข้าชม I Love Flower Farm ถามว่าเงินก้อนนั้นไปไหน 20 บาทสำหรับในส่วนของรถพ่วง แบ่งเป็นคนขับ 10 บาท ค่าบริหารจัดการ 5 บาท เข้าชุมชนอีก 5 บาท


     ในส่วนของค่าเข้า I Love Flower Farm 70 บาท  20 บาท จะเป็นค่าขนม 10 บาทจะเป็นค่าน้ำ ค่าหลอด 60 สตางค์  โดยที่ไม่รวมค่าแรงและแอดมินที่เป็นทีมงาน ณวิสาร์ บอกว่า น่าจะเหลือเงินแค่คนละ 10 บาท เท่านั้น เพราะตั้งใจที่จะไม่เก็บนักท่องเที่ยวสูงมาก และตั้งใจรับแค่ไม่เกิน 200 คนต่อวัน


   “ถามว่าทำไมเราไม่รับเยอะขึ้น เพราะเราคิดว่าเราขายความประทับใจ ถ้ารับเยอะก็จะไม่เกิดความประทับใจ มันจะเป็นต่อปากและจะไม่ดีกับตัวเรา รวมถึงชาวบ้านด้วย เพราะเราอยากแบ่งปันให้ทุกคนเกิดรายได้ ไม่ใช่แค่ตัวเรา มองว่าการแบ่งปันมันยั่งยืนกว่า พื้นฐานเราอยากให้มันยั่งยืนและไปได้ไกล ฉะนั้นถ้าเราไปเราจะต้องไปด้วยกันทั้งหมด”


      เม็ดเงินส่วนหนึ่งยังกระจายไปสู่การท่องเที่ยวอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชนอีกด้วย เช่น ร้านศิลปะในชุมชน ที่มีเปิดสอนศิลปะให้กับเด็กๆ  ตลอดจนโฮมสเตย์ของชาวบ้าน เป็นต้น ที่ต่างได้อานิสงส์จากการมาถึงของ  I Love Flower Farm
 




 
"กำไร" ​คือ ความสุข "ความสุข" คือ กำไร


     ดอกไม้หลากสายพันธุ์ที่อวดโฉมอยู่ใน I Love Flower Farm และชุมชนเหมืองแก้ว ไม่ใช่ดอกไม้ที่ปลูกขึ้นเพื่อการท่องเที่ยวแต่เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ปลูกเพื่อตัดดอกขาย โดยชุมชนวางแผนให้ดอกไม้ออกดอกได้ตลอดทั้งปี ประมาณ 1 อาทิตย์ ก่อนตัดดอก ก็สามารถเปิดให้เป็นที่ท่องเที่ยวได้ เพื่อที่ชาวบ้านจะมีรายได้สองทาง โดยพื้นที่ขนาด 1 ไร่ จะได้ดอกไม้ประมาณ 3 ตัน รายได้เฉลี่ยที่ประมาณ 9 หมื่นบาท แต่ถ้าเปิดคู่การท่องเที่ยว ก็จะได้รายได้เพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 3-4 หมื่นบาท


     “สิ่งที่เราบอกชาวบ้านเสมอคือ ถ้าเมื่อไรที่คุณหลงไปติดกับดักการท่องเที่ยว คุณจะขาดเสน่ห์ทันที ทุกคนมาท่องเที่ยวที่เราเพราะเราเป็นเรา เขาอยากเห็นวัฒนธรรม การใช้ชีวิตของเรา เขาไม่ได้อยากเห็นสิ่งที่เราประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งเราต้องคุยกันบ่อยมากในเรื่องนี้ เพราะว่าบางทีก็อาจหลงไป เห็นเงินเยอะ รายได้อาจจะเยอะกว่าเดิม แต่ที่จริงมันก็แค่เป็นของแถมเท่านั้น เพราะอย่าลืมว่าถ้าไม่มีนักท่องเที่ยว นี่คืออาชีพหลักของคุณ ที่จริงเราได้เปรียบกว่าการท่องเที่ยวอื่นด้วยซ้ำ เพราะถึงเราไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย เราก็ยังตัดดอกขายได้”


     ณวิสาร์ คือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ลูกหลานเกษตรกรที่เอาวิชาความรู้ที่เล่าเรียน มาพัฒนากิจการของครอบครัวและยังเผื่อแผ่ไปสู่ชุมชนที่อยู่อีกด้วย สำหรับเธอการทำธุรกิจเงินไม่ได้สำคัญที่สุด แต่คือ “ความสุข” ที่ได้ตอบแทนจากสิ่งที่ทำ


     “เรื่องเงินคนอื่นอาจจะมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่สำหรับเรามองว่า ความสุข สำคัญมากกว่า มันอาจจะฟังดูแล้วโลกสวย แต่นี่คือเรื่องจริง เพราะสุดท้ายทุกอย่างต้องจบที่ความสุข ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ถึงเงินมันจะเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง แต่ว่าก็ต้องจบลงที่ความสุขอยู่ดี”




     
     ณวิสาร์ บอกเราว่า ความสุขสำหรับเธอคือการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เมื่อรักก็จะไม่รู้สึกเหนื่อย แต่ถ้ามองว่ากำลังทำธุรกิจก็คงจะเหนื่อยยากกว่านี้


     “ถ้ามองว่าวันนี้เราต้องมีเป้าเท่าไร จะมีคนเข้ามาเท่าไร มันจะกลายเป็นความเครียดทันที แต่อย่างที่ทำอยู่ถึงวันนี้จะไม่มีคนมา เราก็ยังตัดดอกขาย และใช้ชีวิตของเราไปได้ สามารถนั่งดูดอกไม้สวยๆ นั่งได้เป็นวันๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารัก ถ้าแฮปปี้ อยู่กับความสุข มันจะอยู่ได้นาน


     แต่มีสิ่งหนึ่งที่หวังไว้ คือ อยากจะให้  I Love Flower Farm เป็นตัวแทนของการสร้างฝันให้กับคนรุ่นใหม่ว่า  อยากให้กลับมาในพื้นที่ของตัวเอง อยากให้เกษตรกร หรือคนรุ่นใหม่ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น แต่มาทำงานที่บ้านเรา ทำสิ่งที่มีอยู่ให้มีมูลค่า ทำการท่องเที่ยวให้มันโดดเด่น อยู่บ้านเราก็มีอาชีพได้”



     นี่คือเรื่องราวของสวนดอกไม้ ที่เป็นมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยว แต่คือโมเดลการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่เงินไม่ใช่คำตอบสูงสุด แต่คือ “ความสุข” ที่เป็นดั่งดอกผลของกำไร ส่งคืนสู่ คน ชุมชน และธุรกิจ ให้ วิน-วิน ไปด้วยกัน
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย