คุยกับทายาทรุ่น 3 จังสุ่ยศิลป์ สิรภัทร ภัทรวารินทร์ ผู้เปรียบโลกโซเชียลเหมือนประตูวิเศษ

TEXT :  อนัญชนา สาระคู
PHOTO : จังสุ่ยศิลป์





Main Idea
 
 
     กุญแจความสำเร็จของจังสุ่ยศิลป์ในโลกโซเชียล
 
 
  • เปิดไอเดียใหม่ๆ สำหรับการขยายตลาดให้กับธุรกิจจิวเวลรี โดยใช้ช่องทางโซเชียล เน็ตเวิร์ค สร้างการรับรู้ถึงการสวมใส่เครื่องประดับได้ทุกโอกาส
 
  • ผลิตและส่งมอบชิ้นงานคุณภาพในแบบเฉพาะเจาะจง ผ่านการรับรู้ถึง personality ของลูกค้าแต่ละคน ด้วยแนวคิด create your own precious
 
 
  • สืบทอดในเรื่อง “ความซื่อสัตย์ และความจริงใจ” ของร้านจังสุ่ยศิลป์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือมานานกว่า 70 ปี
 




     ในบรรดาผู้จำหน่ายเครื่องประดับอัญมณีที่มีชื่อเสียงของจังหวัดจันทบุรีนั้น ย่อมต้องมี จังสุ่ยศิลป์ อยู่ในทำเนียบรายชื่อลำดับต้นๆ อย่างแน่นอน เพราะด้วยความน่าเชื่อถือที่สั่งสมมานานมากกว่า 70 ปี ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และนี่คือช่วงเวลาของทายาทรุ่นที่ 3 สิรภัทร ภัทรวารินทร์ (อวน) และ ภูดิศ ภัทรวารินทร์ (เอ็ม) สองพี่น้องที่มาร่วมกันสานต่อธุรกิจจิวเวลรีของครอบครัวด้วยการยึดมั่นในความซื่อสัตย์และความจริงใจ ผสานกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่


     ทั้งคู่กำลังทำให้จังสุ่ยศิลป์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น  โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) บวกกับความชอบด้านการถ่ายรูป เป็นกลยุทธ์เพื่อขยายตลาด โดยเฉพาะการขยายกลุ่มลูกค้าไปยังคนรุ่นใหม่ และจากการพูดคุยกันกับอวน เธอเปรียบโซเชียลเน็ตเวิร์ค สำหรับธุรกิจร้านจิวเวลรีไว้อย่างน่าสนใจ




 
ค้าขายผ่านประตูวิเศษ
 

     “โซเชียลเป็นเหมือนกับประตูวิเศษที่ทำให้ผู้คนจากจังหวัดอื่นๆ หรือที่อยู่ห่างไกลกัน ได้มาอยู่ใกล้ชิดกับจังสุ่ยศิลป์มากขึ้น เหมือนมาเป็นเพื่อนข้างบ้านกัน

  
      สมัยก่อนสังคมอาจจะใกล้ชิดกันมากกว่านี้ เรามีหน้าร้านก็รอให้ลูกค้าเข้ามาหา มาพูดคุยกัน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกัน เป็นเหมือนเพื่อนพี่น้อง และอาศัยการแนะนำบอกต่อให้กับร้าน แต่สังคมส่วนใหญ่จะยังอยู่เฉพาะในจังหวัดจันทบุรีเท่านั้น มาในสมัยนี้ ด้วยหลายๆ อย่างที่เปลี่ยนไป ทำให้คิดว่าเราต้องเป็นฝ่ายไปหาลูกค้าก่อน การจะมารอให้ลูกค้าเข้ามาหาเราอย่างเดียวคงไม่ได้


     เลยมาคิดว่าเมื่อเรามีโทรศัพท์อยู่แล้วและชอบเล่นโซเชียลอยู่แล้ว โดยเฉพาะอินสตาแกรม จึงเริ่มทำอย่างจริงจังพร้อมๆ กับเข้ามาช่วยดูแลร้านจังสุ่ยศิลป์ในจันทบุรีเมื่อ 4 ปีก่อน” อวนเล่า




 
ประตู..ที่พาไปเจอลูกค้าใหม่จากทั่วทุกทิศ
 

     จากความสนุก ไม่นานก็ได้เห็นโอกาสธุรกิจ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า


     “ลูกค้าคนแรกที่สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตเป็นคนจันทบุรีเอง แต่เหมือนกับว่าเขาทำร้านอาหารและไม่มีเวลามากนัก เมื่อมาเห็นเราทางออนไลน์ ก็สั่งซื้อและเข้ามารับของที่บ้านเองเลย คือไม่ได้ไปซื้อที่ร้าน ซึ่งก็ทำให้เห็นโอกาสตรงนี้ด้วยว่า คนทำงานเขายุ่งมากจนไม่มีเวลาจริงๆ จากนั้น ก็มีลูกค้าจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามามากขึ้น เช่นจาก ลำพูน, สุราษฎร์ธานี, กระบี่ และสุรินทร์ เป็นจังหวัดที่เราไม่เคยไปเลย อย่างมากก็ไปแค่ออกงานที่เมืองทอง ก็จะเจอกับคนกรุงเทพฯ บ้างเท่านั้น”


     แต่หากถามถึงยอดขายยังมาจากทั้งสองช่องทาง คือทางหน้าร้านจะเป็นของชิ้นใหญ่ๆ มากกว่า ส่วนทางออนไลน์ก็จะเป็นของชิ้นเล็กลงมาหน่อย และเมื่อมีการสั่งซื้อเข้ามาจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์



 
 
สร้างความหลากหลาย ขยาย target กลุ่มลูกค้า


     “ลูกค้าในออนไลน์แรกๆ จะเป็นกลุ่มที่รู้จักร้านอยู่แล้ว เพราะเป็นแบรนด์ที่เมื่อใครคิดถึงจังสุ่ยศิลป์ ก็จะคิดถึงเรื่องคุณภาพ เพราะรุ่นคุณอา ท่านบุกเบิกในเรื่องนี้มาจนทำให้เป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อถือ พอมาถึงรุ่นอวนก็อยากรักษาในเรื่องนี้เอาไว้ แต่เราจะทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ให้พวกเขารู้สึกว่าสามารถสวมใส่เครื่องประดับอัญมณีของทางร้านได้ทุกโอกาส


     ดังนั้น ภาพที่นำไปโพสต์ลงในไอจีจึงดูออกมาเป็นวัยรุ่นมากขึ้น เป็นภาพแฟชั่นที่คนทั่วไปดูแล้วจะรู้สึกว่าเขาใส่เครื่องประดับเหล่านี้ได้ทุกวัน และรู้ว่าใส่กับชุดอะไรถึงจะเหมาะและดูดี เลยทำให้ตอนนี้มีวัยรุ่นที่เขาเปิดใจกับเรามากขึ้น คือพวกเขาจะรู้ว่าไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อชิ้นใหญ่ๆ เท่านั้น ชิ้นเล็กๆ ที่เหมาะกับพวกเขาก็มีเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้วัยรุ่นเขารับรู้ และถูกใจกับงานของเรามากขึ้น”




 
ชิ้นงานที่เกิดจาการทำงานร่วมกันระหว่าง ร้านค้า x ลูกค้า


       ทั้งนี้ นอกจากเป็นผู้จำหน่ายเครื่องประดับ เพชร พลอย ทอง แล้ว อวนยังเป็นดีไซน์เนอร์ รับออกแบบเครื่องประดับและรับสั่งทำตามออเดอร์อีกด้วย


     “ของที่อวนออกแบบ จะไม่เน้นออกแบบตามความชอบหรือความสนใจของเรา แต่จะออกแบบมาเพื่อลูกค้าคนนั้นๆ โดยเฉพาะ เป็นของที่มีชิ้นเดียวสำหรับคนๆ เดียวเท่านั้น ซึ่งจะได้มาจากการพูดคุย ทำความรู้จักกัน รับรู้ถึง personality ของลูกค้าแต่ละท่าน คือจะดูว่าเขามีบุคลิกอย่างไร และชื่นชอบอะไร ก็จะออกมาเครื่องประดับในสิ่งที่เขาเป็น ซึ่งก็เป็นที่มาของแนวคิด create your own precious


     และการที่ได้ลูกค้าใหม่เข้ามามากขึ้นนั้น นอกจากความรู้ ความชำนาญจากการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพแล้ว อวนยังได้รู้จักกับผู้ประกอบการใหม่ๆ อีกหลายราย รวมทั้งช่างฝีมือดีที่เขาสามารถผลิตสินค้าออกมาได้ตามออเดอร์ที่ต้องการมากที่สุดอีกด้วย” อวนกล่าวและย้ำว่า


     นั่นหมายถึงงานแต่ละชิ้นที่ออกมาจะไม่ซ้ำกันเลย จะเป็นเครื่องประดับที่ทำออกมาเพื่อคนๆ นั้นโดยเฉพาะจริงๆ




 
ประตูวิเศษจะไม่ปิดตัวเอง ถ้าคุณไม่ปิดมัน
 

     ในระหว่างการพูดคุยกันนั้น อวนบอกว่า ตอนนี้เธอยังอยู่ระหว่างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จำนวนลูกค้าที่เติบโตขึ้น มาจากการสั่งสมตลอด 4 ปี โดยไม่ได้เน้นการสร้างความหวือหวา นั่นทำให้เมื่อเกิดโควิดมา ทางร้านก็ยังสามารถทำยอดขายได้และคงอยู่ได้


     เธอบอกด้วยว่า เครื่องประดับเป็นงานที่มีคุณค่าในตัวเอง ไม่เพียงคุณค่าจากตัวพลอยที่เจ้าตัวมั่นใจว่าได้คัดเลือกของที่มีคุณภาพดีมาแล้วเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าที่เกิดจากงานฝีมือ จากช่างที่ถูกสั่งสมประสบการณ์มานานหลายสิบปี ดังนั้น ผลงานในแต่ละชิ้นล้วนมีเสน่ห์ในตัวเองที่แตกต่างกันออกไป


     แต่สิ่งสำคัญที่มากไปกว่านั้น ซึ่งเจ้าตัวย้ำเสมอในระหว่างการพูดคุยกัน คือ ความซื่อสัตย์ และความจริงใจ


     “การที่เราเป็นคนรุ่นใหม่และใช้ช่องทางใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดนั้น อวนอาศัยความจริงใจ การพูดคุยเพื่อให้ลูกค้าได้รับรู้ถึงความจริงใจของเรา” เธอกล่าวและขยายความว่า


     แม้จะใช้ช่องทางโซเชียลที่เป็นเหมือนประตูที่ทำให้เราได้ออกไปพบกับลูกค้า ทำให้เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และอวนเป็นเหมือนคิวปิดที่ทำให้เนื้อคู่เขามาพบกันแล้ว แต่ก็ไม่ได้ต้องการที่จะขายของเพียงอย่างเดียว อวนยังมอบความจริงใจ ใช้ความรู้ที่สั่งสมมาและคลุกคลี่มาตั้งแต่เด็ก อธิบายให้กับลูกค้าได้ว่าสินค้าแต่ละเกรดเป็นอย่างไร สามารถเทียบคุณภาพ ราคา และอธิบายให้กับลูกค้าได้


     “และเมื่อฐานลูกค้าขยายออกไปมากขึ้นด้วยช่องทางออนไลน์ที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว ก็พร้อมที่จะไปพบ ไปเจอกับลูกค้าถึงที่ เพราะคิดว่าการพูดคุยกันกับลูกค้าก็มีความสำคัญไม่น้อย ในอนาคตจึงอยากจะเดินสายออกไปพบลูกค้าให้มากขึ้น ทั้งรูปแบบการนัดพบ และการเปิดร้าน จังสุ่ยศิลป์ ที่เป็น pop-up ตามจังหวัดต่าง ๆ ให้มากขึ้น” อวนกล่าวทิ้งท้าย









 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย