บุกรัง “สุภาฟาร์มผึ้ง” ถอดวิธีเลี้ยงผึ้งให้มุ่งสู่บริษัทมหาชน ด้วยฝีมือคนรุ่นลูก

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : SUPHA BEE FARM





Main Idea
 
 
     คมธุรกิจ “สุภาฟาร์มผึ้ง”
 
 
  • ทำธุรกิจต้องมีวิชั่น เห็นโอกาสต้องรีบคว้าไว้
 
  • เป็น SME ต้องมีองค์ความรู้ ต้องรู้จักแสวงหา
 
  • ต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
 
  • ทำธุรกิจต้องขยันให้เหมือนผึ้ง และรับมือวิกฤตด้วยใจสู้
 
  • เรื่องใหม่ๆ ต้องปล่อยให้ทายาททำ คอยเป็นที่ปรึกษาอยู่ห่างๆ ก็พอ
 

 

      “สุภาฟาร์มผึ้ง” (SUPHA BEE FARM) คือธุรกิจของครอบครัวคนเลี้ยงผึ้ง ที่ก่อตั้งโดยรุ่นพ่อแม่ “สมบูรณ์ และสุภา ยาวิเลิศ” เมื่อประมาณปี 2528 เคยผ่านวิกฤตหนักๆ ในปีต้มยำกุ้งจนต้องประสบกับภาวะขาดทุนสุดสาหัสมาแล้ว ทว่าเมื่อถึงวันที่ทายาทอย่าง “สุวรัตนา” และ “สุวิชชา ยาวิเลิศ เข้ามาสานต่อธุรกิจ หลายอย่างก็เปลี่ยนไป ธุรกิจเล็กๆ ขยายมามีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ขยับจากกิจการหลักสิบล้านบาท กำลังทะยานสู่ธุรกิจร้อยล้าน และเตรียมเดินหน้าสู่บริษัทมหาชนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า


      SME Thailand มีโอกาสพูดคุยกับคน 2 รุ่น ได้เห็นถึง 2 มุมมองในการทำธุรกิจ จากรุ่นก่อตั้ง สู่รุ่นต่อยอด จนมาเป็นสุภาฟาร์มผึ้งที่แข็งแกร่งอย่างวันนี้ มาทำความรู้จักพวกเขาไปพร้อมกัน



 

จากข้าราชการครู-เจ้าของโรงเรียนอนุบาล สู่คนเลี้ยงผึ้ง
               

      “สมบูรณ์ และสุภา ยาวิเลิศ” เป็นอดีตข้าราชการครู สุภาเคยเปิดโรงเรียนอนุบาล พวกเขาเริ่มเลี้ยงผึ้งเมื่อปี 2528 หลังได้รับการชักชวนจากคนไต้หวัน ที่มาลงทุนทำฟาร์มผึ้งในเมืองไทย และเลือกพื้นที่ภาคเหนืออย่าง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอุดมไปด้วย สวนลำไย สวนลิ้นจี่ ที่มีดอกให้น้ำหวานเป็นอาหารโปรดของผึ้ง
               

     “ตอนที่เราเริ่มประเทศไทยยังเลี้ยงผึ้งน้อยอยู่ บ้านเราเริ่มเลี้ยงผึ้งกันจริงๆ ก็ประมาณปี 2525 โดยคนไต้หวันนี่แหละ ของผมเองเป็นรุ่นที่สองก็ว่าได้ ตอนแรกผมแค่ไปดูเขาเลี้ยง แต่คำพูดเขาทำให้สนใจผึ้งเพิ่มขึ้น เขาบอกว่าคุณเลี้ยงผึ้งสิ ตึกคุณก็มี ไปไหนก็ไปได้ จะนั่งเครื่องบินไปก็ได้ ตอนนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจหรอก แต่ในความหมายของเขาก็คือว่า คนเลี้ยงผึ้งที่ไต้หวันมีตึกอยู่สบาย สามารถไปท่องเที่ยวที่ไหนก็ได้ มีกินมีใช้ ก็คือรวยนั่นแหล่ะ ผมก็สงสัยว่ารวยได้ยังไง วันหลังเขาก็มาพูดอีกว่า ถ้าคุณทำราชการ 10 ปี สู้เลี้ยงผึ้ง 5 ปีไม่ได้ มากระตุ้นผม ผมเกิดความสนใจอยากเลี้ยง เขาก็เลยเริ่มแบ่งผึ้งไปให้เลี้ยง เริ่มจาก 10 ลัง ผมไปเลี้ยงที่บ้านพักข้าราชการ ลองไปตั้งดูก็ไม่ตายนี่ เลี้ยงกันสนุก ว่างๆ ก็ไปดูได้น้ำผึ้งมาประมาณ 20-30 กิโลกรัม ก็เอาให้เขาไปขาย ปรากฏได้เงินมาเป็นหมื่นบาทเลย ตอนนั้นเงินเดือนข้าราชการผมอยู่ที่ประมาณ 4-5 พันบาท ก็มากกว่าเงินเดือนว่างั้นเถอะ ภรรยาผมก็ชักจะสนใจ ก็เริ่มเลี้ยงเพิ่มเลี้ยงไป 3 ปี ภรรยาตัดสินใจขายกิจการโรงเรียนอนุบาลไปเลย ไม่เอาแล้วมาเลี้ยงผึ้งดีกว่า จนมาปี 2533-2534 เราก็เลี้ยงเป็นหลายร้อยลัง เรียกว่าเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพจริงๆ”
               

     ยุครุ่งเรื่องที่คนรุ่น 1 ทำไว้ คือประมาณปี  2538-2539 พวกเขาเลี้ยงผึ้งอยู่ที่กว่าพันลัง มีรายได้จากฟาร์มผึ้งที่ประมาณ 20-30 ล้านบาท สมบูรณ์บอกว่า ในยุคนั้นจะซื้อรถทุกปีก็ทำได้ และใช้เงินสดซื้อด้วย วิถีคนรวยขนานแท้




 
เมื่อวิกฤตต้มยำกุ้งบุกรังผึ้งสุภาฟาร์ม
               

      ทว่าธุรกิจที่กำลังรุ่ง กลับกลายเป็นผึ้งแตกรัง เมื่อประเทศไทยเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 สมบูรณ์ย้ำว่าวิกฤตของสุภาฟาร์มไม่ได้เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจโดยตรง ใครจะคิดว่าในปีเดียวกันนั้นภาคเหนือของประเทศไทยต้องเจอกับสภาพอากาศแปรปรวน อากาศร้อนจนลำไย ลิ้นจี่ ไม่ออกดอก ผึ้งไม่มีอาหาร จนต้องย้ายรังไปเลี้ยงภาคใต้ อาศัยดอกยางพารา และดอกเงาะมากู้ชีวิตผึ้ง
               

     “ปีนั้นเป็นปีที่คนเลี้ยงผึ้งเป็นหนี้เป็นสินเยอะมาก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมด้วย ที่ชัดเจนที่สุดคือลำไยและลิ้นจี่ไม่ออกดอกเพราะมันร้อน ผึ้งไม่มีน้ำหวาน ทำให้ธุรกิจของเราขาดทุนเป็นครั้งแรก ถามว่าหนักขนาดไหน ขนาดที่พวกเราต้องขับรถไปปักษ์ใต้ไปหาอาหารผึ้ง แต่ตอนกลับไม่มีเงินค่าน้ำมันต้องไปยืมคนที่จะซื้อน้ำผึ้งกับเราเอา ตอนนั้นทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เงินจะกินยังไม่มีเลย เงินเติมน้ำมันรถก็ไม่มี แต่ต้องยอมไปตายเอาดาบหน้า


     ปีนั้นเราต้องติดหนี้ติดสิน ผมต้องขายรถปิกอัพไป 3 คัน จากยุครุ่งเรืองนี่จะซื้อรถทุกปีก็ยังได้ ใช้เงินสดซื้อด้วย ทำธุรกิจมาเป็นสิบปีไม่เคยแย่มาก่อน แต่พวกเราก็สู้ ผมมองว่า เหมือนเรามีสินทรัพย์อยู่กับตัว คือเรามีผึ้ง มีสถานที่ มีคนของเรา อุปกรณ์ทุกอย่างเราก็มีอยู่แล้ว แน่นอนถ้าใจเรายังสู้อยู่ ยังไงเราก็ต้องฟื้นกลับมาได้ ปีนี้ไม่ดี ปีต่อไปก็ต้องฟื้น เราก็พยายามปรับตัว” เขาเล่า




 
ได้เวลาทายาทรุ่นใหม่ลงสนามประลองผึ้ง


     หลังผ่านวิกฤตแรกมาได้ด้วยความอดทน ฟ้าหลังฝนของสุภาฟาร์มผึ้งกลับมาสดใสอีกครั้ง เมื่อเข้าสู่ยุคที่ทายาทรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อธุรกิจ เริ่มด้วยลูกสาวคนโต “น้ำอ้อย-สุวรัตนา ยาวิเลิศ” ที่เรียนจบด้านธรณีวิทยา และต่อโทด้านอุตสาหกรรมอาหาร ตามมาด้วยลูกสาวคนเล็ก “น้ำผึ้ง-สุวิชชา ยาวิเลิศ” ที่เรียนจบทางด้านการตลาดมาจากสิงคโปร์ ช่วยเติมเต็มทั้งมุมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดให้กับฟาร์มผึ้งของพ่อแม่


     ทายาททั้งสองเริ่มปรับรูปแบบการทำงานใหม่ โดยทำสุภาฟาร์มผึ้งให้เป็นฟาร์มที่มีระบบ มีมาตรฐาน มีโรงงานผลิตที่ทันสมัยสำหรับแปรรูปน้ำผึ้ง จากที่เคยขายน้ำผึ้งเป็นหลัก ก็พัฒนาสู่ นมผึ้ง (Royal Jelly) พรอโพลิส (Propolis) ซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่งที่ผึ้งรวบรวมจากยางไม้ มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด เกสรผึ้ง (Bee Pollen) น้ำผึ้งผสมมะนาว ซีเรียลบาร์น้ำผึ้งสำหรับนักกีฬา สบู่เหลวและสบู่ก้อนน้ำผึ้ง เป็นต้น มีตลาดทั้งในและต่างประเทศ เคยมีรายได้แตะ 100 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้ธุรกิจต้องสะดุดจากโควิด-19 โดยคาดว่ารายได้ทั้งปีจะอยู่ที่ไม่เกิน 80 ล้านบาท


     “ที่ตัดสินใจมาสานต่อธุรกิจครอบครัว เพราะคิดว่ามันเป็นธุรกิจที่พ่อแม่เริ่มไว้อยู่แล้ว ถ้าเกิดเราสองคนไม่ทำ ก็มีแค่สองทาง คือ  1 ยุบ 2 ขาย ฉะนั้นในเมื่อมันคือสินทรัพย์ที่เขาสร้างขึ้นเราก็น่าจะรักษาไว้ ที่สำคัญมันเป็นธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ด้วย เพราะในอนาคตเทรนด์สุขภาพกำลังมา ถ้าเกิดเราเก็บธุรกิจนี้ไว้ อย่างน้อยมันมีต้นทุน ไม่ต้องไปเริ่มใหม่ แค่ต่อยอดสิ่งที่เขาสร้างไว้เท่านั้นเอง แต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ทำแพ็กเกจให้ตรงใจคนรุ่นใหม่ขึ้น รวมถึงพยายามขยายช่องทางขายให้ไปอยู่บนออนไลน์มากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าของเราด้วยเทคโนโลยี”
นอกจากปรับการทำงาน พัฒนาสินค้าและการตลาด หนึ่งในความพยายามของสองทายาท คือปรับสุภาฟาร์มผึ้งให้เป็น Smart Bee Farm หรือฟาร์มผึ้งอัจฉริยะ


     “ในอนาคตเราอยากเป็นฟาร์มผึ้งที่สามารถออนไลน์ได้ ให้คนคลิกเข้าไปดูได้ว่ากระบวนการผลิตของเราเป็นแบบไหน สามารถติดตามได้ว่า เกษตรกรกำลังเก็บน้ำผึ้งของเขาอยู่ บรรจุขวดที่นี่ มาจากฟาร์มนี้ ถึงที่ผลิตแล้ว และกำลังบรรจุเพื่อส่งไปหาเขาที่บ้าน ทำไมเรามองแบบนี้ เพราะว่าพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป คนอยากได้อะไรที่อย่างแรกเลยคือ เขาพิสูจน์ได้ เขาต้องการรู้ที่มาที่ไปของสินค้า คนสมัยก่อนอาจจะเห็นแค่ว่าเป็นฟาร์มผึ้ง มีเอกสาร มีขวด มีหน้าร้าน แต่อนาคตเราจะสามาถบอกได้เลยว่า น้ำผึ้งของเขามาจากที่ไหน คนเลี้ยงชื่ออะไร ฟาร์มไหน คือเอาเทคโนโลยีมาเข้าช่วย” น้ำผึ้งเล่าเรื่องความอัจฉริยะที่จะมาถึงฟาร์มของพวกเขาในอนาคต ซึ่งเป็นศาสตร์วิชาที่ได้จากการเข้าอบรมจากโครงการต่างๆ เรียนรู้และรับฟังจากเหล่าที่ปรึกษา จนเห็นอนาคตและหนทางโตของพวกเขา รวมถึงแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อกลายร่างสู่ “บริษัทมหาชน” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย




 
นำส่ง “สุภาฟาร์มผึ้ง” สู่ถนนที่ชื่อ “มหาชน”  


      ในตอนที่เราคุยกับคนรุ่นก่อตั้งอย่างสมบูรณ์ เขาบอกว่า ใจจริงอยากจะทำสุภาฟาร์มผึ้งให้เป็น “มูลนิธิ” เพื่อเป็นมรดกให้กับลูกหลาน ให้ครอบครัวได้รับผลประโยชน์ แต่กับทายาททั้งสองแผนของพวกเขาคือนำสุภาฟาร์มผึ้งเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเริ่มเตรียมตัวมาระยะหนึ่งแล้ว


     “ที่พวกเราอยากเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะมองว่าถ้าเราอยากจะโตจริงๆ เราก็ต้องเขาตลาดฯ เพื่อที่จะระดมทุนมาเป็นทุนสำรองของเรา และถ้าเกิดในอนาคตเราไม่มีทายาท ไม่สามารถมีใครเข้ามาสานต่อธุรกิจตรงนี้ได้ การเป็นมหาชนจะทำให้ธุรกิจของเรายังไปต่อได้ โดยที่เอาคนเก่งเข้ามาบริหาร แล้วเราก็อยู่เฉยๆ เกษียณของเราไปเลย ที่สำคัญพอเราเป็นมหาชนเราจะได้เรื่องของความน่าเชื่อถือ ถึงตอนนั้นเราจะมีศักยภาพสามารถทำอะไรได้อีกเยอะมาก และต่อยอดธุรกิจของเราไปได้อีกไกล เพราะเราจะมีทุนที่จะทำอะไรได้อีกเยอะ โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยเอง ถึงจุดนั้นคนเก่งก็จะเข้ามาช่วยเราบริหาร และเราสามารถออกมาเพื่อมองภาพรวมได้ใหญ่กว่าเดิม” ทายาทสะท้อนวิชั่นของพวกเขา
 

     ทั้งสองคนบอกเราว่า วางแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ภายใน 5 ปี ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมตัว ปรับโครงสร้างบริษัท และจัดการทุกอย่างให้เป็นระบบ เพื่อให้เข้าเกณฑ์บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยตั้งเป้าว่า ประมาณปี 2570 สุภาฟาร์มผึ้งก็น่าจะมีนามสกุลเป็นมหาชนอย่างใครเขา


     การปล่อยวางของคนรุ่นหนึ่ง เพื่อให้คนรุ่นสองลงมือทำอะไรได้อย่างอิสระ ทำให้สุภาฟาร์มผึ้งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในวันนี้ แต่สำหรับทายาท คำสอนของคนรุ่นหนึ่งและการยังยืนอยู่ข้างๆ คอยเป็นที่ปรึกษา คือกำลังใจชั้นดีให้พวกเขายังคงมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อนำพาธุรกิจครอบครัวให้เติบใหญ่ไปมากกว่านี้


     “คุณพ่อกับคุณแม่ท่านจะมีวิชั่นเรื่องของการก้าวไปข้างหน้า ท่านสอนว่า เราต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา เพราะถ้าเกิดเราไม่พัฒนา เราก็จะอยู่ที่เดิมแล้วคนอื่นก็จะแซงเราไป เพราะฉะนั้นอะไรที่เราทำได้ไม่ว่าจะเพื่อเพิ่มยอดขายก็ดี เพิ่มกลุ่มลูกค้าก็ดี หรือว่าพัฒนาการผลิตก็ดี เราก็ควรจะทำ และหาความรู้อย่างต่อเนื่อง”


     พวกเธอบอกคำสอนของคนรุ่นหนึ่ง ที่กำหนดทางเดินให้กับสุภาฟาร์มในวันนี้ จากผึ้งฝูงเล็กๆ ที่กำลังจะกลายเป็นผึ้งของมหาชน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ด้วยพลังของครอบครัวผึ้งที่ขยันขันแข็งอย่างพวกเขา





 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย