ทายาทดีเจริญยนต์ ฟื้นธุรกิจครอบครัวด้วยยูทูบ ปั้นยอดขายรถ 100 คันต่อเดือน!

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ปกรณ์ พลชัย





Main Idea
 
 
     บทเรียนชีวิตทายาทธุรกิจดีเจริญยนต์
 
 
  • อยากทำอะไรต้องทำทันที อย่ารอ
 
  • ชีวิตต้องดิ้นรนตลอดเวลา อย่าอยู่เฉย
 
  • ถ้าไม่อยากลำบาก ต้องสู้หัวชนฝา
 
  • ทำธุรกิจยิ่งสูงยิ่งหนาว จงอย่าทำตัวให้มีบาดแผล
 


 

      เป็นลูกเถ้าแก่แต่ต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 18 เพราะครอบครัวอยากให้ทำการค้า เริ่มทำเว็บไซต์ขายรถให้พ่อเมื่อกว่า 10 ปีก่อน จนกลายเป็นชุมชนของคนรักบิ๊กไบค์ที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น เคยผ่านทั้งยุครุ่งเรืองและรุ่งริ่งจนวันหนึ่งกิจการครอบครัว "เจ๊ง" เลยต้องผันไปทำอย่างอื่นอยู่หลายปี จนเมื่อ 4 ปีก่อน เขาฟื้นธุรกิจเดิมขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับเปิดช่องยูทูบเพื่อขายสินค้าอย่างจริงๆ จังๆ ใครจะคิดว่าในเวลาแค่ 4 ปี ชื่อของ “DBigbike” จะกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มียอดผู้ติดตามสูงถึง 1.1 ล้านคน มีคลิปกว่าพันคลิป สร้างรายได้เกือบ 10 ล้านบาท ขายรถได้เป็นร้อยคันต่อเดือน
               

     นี่คือเรื่องราวฉบับย่อของผู้ชายที่ชื่อ “เบนซ์-ศรัณย์ เกียรติเทพขจร” เจ้าของช่อง DBigbike ทายาทรุ่น 2 ของ “ดีเจริญยนต์” ธุรกิจที่เริ่มจากซื้อ-ขายรถยนต์และจักรยานยนต์ใช้แล้ว (มือสอง) จนวันนี้กลายเป็นอาณาจักรของคนรักบิ๊กไบค์ที่ประสบความสำเร็จทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ มียอดขายรถนับร้อยคันต่อเดือน



 
               
หักดิบชีวิตวัยรุ่นสู่ถนนการค้า
               

     ศรัณย์ เกิดมาในครอบครัวผู้ประกอบการขนานแท้ เขาบอกว่าในวัยเด็กถ้าถามว่าพ่อทำธุรกิจอะไรก็ยากที่จะตอบได้ เพราะเท่าที่จำได้พ่อทำอะไรมาเยอะมากเรียกได้ว่าเปลี่ยนอาชีพแทบจะทุกๆ 2 ปี  ตั้งแต่ทำธุรกิจการ์เมนต์ ขายน้ำมันเครื่อง  ขายแอร์ ขายก๋วยเตี๋ยวเป็ด เป็นตัวแทนขายประกัน ขายปลาทะเล ขายเสื้อผ้าที่ตึกใบหยก ฯลฯ จนมาเริ่มดีขึ้นหน่อยก็ตอนขายรถแถวจรัญสนิทวงศ์ โดยใช้ชื่อ “ดีเจริญยนต์” ซึ่งเป็นชื่อของคุณแม่เขา
               

     ในวัยเด็กศรัณย์คือลูกเถ้าแก่ พ่อซื้อรถให้ขับไปเรียนตั้งแต่อายุ 15-16 ปี เพื่อฝึกความรับผิดชอบ ทั้งที่ยังไม่ถึงวัยทำใบขับขี่ด้วยซ้ำ ซื้อกีตาร์ให้เล่นทั้งที่ไม่เคยร้องขอ แต่ใครจะคิดว่าคำขอของพ่อหลังจากนั้นจะพลิกชีวิตวัยรุ่นอย่างเขาไปอย่างสิ้นเชิง
               

     “ตอนนั้นผมอายุ 18 จบปวช. กำลังจะไปเรียนต่อมหาลัย ซึ่งเพื่อนๆ ก็ไปเอแบคกันหมด ตามสเต็ปของเด็ก ACC (อัสสัมชัญพาณิชยการ) แต่พ่อผมบอกไม่ให้เรียนแล้วให้ออกมาช่วยขายรถดีกว่า เรียนไปก็เสียเวลา คุณพ่อผมท่านจะมีแนวคิดแปลกๆ อย่าง ซื้อรถให้ผมขับไปเรียนตั้งแต่เด็ก ทั้งที่ผมอยากนั่งรถสองแถวกลับบ้านเหมือนคนอื่น ที่เลิกเรียนยังได้ไปเที่ยว ไปร้านเกม แต่พ่อบอกว่าการมีรถจะสร้างความรับผิดชอบทำให้ผมเป็นผู้ใหญ่และกล้าตัดสินใจ เพราะเวลาอยู่บนถนนศักดิ์ศรีของผมจะเทียบเท่ากับทุกคนไม่ใช่เด็ก ตอนนั้นผมก็ไม่เข้าใจและยังอยากเรียนต่อ แต่ก็ยอมออกมาช่วยท่าน”
               

    ศรัณย์ บอกเราว่า ในตอนนั้นเป็นช่วงที่รถมอเตอร์ไซค์เล็กที่ขายอยู่เริ่มกำไรไม่ค่อยดี เลยต้องหาธุรกิจตัวใหม่มาทดแทนนั่นคือบิ๊กไบค์ ซึ่งในตอนนั้นมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ยังเป็นรถนำเข้าไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ทุกค่ายมีโรงงานอยู่ในไทยและราคาถูก แต่เมื่อก่อนต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น และเป็นพวกรถจดประกอบ ซึ่งดีเจริญยนต์ก็เริ่มจากจุดนั้น ในยุคที่ตลาดบิ๊กไบค์ยังอยู่ในวงการแคบๆ


     แล้วเด็ก 18 อย่างเขา จะเอาอะไรมาช่วยธุรกิจครอบครัวได้?



 
 
กำเนิดเว็บไซต์ ชุมชนของคนรักบิ๊กไบค์


     หลังต้องจบชีวิตวัยรุ่นเดินหน้าสู่สนามการค้าแบบเต็มตัว ศรัณย์ ยอมรับว่าช่วงแรกๆ เขาต้องนั่งโง่ๆ อยู่ในออฟฟิศเพราะไม่รู้จะทำอะไร ความว่างทำให้ตัดสินใจคิดทำเว็บไซต์ หนึ่งในทักษะติดตัวที่เคยขอพ่อไปเรียนเมื่อตอน ม.3  


     “ผมบอกพ่อว่า ทำเว็บไซต์ไหมล่ะเดี๋ยวนี้ใครเขาก็ทำกัน ป๊าเคยไปจ้างเขาลงหนังสือ อย่างเรามีรถอยู่ 20 กว่าคัน เขาถ่ายวันนี้ลงหนังสือเดือนหน้า ถึงวันที่หนังสือออกเราก็ขายรถไปหมดแล้วมันไม่ทันกิน ซึ่งเขาก็โอเค นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมได้กลายเป็นแอดมินทำเว็บไซต์ DBigbike.com ให้กับธุรกิจของคุณพ่อเมื่อประมาณปี 2005 ตอนนั้นทำง่ายๆ ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทำเอา เป็นเว็บที่ไม่ได้เลิศหรูอะไร แต่สิ่งที่ลูกค้าอยากรู้พวกราคา สต๊อกสินค้ามันมีอยู่ครบถ้วน รวมถึงเว็บบอร์ดให้คนมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ยุคนั้นเฟซบุ๊กยังไม่เกิดยูทูบยังไม่โต แต่สิ่งที่เกิดคือพวกเว็บบอร์ด เลยกลายเป็นว่าเว็บไซต์ของผมกลายเป็นเว็บบอร์ดเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ที่ใหญ่ที่สุด ณ ตอนนั้น เพราะยังไม่มีใครทำและเราเริ่มก่อน” เขาบอก
 

     การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสร้างผลลัพธ์อะไรให้กับธุรกิจครอบครัว เขาบอกว่าออนไลน์เป็นเหมือนการสร้างตลาดใหม่ จากเดิมเวลาคนจะซื้อรถต้องมานั่งเปิดหนังสือรถ แต่พอเป็นเว็บไซต์ข้อมูลที่ครบถ้วนทำให้เกิดความเมามันในการ    ช้อปปิ้ง และการมีเว็บบอร์ดก็เหมือนชุมชนที่ไม่ใช่มีแค่คนที่เป็นลูกค้าเท่านั้นแต่ยังเป็นศูนย์รวมของคนที่ชอบมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์เหมือนๆ กันมารวมตัวอยู่ด้วยกัน กลายเป็นว่าสุดท้ายคนเหล่านั้น ก็ขยับจากสายส่องมาเป็นลูกค้าของเขาอยู่ดี




 
จากยุคเฟื่องฟู สู่ยุคล่มสลาย


     เด็กหนุ่มเริ่มช่วยธุรกิจครอบครัวในวัยแค่ 18 ปี และทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตถึงขนาดที่เรียกได้ว่า “คุมตลาด” ณ ตอนนั้น เพราะร้านส่วนใหญ่ยังเป็นออฟไลน์ และเว็บไซต์ยังเป็นเรื่องยาก ราคาแพง และไกลตัว SME เว็บไซต์ที่ทายาทดีเจริญยนต์ทำขึ้นเลยเป็นช่องทางขายที่ทำยอดขายถล่มทลาย โดยขายได้เดือนละเป็นร้อยคัน จนประกอบไม่ทันขาย ครอบครัวจึงไปซื้อที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม เพื่อทำเป็นโรงงานประกอบรถแบบจริงๆ จังๆ ใครจะคิดว่าธุรกิจที่เหมือนเป็นขาขึ้น จะต้องถึงขั้นปิดกิจการลงหลังจากนั้น


     “ตอนนั้นประเทศเราเริ่มมีปัญหาการเมือง มีม็อบประท้วง มีเหตุการณ์ที่เราเริ่มคอนโทรลไม่ได้ เราเองเป็นประเภทที่ไม่ได้มีทุนมากมาย อย่างผมขายของราคาหลักหมื่นแต่ต้องหมุนเงินหลักหมื่น นึกภาพออกไหม เงินทุกบาททุกสตางค์มันคือดอกเบี้ยหมด เราซื้อรถนำเข้ามาเราซ่อมเราคอนโทรลได้หมด เราซื้อรถสวยมาทำแค่นี้เราคอนโทรลได้หมดลูกค้าไม่พอใจเราแก้ปัญหาได้หมด แต่สิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้คือปัจจัยภายนอก อย่าง การเมืองไม่นิ่ง มาพีคสุดก็ตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554  ตอนนั้นร้านผมไม่โดนน้ำท่วมนะ แต่เรานั่งดูน้ำทุกวันว่าจะท่วมไหม ของก็ขายไม่ได้ เศรษฐกิจเริ่มแย่บิ๊กไบค์ก็เป็นของฟุ่มเฟือยเป็นรถที่ไม่จำเป็นต้องมี คือของเล่นเด็กผู้ชายที่ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ยอดขายที่เคยมีมันก็ตกลง จุดที่ไม่ไหวจริงๆ คือ ตอนนั้นมันมีข่าวออกมาว่ารถจดประกอบผิด ข้อเท็จจริงคือกฎหมายมันมีให้จดผมก็จดตามระเบียบ ทำทุกอย่างตามขั้นตอน แต่วงการเขามองว่ามันเป็นอย่างนี้ โอเคผมอาจจะยังขายได้นะเพราะด้วยความที่เราสร้างชื่อมานาน แต่พอนานเข้าเริ่มไม่ไหว สุดท้ายเลยตัดสินใจปิด และย้ายครอบครัวไปอยู่ที่บางเลนกันหมด”


     และนั่นคือรอยแผลที่หนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิตคนหนุ่มอย่างเขา ศรันย์บอกเราว่า ตอนนั้นเขาอายุแค่ 20 กว่าๆ และยังไม่เคยเจ๊งมาก่อน ด้วยความที่พอออกมาช่วยงานพ่อกราฟชีวิตก็พุ่งมาตลอด ขณะที่พ่อของเขาอาจเคยชินกับการล้มแล้วสุกสไตล์คนทำธุรกิจที่ถือว่านี่เป็นเรื่องปกติ แต่นั่นเป็นครั้งแรกของเขา


     “ครั้งนั้นมันหนักหน่วงมาก เราเองมีหนี้ในระบบและนอกระบบเยอะแยะไปหมด ซึ่งเป็นชื่อผมหมดเลย ผมก็ดิ้นรนมาเปิดอู่ติดแก๊ส ดิ้นอยู่ได้เกือบปีแต่สุดท้ายทนไม่ไหว เลยกลับไปหาครอบครัวที่บางเลน ตอนนั้นพ่อผมชอบตกปลาก็เลยซื้อปลามาปล่อยในบ่อ แล้วก็เปิดเป็นบ่อตกปลา ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ แล้วก็ทำเป็นบังกะโล ทำห้องพักง่ายๆ ให้คนมานั่งตกปลา รายได้รวมทั้งบ้านจากที่เคยมีเงินในบัญชีเดือนๆ หนึ่งเป็น 10 ล้านบาท ตอนนั้นรายได้บวกลบมีเงินเข้าบัญชีอยู่เต็มที่ประมาณแสนกว่าบาท”



 
 
เหตุเกิดจากความว่าง เลยเจอทางฟื้นธุรกิจครอบครัว


     ศรัณย์ ยอมรับว่าชีวิตที่ต้องหยุดนิ่งยังไม่ใช่วิถีของเขาในตอนนั้น แต่เพราะความว่างเลยทำให้เริ่มมาเล่นยูทูบ โดยไล่ดูยูทูบในต่างประเทศ เพราะยุคนั้นช่องยูทูบของไทยก็มีแค่กลุ่มเกมเมอร์ และรายการวาไรตี้ยอดนิยมอย่าง VRZO เท่านั้น ยังไม่มีช่องมากมายอย่างวันนี้


     เขาเริ่มจากถ่ายหนอน ถ่ายต้นไม้ มีวันหนึ่งเป็นจุดพลิกเพราะดันไปถ่ายม้าผสมพันธุ์กัน ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของพ่อที่นำเข้าม้าฝรั่งมารับผสมพันธุ์กับม้าไทย ใครจะคิดว่าทันทีที่อัพขึ้นยูทูบ ยอดคนดูจะมหาศาลเป็นหลายล้านวิว พร้อมกับเสียงก่นด่าหาว่าทารุณกรรมสัตว์ เพราะม้านอกตัวใหญ่ม้าไทยตัวเล็ก แต่เพราะคลิปนั้นทำให้เขามีรายได้เข้ามาหลายหมื่นบาท จากยอดคนดูทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะคนไทย และนั่นจุดประกายความหวังเขาขึ้นมาอีกครั้ง


     “ผมอยู่บางเลนประมาณ 2 ปีกว่า เริ่มรู้สึกว่าไม่ไหว เลยไปที่โรงงานประกอบรถของเรา มันจะมีพวกซากรถเก่าที่ยังขายไม่ได้ ก็เอามาประกอบให้มันวิ่งได้แล้วลงเน็ตประกาศขาย ตอนนั้นผมเอาทรัพย์สินที่กองเป็นขยะอยู่ในโรงงาน มาเปลี่ยนเป็นเงินได้ประมาณ 700,000 บาท เลยตัดสินใจกลับเข้ากรุงเทพฯ คนเดียว มาเช่าคอนโดอยู่ แล้วคิดว่าต้องหาอะไรสักอย่างทำ ผมเลยกลับไปจับตลาดบิ๊กไบค์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นช่วงที่แต่ละค่ายเริ่มเข้ามาในเมืองไทย กลายเป็นว่าไม่ใช่รถนำเข้าแบบสมัยก่อนแล้วที่เป็น Grey Market เอาเข้ามากันเอง แต่วันนี้ทุกแบรนด์มาทำเองมีโรงงานในไทยแล้วเอามาขายในราคาที่ถูกลง และเป็นยุคที่ทุกบ้านต้องมีบิ๊กไบค์ ตอนนั้นที่โรงงานเขาเริ่มเปิดผมยังไม่ทำทันที แต่เลือกทำหลังจากนั้นอีก 2 ปี เพราะมันเริ่มมีรถมือสองไหลเข้ามาแล้ว ผมมีเงินในบัญชีอยู่ประมาณ 7 แสนบาท ก็เริ่มจากซื้อรถ 3 คัน  เฉลี่ยคันละ 2 แสนกว่าบาท ก็ใช้จนหมดหน้าตัก ให้มันรู้ไปว่าเดือนหนึ่งจะขายไม่ได้เลย ถ้าขายไม่ได้ผมจะกลับบางเลน” เขาบอกตัวเองอย่างนั้น
 

     ปรากฏ 3 คันก็ขายได้ ก็เอากำไรบวกเพิ่มมาเป็น 4 คัน จาก 4 คัน เป็น 5 คัน จนกลายเป็นกว่า 10 คันในเวลาต่อมา



 
 
จากพ่อค้ารถ สู่ยูทูบครีเอเตอร์แห่งช่อง DBigbike


     จุดเปลี่ยนสำคัญของการฟื้นกลับมาครั้งที่ 2 ของ ดีเจริญยนต์ คือการเข้าสู่โลกของยูทูบเบอร์เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน โดยคนทั่วไปอาจคิดว่า มีหน้าร้านมีสถานที่ดีๆ คนก็จะเข้ามาหาเอง แต่ศรัณย์ยอมรับว่า เขาไม่เก่งในการทำธุรกิจออฟไลน์ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงให้คนที่เดินผ่านหน้าร้านเข้ามาในร้าน จึงตระหนักได้ด้วยตัวเองว่า คงต้องทำออนไลน์ และนั่นคือที่มาของการเปิดช่องยูทูบ DBigbike ที่เจ้าตัวย้ำว่า ไม่ใช่ช่องขายไลฟ์สไตล์ ไม่ใช่ขายความรู้ แต่ “ขายรถ” มันตรงๆ นี่แหล่ะ


     “ผมลองทำไลฟ์สไตล์แล้วมันไม่มีคนดู (หัวเราะ)  เขาไม่ได้อยากรู้นี่ว่าผมกินข้าวหรือยัง และผมก็ไม่ได้หน้าตาดีขนาดที่คนจะต้องมาตามด้วย แต่ผมขายรถได้ ตอนนั้นผมตั้งโจทย์ในการถ่ายคลิปแค่ ถ้าลูกค้ามาที่ร้านผม ผมจะคุยกับเขาได้แค่ 1 ต่อ 1 คือคุย 1 ครั้ง ต่อลูกค้า 1 คน แต่ถ้าเกิดผมพูดกับคนในคลิปเหมือนเราคุยกับลูกค้าเป็นพันคน ผมหวังลูกค้าแค่ 1 คน ให้มันรู้ไปสิว่าเขาจะไม่ซื้อ ตอนนั้นผมคิดอย่างนั้นจริงๆ นะ เหมือนคนบ้าที่นั่งพูดกับตัวเองว่ารถมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผมคิดแค่ว่าคนที่ติดตามผมคือคนที่สนใจและอยากได้รถคันนี้เหมือนกัน ผมก็ทำคลิปขายรถ โดยที่เขาไม่ต้องมาที่ร้าน แต่นอนอยู่บ้านดูบนเตียงได้เลย จุดเปลี่ยนคือจากยอดขายแบบงงๆ เดือนละคันสองคัน ปรากฎพอมาทำเป็นวิดีโอมันดึงดูดคนและโดดเด่น บวกกับตอนนั้นบิ๊กไบค์เป็นเทรนด์ที่ทุกบ้านต้องมี คนยิ่งดูยิ่งเกิดความอยาก ตอนนั้นผมจอดรถ 5 คัน ขายได้ 5 คัน ผมจอด 10 คัน ผมขายได้ 10 คัน จอด 20 คัน ก็ขายได้ 20 คัน เป็นอัตราส่วนที่รู้เลยว่า ยิ่งจอดเยอะผมก็ยิ่งขายได้เยอะ ซึ่งขายได้เยอะที่สุดก็คือเดือนละกว่าร้อยคัน ปีละเป็นพันคัน ขายกันมันมาก”


     ศรัณย์บอกว่าจากเดิมทำยูทูบเขาก็ไม่กล้าออกหน้า เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่หล่อ และขี้อาย ตอนนั้นคนทำวิดีโอก็มีแต่หน้าตาดีๆ ไม่ก็เซเลบดาราทั้งนั้น แต่เขาได้เปรียบตรงพูดเก่งและรู้เรื่องรถ  เลยเริ่มออกหน้า และทำจนกระทั่งเป็นคนขายรถที่มีแฟนคลับ เลยยิ่งภูมิใจ สุดท้ายเลยออกหน้ามันทุกคลิป


     “ผมตั้งเป้าเลยว่าจะทำคลิปลงยูทูบให้ได้วันละ 1 คลิป ผมมีความรู้สึกว่ายิ่งเราลงเยอะก็ยิ่งสร้างโอกาสในการขาย ตอนนั้นรถเข้ามาผมก็รีบถ่ายให้ดูก่อนเลย คนอยากฟังเสียงก็เบิ้นให้ฟัง ถ่ายคลิปประมาณ 10-20 นาที ผมอัพขึ้นยูทูบ ผมทำงาน 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ออกไปหาซื้อรถไปหาอย่างอื่นทำ ปล่อยให้ยูทูบมันดันของมันไปเอง จากนั้นค่อยกลับมาเช็กคอมเมนต์ตอบคำถามคนที่สนใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ผมทำคนเดียวหมด และเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่สนใจว่าใครอยากดูอะไร รู้แต่ว่าผมอยากดูอันนี้เลยกลายเป็นว่ามันดึงดูดคนที่เหมือนกับผมเข้ามา”
 

     คนที่บอกเราว่าทำแบบงงๆ วันนี้กลายเป็นเจ้าของช่องยูทูบที่มีคนติดตามสูงถึง 1.1 ล้านคน มีคลิปกว่าพันคลิป สร้างรายได้จากเฉพาะช่องทางยูทูบเกือบ 10 ล้านบาท ขณะที่ขายรถได้สูงถึงเดือนละร้อยคัน


     “ทุกวันนี้เวลาผมลงคลิปโทรศัพท์จะดัง และหลายคนยอมโอนตังค์ให้ผมโดยที่ไม่ได้มาดูรถด้วยซ้ำ ผมเคยขายปอร์เช่คันละ 3 ล้านบาท อัพปุ๊บลูกค้าโอนเงินมาให้เลยล้านนึง อีกสองอาทิตย์เขามารับรถ ถามว่าทำไมเขาถึงกล้าซื้อทั้งที่รถราคาแพง และหลายคนก็เป็นลูกค้าใหม่ มองว่ามันคือเรื่องของความน่าเชื่อถือ ทุกคนบอกว่าร้านผมการตลาดดี แต่หารู้ไม่ว่า ยิ่งสูงยิ่งหนาว เราห้ามมีแผลนะเพราะคนรอเสียบอีกเพียบ เพราะยังมีหลายคนที่อยากทำเหมือนผมแต่อาจจะโม้ไม่เก่งเท่าผม แต่เขาเห็นอยู่แล้วว่าผมทำอย่างนี้แล้วประสบความสำเร็จ แต่ผมรู้อย่างเดียวว่าพอเป็นแบบนี้ จากแต่ก่อนที่เราเคยซื้อรถอะไรก็ได้มาขาย ไม่ซีเรียส ขอให้เป็นสองล้อก็ขายได้หมด แต่วันนี้พอเราอยู่ที่สูงผมจะต้องคัดแต่รถที่สวย ทำยังไงก็ได้เพื่อให้รถอย่ามีปัญหา เพราะวันใดที่มีปัญหาเขาไปด่าเราในออนไลน์เราจบสิ้นทันที ผมจะบอกกับตัวเองอย่างนี้ตลอด รถมีปัญหาผมรับผิดชอบ ถ้าไม่โอเคผมขอซื้อคืน เพราะฉะนั้นตั้งแต่ทำธุรกิจนี้มาไม่เคยมีใครด่าผมเลย”




 
ต้องสู้หัวชนฝา ถ้าไม่อยากมีชีวิตที่ซื้อแม็กนั่มกินไม่ได้


     วันนี้หลายคนอาจชื่นชมกับความสำเร็จของหนุ่นคนนี้ แต่ใครจะรู้ว่าชีวิตของศรัณย์เต็มไปด้วยบาดแผล เขาล้มและลุกอยู่หลายครั้ง ชอกช้ำมาแล้วจากหลายธุรกิจ และไม่ใช่ทุกครั้งที่คิดถูกหรือสำเร็จ แต่เขาเชื่อว่าทุกครั้งที่ล้มคือการเรียนรู้ ยิ่งล้มยิ่งทำให้แข็งแกร่ง และการปรับตัวจะทำให้รอด และไปต่อได้เสมอ


     “ช่วง 2 ปีที่ผมรู้สึกว่าชีวิตผมย่ำแย่ที่สุด ยังเคยคิดอยากจะกระโดดน้ำให้ปลากินเลย เพราะเราไม่มีอะไรทำและรู้สึกตัวเองว่างเปล่ามาก แต่เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นเลยทำให้ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา ต้องมีอะไรให้ทำ อยากทำอะไรผมก็จะทำทันที ทั้งที่ผมจะนั่งเฉยๆ ก็ได้นะ ไม่ต้องดิ้นรนอะไร แต่พอนึกย้อนไปถึงวันนั้น แต่ก่อนผมเคยกินไอศกรีมแม็กนั่มแท่งละ 40 บาทได้ทุกวัน ลูกน้องมีกี่คนก็ซื้อแจกได้หมด แต่วันที่ผมไม่มีเงิน จำได้เลยว่ารถไอศกรีมวอลล์วิ่งเข้ามาที่ร้าน แต่เราซื้อไม่ได้เพราะว่ามันแท่งละตั้ง 40 บาท ถ้าเกิดเจอเหตุการณ์อย่างนั้นอีกผมจะรับไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้มีอะไรให้ทำ มีช่องทางอะไร ผมสู้หัวชนฝา”
 

     วันนี้ดีเจริญยนต์ยังเป็นธุรกิจครอบครัวที่บริหารโดยทายาทรุ่น 2 ทั้ง 3 คน ขณะที่ศรัณย์ในฐานะพี่ชายคนโตก็ยังสนุกกับการทำอะไรของเขาไปเรื่อยๆ โดยแอบกระซิบบอกฝันที่อยากทำกับเราว่า ถ้ามีโอกาสในอนาคตก็อยากทำสื่อยานยนต์ที่ไม่เหมือนใครดูสักครั้ง


     ถ้ายังไม่ยอมแพ้ มีหรือที่คนอย่างเขาจะทำไม่ได้  
 







 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย