Main Idea
โอกาสธุรกิจท่องเที่ยวสำหรับกลุ่ม LGBT
- นักท่องเที่ยว LGBT ทั่วโลก ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสูงถึงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.64 ล้านล้านบาท!
- นักท่องเที่ยวกลุ่มเพศทางเลือก มีความพร้อมและต้องการท่องเที่ยวหลังโควิดมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์
- เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์ รักแล้วรักเลย และชอบกลับมาซื้อซ้ำ สุดยอดปรารถนาของทุกธุรกิจ
- ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT ทั่วโลกอยากมาเยือน
- คู่แข่งยังน้อยเพราะในไทยยังไม่ค่อยมีธุรกิจที่เปิดตัวว่าทำมาสำหรับ LGBT โดยเฉพาะ
เพราะวิกฤตโควิด-19 เลยทำให้บริษัททัวร์ที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่าง “เอเชี่ยน พลัส ทราเวล แอนด์ เซอร์วิส” ต้องหยุดชะงัก มีรายรับเท่ากับศูนย์ ทว่าแทนที่จะหยุดทุกอย่างเหมือนคนอื่น แต่ “ศกุณภัทร มโนกนกพานิช” กรรมการผู้จัดการ หจก. เอเชี่ยน พลัส ทราเวล แอนด์ เซอร์วิส กลับใช้โอกาสนี้มาปฏิวัติตัวเองด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ และใช้เวลาแค่ 3 เดือน สามารถแจ้งเกิดทัวร์ของเพศทางเลือก และพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับเพศทางเลือกเป็นรายแรกของไทยได้สำเร็จ ภายใต้ชื่อ THAI LGBT CONNECT
โควิดแจ้งเกิดธุรกิจใหม่
หลายคนมองโควิดคือวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการหายไปของท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่มีตลาดหลักคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่บริษัท เอเชี่ยน พลัส ทราเวล แอนด์ เซอร์วิส จากเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในตลาดมากว่า 10 ปี และรับต่างชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ พวกเขากลับขอบคุณวิกฤตครั้งนี้
“จริงๆ ก่อนหน้านี้ ผมทำบริษัททัวร์ และรับกลุ่ม LGBT ด้วยตัวผมเองมาประมาณกว่า 10 ปีแล้ว แต่ไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ จนมาเจอโควิดทำให้เรากล้าเปลี่ยน หลังจากที่ฝังใจมานาน อย่างที่บอกว่า กลุ่ม LGBT ลึกๆ ในใจเราก็ไม่ได้ถูกยอมรับสักเท่าไร หลายครั้งที่ผมทำทัวร์ให้นักเที่ยวต่างชาติ บางทีคนก็มองว่าผมเป็นเด็กฝรั่งด้วยซ้ำ เลยรู้สึกว่าถ้ามีโอกาสผมอยากทำให้มันถูกต้อง และอยากทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยมันดีขึ้น
เชื่อหรือไม่ว่าประเทศไทยเราเป็น Top 3 Destination เป็น 1 ใน 3 ประเทศเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT ทั่วโลกอยากมาเยือน แต่ลองเซิร์สใน Google คำว่า Gay Travel หรือ LGBT Travel ไม่มีบริษัททัวร์ในไทยรายไหนทำเลย เป็นบริษัทต่างชาติทั้งนั้น ทั้งๆ ที่เราเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะมาก และบริษัททัวร์ในไทยก็เยอะด้วย แต่ไม่มีใครกล้าเล่น ดังนั้นพอเกิดโควิด เป็นช่วงที่ผมมีเวลา เลยไปสมัครเข้าโครงการ Challenge Project by DIProm ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และเริ่มเขียนแผนธุรกิจใหม่ (New BMC) เพื่อหาทางออกว่าถ้าจะอยู่ต่อ เราจะอยู่ยังไง เลยมาโฟกัสที่จุดแข็งของเรานั่นคือ การทำทัวร์สำหรับเพศทางเลือก”
โอกาสหอมหวานในตลาดสีรุ้ง
การท่องเที่ยวสำหรับกลุ่ม LGBT หรือเพศทางเลือก ถูกให้ความสำคัญมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ถามว่าตลาดนี้น่าสนใจแค่ไหน ดูได้จากผลวิจัยของ เอาท์ นาว คอนซัลติ้ง ร่วมกับ เวิลด์ ทราเวล มาร์เก็ต (WTM) ที่พบว่า นักท่องเที่ยว LGBT ทั่วโลกมีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสูงถึงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.64 ล้านล้านบาท ขณะที่งานวิจัยจาก International Gay and Lesbian Travel Association ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับการตัดสินใจท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 พบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มเพศทางเลือก มีความพร้อมและต้องการท่องเที่ยวมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์
“ในสายตาของต่างประเทศ LGBT Travel เป็นตลาดที่ใหญ่มากๆ ไม่ใช่ Niche Market นะ และไทยเป็น Top 3 ที่เขาอยากมา นอกจากนี้เราถูกจัดให้เป็นอันดับ 2 ของประเทศที่มีความปลอดภัยสำหรับกลุ่ม LGBT ในเอเชียรองจากประเทศไต้หวันอีกด้วย เพราะฉะนั้นเขาถึงได้มากันเยอะมาก แต่ที่ผ่านมามันไม่ได้มีบริษัทไทยที่รองรับ เขาเลยต้องเที่ยวกันเอง ไม่ก็ซื้อทัวร์ LGBT จากต่างประเทศ แล้วมาเที่ยวที่บ้านเรา เงินก็เข้าที่เขา บางทีไกด์ก็ไม่ใช่ไกด์ LGBT ด้วยซ้ำ”
อีกความน่าสนใจคือพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ที่ “มีกำลังทรัพย์ รักแล้วรักเลย กลับมาซื้อซ้ำ” ซึ่งเป็นสุดยอดปรารถนาของการทำธุรกิจยุคนี้
“ความน่าสนใจของลูกค้ากลุ่ม LGBT คือ มาแล้วมาอีก ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญมาก LGBT เขารักแล้วรักเลย อย่างบริษัทของผมมีคนที่มาใช้บริการสูงสุดถึง 18 ครั้ง ใน 18 ปี คือเขามาทุกปีเลย มาจนเสียชีวิต กลุ่ม LGBT ถ้าเขารักเมืองไทยแล้วเขาก็จะกลับมาอีก แต่ถ้าเป็นกลุ่มครอบครัว จะสังเกตเลยว่า ปีนี้เขามาเมืองไทย ปีหน้าเขาก็ไปเวียดนามไปเขมรต่อ จะไม่ค่อยกลับมาซ้ำ ฉะนั้นถ้าเราสามารถเชื่อมต่อกับกลุ่ม LGBT ได้ก็จะมีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์ค่อนข้างเยอะ เพราะว่าเขาไม่ได้มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ อย่างในเรื่องของบุตร ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมลูก ฉะนั้นเขาก็จะจ่ายกับเรื่องการท่องเที่ยวเต็มที่” ศกุณภัทร สะท้อนโอกาส
ออกแบบทัวร์ รองรับนักท่องเที่ยว LGBT
แม้จะเคยมีประสบการณ์รับนักท่องเที่ยวหลากสีมากก่อน แต่การมาประกาศตัวเป็นทัวร์สำหรับกลุ่ม LGBT ครั้งนี้ พวกเขาก็เลือกวางยุทธศาสตร์ใหม่ โดยพัฒนาทัวร์ร่วมกับแพลตฟอร์มที่เรียกว่า THAI LGBT CONNECT (www.thailgbtconnect.com) แพลตฟอร์มเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับเพศทางเลือกรายแรกของไทย ที่รวบรวมฐานข้อมูลโรงแรม ร้านอาหาร สปา แหล่งท่องเที่ยว สินค้าและบริการเพื่อชาว LGBT มาอยู่บนออนไลน์ เป็นเหมือนตลาดออนไลน์ หรือ E-Market Platform สำหรับนักท่องเที่ยว และกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ที่สามารถเลือกช้อปสินค้าได้ในกรณีที่ยังไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวแบบปกติ เพื่อเข้าถึงโอกาสจากการท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมนี้ ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างงานให้กับชุมชนและผู้ประกอบการไทยไปพร้อมกันด้วย
“เราไม่ต้องการปักธงสีรุ้ง ถือธงเรนโบว์แล้วบอกว่า พวกเราเป็น LGBT แต่เราเลือกใช้คำสวยงามว่า THAI LGBT CONNECT ซึ่งมีอยู่ 3 องค์ประกอบด้วยกัน นั่นคือ บริการนำเที่ยวที่โชว์อัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thainess) เชื่อมความหลากหลายในการท่องเที่ยว และเชื่อมต่อระหว่าง LGBT กับเจ้าของสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองกลุ่มเพศทางเลือก โดยที่เราเป็นตัวกลางให้”
ในส่วนของทัวร์ก็ออกแบบบนพื้นฐานความเข้าใจในกลุ่ม LGBT ที่มีความอิสระ รักสนุก มีไลฟ์สไตล์ มีสีสัน ไม่ชอบเที่ยวแบบกรุ๊ปขนาดใหญ่ แต่ชอบไปเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่เกิน 5-6 คน โดยพวกเขามีมัคคุเทศก์ LGBT ที่เป็นมืออาชีพ และมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันอยู่กว่า 20 คน เขาย้ำว่าไม่เน้นคนหน้าตาดีหรือต้องเป็นสาวประเภทสองที่สวยที่สุด แต่เน้นมัคคุเทศก์ที่มีคุณภาพ พร้อมนำพาความเป็นไทย และวัฒนธรรมไทยไปให้กับชาวต่างชาติ ในขณะที่ลูกค้าคนไทย ก็จัดเส้นทางที่หลากหลายตามความชอบและไลฟ์สไตล์ อย่าง ทัวร์จักรยาน ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือใครอยากเที่ยวแบบโลคัลอยู่กับชาวบ้านในชนบทก็สามารถทำได้เช่นกัน ที่สำคัญไม่ได้รับแค่กลุ่ม LGBT เท่านั้น เพราะพวกเขาเชื่อในเรื่องของความหลากหลาย
“ผมเชื่อว่าทุกคนต้องมีเพื่อนฝูงหรือพี่น้องที่เป็น LGBT กันอยู่แล้ว ซึ่งการไปเที่ยวด้วยกันมันสนุก คอนเซ็ปต์ ของเราไม่ใช่ว่า เราจะทำแต่กลุ่ม LGBT เท่านั้น แต่เราเป็นทีมงาน LGBT ที่ไม่ว่าใครก็มาเที่ยวได้ เป็นการท่องเที่ยวที่สบายใจ และสนุกเหมือนมาเที่ยวเม้าท์มอยกับเพื่อนสาว อย่างผมมีลูกค้าไฮเอนด์เป็นมหาเศรษฐีในต่างประเทศ เขามีลูกสาวที่สวยมาก ก็ขอไกด์ที่เป็น LGBT เพื่อความสบายใจ ดังนั้นมันจึงเป็นทัวร์ของความหลากหลาย ที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันและท่องเที่ยวด้วยกันได้”
การวิ่งมาราธอนที่มีแสงสว่างตรงปลายอุโมงค์
ศกุณภัทร บอกเราว่า ถ้าไม่ใช่เพราะโควิด เขาก็อาจไม่มีเวลามานั่งทำโมเดลธุรกิจใหม่แบบนี้ วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้เขากล้าที่จะเรียนรู้ กล้าที่จะเขียนแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งไม่ใช่แผนที่มาจากสิ่งที่ตัวเองต้องการเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เกิดจากการมองเห็นว่า พวกเขามีจุดแข็งอะไร มีจุดเด่นอะไร ก็เริ่มจากสิ่งนั้น
“สิ่งที่ผมทำมันเหมือนกับการวิ่งมาราธอน ซึ่งถ้าจะวิ่งก็ควรจะวิ่งตอนนี้แหละ ในช่วงที่มีโควิดแล้วอยู่ในช่วงปิดประเทศ เพราะถ้าประเทศเปิดแล้วหรือนักท่องเที่ยวกลับมาเหมือนปกติ ผมก็อาจจะไม่สามารถเติมเต็มส่วนนี้ได้ เติมเต็มแพสชั่นบางอย่างที่อยู่ในใจ แต่ยังไม่เคยลงมือทำ ถ้าไม่ใช่เพราะโควิด ซึ่งบางอย่างมันอาจจะไม่สามารถนับหรือประเมินกันได้ภายในวันนี้ อาจยังไม่เห็นเม็ดเงินที่จะเกิดขึ้นในทันที แต่มันเห็นเส้นทางที่เราจะไป และเห็นแสงสว่างตรงปลายอุโมงค์ ซึ่งไม่ว่าวันนี้หรือวันหน้าผมจะต้องทำให้มันสำเร็จให้ได้” เขาย้ำในตอนท้าย
นี่คือตัวอย่างของผู้ประกอบการ SME ที่ลุกมาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างรวดเร็วแม้ในภาวะวิกฤต พวกเขาไม่ได้เลือกหยุดนิ่งหรือเอาแต่โทษโชคชะตา ทว่าเลือกเดินหน้าและสู้ต่อ เพื่อหวังว่าจะไปสู่แสงสว่างตรงปลายอุโมงค์ได้เมื่อวิกฤตร้ายผ่านพ้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี