“Lotus” ธุรกิจหมื่นล้าน ที่เริ่มจากขายที่นอนปิกนิก ฮิตจนขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในอาเซียน

TEXT : กองบรรณาธิการ




Main Idea


ถอดสูตรความสำเร็จแบบ Lotus
 
  • ผลิตเก่ง ขายเก่ง มีความชำนาญครบรอบด้าน
 
  • เป็นผู้นำพยายามริเริ่มสิ่งใหม่ๆ มานำเสนอลูกค้า
 
  • ไม่หยุดตัวเองอยู่ที่ปัญหา แต่เลือกที่จะเดินหน้าให้เร็วที่สุด
 
  • คิดนอกกรอบ ไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่สิ่งที่ทำอยู่
 



     ถ้าพูดถึงแบรนด์ที่นอนและเครื่องนอนไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้นๆ ของตลาดอยู่ในขณะนี้ หรืออาจเลยไปถึงระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยก็ได้ หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “Lotus” ธุรกิจที่นอนหมื่นล้านรวมอยู่ด้วยแน่นอน แต่รู้ไหมว่ากว่าจะเติบโตมาได้อย่างทุกวันนี้ แบรนด์กลับเริ่มต้นตัวเองมาจากกิจการเล็กๆ อย่างการตัดมุ้งขาย รวมถึงยังเป็นผู้ผลิตที่นอนปิกนิกขายเป็นเจ้าแรกๆ ในไทยด้วย
 



 
เริ่มจากมุ้ง        


     จุดเริ่มต้นกิจการของแบรนด์โลตัสเกิดขึ้นเมื่อราว 40 ปีก่อน ในปี 2523 ด้วยการเปิดร้านขายมุ้งย่านโบ๊เบ๊ โดย กำธร – ลีหนา โลจนะโกสินทร์ สองสามีภรรยา ซึ่งในขณะนั้นได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการของครอบครัว โดยกำธร ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของตระกูลรับหน้าที่เป็นเซลล์ขายมุ้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนลีหนาภรรยาได้ร่ำเรียนวิชาตัดเย็บมุ้งขายจากพ่อสามีอีกที





     กระทั่งเมื่อมีลูกคนแรกจึงได้แยกย้ายออกไปสร้างเนื้อสร้างตัวของตัวเอง ด้วยการร้านขายมุ้ง ชุดเครื่องนอน และสินค้าต่างๆ อยู่มาวันหนึ่งด้วยความที่เป็นร้านเล็กยังไม่มีเครดิตน่าเชื่อถือมากนัก ทำให้สินค้าที่เคยนำมาขายประจำอย่างผ้าปูที่นอน ก็กลับไม่มาส่ง จึงตัดสินใจหันมาเริ่มต้นตัดเย็บผ้าปูที่นอนขายเอง จนกลายเป็นที่มาจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์โลตัส ซึ่งในตอนแรกนั้นใช้ชื่อว่า ดอกบัว แต่ภายหลังอยากให้มีความเป็นสากลมากขึ้นจึงเปลี่ยนมาเป็น Lotus แทน





     จากส่วนผสมที่ลงตัวของทั้งคู่ ทั้งผลิตเก่ง และขายเก่ง จึงทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จากผ้าปูที่นอน ก็เริ่มมีการผลิตสินค้าใหม่อย่าง “ที่นอนปิกนิก” ที่นอนน้ำหนักเบาเก็บพกพาได้ง่ายออกมาเพิ่ม ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกๆ ของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ที่มีการทำที่นอนลักษณะนี้ออกมา จึงทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างล้นหลาม ยอดขายพุ่งกระฉูดกว่าวันละล้านบาท กระทั่งสามารถเก็บเงินสร้างโรงงานของตัวเองขึ้นมาได้ โดยหลังจากขายชุดเครื่องนอนมาได้ 10 กว่าปี ภายหลังจึงมีความคิดผลิตที่นอนแบรนด์ตัวเองออกมาขายด้วย จึงทำให้โลตัสกลายเป็นแบรนด์ธุรกิจที่มีทั้งที่นอนและชุดเครื่องนอน หมอน ผ้าห่ม ผ้าปูเป็นของตัวเองแบบครบวงจร ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องยากและท้าทายมีบริษัทอยู่เพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปได้
 



 
วิกฤต สร้างแบรนด์เกิดใหม่ให้ปังยิ่งกว่าเดิม
               

     ภาพการเติบโตของที่นอนและเครื่องนอนโลตัสดำเนินมาเรื่อยๆ กระทั่งในปี 2546 ได้เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ขึ้นกับธุรกิจจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้เกือบหมดตัวเสียหายกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้ายก็ได้ทายาทรุ่น 2 “ทีปกร โลจนะโกสินทร์” เข้ามาช่วยกู้วิกฤต ซึ่งต้องดรอปเรียนกระทันหันจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เพื่อกลับมาช่วยครอบครัว โดยสิ่งที่ได้นำเข้ามาด้วย คือ การปรับระบบการทำงาน เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์และองค์กรให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงนำนวัตกรรมยุคใหม่เข้ามาสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่นการออกแบบที่นอนแบบไม่มีกุ๊นออกมาโดยมีลักษณะคล้ายทรงเต้าหู้ ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่คิดค้นขึ้นมาในโลก
               




     นอกจากจะพยายามสร้างแบรนด์หลักให้แข็งแกร่งขึ้นมาแล้ว ยังได้มีการออกแบรนด์ใหม่ๆ ออกมาหลายสิบแบรนด์ด้วยกัน เพื่อสร้างคาแรกเตอร์ที่แตกต่าง ตัวอย่างที่เห็นได้โดดเด่น ก็คือแบรนด์ OMAZZ ชุดเครื่องนอนไฮเอนด์ที่ชูจุดขายด้วยการนำวัสดุธรรมชาติจากแหล่งที่ดีของโลกมาใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์





     และนอกจากนี้ยังมีการขยับฐานลูกค้าจากทั่วไปให้ขึ้นมาอยู่ในตลาด B- ถึง A+ แบรนด์ยังมีนำศิลปะเข้ามาใช้ในการสร้างแบรนด์มากขึ้น จากสินค้าจำเป็นและสินค้าเพื่อสุขภาพ ก็กลายเป็นสินค้าที่ขายด้วยอารมณ์ความรู้สึก ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นกว่าหลายเท่าตัว จากเดิมที่เคยอยู่ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็กลับกลายเป็น 50 -75 เปอร์เซ็นต์ขึ้นมาได้ในระยะเวลาไม่ถึงยี่สิบปี และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้จากการกิจการเครื่องนอนและที่นอนเล็กๆ สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นอาณาจักรหมื่นล้าน จนเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่ยากเลย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย