เริ่มต้นแบบไหนก็ “เจ๊ง!” ถ้ายังหลงตัวเอง และไม่เข้าใจปัญหาของลูกค้า

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
     รวมพฤติกรรมนำไปสู่การเจ๊ง
 
 
  • เปิดร้านเพราะเชี่ยวชาญ แต่ไม่เข้าใจตลาดและลูกค้า = เจ๊ง!
 
  • ทำธุรกิจด้วยการ “มโน” คิดเองเออเอง = เจ๊ง!
 
  • ทำธุรกิจโดยเริ่มจาก Mindset ที่ผิด = เจ๊ง!
 
  • ยึดติดความรู้แบบเก่า = เจ๊ง!
 


 
 
     ธุรกิจเราดี ธุรกิจเราเจ๋ง วิธีนี้เคยทำมาแล้วในอดีตก็ซัคเซสสุดๆ จะใช้อีกก็ต้องเวิร์กสิน่า ธุรกิจนี้มูลค่าตลาดตั้งหลายพันล้าน ขอกินแชร์แค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นสิบล้านแล้ว สินค้ากำไรชิ้นละตั้ง 100 บาท ถ้าขายได้เป็นพันเป็นหมื่นชิ้นล่ะก็ รวยไม่รู้เรื่องเลยนะ 
               

     ถึงขนาดนี้แล้ว ขายบ้านขายรถมาทุ่มกับธุรกิจนี้ให้หมดเลยดีไหม?


     ก่อนจะฝันไปไกลและต้องตกม้าตายกลางทาง “ดร.ณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์” นายกก่อตั้งและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์  สมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ SMEs (SPD) ชวนมา “ดึงสติ” ให้หลุดจากโรคหลงตัวเองเพื่อเผชิญหน้าความจริงที่ว่า เริ่มต้นธุรกิจแบบไหนก็ “เจ๊ง” ถ้าไม่เข้าใจปัญหาของลูกค้า



               
 
                เปิดร้านเพราะเชี่ยวชาญ แต่ไม่เข้าใจตลาดและลูกค้า = เจ๊ง!


     วันนี้หลายธุรกิจอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก ธุรกิจเดิมต้องเผชิญกับคู่แข่งรายใหม่ที่เก่งกาจทั้งในตลาดออนไลน์และออฟไลน์ หลายคนที่ตกงานก็อยากมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่  โดยทุกคนขนมาเต็มทั้งความถนัด ความเชี่ยวชาญ และมั่นใจมากๆ ว่าสินค้าของตัวเองนั้นสุดเจ๋ง แต่สุดท้ายกับเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะอะไรกันนะ?


     “คอนเซ็ปต์ในการทำธุรกิจส่วนใหญ่คือเราถนัดอะไรก็ทำแบบนั้น ใช้ความชำนาญของเราโดยที่ไม่ได้มองที่ความต้องการของลูกค้า สมมุติว่าผมมีความชำนาญในเรื่องของข้าวมันไก่ ผมเลยเริ่มต้นธุรกิจขายข้าวมันไก่โดยที่ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ เพราะเข้าใจว่าเราทำข้าวมันไก่อร่อยที่สุด แล้วก็เก่งในการทำตลาดออนไลน์และออฟไลน์ เลยมาเปิดร้านขายข้าวมันไก่ด้วยความมั่นใจแล้วก็เชื่อว่ามั่นตัวเองสูงมาก โดยที่ไม่ต้องทำ Business Model อะไรเลย เปิดร้านเสร็จเตรียมตัวรวยเลย ปรากฏเจ๊ง เพราะจุดที่ผมไปขาย คนเป็นเก๊ากันหมด  หรือเปิดร้านข้าวขาหมูในย่านที่คนเป็นมุสลิม เรียบร้อยเลย เจ๊งเพราะไม่เข้าใจลูกค้า” ดร.ณัฐนรินทร์ บอก




 
ทำธุรกิจด้วยการ “มโน” คิดเองเออเอง = เจ๊ง!


     การเริ่มต้นธุรกิจที่ถูกต้องควรมาจากการเข้าใจปัญหาของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง และในหลายๆ แง่มุม ต้องเกิด
จากกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking) แต่หลายคนมักจะพบจุดจบเพราะเป็นสายมโน


     “ที่ผ่านมาการทำธุรกิจเรามักจะไม่พยายามทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหาคืออะไร ส่วนใหญ่เรามักจะมโนขึ้นมาเอง เรียกว่าเป็นมุมคิดของเขานั่นแหละ แต่เป็นการคิดเชิงบวกนะ ส่วนใหญ่เรามักจะเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่ามันต้องดีสิ สมมุติของชิ้นนี้กำไรต่อชิ้นอยู่ที่ 500 บาท เราก็จะมีมโนขึ้นมาในหัวเลยว่า ถ้าเราขายได้ 10 ชิ้นก็เท่ากับ 5,000 บาท 100 ชิ้นก็ 50,000 บาท เดือนหนึ่งขายได้พันชิ้นก็ 500,000 บาท เลยนะ แล้วเราก็จะเริ่มสั่งเครื่องจักรเข้ามา สะต๊อกของเข้ามา โดยที่ไม่มองย้อนกลับมาเลยว่าจริงๆ แล้วมันขายได้จริงหรือเปล่า เพราะเรายังไม่เคยทำตัว Business Model อะไรเลยด้วยซ้ำ ไม่เคยเห็นว่าธุรกิจที่เราจะทำนั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ได้ สุดท้ายก็เจ๊ง”




 
            ทำธุรกิจโดยเริ่มจาก Mindset ที่ผิด = เจ๊ง!
 

     ดร.ณัฐนรินทร์ บอกเราว่า การทำธุรกิจให้เข้าใกล้ความสำเร็จนั้นต้องเริ่มจาก Mindset ที่ถูกต้อง โดย SME ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก โดยต้องมีความคิดแบบก้าวหน้า  มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ที่ประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) ผลลัพธ์ (Output) และข้อมูลย้อนกลับ (Feedback)


     “เราต้องเปลี่ยนความคิดของเรา เราอาจเชื่อมั่นว่าสินค้าของเราสุดยอด สินค้าของเราเจ๋ง เพราะฉะนั้นมันจะยากมากที่เราจะทำความเข้าใจกับลูกค้าได้ ในกระบวนการคิดของธุรกิจคนที่เป็นคนตัดสินใจซื้อคือตัวลูกค้า แต่เรากลับไม่ยอมถามลูกค้า เอาแต่เชื่อมั่นในตัวเรา เพราะฉะนั้นในกระบวนการหรือวิธีคิดในปัจจุบัน เราต้องพยายามเข้าใจลูกค้าให้มากขึ้น ถ้าเราอยากขายของเขาจริงๆ เพราะแม้กระทั่งขายอาหาร อาหารก็มีความอร่อยไม่เหมือนกัน คนแต่ละโซนก็อาจจะมีรสชาติที่ชอบกินไม่เหมือนกัน สมมติแค่ข้าวผัดเหมือนกัน ข้าวผัดที่ภาคเหนืออาจจะคนละรสชาติกับข้าวผัดที่ภาคตะวันออกก็ได้ นี่คือความเข้าใจในตัวลูกค้า ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่ 95 เปอร์เซ็นต์ เจ๊ง เพราะเราไม่ได้เข้าใจลูกค้า” เขาย้ำ


     ก่อนบอกอีกว่า คนเรามักจะผลิตสินค้าที่คนไม่ต้องการอยู่เสมอๆ เรามักผลิตสินค้าที่เราอยากขาย แต่ว่าไม่ค่อยได้ผลิตสินค้าที่มีคนอยากซื้อ เช่น แว่นตาของ Google Glass ที่คิดว่าเจ๋ง แต่เจ๊งคนไม่ได้ใช้ ลูกค้าไม่ได้ต้องการ ฉะนั้นการออกแบบธุรกิจบางอย่างที่ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ ยังไงลูกค้าก็ไม่ซื้อ




 
ยึดติดความรู้แบบเก่า = เจ๊ง!


     แล้วอะไรคือ Mindset  ที่ถูกต้อง คือกระบวนการคิดที่ใช่และทำให้ธุรกิจอยู่รอดในยุคนี้ ดร.ณัฐนรินทร์ บอกเราว่าต้องเริ่มต้นที่ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Learn) การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา (Unlearn) และการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ (Relearn)


     “ในการทำธุรกิจปัจจุบัน เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ต้องหาความรู้เพิ่มเติมและรับรู้ข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วสามารถเรียนรู้และรับความรู้ใหม่ๆ เข้าไปได้ตลอด และต้องไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา บางครั้งความรู้และประสบการณ์ของเราเอง ที่อาจเป็นปัญหากับการทำธุรกิจในปัจจุบัน บางครั้งเราอาจจะต้องลืมหรือลบข้อมูลบางอย่างที่เราเคยเรียนรู้มาในอดีต เพราะว่าสิ่งที่เวิร์กในอดีตไม่ได้แปลว่าใช้ได้ในยุคนี้ ฉะนั้นต้องไม่ยึดติด ยอมปล่อย และละทิ้งความรู้เดิมๆ ออกไปบ้าง ที่สำคัญคือการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ  ตัวนี้สำคัญ เพราะความรู้ที่เราเคยรู้วันนี้มันมีการพัฒนาขึ้นไปและมีแง่มุมใหม่ๆ มีวิธีคิดใหม่ๆ เข้ามาแล้ว ฉะนั้น Mindset และกระบวนการคิดที่จะทำให้เรา0อยู่รอดในธุรกิจปัจจุบันก็คือ 3 ตัวนี้”
 

     นี่คือตัวอย่างของกับดักที่จะนำพาธุรกิจไปสู่หายนะ ก่อนจะประสบความสำเร็จได้แบบที่วาดฝันไว้ และเป็นเหตุผลที่ SME ต้องกลับมาย้อนทบทวนตัวเองดีๆ ก่อนจะคิดหรือลงมือทำอะไร เขายังย้ำว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ต้องเป็นการสร้างและพัฒนาธุรกิจอย่างเป็นระบบ และต้องทำธุรกิจอย่างมีแผน  เพราะจะทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ของธุรกิจ และหันมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า เราเข้าใจปัญหาของลูกค้าจริงๆ ใช่ไหม







 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย