ไม่อยากให้ธุรกิจครอบครัวล่มสลาย ต้องปล่อยให้ลูกหลานกลายพันธุ์เป็น STARTUP

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
    How to รักษาธุรกิจครอบครัวไม่ให้ล่มสลาย
 
 
  • เปิดใจให้ทายาทได้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ในธุรกิจครอบครัว
 
  • ส่งเสริมทายาทด้วยองค์ความรู้ ประสบการณ์ เครือข่าย ให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยง
 
  • ผสานความเก่งของคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ธุรกิจมีแต้มต่อ
 
  • คนสองรุ่นต้องปรับกรอบความคิด (Reframe) และปรับจูนความคิดเข้าหากัน
 
  • มองเทคโนโลยีเป็นโอกาส ใช้ทายาทที่คุ้นเคยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
 
  • ต้องคิดแบบ Working Backward  วางแผนสืบทอดกิจการตั้งแต่วันนี้
 
 

 
     เป็นความจริงที่ว่าการส่งผ่าน “ธุรกิจครอบครัว” ในยุคนี้ยากเย็นกว่าในยุคที่ผ่านๆ มามากนัก จากคำเคยกล่าว “ปู่สร้าง พ่อขยาย ลูกหลานทำเจ๊ง” ธุรกิจอยู่ได้ไม่เกิน 3 รุ่น วันนี้อายุไขธุรกิจอาจสั้นไปกว่านั้น เมื่อกิจการที่เคยวาดหวังให้เป็นมรดกของครอบครัว อาจล่มสลายไปตั้งแต่ยังไม่ถึงมือของทายาทด้วยซ้ำ


     ทำอย่างไรธุรกิจครอบครัวถึงจะยังคงอยู่ และแข็งแกร่งเหนือความเปลี่ยนแปลงและสภาวะวิกฤต SME Thailand มีโอกาสพูดคุยกับ “รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล” ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านธุรกิจครอบครัว มีคำตอบและทางออกในการสืบสานธุรกิจครอบครัวยุคนี้




 
SME Thailand : เมื่อก่อนเคยมีคำกล่าวว่า ธุรกิจมักอยู่ได้ไม่เกิน 3 รุ่น คือ ปู่สร้าง พ่อขยาย ลูกหลานทำเจ๊ง ทุกวันนี้มันยังเป็นอย่างนั้นหรือไม่
 

     รศ.ดร.เอกชัย : เป็นเรื่องจริงที่การส่งผ่านตัวธุรกิจครอบครัวในยุคนี้ยากกว่าในอดีต เนื่องจากว่าทายาทรุ่นใหม่เขามีทางเลือกมากขึ้น และด้วยระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ทำให้เด็กรุ่นใหม่อยากจะ Startup ธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเอง มันเป็นทิศทางของคนในเจเนอเรชั่นนี้ สำหรับ Family Business เองถ้ามองเห็นถึงแนวโน้มนี้และปรับตัวได้ก็จะไม่เป็นปัญหาเลย เพราะเราสามารถปลูกฝังทายาทไว้ได้ตั้งแต่เล็กๆ แล้วการที่ลูกหลานจะไปทำ Startup ก็ไม่ได้ขัดกับเทรนด์ของยุคสมัยนี้ เพียงแต่ว่า Startup นั้นมันสามารถเกี่ยวเนื่องกับตัวธุรกิจครอบครัวที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะเป็นการเสริมเติมและดีกับธุรกิจครอบครัวด้วยซ้ำไป


     เช่นการตั้งแผนก Startup เข้ามาในธุรกิจครอบครัว หรือแยกเป็นบริษัทลูกที่ทำเรื่องใหม่ๆ ให้กับบริษัท ซึ่งโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมันมีมากกว่า Startup ปกติด้วยซ้ำ เพราะว่าข้อที่หนึ่ง หาก Startup นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับตัวธุรกิจเดิมของครอบครัว นั่นหมายความว่า เขาจะมีทั้งองค์ความรู้ มีประสบการณ์ มีเครือข่าย และเห็นปัญหาของผู้บริโภคจริงๆ รวมถึงแนวโน้มต่างๆ ด้วย ฉะนั้นทั้งหลายทั้งปวงมันทำให้การทำ Startup ในธุรกิจครอบครัวมันง่ายขึ้น เพราะว่าไม่ได้เริ่มต้นจากติดลบ เมื่อธุรกิจเดิมอาจยังทำอะไรไม่ได้มากด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ก็ต้องอาศัยคนยุคใหม่ขึ้นมา  อาศัยไอเดีย แล้วก็ความทุ่มเทในการที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นโอกาสที่จะประสบความสำเร็จจึงสูงกว่าการทำ Startup ทั่วไป



 

SME Thailand : ณ วันนี้มีบริษัทครอบครัวในประเทศไทยที่เปิดโอกาสให้ทายาท Startup ธุรกิจใหม่ในธุรกิจครอบครัวเยอะหรือไม่ แล้วเขาเริ่มต้นกันอย่างไร


     รศ.ดร.เอกชัย : ต้องบอกว่ามีเยอะมากและน่าสนใจมากด้วย ถามว่าเขาเตรียมพร้อมกันอย่างไร เริ่มจากเขามักจะทำกิจกรรมในครอบครัวของเขาเองก่อน เช่น การค้นหาไอเดีย หาทีมงานเข้ามาช่วยกันทำ หาพี่เลี้ยงก็คือพวกรุ่นใหญ่ที่มีประสบการณ์สูงๆ มาเป็นคล้ายๆ กับ Coach หรือที่ปรึกษา รวมถึงอาจมีคนจากข้างนอกเข้ามาผสมด้วย ผมเห็นเลยว่ามีหลายครอบครัวที่เตรียมตัวเรื่องพวกนี้และหลายคนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ


     ขอยกตัวอย่าง บริษัท อินเตอร์แนชชั่นแนลรับเบอร์พาทส์ จำกัด (Inter Rubber) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิต เขารับจ้างผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับยาง ซึ่งธุรกิจก็ไปได้ดีและมีความมั่นคงด้วย เพียงแต่ว่าเขาคิดว่า ความจริงแล้วเขายังสามารถที่จะเพิ่มเติมตัวธุรกิจใหม่ๆ ได้นอกเหนือจากธุรกิจเดิมที่มีความมั่นคงอยู่แล้ว สิ่งที่เขาอยากทำคือธุรกิจในเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้องค์ความรู้หรือว่า Know How ที่เขามีอยู่ และต้องการเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงๆ เนื่องจากของเก่าเป็นการผลิตแบบแมส ซึ่งวอลุ่มอาจจะโตแต่ว่ามาร์จิ้นมันน้อย และเรื่องของนวัตกรรมต่างๆ ก็น้อยด้วย เขาก็เลยเปิดบริษัทขึ้นมาใหม่ ชื่อ “รับเบอร์ไอเดีย” แล้วให้ทายาทเข้ามาดูแล


     ตัวคนรุ่นก่อนส่วนใหญ่จะจบ Engineer อาจจะเก่งเรื่องเครื่องกล เรื่องการผลิต เรื่องตลาดที่เป็น OEM แต่ถ้าเป็นเรื่องของ Innovation รวมถึงการดีไซน์ที่เป็นคอนซูเมอร์โปรดักต์ เขาอาจจะไม่เก่ง ก็เลยแยกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ พึ่งทำได้แค่ปีกว่าๆ ก็เริ่มดีไซน์ตัวสินค้าออกมาเมื่อไม่นานมานี้เอง ปรากฎผลงานชิ้นแรกๆ ที่เขาดีไซน์ (ถุงยางรักษ์โลก) ก็ไปได้รับรางวัล DEmark จากประเทศไทย แล้วก็ไปชนะรางวัล G-mark ที่ญี่ปุ่นมาได้ ถามว่าตัวนี้เขาสำเร็จได้อย่างรวดเร็วเพราะอะไร หนึ่งการสนับสนุนจากสมาชิกของครอบครัว และธุรกิจเดิมที่มีทั้งโรงงาน มีแลบ มีวิศวกร มีนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจเรื่องสูตรต่างๆ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาก็เป็นดีไซเนอร์ที่เข้าใจวิธีการดีไซน์ และเข้าใจตลาด ฉะนั้นสองสิ่งนี้มารวมกันจึงออกมาเป็นโปรดักต์ที่ประสบความสำเร็จ



 

SME Thailand : ปัญหาหนึ่งที่ Family Business มักจะเจอก็คือเรื่องของ Generation Gap ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เด็กๆ มักมีความคิดที่ไปไกลมาก แต่พ่อแม่อาจยังยึดติดอยู่กับความคิดแบบเดิมๆ เราจะมีวิธีลดปัญหานี้ได้หรือไม่อย่างไร เพื่อให้การ Startup ในธุรกิจครอบครัวสามารถเกิดขึ้นได้จริง
             

     รศ.ดร.เอกชัย :     มีข้อแนะนำว่าทั้งสองส่วนก็คือเจเนอเรชั่นที่เป็นผู้ใหญ่และคนรุ่นใหม่ ต้อง Reframe ความคิด คือวางกรอบความคิดใหม่ เราเป็นผู้ใหญ่เป้าหมายของเราคือต้องการหาสิ่งใหม่ๆ ให้ธุรกิจเดิมของเรา ซึ่งการจะสร้างธุรกิจตัวใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์การจะทำให้สำเร็จจะต้องมาจากสมาชิกครอบครัว (Family Member) เพราะถ้าเราไปใช้มืออาชีพใครเขาจะทุ่มเทมากมายถึงขนาดที่จะทำ S-curve ตัวใหม่ให้กับตัวบริษัทหรือตัวธุรกิจได้ เขามีขอบข่ายหน้าที่ของเขา เขามีระดับความเสี่ยงที่จำเป็นจะต้องรับ เขามีเรื่องของการประเมินที่เป็นระยะสั้นมากๆ และเขาไม่พร้อมที่จะล้มเหลวเยอะๆ ดังนั้นจึงต้องใช้สมาชิกครอบครัวในการสร้าง S-curve ตัวใหม่ คือธุรกิจมันไม่มีทางที่จะ Growth ไปได้ตลอดมันต้องมีการสร้าง S-curve ตัวใหม่  ซึ่งการใช้ทายาทของตัวเองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดถ้าเลือกได้ ดังนั้นเราจึงควรต้องสนับสนุนเขา มันจะล้มบ้าง จะไม่สำเร็จบ้างไม่เป็นไร เราต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องกับเรื่องพวกนี้ก่อน คือล้มไม่เป็นไรถ้าอยู่ในวิสัยที่เรารับได้ เพราะเราจะได้เรียนรู้จากความล้มเหลวต่างๆ เพิ่มมากขึ้น


     ส่วนเด็กก็ต้องเข้าใจว่าการเริ่มต้นธุรกิจ 80-90 เปอร์เซ็นต์ มันล้มเหลวแน่นอน ดังนั้นเราอาจจะมีไอเดียที่ดีแต่ธุรกิจที่ดีนั้นจะต้องมองเรื่องของความเป็นไปได้ด้วย ดังนั้นในการมองถึงโอกาสหรือความเป็นไปได้ถ้าหากเรามีการสนับสนุนจากครอบครัว โอกาสมันจะเพิ่มขึ้นมาอีกหลายเปอร์เซ็นต์เลย มันทำให้เราสามารถมีความสำเร็จได้เร็วกว่า แล้วก็สามารถที่จะ Scale-up ได้เร็วกว่าด้วย ถ้าเราสามารถ Reframe ความคิดของคนสองเจเนอเรชั่นได้ ก็น่าจะไปด้วยกันได้ดี เพราะเป้าหมายของทั้งสองคือสิ่งเดียวกัน



 

SME Thailand : ที่ผ่านมาธุรกิจ SME หลายรายต้องประสบปัญหาจากการที่ลูกหลานไม่เอาธุรกิจ พอจะมีข้อแนะนำในเรื่องนี้หรือไม่


     รศ.ดร.เอกชัย : ผมไม่คิดว่าจะมีทายาทคนไหนที่ไม่อยากได้ธุรกิจครอบครัวนะ เพียงแต่ว่าเขาไม่อยากกลับมาทำงานภายใต้ระบบเดิมของครอบครัวต่างหาก เขาอยากมาช่วยคุณพ่อคุณแม่นั่นแหล่ะ แต่ถ้าจะต้องสละชีวิตเขา ความสุขของเขา มาอยู่ภายใต้ระบบของพ่อแม่ มีแนวทางวิธีการทำงานของท่านอยู่ แล้วเราก็มีหน้าที่แค่เดินตามเฉยๆ แบบนั้นเขาก็คงไม่อยากมา


     แต่ถ้าหากว่าครอบครัวเปิดให้เขาเปลี่ยนแปลง โดยเราอาจแบ่งให้เขาทำงานในส่วนที่เขาสนใจก่อนแล้วก็สนับสนุนเขา ค่อยๆ ประสานเข้าหากัน อย่างนี้เป็นเรื่องที่ดีที่จะให้เขามาเลือกแล้วทำในสิ่งที่เขาอยากทำ ไม่ต้องทำทั้งหมด แล้วพอเขารู้สึกว่ามันสำเร็จ มันน่าสนใจเขาจะเริ่มมองเห็นโอกาสและจะค่อยๆ ขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น ยุคนี้เป็นยุคที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องเปิดใจมากๆ


     วันนี้โลกมีความเปลี่ยนแปลงไปมากก็จริง แต่ผมยังเชื่อว่าธุรกิจที่อยู่ได้เป็นร้อยปีหรือพันปียังคงมีอยู่ โดยอายุเฉลี่ยของกิจการที่เป็น Family Business ทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 25 ปี แต่ถ้าไม่ใช่ Family Business อายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 12 ปี เท่านั้นเอง ดังนั้นมันยังยั่งยืนกว่าธุรกิจทั่วไปเพียงแต่ว่า 25 ปี มันก็คือ 1 เจเนอเรชั่นของเขา คือคนที่เริ่มต้นธุรกิจขึ้นมาส่วนใหญ่แล้วถ้าเขาสามารถส่งผ่านธุรกิจได้ มันจะเริ่มเห็นตัวเลข 50-75-80 ปี ทีนี้มันจะมาติดตรงไหนเยอะๆ มันจะติดตรงที่กว่าเราจะเซ็ตอัพบริษัทได้เราอาจจะอายุ 30-40 ปี ไปแล้ว พออายุ 60-70 ปี เราจะเริ่มส่งผ่านไปให้ทายาทปรากฏว่าส่งผ่านไม่ได้เพราะเขาไม่รับหรืออะไรต่างๆ ด้วยความเป็นเจ้าของ ความที่เขาอยากจะทำธุรกิจอย่างยั่งยืนไปให้ลูกหลาน ทำให้เขาทำมา 20-30 ปี โดยที่ไม่ได้เตรียมตัวในการสืบทอดอะไรเลย คราวนี้มันจะติดกับตรงที่พอถึงปลายทางจะไปยกให้ใครโดยที่ตัวเองไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ทายาทเองก็ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน มันจึงไม่สมูท มันถึงล้มเหลว





     แล้วจะทำแบบไหนถึงจะยั่งยืนไปถึงรุ่นลูกได้ ธุรกิจครอบครัวผมคิดว่ามีแค่ 2 ช่วงเท่านั้นเอง สเต็ปแรกเขาเป็นผู้ก่อตั้งก็จะต้องเซ็ตอัพธุรกิจให้ได้ก่อน จากนั้นเมื่อธุรกิจเริ่มไปได้เริ่มมั่นคง เขาก็ต้องคิดในลักษณะที่เรียกว่า Working Backward  (กระบวนการทำงานแบบย้อนกลับ) ก็คือให้นับถอยหลังเลยเขายังเหลือเวลาอีกกี่ปีก่อนที่จะต้องวางมือ เช่นเหลือเวลาอีก 10 ปี ก็นับถอยหลังไปเลยว่า ณ ตอนนั้นเขาต้องเตรียมเรื่องอะไรบ้าง ให้คิดตั้งแต่วันนี้ ซึ่งวิธีการนี้มันเป็นแนวคิดของญี่ปุ่นเพราะเขาถือว่าคนที่ขึ้นมาทำธุรกิจหลังจากที่เรียนรู้งานบางอย่างแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องวางแผนไว้ก็คือหลังจากวันที่เขาลงจากตำแหน่ง บริษัทจะต้องไปได้อย่างต่อเนื่อง คนจะมารับต้องมีความพร้อม ต้องสานต่องานได้อย่างราบรื่น และนี่คือวิธีการคิดแบบ Working Backward แล้วมันจะทำให้ธุรกิจเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน
               

     อย่างไรก็ตามยุคนี้ยังมีปัจจัยที่ท้าทายมากกว่ายุคที่ผ่านๆ มา ธุรกิจครอบครัวก็คงคล้ายกับธุรกิจอื่นที่โดนกระแสเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์เหมือนกัน ดังนั้นการที่เราเห็นกระแสของเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นเป็นโอกาสหรือปัญหา ถ้ามองว่าเป็นโอกาสก็เท่ากับเรากำลังเห็นช่องทางใหม่ๆ สร้าง S-curve ในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับธุรกิจเดิมได้ ถ้าเรามั่นใจว่าเราจะต้องไปในทิศทางนั้นเราก็แค่หมุนเข้าหาเทคโนโลยี แต่ถ้าบางครอบครัวยังอยู่ใน Comfort Zone  และรู้สึกว่ายึดติดกับความสำเร็จแบบเดิมๆ อยู่ ไม่ยอมศึกษาเทคโนโลยี ไม่สนใจตลาด ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่เปลี่ยนไป มันก็จะกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคขึ้นมาทันที แต่เรื่องเหล่านี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ และทายาทรุ่นใหม่สามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มให้ธุรกิจครอบครัวได้ เพราะเขาคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากกว่าคนรุ่นก่อน ฉะนั้นขอแค่เปิดใจมากขึ้น ธุรกิจครอบครัวก็จะยั่งยืนต่อไปได้แน่นอน
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย