4 อาการบ่งชี้ว่ากลยุทธ์ธุรกิจที่มีนั้น ห่วยแตก!




Main Idea

 
 
     4 อาการที่บอกว่ากลยุทธ์ธุรกิจที่มีไม่ดีพอ
 
 
  • กลยุทธ์ที่ใช้คำสวยหรูแต่ไม่รู้จะนำไปใช้จริงอย่างไร
 
  • กลยุทธ์ที่ไม่ได้แก้ต้นตอของปัญหา
 
  • หลงผิดคิดว่าเป้าหมายคือกลยุทธ์ 
 
  • กำหนดเป้าหมายหลายอย่างเกินไป
 


 
     กลยุทธ์ที่ดีเป็นหลักประกันความสำเร็จของธุรกิจ ธุรกิจที่ไม่มีกลยุทธ์อาจรอดหรือไม่รอดก็ได้  แต่ธุรกิจที่มีกลยุทธ์ห่วยแตกปลายทางสุดท้ายมีแต่ตายกับตาย 
 

     อาการ 4 อย่างของกลยุทธ์ห่วยแตก คือ เพ้อเจ้อฟีลกู๊ด ตามัวจนมองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง หลงผิดคิดว่าเป้าหมายคือกลยุทธ์  และกำหนดเป้าหมายในทุ่งลาเวนเดอร์



 

อาการแรก : เพ้อเจ้อฟีลกู๊ด 


     อาการนี้สังเกตได้จากการใช้คำสวยหรูหรือสโลแกนอลังการแต่ไม่รู้ว่าจะนำไปใช้จริงยังไง เช่น เราให้ความสำคัญกับการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง รักคุณเท่าฟ้า การเป็นตัวกลางทางการเงินสำหรับลูกค้าในยุค 4.0  การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนชีวิตคน เป็นต้น


     ตัวอย่างหนึ่งของอาการเพ้อเจ้อฟีลกู๊ดที่ชัดเจนน่าจะเป็นกลยุทธ์ของขบวนการช็อคเกอร์คู่ปรับไอ้มดแดงที่ตั้งใจอยากครองโลก เป้าหมายฟีลกู๊ดแบบนี้อาจทำให้รู้สึกฮึกเหิม แต่ยังห่างไกลจากการเป็นกลยุทธ์ที่ดีเพราะอ่านแล้วก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะครองโลกได้



 

อาการที่สอง : ตามัวจนมองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง 


     ตอนที่โกดักถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล กลยุทธ์ของบริษัทคือเน้นการพัฒนาคุณภาพฟิล์มให้ดีกว่าการบันทึกภาพด้วยระบบดิจิทัล โดยไม่ได้มองให้ขาดถึงรากของปัญหาว่าไม่ใช่เรื่องคุณภาพของฟิล์ม แต่เป็นวิธีการในการบันทึกภาพที่เปลี่ยนไป ดังนั้น ต่อให้พัฒนาฟิล์มถ่ายรูปให้ดีขึ้นแค่ไหนก็ยังไม่ใช่กลยุทธ์การแก้ปัญหาที่ดี 


     ตอนที่แอปเปิลเกือบล้มละลาย สตีฟ จ๊อบส์เลือกการลดขนาดของบริษัทจะได้มีความคล่องตัว ในบทสัมภาษณ์ของจ๊อบ เขาอธิบายถึงรากของปัญหาที่แอปเปิลเจอว่า “เรามีสินค้าหลายแบบเกินไป ขนาดเพื่อนยังบ่นกับผมเลยว่าไม่รู้จริงๆ ว่าคอมพิวเตอร์แต่ละรุ่นของเราแตกต่างกันตรงไหน  บอกตามตรง ผมเองก็ยังไม่รู้เลย” เมื่อทราบถึงปัญหา สิ่งที่จ๊อบส์ทำคือการลดจำนวนรุ่นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจาก 15 รุ่นเหลือเพียงรุ่นเดียว เลิกผลิตเครื่องพิมพ์และสินค้าอื่นๆ ที่เห็นว่าไม่สำคัญต่อการฟื้นตัวของบริษัท 




 
อาการที่สาม : หลงผิดคิดว่าเป้าหมายคือกลยุทธ์ 


     จริงอยู่ที่การตั้งเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ  แต่อย่าให้เป้าหมายทำให้เราไขว้เขวไปคิดว่าตัวเป้าหมายคือกลยุทธ์   การบอกว่ากลยุทธ์ของเราคือการขายตลาดปีละ 35 เปอร์เซ็นต์  มีกำไรเพิ่มขึ้นปีละ 300 ล้านบาท หรือเพิ่มฐานลูกค้าขึ้นอีก 500,000 คนภายใน 3 ปี  สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง “ผลประกอบการ”  ที่อยากไปให้ถึง  มันไม่ได้บอกว่าจะไปถึงเป้าหมายได้ยังไง 


     ความเชื่ออย่างหนึ่งที่คนในวงการค้าปลีกของสหรัฐอเมริกาในยุคครึ่งศตวรรษก่อนซึ่งถูกฝังหัวกันมาคือการตั้งดิสเคาท์สโตร์ต้องไปตั้งในเมืองขนาดใหญ่  มีประชากรไม่น้อยกว่า 1 แสนคนถึงจะคุ้มทุน หากเป็นเมืองเล็กกว่านี้ขืนดันทุรังเปิดไปก็ไม่คุ้ม มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราอยู่ในห้องประชุมกับแซม วอลตัน ผู้ก่อตั้งห้างวอลมาร์ท  แล้วได้ยินเข้าพูดว่า “กลยุทธ์ของเรา คือ จะต้องมีลูกค้าให้ได้อย่างน้อย 100,000 คนต่อสาขา”  เราคงเกิดคำถามในใจว่าจะทำยังไงต่อ 


     แต่ถ้าแซมบอกเราว่า “สหรัฐอเมริกามีเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางรวมกันตั้งเป็นร้อยเป็นพัน หากนำจำนวนประชากรรวมกันก็นับล้าน  ดังนั้นหากสามารถตีโจทย์ให้แตกได้ว่าจะสร้างดิสเคาท์สโตร์ที่ให้บริการกับลูกค้าในหลายๆ เมืองพร้อมกันได้อย่างไร นั่นเท่ากับเราได้แก้โจทย์การมีฐานลูกค้าเกินกว่า 1 แสนคนเรียบร้อยแล้ว” พอได้ยินแบบนี้เราก็จะเริ่มเห็นทางว่าต้องทำอะไรต่อ กลยุทธ์ที่ดีจะต้องมีความชัดเจนแบบนี้ สามารถบอกวิธีการในการไปถึงเป้าหมายได้ว่าอะไรที่ “ทำ” แล้วจะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายได้ 




 
อาการสุดท้าย : กำหนดเป้าหมายในทุ่งลาเวนเดอร์


     กลยุทธ์ที่ดีควรกำหนดเป้าหมายไว้ไม่กี่อย่างที่หากทำได้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ต้องการ  เพราะไม่มีธุรกิจไหนที่มีทรัพยากรมากพอจะทำทุกอย่างพร้อมกันได้ การกำหนดเป้าหมายจำนวนมากที่ฟังแล้วดูดีทำให้ทรัพยากรถูกกระจายไปจนไม่ได้ผลเต็มที่สักอย่าง นอกจากนี้แล้ว เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่ดีต้องบอกด้วยว่าเราต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้นได้  


     ตอนที่มาร์เวลใกล้จะล้มละลาย หากใช้กลยุทธ์สูตรสำเร็จจากทุ่งลาเวนเดอร์ในการฟื้นฟูกิจการก็จะมีเป้าหมายสารพัดที่ต้องทำ เช่น ลดต้นทุน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ส่งเสริมขวัญกำลังใจของพนักงาน เป็นต้น แต่ความจริงแล้ว ต่อให้ทำเรื่องสูตรสำเร็จพวกนี้หมดก็ได้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่ามาร์เวลจะรอด  เพราะมาร์เวลแทบไม่มีเงินเหลือเลย 


     ดังนั้น เป้าหมายเชิงกลยุทธ์คือการหาเงินเข้ามาให้เร็วที่สุด วิธีการที่เป็นไปได้จึงมีแค่การเอาตัวฮีโร่ในหนังสือการ์ตูนมาทำเป็นหนังเป็นวีดีโอเกม แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการเงินเลยไม่สามารถสร้างหนังสร้างเกมด้วยตัวเองได้ กลยุทธ์ที่เลือกเลยเป็นการขายสิทธิ์ในใช้ตัวละครไปทำหนังให้กับค่ายหนังต่างๆ ในฮอลลีวู้ด หนังเรื่องแรกที่ออกฉาย คือ เอ็กซ์เมน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ช่วยให้มาร์เวลกลับมาผงาดได้อีกครั้ง
 

     หากกลยุทธ์ที่ท่านใช้อยู่มีอาการแค่ 1 ใน 4 อย่างนี้ก็น่าห่วงแล้ว  ถ้ามีครบทั้ง 4 อาการแล้วล่ะก็ บอกได้เลยว่าทางข้างหน้าจะลำบากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาหลายเท่าตัว
 
 
 
     อ้างอิง :
 
1) หนังสือ Good Strategy, Bad Strategy: The Difference and Why It Matters ของ Richard Rumelt
 
2) The perils of bad strategy
https://www.mckinsey.com/business-functions/strategy-and-corporate-finance/our-insights/the-perils-of-bad-strategy
 
3) 4 Signs You've Got a Bad Strategy
https://www.cbsnews.com/news/4-signs-youve-got-a-bad-strategy/
 
4) The 5 Worst Business Strategies I've Ever Seen
https://www.executestrategy.net/blog/5-worst-business-strategies-ive-ever-seen



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย