รอดเพื่อโลก! กุญแจปลดล็อกธุรกิจสีเขียว ให้ไปต่อได้แม้เจอวิกฤต

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
     6 ปัจจัยช่วยธุรกิจรักษ์โลกให้รอดวิกฤต
 
 
  • ความสามารถในการปรับตัวในเชิงธุรกิจ
 
  • ความสามารถในการปรับตัวด้านการเงิน
 
  • ความสามารถในการปรับตัวขององค์กร
 
  • ความสามารถในการปรับตัวต่อระบบนิเวศ
 
  • ความสามารถในการปรับตัวตามภาวะตลาด
 
  • ความสามารถในการปรับตัวเพื่อสร้างผลกระทบ


 
 
     เป็นเรื่องจริงที่การทำธุรกิจยุคนี้ยากแสนยาก ยิ่งผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME ที่สายป่านสั้นด้วยแล้วละก็ ยิ่งยากเย็นเท่าทวี โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ประกอบการรายเล็กที่ทำธุรกิจน้ำดี ธุรกิจรักษ์โลก ตลอดจนกลุ่มที่เป็นกิจการเพื่อสังคมหรือ SE (Social Enterprise) ซึ่งมีเป้าหมายในการทำธุรกิจไม่ใช่แค่เพื่ออยู่รอด แต่ต้องการดำรงพันธกิจร่วมแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
               

     หลังการมาถึงของวิกฤตโควิด-19 สั่นคลอนความอยู่รอดของเหล่ากิจการน้ำดี โดยจากรายงานระบุว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงกลุ่มที่เป็น Micro SME ทั่วโลกราว 42 เปอร์เซ็นต์ อาจประสบภาวะขาดทุนภายในหกเดือนข้างหน้า เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจในบ้านเราเองที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสภาพทางสังคมของไทย ก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นเดียวกัน  
               

    แล้วอะไรที่จะเป็นกุญแจดอกสำคัญช่วยให้ธุรกิจรักษ์โลกและเหล่ากิจการเพื่อสังคม “อยู่รอด” ท่ามกลางสภาวะวิกฤตนี้ SME Thailand รวบรวม 6 ปัจจัยด้านความสามารถในการปรับตัว ที่ SEED โครงการความร่วมมือระดับโลกเพื่อการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว สรุปไว้เพื่อช่วยปลดล็อกกิจการน้ำดีออกจากวิกฤต ดังนี้



 
 
1. ความสามารถในการปรับตัวในเชิงธุรกิจ (Business Resilience)
 

     แม้การทำธุรกิจจะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของเหล่ากิจการรักษ์โลก แต่การอยู่รอดของธุรกิจก็คือหนทางที่จะทำให้อุดมการณ์ในการช่วยโลกและสิ่งแวดล้อมยังได้ไปต่อ ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตธุรกิจรักษ์โลกจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองและปรับตัวในการทำธุรกิจใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่การทำผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดและตรงกับความต้องการของลูกค้าในวิกฤตได้ เช่น บริษัท Kibebe ที่ทำเกี่ยวกับการออกเเบบสินค้าจากเศษวัสดุ ก็เลือกเปลี่ยนจากการขายของเหลือใช้แบบเดิมๆ มาผลิตหน้ากากขายในช่วงโควิด-19




 
2.ความสามารถในการปรับตัวด้านการเงิน (Financial Resilience)


     อีกหนึ่งเรื่องยากของการเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทั่วไป หรือธุรกิจรักษ์โลกก็ตาม คือเรื่อง “การเงิน” ซึ่งความสามารถที่ทุกคนต้องใช้ในภาวะวิกฤตก็คือการปรับตัวด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็น  การปรับราคาและเงื่อนไขการชำระเงินให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่ไม่ปกติของผู้คน กำลังซื้อที่ลดลง คนขาดรายได้ และดึงเงินออกจากกระเป๋ายากขึ้น เช่น บริษัท Mycotech ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้หนังสัตว์แบบทางเลือก ที่ได้เตรียมรับสถานการณ์ทางการเงินไว้หลายแบบ เพื่อรักษากระแสเงินสดไว้ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอย่างวันนี้



 
 
3.ความสามารถในการปรับตัวต่อระบบนิเวศ (Ecosystem Resilience)


     ในอดีตผู้ประกอบการรายย่อยอาจเลือกที่จะโตแบบโดดเดี่ยว และมุ่งมั่นทำกิจการของตัวเองไป แต่ในภาวะวิกฤตการอยู่คนเดียว อาจทำให้กิจการเราไปต่อไม่ได้ ดังนั้นหนึ่งในการปรับตัวที่สำคัญคือการพึ่งพาพันธมิตรทางธุรกิจและผู้เล่นรายอื่นๆ ที่อยู่ในซัพพลายเชนของเรา



 
 
4.ความสามารถในการปรับตัวตามภาวะตลาด (Market Resilience)


หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ “ตลาดเปลี่ยน” โดยเรามีจำนวนคู่แข่งขันแปลกหน้าเพิ่มขึ้น ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปจากเดิม ช่องทางการขายแบบเก่าได้รับผลกระทบ หลายช่องทางต้องปิดตัวไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนกลับมาเร่งเร้าให้ผู้ประกอบการธุรกิจรักษ์โลกต้องปรับตัวตามสภาวะตลาด และมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการทำธุรกิจ

 
5.ความสามารถในการปรับตัวเพื่อสร้างผลกระทบ (Impact Resilience)


     การทำธุรกิจรักษ์โลก และกิจการเพื่อสังคมมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ยามที่เกิดสภาวะวิกฤตเช่นนี้ ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อสร้างผลกระทบ และไม่หยุดในการดำรงเป้าหมายของตัวเอง โดยอาจให้การสนับสนุนบุคคลที่มีความเสี่ยงในระดับฐานอย่างต่อเนื่อง ด้วยการบริจาค รวมถึงการจัดสรรผลิตภัณฑ์และบริการฟรี ตลอดจนเงินอุดหนุนต่างๆ  เช่น ONergy บริษัทพลังงาน ที่ยังคงพัฒนาโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้บริการชุมชนเกษตรกรรมที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้องเผชิญกับปัญหารายได้หยุดชะงักอันเนื่องมาจากการปิดท่าเรือในประเทศจีนชั่วคราวและปัญหาขาดแคลนเงินทุน



 
 
6.ความสามารถในการปรับตัวขององค์กร (Organisational Resilience)


     ข้อสุดท้ายคือเรื่องความสามารถในการปรับตัวขององค์กร ซึ่งการปรับตัวนี้อาจไม่ได้มาจากตัวผู้ประกอบการรักษ์โลกเท่านั้น แต่องค์กรที่ให้การสนับสนุนธุรกิจน้ำดี อาจให้ความช่วยเหลือโดยการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวขององค์กรที่เกื้อกูลระบบนิเวศมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินและการสนับสนุนจากพันธมิตร ตลอดจนการสร้างทักษะสำคัญเพื่อให้องค์กรน้ำดีสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้มากขึ้น


     ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายอย่างภาครัฐเอง ก็สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัวขององค์กรรักษ์โลกได้เช่นกัน รวมถึงการให้การสนับสนุนด้านการเข้าถึงแหล่งทุนและความช่วยเหลือยามวิกฤตที่เปิดกว้างยิ่งขึ้นแก่องค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกระบบ  การสนับสนุนทางธุรกิจโดยพัฒนาโครงการสำหรับองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ชนบท และการสนับสนุนระบบเตือนภัยล่วงหน้าอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้กิจการรักษ์โลก และธุรกิจเพื่อสังคม สามารถรับรู้ถึงผลกระทบและวางแผนเพื่อการฟื้นตัวล่วงหน้าได้เช่นเดียวกับธุรกิจทั่วไปนั่นเอง
               
               
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย